04 พฤศจิกายน 2554

ผู้นำแบบนี้เขาไม่ใช้กันในแผ่นดินของพระเจ้า (3)

อ่านลูกา 22:24-30

มีการโต้เถียงกันในพวกสาวกว่าใครในพวกเขาที่นับว่าเป็นใหญ่ พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือเขาทั้งหลาย และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเรียกตัวเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ (ลูกา 22:24-26)


ในบทใคร่ครวญหัวเรื่องนี้ตอนที่ (2) ที่ผ่านมาเราได้ร่วมกันสะท้อนคิดถึง ผู้นำที่อยู่นอก “แผ่นดินของพระเจ้า” จะนำและเสริมสร้างบารมีเพื่อเป็น “เจ้าบุญนายคุณ” เป็นผู้นำที่เสริมสร้างตนเองให้เป็นผู้มีบุญคุณเพื่อมีอำนาจเหนือ หรือ รับการยกย่องยอมสวามิภักดิ์จากคนอื่นๆ กลุ่มต่างๆ หรือสถาบันนั้นๆ ในที่นี้ยังหมายรวมถึงคนที่ปกครองด้วยการใช้ “กำลังทรัพย์” ด้วยการอุทิศบริจาค หรือ มอบถวาย หรือเป็นการช่วยกันส่วนตัว เพื่อสร้างผลประโยชน์ส่วนตัวที่กล่าวข้างต้น พระเยซูเรียกผู้นำหรือคนทำเช่นนี้ว่าเป็นคนที่ทำทานต้อง “เป่าแตร” เพื่อให้คนอื่นได้รู้ เพื่อชื่อเสียง เกียรติยศสำหรับตนเอง เพื่อให้คนๆ นั้น คนกลุ่มนั้น หรือ สถาบันนั้นๆ สนับสนุนตนทางการเมือง และทางสังคม ตัวอย่างชัดเจนเช่น ในการนำสิ่งของไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ช่วงเวลาที่สำคัญคือตอนกล้องทีวีถ่ายทำตอนที่ตนกำลังมอบเงินทองสิ่งของให้ผู้ประสบภัย ความมุ่งมั่นสนใจของผู้นำประเภทนี้คือคิดถึงแต่ “ตนเอง” มากกว่า “คิดถึงความจำเป็นต้องการ และความทุกข์ยากของผู้ประสบภัย” เขาสนใจว่าตนเองจะได้รับการยกย่องสรรเสริญมากน้อยแค่ไหน เขาสนใจว่าสถาบันแห่งนั้นที่เขาให้เงินให้ทองจะสำนึกในบุญคุณของเขาหรือเปล่า

แต่พระคริสต์บอกเราแบบตรงไปตรงมาว่า ผู้นำในแผ่นดินของพระเจ้าจะไม่กระทำตนเช่นนั้น จะไม่กระทำด้วยความมุ่งหมายและจิตใจเช่นนั้น เพราะการนำหรือการรับใช้ของผู้นำประเภทนี้เขาไม่ใช้กันใน “แผ่นดินของพระเจ้า” เพราะผู้นำและผู้รับใช้ในแผ่นดินของพระเจ้ามิใช่เพื่อรับใช้ตนเอง แต่นำและกระทำทุกอย่างเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยความบริสุทธิ์ใจเท่านั้น มิใช่เพื่อชื่อเสียงเกียรติยศ และโอกาสสำหรับตนเอง

การใคร่ครวญนี้ได้เตือนให้ตัวผมเองต้องสำรวจขุดลึกลงในชีวิตจิตใจของตนเองว่า ในการกระทำแต่ละวันเรากระทำเพื่อตอบสนองต่อความใคร่ ความอยาก ความอยากได้ใคร่มีของตนเอง หรือ การกระทำของผมมุ่งไปสู่การตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงเรียกผมในงานที่ทำนั้น ให้กระทำด้วยความสำนึกที่จะขอบพระคุณพระเจ้า

ถ้าด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจตามประการหลัง เรากระทำด้วยความจริงใจเปิดเผย ไม่ต้องปกปิดความอ่อนแอของตนเอง แล้วฉาบทาภายนอกเพื่อให้คนอื่นมองเห็นว่าตนเข้มแข็งเด่นดัง เราพร้อมที่จะเปิดเผยและแบ่งปันถึงความอ่อนแอและความล้มเหลวกับเพื่อนร่วมงานของเรา และเปิดหูเปิดตาของเราที่จะรับรู้ด้วยใจจริงถึงความทุกข์ ความกังวล ความอ่อนแอ ความล้มเหลว และความสำเร็จภูมิใจจากเพื่อนร่วมงานด้วย และ

ในเวลาเดียวกันการใคร่ครวญเตือนผมว่า ผมมิใช่ตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาความเข้มแข็งจากพระเจ้าและสภาพแวดล้อม เพื่อความเข้มแข็งของตนเองเท่านั้น แต่ความเข้มแข็งและกำลังในชีวิตของผมได้จากองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ประทานให้โดยตรง และประทานผ่านเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว และชุมชนคริสตจักร ดังนั้น ผมควรทุ่มเทที่จะแบ่งปันและเสริมสร้างเพื่อนร่วมงานให้เขามีกำลัง และเข้มแข็งในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง นั่นคือผมควรที่จะกอดคอ “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” กับผู้คนรอบข้างและเพื่อนร่วมงาน และนี่คือเสียงท้าทายของพระคริสต์ต่อภาวะผู้นำในชีวิตของผม

ผมขอสารภาพว่า บ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมต้องพยายามปล้ำสู้กับ “ความปรารถนา” แห่งตนในจิตใจของผม ผมปรารถนาให้ผู้คนมองเห็นตัวผมว่าเป็นคนที่เขาชื่นชมยอมรับ ถึงแม้จะมิใช่สิ่งผิดเสียทีเดียว แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมพบว่าแรงจูงใจในความปรารถนานั้นคือผมต้องการอยู่ในฐานะ “เจ้าบุญนายคุณ” ผมต้องการเป็นคนที่มีบุญคุณของผู้อื่น เป็นคนที่เขาต้องพึ่งพิงในชีวิตจิตใจของพวกเขา ตัวอย่างเช่น เมื่อผมไปเป็นนักเทศน์รับเชิญ ผมจะเตรียมคำเทศนาอย่างดี เพื่อที่จะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า เพื่อสั่งสอนบ่มเพาะและเสริมสร้างผู้ฟังให้มีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงดั่งพระคริสต์ แต่ในขณะที่ผมนั่งร่วมนมัสการก่อนที่ผมจะเทศนานั้น ผมมีความปรารถนาหรือรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า ผมต้องการการยอมรับจากผู้ฟังเทศน์ในวันนั้น ผมต้องการให้เขาชอบคำเทศนาที่ผมเตรียม ลึกๆ แล้วผมต้องการให้ผู้ฟังทุกคนเมื่อฟังเทศน์เสร็จแล้วเกิดความนิยมชมชื่นในตัวผม ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นความรู้สึกปรารถนาของนักเทศน์หลายต่อหลายคน? และบ่อยครั้งผมก็จะก้มหัวลงอธิษฐานส่วนตัวกับพระเจ้าก่อนเทศน์ว่าขอพระองค์ช่วยให้สิ่งที่ผมปรารถนาลึกๆ ในใจเหล่านี้สำเร็จเป็นจริง?

แต่หลายครั้งเช่นกันเมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับตนเอง และภายหลังมีเวลาเงียบสงบจิตใจลงต่อหน้าพระเจ้า พระเจ้าทรงโปรดเมตตาให้ผมได้เห็นตนเองชัดเจนขึ้น ใช่ผมมีใจปรารถนาให้ผู้ฟังเทศน์ชื่นชมในตัวผมในความสามารถในการเทศน์ของผมมากกว่าที่ต้องการปรารถนาให้ผู้ฟังเทศน์ได้ยินได้สัมผัสกับพระวจนะของพระเจ้าที่มีพลานุภาพในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา

บทเรียนการรับใช้ที่ได้รับจากการใคร่ครวญดังกล่าว กลายเป็นเรื่องเตือนจิตใจผมทุกครั้งที่จะเทศนา โดยเฉพาะการเป็นนักเทศน์รับเชิญไปในที่ต่างๆ ก่อนการเทศนาทุกครั้งผมต้องถ่อมจิตใจลงต่อหน้าพระเจ้าขอการทรงช่วยชำระใจปรารถนาของผม และขอการเทศนาเป็นโอกาสที่พระองค์จะทรงใช้กระทำพระราชกิจของพระองค์ตามพระประสงค์และแผนการของพระองค์ เพื่อจะเป็นการถวายชีวิตการรับใช้ด้วยความสัตย์ซื่อต่อพระองค์ ดังนั้น ในการเทศนาครั้งนี้ขอองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยตัวผมตระหนักชัดว่าอะไรที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และใครคือผู้ที่สำคัญที่สุดในการเทศนาครั้งนั้น

หลายๆ ครั้งที่ผมต้องถามตนเองว่า ทำไมเราถึงเอนเอียงที่จะให้ผู้คนแสดงการชื่นชมยอมรับในตัวเรา อาจจะมีเบื้องหลังชีวิตที่หล่อหลอมให้ตัวเราเกิดความไม่มั่นใจในตนเองหรือเปล่า ต้องการมั่นใจว่าผู้คนยอมรับเราในครั้งนี้หรือไม่ เพราะสมัยเป็นเด็กขาดความรักความอบอุ่นจึงโหยหาความรักการยอมรับจากผู้อื่นหรือไม่ หรือบางคนอาจจะมีปมประเด็นเรื่องคุณค่าในตนเองหรือเปล่า แต่ถ้าเราเต็มใจที่จะเปิดเผยชีวิตภายในของเราต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าในเรื่องใจปรารถนาของเรา พระองค์จะทรงชำระและเยียวยารักษาชีวิตจิตใจของเรา เราก็จะได้รับการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างใหม่จากพระองค์ด้วย โดยกระบวนการนี้เราจึงมีโอกาสที่ได้สัมผัสกับความรักและห่วงใยของพระองค์ และทำให้เราเริ่มแสวงหาการดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้ามากยิ่งขึ้น ยิ่งชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณของเราได้เป็นไทในพระเยซูคริสต์ เราก็ยิ่งจะสัมผัสกับสุขภาวะทั้งชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณ และนี่คือแนวทางที่ช่วยให้เราหลุดและรอดจากการครอบงำของ “ใจปรารถนาเพื่อตนเอง” ในตัวเรา

อย่างไรก็ตาม บางท่านอาจจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อย่างที่ผมเล่ามา ก็ต้องขอบพระคุณพระเจ้าอย่างมากที่ใจปรารถนามิได้มีแนวโน้มที่ถูกครอบงำด้วย “ใจปรารถนาที่ผิดปกติ” ที่ต้องการโหยหาให้คนอื่นยอมรับชื่นชมตนเอง แต่ด้วยพระคุณของพระเจ้าชีวิตของเราทุกคนสามารถที่จะได้รับการหนุนนำให้ไปถึงการดำเนินชีวิตและมีภาวะผู้นำที่มีใจปรารถนาสูงสุดที่จะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

ในแต่ละวันให้เราใคร่ครวญดูว่า
  • เรายังปรารถนาสร้างการชื่นชมยอมรับจากคนอื่นหรือไม่?
  • ในสถานการณ์นั้นท่านทำเช่นไร?
  • ในสถานการณ์นั้นท่านได้พบกับการทรงช่วยของพระเจ้าในการรับใช้และรักพระองค์อย่างไร?
  • ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงยอมรับการดำเนินชีวิตและการงานที่ทำงานของท่านหรือไม่? อย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น