15 พฤษภาคม 2560

เมื่อจิตวิญญาณการทำพันธกิจคริสตจักรไทยถูกกลืนกิน???

เมื่อพูดถึงระบบสายพาน  ผมคิดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม   ที่มีการพัฒนาระบบการทำงานและการผลิต   ที่ได้ผลิตให้ได้ทีละจำนวนมาก ๆ และสิ่งผลิตแต่ละชิ้นมีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด  และใช้เวลาการผลิตที่น้อยลง   ใช้เครื่องจักรทำงานแทนกำลังผลิตของมนุษย์   ทำให้ต้นทุนต่ำลง  แล้วให้ผู้ประกอบการมีกำไรสูงขึ้น

กรอบคิดแบบนี้ไม่ได้ใช้ในระบบอุตสาหกรรมเท่านั้น   แต่ถูกนำมาประยุกต์ใช้คิดกับระบบการศึกษา  ระบบการเกษตร   ระบบการพิมพ์  ระบบการทำงานในยุคทันสมัย   และ คริสตจักรด้วยครับ!   ยิ่งในสังคมทุนนิยมอย่างในปัจจุบัน   การทำงานด้านต่าง ๆ ถูกกรอบให้มีวิธีคิดแบบ “ธุรกิจ” เช่น ธุรกิจทางการศึกษา   ธุรกิจด้านสุขภาพ หรือ ด้านการแพทย์พยาบาล   ครอบคลุมไปจนถึงธุรกิจการเกษตร  ธุรกิจเภสัชกรรม  รวมไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยว  และธุรกิจการบริการลักษณะต่าง ๆ

ทำให้มาฉุกคิดขึ้นว่า  แล้วปัจจุบันคริสตจักรตกลงในกรอบคิดแบบทุนนิยม หรือ ธุรกิจหรือไม่?   หลายคนตอบสวนกลับมาทันทีว่า “ไม่”  คริสตจักรไม่ได้ตกในกรอบคิดแบบธุรกิจทุนนิยม  เพราะเรายังไม่ได้เห็น “คริสตจักรไทยจำกัด” สักแห่งเลย   เพียงแต่การจัดการของคริสตจักรมีความทันสมัยมากขึ้น   เรามีอาคารโบสถ์ที่ใหญ่โตและสวยงามขึ้น  เราพยายามที่จะมีระบบการเงินที่มั่นคงขึ้น   และเราต้องการเป็นโบสถ์ที่มีคนมาร่วมนมัสการมากขึ้น   แต่ที่แน่ชัดคือ   สิ่งที่เคยเป็นพันธกิจคริสตจักรที่มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตสังคม และ เป็นเครื่องมือในการทำพันธกิจของคริสตจักรกลับถูกครอบงำด้วยระบบธุรกิจทุนนิยม  กล่าวคือ โรงเรียน (ปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัย)  โรงพยาบาล โรงพิมพ์  ถ้าจะนับเรื่องการพัฒนาและบริการสังคมก็ใช่ด้วย   ปัจจุบันนี้ พันธกิจทั้งสี่ยังมีความสำคัญและใช้ในการทำพันธกิจคริสตจักร ที่กิจสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในประเทศไทยอยู่หรือเปล่า?”

ที่ชัดเจน “โรงพิมพ์” ที่คริสตจักรริเริ่มนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อพิมพ์พระคัมภีร์   ขณะนี้เลิกไปแล้ว!  แต่เรายังมีโรงเรียน  มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาล   ครั้งเริ่มแรกนั้น  คริสตจักรนำระบบการศึกษา และ ระบบสุขภาพการพยาบาลการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาด้วยเหตุผลที่ต้องการประกาศพระกิตติคุณด้วยการสำแดงความรักของพระคริสต์   เพื่อเป็นการสานต่อพระราชกิจของพระองค์ในดินแดนนี้   คริสตจักรเป็นตัวนำความก้าวหน้าเข้ามาสู่ประเทศไทยทั้งด้านการศึกษา และ สุขภาพ

แต่ปัจจุบัน ทั้งโรงเรียน  มหาวิทยาลัย  และโรงพยาบาลของคริสตจักรถูกครอบงำจากระบบกรอบคิดแบบธุรกิจทุนนิยม   สิ่งที่เคยเป็นพันธกิจคริสตจักรของพระเยซูคริสต์ในประเทศไทยถูกระบบ “ธุรกิจการแพทย์เอกชน” และ “ธุรกิจทางการศึกษาเอกชน” ในประเทศไทย “จูงจมูก” ไปอย่างเชื่อง ๆ   เราไม่ได้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่ประเทศไทย   แต่เราต้องตามระบบธุรกิจ มิใช่เพื่อจะแข่งขันกับเขาได้นะครับ  เราแค่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในวังวนธุรกิจทุนนิยมผลประโยชน์เท่านั้น   และน่าเสียใจมากยิ่งกว่านั้นคือ   ตัวคริสตจักรเอง และ องค์กรส่วนกลาง ต่างคาดหวังที่จะให้ทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาล บริหารจัดการให้ได้กำไร   เพื่อส่วนหนึ่งให้นำมาเจือจุนค่าใช้จ่ายในส่วนกลาง และ ส่วนคริสตจักร   การกระทำเช่นนี้มีรากฐานพระคัมภีร์หรือไม่อย่างไรยังไม่มีการพูดชัดเจนในขณะนี้?

สิ่งที่คริสตจักรไทยปัจจุบันจะต้องถามกันให้ชัดเจนคือ   ในเมื่อโรงเรียน  มหาวิทยาลัย  และโรงพยาบาลยังอยู่ใน “มือ” ของคริสตจักร   เราเคยถามกันไหมว่า  “ถ้าเป็นพระคริสต์แล้ว  พระองค์ต้องการให้คริสตจักรไทยใช้ทั้ง 3 พันธกิจนี้ในการร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระองค์อย่างไร?”  

เราจะใช้พันธกิจทั้ง 3 อย่างที่จะสำแดงถึงความรัก เมตตา และการเสียสละชีวิตของพระคริสต์ในสังคมไทยปัจจุบันอย่างไร?   หรือไม่ก็ต้องตอบคำถามที่ว่า โรงพยาบาลคริสเตียนตั้งอยู่ในประเทศไทยไปทำไม?   โรงเรียนคริสเตียนตั้งอยู่ในประเทศไทยไปทำไม?   มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในประเทศไทยไปทำไม?  

เราจะใช้เนื้องานทั้งการศึกษา และ สุขภาพเพื่อประกาศถึงความรักเมตตา และ การให้ชีวิตของพระคริสต์อย่างไร?   จำเป็นไหมที่เราจะต้องไปแข่งขันกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชน หรือ โรงพยาบาลเอกชน ในประเทศไทย?   พันธกิจโรงพยายาบาล  โรงเรียน  มหาวิทยาลัยคริสเตียนมีเป้าหมายเดียวกับโรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัยเอกชนทั้งหลายในประเทศไทยหรือ?

ที่ผ่านมาในวงการเอนจีโอ ได้มีการพูดถึง “การทำธุรกิจเพื่อสังคม”   ก็ได้มีคริสตชนบางกลุ่มนำมาประยุกต์กล่าวถึง “การทำธุรกิจเพื่อพันธกิจ”   แต่ไม่สามารถที่จะมาประยุกต์ใช้กับพันธกิจทั้งสามของคริสเตียนได้   เพราะโดยตัวของพันธกิจทั้ง 3 อย่างสามารถทำพันธกิจด้วยเนื้องานของตนเองอยู่แล้ว   กล่าวคือการสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ด้วยเนื้องาน โรงเรียน  มหาวิทยาลัย และ สุขภาพ   และทั้งสามพันธกิจเริ่มต้นเพื่อใช้ในการทำพันธกิจร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในประเทศไทยแต่เริ่มแรกเลยทีเดียว   แล้วทำไมจึงต้องเปลี่ยนไปเป็น “ธุรกิจ”   แต่การที่สามพันธกิจนี้จะกลับมาทำพันธกิจของพระคริสต์อย่างเต็มตัว   คนในคริสตจักร และ ผู้บริหารส่วนกลางต้อง “ล้างกรอบคิด” ที่จะให้สามพันธกิจดังกล่าวหาเงินมาจุนเจือชีวิตของคริสตจักร และส่วนกลาง  กล่าวเป็นภาพลักษณ์คือ “เลิกกรอบคิดแบบปลิงดูดเลือด” สามพันธกิจดังกล่าว

จุดพลิกฟื้นอยู่ที่ไหน?

สิ่งแรกเราจะออกจากกรอบคิดโคลนตมแห่งธุรกิจทุนนิยม และ ผลประโยชน์นิยมอย่างไร
  • ให้คริสตชนไทย และ ทั้งสามพันธกิจกลับมาทบทวนค้นหาใหม่ว่า จริง ๆ แล้วเราเป็นใคร  แล้วเรามีอยู่ตั้งอยู่เพื่ออะไรกันแน่?
  • กลับไปทบทวนว่า  ประวัติเริ่มแรกของพันธกิจโรงเรียน  พันธกิจอุดมศึกษา  และ พันธกิจสุขภาพ (ไม่ใช่การแพทย์?)  ทำไมถึงได้เกิดพันธกิจทั้งสามในคริสตจักรประเทศไทย?   ปัจจุบันเราได้สานต่ออย่างไร  เหมือน/แตกต่างจากที่เริ่มไว้อย่างไร?  ทำไม?   แล้ว “ทำไมเราถึงทำพันธกิจนี้”  หรือ เราบิดเบือน หรือ หลงตามกระแสสังคมปัจจุบันแบบไม่ลืมหูลืมตาหรือเปล่า?  ทำไมต้องทำเช่นนั้น?
  • กลับมาทบทวนประวัติศาสตร์การทำพันธกิจของคริสตจักรไทยว่า   ในพันธกิจแต่ละด้าน เคยมีใครบ้างที่มุ่งทุ่มเท สร้างสรรค์ พันธกิจด้านนั้น ๆ ที่เป็นการ “ร่วมและสานต่อ” พระราชกิจของพระคริสต์ที่ได้เริ่มไว้  เขาเหล่านั้นทำอย่างไร?   แล้วปัจจุบันเราจะทำอย่างไรดี?


แล้วช่วยกันเผยแพร่เรื่องราวชีวิตพันธกิจเหล่านั้นเพื่อปลุก และ พลิกฟื้น จิตวิญญาณของการทำพันธกิจคริสตจักรเพื่อร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ให้เป็นขึ้นใหม่ในประเทศไทย

อิสเตอร์/พระคริสต์คืนพระชนม์ (2017)
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น