16 สิงหาคม 2554

ฤาถึงเวลาต้องปฏิรูปการอภิบาลในคริสตจักร? ตอนที่ 1: ว่าด้วยผู้ใหญ่ของคริสตจักร

ผู้ใหญ่ของคริสตจักร

ในสมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษาพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี (ตอนนั้นเขาเรียกชื่อว่า โรงเรียนพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่) วันหนึ่ง ได้มีชายคนหนึ่งท่าทางบอกได้เลยว่าเป็นพ่อค้าคนจีน เข้ามาใน “ตึกเหลือง” ของพระคริสต์ธรรม เจอหน้าผมเขาถามแบบตรงไปตรงมาว่า “ในตึกนี้ใครใหญ่?” ผมตกใจ ชะงัก จึงถามไปอย่างระมัดระวังว่า “คุณต้องการอะไรครับ?” “อ๋อ...ผมจะเอาตู้เย็นมาส่ง ตู้เย็นที่เอาไปซ่อม...” เขาตอบ ผมค่อยโล่งใจ เขาต้องการพบผู้บริหารของโรงเรียน เพื่อจะรู้ว่าจะให้เอาตู้เย็นที่ซ่อมเสร็จแล้วไปไว้ที่ไหน

ตามประเพณีปฏิบัติที่ส่งทอดกันมาได้มอบหมายให้ “ศิษยาภิบาล” เป็นผู้ที่ดูแลปกครองคริสตจักรที่อยู่สูงสุดในคริสตจักร เป็นผู้ที่ตัดสินใจในขั้นสุดท้ายของคริสตจักร แต่เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของผู้ปกครองหรือผู้ที่ดูแลเอาใจใส่คริสตจักรในการสั่งสอนเทศนานั้นมีมากกว่าหนึ่งคนในแต่ละคริสตจักรที่เรารู้จักและเรียกว่า “ผู้ปกครอง”

ท่านทั้งสอง(เปาโลและบารนาบัส)ได้เลือกตั้งผู้ปกครองสาวกไว้ในทุกคริสตจักร ได้อธิษฐานและถืออดอาหาร ฝากสาวกไว้กับองค์พระผู้เป็นเจ้าที่เขาเชื่อถือนั้น (กิจการ 14:23)

เปาโลมอบหมายให้พวกผู้ปกครองในคริสตจักรเป็นผู้ “...รักษาฝูงแกะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงตั้งท่านไว้ให้เป็นผู้ดูแล และเพื่อจะได้ปกครองคริสตจักรขององค์พระผู้เป็นเจ้า ที่พระองค์ทรงได้มาด้วยพระโลหิตของพระองค์เอง (กิจการ 20:17, 28) ตักเตือนสั่งสอนสมาชิกคริสตจักร (1เธสะโลนิกา 5:12) เทศนาสั่งสอน (1ทิโมธี 5:17) เป็นผู้ดูแลรักษาจิตวิญญาณของสมาชิกคริสตจักร (ฮีบรู 13:17) อธิษฐานเผื่อสมาชิก และ ผู้เจ็บป่วยให้เจิมด้วยน้ำมัน (ยากอบ 5:14) เปโตรเตือนบรรดาผู้ปกครองคริสตจักร หรือ ผู้ใหญ่ในคริสตจักร ให้เลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า(สมาชิกคริสตจักร)ที่อยู่ในความดูแลด้วยความเต็มใจ ด้วยใจเลื่อมใสมิใช่เพราะเห็นแก่ทรัพย์สิ่งของที่ได้มาด้วยทุจริต ไม่เป็นเหมือนเจ้านายที่ข่มขี่ผู้อยู่ใต้อำนาจแต่เป็นแบบอย่างชีวิตแก่สมาชิก ให้ผู้ปกครองคริสตจักรปฏิบัติต่อกันและกัน กับสมาชิกคริสตจักรด้วยถ่อมใจ (1เปโตร 5:1-4)

บางคริสตจักรได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างในการปกครองดูแลคริสตจักรด้วยการแบ่งปัน(แยก?)ความรับผิดชอบที่มีอยู่ในคริสตจักร(ที่มักคิดว่าเป็นเหมือนองค์กรทั่วไป?) และแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบและอำนาจในการปกครองลดหลั่นลงมาเป็นโครงสร้างองค์กร และ เป็นโครงสร้างอำนาจในการปกครอง แล้วก็กำหนดและแต่งตั้งให้คนหนึ่งเป็น “ศิษยาภิบาลอาวุโส” แล้วมี “ศิษยาภิบาลผู้ช่วย...” ที่รับผิดชอบในหน้าที่การงานที่แตกต่างกันออกไป จากนั้นจึงลงมาเป็น “คณะผู้ปกครอง” “คณะธรรมกิจคริสตจักร” แล้วให้ศิษยาภิบาล หรือ ในบางคริสตจักรเป็น “ประธานคริสตจักร” (ซึ่งมิใช่ศิษยาภิบาล) มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

การจัดโครงสร้างอำนาจการปกครองเลี้ยงดูคริสตจักรเช่นนี้ดูจะแตกต่างจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ที่ “ผู้สอนและปกครองคริสตจักร” ต่างกระทำหน้าที่นี้ “ร่วมกัน” อย่าง “สอดประสานกันและกัน” และนำมาซึ่ง “ศานติสุข” ในชุมชนคริสตจักร เฉกเช่นอวัยวะในร่างกายเดียวกันที่ทำหน้าที่แตกต่างหลากหลาย แต่ทุกหน้าที่ของแต่ละอวัยวะที่ทำงานสอดประสานกันเพื่อประโยชน์สุขเกิดแก่ทั้งร่างกายเดียวกันนั้น และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ให้เกียรติแก่กันและกัน มิได้ยกย่องให้เกียรติแก่อวัยวะหนึ่งใดโดยเฉพาะ และก็มิให้อวัยวะหนึ่งใดที่สำคัญตนผิดคิดว่าในฐานะอวัยวะนั้นๆ มีเกียรติและสำคัญกว่าอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายเดียวกัน

คริสตจักรในปัจจุบันมักจะคิดว่าชุมชนคริสตจักรเป็น “องค์กรคริสตจักร” จึงคิดกำหนดโครงสร้างองค์กรคริสตจักร โครงสร้างนี้ทำให้เห็นการทำงานที่ชัดเจนเป็นส่วนๆ มักนำมาซึ่งการทำงานตามหน้าที่กำหนดโดยโครงสร้างนั้น และ เป็นอำนาจในการปกครองและการแบ่งงาน นำสู่การทำงานแบบแยกส่วนต่างคนต่างทำในหลายครั้งหลายคริสตจักร

ยิ่งในปัจจุบันมักนำไปสู่การให้อำนาจแบบลดหลั่นตามโครงสร้างองค์กร และมอบหมายให้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจตามโครงสร้างในที่สุด ในคริสตจักรก็มักหมายถึง “ประธานธรรมกิจคริสตจักร” “ประธานคริสตจักร” ซึ่งบางครั้งมักเป็นศิษยาภิบาล หรือ บางครั้งก็เป็นผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง ในปัจจุบันนี้เริ่มเห็นชัดเจนเมื่อคริสตจักรท้องถิ่นหลายที่มีศิษยาภิบาลที่มากกว่าหนึ่งท่านมักจะมี “ศิษยาภิบาลอาวุโส” (และที่ชัดเจนยิ่งกว่านั้นคือการที่พยายามให้ศิษยาภิบาลมีตำแหน่งอำนาจเทียบเท่าผู้บริหารสูงสุดขององค์กรธุรกิจและองค์กรทั่วไป หรือ ที่รู้จักกันในนาม CEO ซีอีโอ)

การมอบหมายให้ “ผู้บริหารสูงสุด” ขององค์กรมีอำนาจในการตัดสินใจตามโครงสร้างนั้นจำเป็นต้องคำนึงว่า เป้าหมายปลายทางและท่าทีการปฏิบัติงาน รวมไปถึงเป้าหมายปลายทางของคริสตจักรนั้นอยู่ที่ “องค์พระเยซูคริสต์เจ้า” ผู้ทรงเป็นศีรษะของคริสตจักร มิใช่ที่ “ศิษยาภิบาลอาวุโส” “ประธานธรรมกิจคริสตจักร หรือ คณะธรรมกิจคริสตจักร” อย่างองค์กรทั่วไป แต่คริสตจักรจะต้องตระหนัก สัตย์ซื่อ มุ่งที่จะกระทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า ตามพระทัยของพระคริสต์ และด้วยกำลังการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือ พูดให้ชัดว่า ทำงานภายใต้การร่วมมือกับพระวิญญาณบริสุทธิ์

ดังนั้น การที่คริสตจักรกำหนดให้มีการปกครองเอาใจใส่และเลี้ยงดูคริสตจักรอย่างกับการบริหารจัดการองค์กรคริสตจักรจึงเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของชุมชนคริสตจักร เพราะเราปล่อยให้คริสตจักรอยู่ในมือของ “ผู้บริหาร” ที่อาจจะยอมทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ตามพระทัยของพระคริสต์ ด้วยการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือ “ยึดกุมอำนาจการตัดสินใจ” ตามที่ตนเองเห็นชอบเห็นควร ตามสถานการณ์และภาวะที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ และร้ายสุดๆ ตามสถานการณ์การเมืองในองค์กรคริสตจักรนั้นๆ?

ณ เวลานี้ประเด็นที่เราจะต้องถ่อมใจพิจารณาร่วมกันอย่างสัตย์ซื่อ จริงใจ และด้วยการทรงนำของพระเจ้าคือ เราจะเอาใจใส่ เลี้ยงดู และบ่มเพาะชีวิตจิตวิญญาณของชุมชนคริสตจักรท้องถิ่นสู่เป้าหมายปลายทางใด? (ว่าทำไมคริสตจักรถึงตั้งอยู่? คริสตจักรตั้งอยู่เพื่อใคร อะไร?) ด้วยเป้าหมายปลายทางดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดการบริหารจัดการการอภิบาลและการทำพันธกิจของคริสตจักร(ว่าจะทำอะไร และ ทำอย่างไร) แล้วค่อยนำไปสู่การกำหนดจัดการโครงสร้างของการปกครองและองค์กรในสุดท้าย (ว่าเราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร)

การอภิบาลชีวิตสมาชิกคริสตจักร และ ชีวิตทั้งรวมของคริสตจักร มิใช่การปกครองด้วยอำนาจแต่เป็นการอภิบาลชีวิตผู้คนด้วยความรักของพระคริสต์ เป็นความรักที่เสียสละ น้ำพระทัยที่จะเสริมสร้างชีวิตใหม่ มิใช่การบริหารจัดการองค์กร แต่เป็นการเอื้ออำนวยการใช้ชีวิตร่วมกัน การทำพันธกิจตามพระประสงค์และพระบัญชาของพระคริสต์ด้วยกัน เพื่อสำแดงพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเจ้าให้เด่นชัดเป็นรูปธรรมในชีวิตของสมาชิกและชีวิตคริสตจักรที่พระคริสต์ทรงมอบหมายให้ดูแล บ่มเพาะ ฟูมฟัก ให้ชีวิตสาวกเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่ สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง
The Urgent Need For Reformation in Pastoral Ministry ของ Darryl M. Erkel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น