18 พฤษภาคม 2560

เราตั้งเป้าหมายแค่ต้องการบรรลุความสำเร็จแค่นั้นหรือ?

บ่อยครั้งเรามักตั้งเป้าหมายไว้แค่เพื่อวัดว่าเราได้บรรลุเป้าหมาย ที่กำหนดไว้หรือไม่   แต่กลับละเลยมองข้ามผลข้างเคียงที่ได้รับจากการตั้งเป้าหมาย   ซึ่งมีความสำคัญและคุณค่าที่มากกว่าแค่ “บรรลุเป้าหมาย”

สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากการกำหนดเป้าหมาย  

ผมชอบการโค้ชชิ่ง มากกว่าการสอน การบรรยาย หรือ แม้แต่การเทศนา   เพราะการโค้ชชิ่งทำให้ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่อหน้าต่อตาผม   เป็นกำไรชีวิตที่หาดูได้ยากครับ   ที่จะเห็นชีวิตของโค้ชชี่ของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน   และเห็นโค้ชชี่ได้เข้าใจเท่าทันตนเอง   ซึ่งที่เกิดจากแรงกระตุ้นให้เขาขับเคลื่อนมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย   การเปลี่ยนแปลงชีวิตของโค้ชชี่เช่นนี้มีคุณค่ามากยิ่งกว่าการบรรลุเป้าหมายที่กำหนด   เพราะชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนา  ความคิดเกิดการเรียนรู้   มุมมองถูกปรับให้คมชัด  ยิ่งกว่านั้นศักยภาพ ความสามารถ  สมรรถนะเกิดการพัฒนา

แค่ขับเคลื่อนมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมากมายเช่นนี้ได้อย่างไร?

มีความชัดเจน และ ขับเคลื่อนจากระบบคุณค่า

เราพบเห็นทุกเมื่อเชื่อว่า  ที่คน กลุ่มคน หรือ หลายองค์กร  ที่ตั้งเป้าหมายสำคัญสำหรับตน   แต่เมื่อถูกถามว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของเป้าหมายที่เขากำหนดขึ้น  เรามักได้ยินได้ฟังคำตอบที่ผิวเผินซ้ำซาก เช่น “เพื่อลูก  เพื่อครอบครัว”  “เพื่อพระเจ้า” “เพื่อจะมั่งคั่งร่ำรวย” และ ฯลฯ

การที่เราจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง  เราสามารถสังเกตและประเมินจากการกระทำของคน ๆ นั้น   เช่น  หลายคนที่ตั้งเป้าหมายที่ต้องการลดความอ้วนให้มีทรวดทรงที่ดูดี แต่คน ๆ นั้นไม่ได้คิดต่อไปว่า  แล้วทำไมฉันถึงต้องลดความอ้วนให้มีทรวดทรงที่เหมาะสมล่ะ?   แม้เขาจะมีเครื่องมือออกกำลังกายอย่างดีครบครัน   หรือ  เป็นสมาชิกของ “ฟิตเนสคลับ” ที่มีชื่อเสียงก็ตาม   คนกลุ่มนี้เราจะพบว่าจะล้มเลิกกลางคัน หรือ แค่เริ่มออกกำลังกายไม่กี่ครั้งก็เลิกแล้ว   เหตุการณ์ที่ว่านี้จะพบมาก ๆ ก็ตอนเริ่มต้นปีใหม่ถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็จะพบได้มากมาย

แต่ถ้าเราเกิดอาการป่วยหนักจนถึงขั้นเป็นโรคเจ็บป่วยเสี่ยงต่อการตายที่รออยู่ข้างหน้า   และแพทย์บอกว่าสิ่งแรกที่จะต้องทำคือ ลดน้ำหนักตัวลง 30 กิโลกรัม  ผมเชื่อว่า เราจะต้องจริงจังเข้มงวดกับการลดน้ำหนักนี้ให้ได้   “ทำไมล่ะ” เราถึงเข้มงวดจริงจังกับตนเองได้ถึงขนาดนั้น   เพราะเรารู้แล้วว่า  เราจะต้องตายถ้าไม่ทำเช่นนั้น  พลังที่ใช้ในการขับเคลื่อนลดน้ำหนักครั้งนี้อยู่ที่ “ระบบคุณค่า”  เพราะเราตระหนักชัดและถูกกระตุ้นให้ลดน้ำหนักเป็นเรื่องของชีวิต “ความเป็นความตาย”

เพราะการรู้แจ้งชัดเจนถึงว่า “ทำไมการทำเช่นนั้นมันถึงสำคัญต่อฉัน” เป็นตัวกระตุ้นให้ทั้งจิตใจ จิตวิญญาณ และ ร่างกาย สอดประสานรับมืออย่างสอดคล้องกันต่อการลดน้ำหนักตัวครั้งนี้   การที่เรามีความชัดเจนว่าทำไมเราถึงต้องทำสิ่งนี้  การที่ชัดเจนว่ามันสำคัญคอขาดบาดตายอย่างไรจะเป็นแรงกระตุ้นให้ความ “ลังเล” “การผัดวันประกันพรุ่ง” หมดกำลังลง   ความรู้สึกที่ว่า “ทำก็ได้ ไม่ทำก็ไม่เป็นไร” ก็จะหมดแรงไปจากภาวะนี้

รู้ถึง “ปุ่ม” ที่เราสามารถ “ควบคุม” ที่มีพลัง

เมื่อเรากำหนดเป้าหมายแล้วทุ่มเทให้ขับเคลื่อนไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหนด   เราจะรู้สึกว่า “ตนเอง” มีกำลังควบคุมให้บางสิ่งเกิดขึ้น  หรือ ตนเองกำลังควบคุมต้นเหตุที่ทำให้เกิดผล(ตามเป้าหมาย)

แต่การควบคุมนั้นมีสองมิติใหญ่ ๆ คือ  การควบคุมภายในตัวเอง กับ การควบคุมสิ่งที่อยู่แวดล้อมภายนอก  หรือ พูดง่าย ๆ คือ   เราจะควบคุมชีวิตของเรา หรือ เราจะควบคุมสภาพแวดล้อม หรือ อิทธิพลภายนอกที่ล้อมรอบตัวเรา   จากประสบการณ์เราต่างพบความจริงว่า   การควบคุมภายใน เรากำลังทำงานกับความคิดความรู้สึกของเรา   และบ่อยครั้งเมื่อเริ่มต้น  เราจะรู้สึกว่าเรามีพลังที่จะควบคุมภายในชีวิตของเรา   ในเวลาเดียวกัน หลายครั้งที่เรายอมรับว่า เราไม่สามารถที่จะควบคุมกระแสสภาพแวดล้อมภายนอกตัวเรา

ดังนั้น  ถ้าเป็นกรณีของเรื่องสุขภาพของเราเอง เช่น การลดน้ำหนักที่เรากล่าวถึงข้างต้น   เรารู้ว่า เราไม่สามารถที่จะควบคุมกระแสสภาพแวดล้อมภายนอก   แต่ต้องควบคุมจากภายในของเรา   แต่ความจริงเราก็พบบ่อยครั้งว่า   ถึงเราจะรู้ความจริงในเรื่องนี้  และเริ่มควบคุมจากจุดภายในชีวิตของเราเอง   เราก็ยังพบกับการควบคุมตนเองให้ไปถึงเป้าหมายต้องล้มเหลว เช่น เลิกกลางคัน  ผัดวันประกันพรุ่ง ทั้งนี้เพราะลึก ๆ ในความรู้สึกของเรา   เรายังไม่รู้สึกว่าการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้เป็นเรื่องที่สำคัญและมีคุณอย่างมากในชีวิตของตน   เรายังไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิต   ตามตัวอย่าง  ยังไม่ใช่เรื่องความเป็นความตาย

การกระตุ้นที่ทรงพลังให้เรามุ่งมั่นขับเคลื่อนให้ไปถึงเป้าหมายคือ   การรู้ชัดเจนถึง “ปุ่ม” ที่เราสามารถควบคุมให้เราขับเคลื่อนได้นั้นเป็นการควบคุมจาก “ปุ่ม” ภายในชีวิตของเรา   แต่การที่จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนอย่างจริงจังไปตลอดรอดฝั่งนั้น   ต้องมีพลังกระตุ้นที่ทรงประสิทธิภาพคือ  พลังควบคุมจากภายในชีวิตของเราที่ถูกกระตุ้นหนุนเสริมด้วย “คุณค่า” ที่จะได้รับของการเคลื่อนไปให้ถึงเป้าหมาย  เช่นในตัวอย่างข้างต้น  การลดน้ำหนักมีคุณค่าคือเป็นการรักษาชีวิตให้คงอยู่ต่อไปได้   หรือ เป็นทางที่จะให้เรารอดพ้นจากการที่ต้องตาย เป็นต้น

ภาคภูมิใจ(ความรู้สึกมีคุณค่า)ในตนเองบนความเป็นจริง

ความภูมิใจในตนเอง หรือ การรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง  เป็นสภาวะจิตใจที่มีทั้งผลบวกและผลลบ   ถ้าภูมิใจ และ คิดว่าตนเองมีคุณค่าที่ไม่อยู่บนความเป็นจริงก็จะทำให้คนนั้นไปสู่การเป็นคนหลงตนเอง หรือ บูชาตนเอง หรือ สำคัญผิดคิดว่าตนเองสำคัญแต่ผู้เดียว   แต่ถ้าเป็นความภูมิใจ และ รู้สึกตนเองมีคุณค่าบนภาวะความเป็นจริง   ก็เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ และ พลังในการขับเคลื่อนชีวิตไปสู่เป้าหมาย   แต่การที่ใครก็ตามที่มีความรู้สึกว่าตนมีคุณค่าต่ำ หรือ ด้อยคุณค่า ก็จะทำให้คนนั้นมีชีวิตจิตใจตกอยู่ในภาวะที่ไม่มี “สุขภาวะ”

จำเป็นที่คนเราควรมีความรู้สึกภูมิใจและรู้สึกมีคุณค่าในตนเองไม่ว่าชีวิตในช่วงนั้นตกอยู่ในสภาพใดก็ตาม   แม้ว่าเราจะตกอยู่ในภาวะที่ถดถอย  พ่ายแพ้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสะท้อนคิดว่า  ในภาวะเช่นนี้มีอะไรบ้างที่ยังก้าวหน้าสร้างสรรค์(แม้จะเป็นเรื่องที่น้อยนิด)   นี่เป็นการเสริมสร้าง “การรู้เท่าทันตนเองอย่างสร้างสรรค์”  แต่ต้องอยู่บนความเป็นจริงในชีวิตของตน

ตระหนักชัดว่า เราสามารถมุ่งมั่นก้าวไปข้างในสิ่งที่เราต้องการ  ในระหว่างที่เรากำลังมุ่งมั่นก้าวไปสู่เป้าหมาย   เราต้องสะท้อนคิดในสิ่งที่เราประสบพบเจอบนเส้นทางนั้น    จะทำให้เราเห็นระบบการขับเคลื่อนที่ชัดเจนขึ้น  และการค้นหาความก้าวหน้าสร้างสรรค์บนความเป็นจริงในแต่ละช่วงตอนของการขับเคลื่อนยังเป็นการหนุนเสริมเพิ่มพลังใจในระหว่างการขับเคลื่อน   เป็นกระกระตุ้นให้เกิด “ความมั่นใจในตนเอง”   “ระบการควบคุมตนเอง”  และ “ความพึงพอใจในชีวิต”   สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นในระหว่างที่เรากำลังมุ่นมั่นก้าวไปสู่เป้าหมายที่เรากำหนดไว้

อาการหลอนที่ไม่ถึงเป้าหมาย

อาการหลอนที่ไม่ถึงเป้าหมาย   เป็นอาการที่เราจดจำแต่สิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จแทนที่จะจำสิ่งที่ทำสำเร็จแล้ว   นั่นหมายความว่า  สิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จมันปรากฏ หลอกล่อ หรือ บางครั้งถึงกับหลอกหลอนทั้งในพื้นที่จิตใต้สำนึก และ พื้นที่จิตสำนึกของเรา   ยังผลให้เรารู้สึกไม่สบายใจกับสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จเหล่านั้น  เช่น  บางท่านตั้งใจว่าต้องเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง   จากนั้นก็รวบรวม บทความ ข้อมูล วีซีดีจากทางอินเตอร์เน็ทมากมายไว้ในคอมพิวเตอร์ของตน   ทำให้ต้องใช้พื้นที่ความจำมหาศาล   แต่ก็ไม่ได้เปิดอ่าน เปิดฟัง หรือ ทำอะไรกับสิ่งเหล่านั้นที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์   แต่มัน “กระทุ้ง” จิตสำนึกของเรา  หลอกหลอนความรู้สึกของเรา  หล่อหลอมความรู้สึกว่าไม่สำเร็จ(ติดลบ)มากขึ้น  มันกระทุ้งย้ำเรา ครั้งแล้วครั้งเล่า   และอันตรายที่ปล่อยให้อาการหลอนเกิดขึ้นบ่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก   อาจจะกลายเป็นการก่อตัวกรอบคิดว่าตนเองว่า “ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ”

ในกรณีนี้ทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เราอาจจะทำได้คือเลิกโหลดข้อมูล บทความ วิซีดีในเรื่องเหล่านั้น   โดยตัดสินใจว่าเราเลิกที่จะมุ่งขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้(เขียนหนังสือหนึ่งเล่ม) เพื่อว่าจะเป็นการลด “ความกดดันทางจิตใจ” เพื่อเปิดพื้นที่ว่างในจิตใจที่จะแสวงหาว่าเราจะมุ่งมั่นทุ่มเทสู่เป้าหมายใหม่อะไรที่มีความสำคัญและคุณค่าสำหรับเรา แล้วเริ่มวางขั้นตอนกระบวนการที่มุ่งไปสู่เป้าหมายใหม่ดังกล่าวได้จริง

เป้าหมายที่เหมาะสม(สำหรับเรา)

ลักษณะเป้าหมายที่ดี   นอกจากที่เป็นเป้าหมายที่ SMART คือ เป็นเป้าหมายที่เจาะจง  สามารถวัดได้  เหมาะสมกับเรา(เจ้าของเป้าหมาย) และ มีช่วงเวลาที่แน่ชัด   ที่สำคัญเป็นเป้าหมายที่เราสามารถออกแรงควบคุมได้   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป้าหมายที่เรากำหนดต้องไม่รบกวนหรือทำให้พื้นที่อื่น ๆ ในชีวิตของเราสับสนถูกกระทบกระเทือนจนยุ่งเหยิง

จากที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า  เป้าหมายที่เรากำหนดต้องสอดรับไปด้วยกับระบบคุณค่าของเรา   และจะต้องเหมาะสมกับเอกลักษณ์หรือความเป็นตัวตนเฉพาะของเรา   เราต้องรู้เท่าทันว่าตัวเราเป็นใคร  แล้วเมื่อเราเข้ามาจัดการกับเป้าหมายดังกล่าวเราจะกลายเป็นคนแบบไหน?   สอดคล้องกับตัวตนที่แท้จริงของเราหรือไม่?  งานนั้นมีคุณค่าความหมายสำหรับเราหรือไม่อย่างไร?   ประเด็นเหล่านี้เราจะต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน   การตั้งเป้าหมายจึงมิใช่เป็นเพียงปักธงว่าเราจะไปให้ถึงที่ไหนเท่านั้น   แต่การที่จะตั้งเป้าหมายที่ดีมีประเด็นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรามากมายรอบด้าน

ประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือ  เป้าหมายที่กำหนดกระตุ้นผลักดันให้เราเติบโตขึ้นหรือไม่?   ถ้าเป้าหมายนั้นเรามองไม่เห็นว่าจะหนุนเสริมให้เราเติบโตขึ้นเราคงต้องพิจารณาอย่างดีว่า นั่นจะเป็นเป้าหมายของเราหรือไม่?   แต่สิ่งที่เราท่านตระหนักชัดเสมอแล้วว่า   การที่เราจะเติบโตขึ้นในชีวิตไม่ใช่เรื่องที่จะมีได้ด้วยความสะดวกสบาย ต้องลำบากอดทน แต่มันคุ้มค่าอย่างยิ่งเสมอ  

การตั้งเป้าหมายที่ดีไม่เพียงแต่มองที่เป้าหมายที่เราจะบรรลุความสำเร็จเท่านั้น   แต่คุณค่าของเป้าหมายมีมากมายรายทางที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย   และกล้ากล่าวได้ว่าเมื่อรวมแล้วคุณค่าเบี้ยใบ้รายทางที่ไปสู่เป้าหมายอาจจะมีคุณค่ามากกว่าการสามารถบรรลุสำเร็จเป้าหมายหลายร้อยเท่าพันทวีทีเดียวครับ

จากประสบการณ์ของท่าน  ท่านมีข้อแนะนำอย่างไรบ้างครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น