21 พฤศจิกายน 2554

ถอดบทเรียนการสร้างสาวกแบบพระคริสต์: ทรงเริ่มที่เปลี่ยนวิธีคิดและความเชื่อ

การสร้างสาวกที่ผ่านมาเรามักติดยึดอยู่กับกระบวนการ “เรียนรู้นำสู่ปฏิบัติ” แล้วก็ให้ความสำคัญกับเนื้อหาคำสอน มักจะสร้างสาวกด้วยการสั่งสอน ตามด้วยคาดหวังให้สาวกกระทำตาม หรือไม่ก็สร้างสาวกด้วยการสอนการเทศน์โดยคาดหวังที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาพฤติกรรมตามที่ต้องการในชีวิตของสาวกคนนั้น กล่าวโดยภาพรวมแล้ว ที่ผ่านมาเรามักคิดว่า เมื่อเรา “ใส่” ข้อมูล ความรู้ ลงในคนเรียนแล้ว ความรู้นั้นจะไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนคนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นย้ำซ้ำมาตลอดบอกเราแล้วว่านั่นมันไม่เป็นความจริงเช่นนั้น

แต่สำหรับพระเยซูคริสต์แล้ว การสร้างสาวกของพระองค์มิได้เริ่มต้นที่การสอนเนื้อหา บทบัญญัติ หรือพฤติกรรมที่พระองค์พึงประสงค์ แต่พระองค์เริ่มต้นกระบวนการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ความคิดและความเชื่อ สิ่งแรกที่พระองค์ทรงประกาศคือ “จงกลับใจเสียใหม่” พระเยซูคริสต์หมายถึงการเปลี่ยนวิธีคิด ความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจเสียใหม่ เพราะถ้าวิธีคิดเปลี่ยน ความคิดความเชื่อเปลี่ยน มุมมองหรือทัศนคติก็จะเปลี่ยนด้วย การเปลี่ยนแปลงที่รากฐานเช่นนี้เป็นพลังส่งแรงกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่แสดงออกมาในชีวิต และนั่นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิต พระเยซูคริสต์ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคนที่เต็มใจเป็นสาวกของพระองค์

การสร้างสาวกแบบพระเยซูคริสต์ พระองค์กระทำเป็นกระบวนการ เป็นการสร้างท่ามกลางสถานการณ์จริงในชีวิตของคนๆ นั้นในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสาวกที่เริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิด ความคิดและความเชื่อ เพื่อให้เกิดพลังที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ มุมมองเรื่องต่างๆ ในชีวิต ให้เกิดความเข้าใจ เกิดการตระหนักชัดและความสำนึก จนตัดสินใจลงมือกระทำ และกระทำอย่างต่อเนื่อง มั่นคง จนกลายเป็นวินัยชีวิตนั้น การเรียนรู้และการสร้างเช่นนี้พระเยซูคริสต์สำแดงให้เห็นชัดว่า ต้องกระทำในสถานการณ์ชีวิตจริงของสาวกที่พระองค์กำลังสร้างนั้น ซึ่งเราสามารถถอดบทเรียน หรือ กระบวนการจากที่พระองค์ทรงใช้ จากพระคัมภีร์ตอนต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์ได้ ซึ่งในที่นี้เราจะร่วมกัน ถอดรหัส ถอดกระบวนการ และบทเรียนที่ได้จากการที่พระองค์ใช้ในกระบวนการสร้างสาวก โดยใช้เหตุการณ์เรื่องราวที่เราคุ้นชินรู้เรื่องทุกคนคือ การที่พระเยซูคริสต์เลี้ยงฝูงชนที่นับเฉพาะผู้ชายมีถึงห้าพันคน โดยขอใช้เรื่องราวการบันทึกของ มาระโก 6:30-44 ที่พระเยซูคริสต์กำลังสร้างสาวกที่ติดตามพระองค์ โดยเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิด ความคิด และความเชื่อใหม่

สร้างสาวกจากภาวะวิกฤติ

... พอตกเย็นเหล่าสาวกจึงมาทูลว่า “ที่นี่ห่างไกลนักและตกเย็นแล้ว ขอทรงให้ประชาชนเหล่านี้ไปเสียเถิดเพื่อเขาจะได้ซื้อหาอาหารกินกันเองตามหมู่บ้านรอบๆ
แต่พระองค์ตรัสตอบว่า “พวกท่านจงเลี้ยงพวกเขาเถิด”
เหล่าสาวกทูลว่า “นี่จะต้องใช้เงินเท่ากับค่าจ้างคนงานคนหนึ่งถึงแปดเดือนทีเดียว เราต้องใช้เงินมากขนาดนั้นไปซื้ออาหารมาให้เขากินหรือ”
พระองค์ตรัสถามว่า “พวกท่านมีขนมปังกี่ก้อนไปดูซิ”
เมื่อรู้แล้วพวกเขาจึงกลับมาทูลว่า “มีขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัว”
...
พระเยซูทรงรับขนมปังห้าก้อนและปลาสองตัวนั้นมา ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นมองฟ้าสวรรค์แล้วขอบพระคุณพระเจ้า และหักขนมปังส่งให้เหล่าสาวก พวกเขาก็แจกจ่ายให้ประชาชน พระองค์ยังทรงแบ่งปลาสองตัวให้คนทั้งปวงโดยทั่วกันด้วย (มาระโก 6:35-42 อมตธรรม)
เมื่อทุกคนอิ่มแล้ว พระองค์ตรัสสั่งเหล่าสาวกว่า “จงเก็บรวบรวมเศษที่เหลือ อย่าให้เสียของ”
พวกเขาจึงเก็บเศษที่เหลือจากขนมปังบาร์เลย์ห้าก้อนไปเต็มสิบสองตะกร้า” (ยอห์น 6:12 อมตธรรม)

เมื่อมองสถานการณ์ ท่านมองเห็นอะไร?

ภาวะวิกฤติอาจจะนำมาซึ่งความท้อแท้ อ่อนล้า ระอาใจ แต่สำหรับบางคนวิกฤติกลับเป็นโอกาสการเสริมสร้างสิ่งใหม่ในชีวิต และความกล้าแกร่งแก่ตนเอง แต่ที่สำคัญกว่านี้คือ เมื่อคนๆ หนึ่งตกในสถานการณ์นั้นๆเขาเห็นถึง “วิกฤติ” หรือไม่? หรือเขามองว่า ไม่เห็นมีวิกฤติอะไรเลย!

จากพระคัมภีร์ตอนข้างต้นที่ยกมา สาวกไม่เห็นวิกฤติ เขาเห็นแค่เหตุการณ์แต่ไม่เห็นวิกฤติ เขามองเห็นแค่ว่า ตกเย็นแล้ว ถึงเวลารับประทานอาหารแล้ว พระองค์ควรปล่อยให้ประชาชนไปซื้อหาอาหารกินเอง และถ้าปล่อยให้ประชาชนรับผิดชอบไปซื้อหาอาหารกินเอง ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไข เมื่อไม่มีปัญหาก็ไม่มีวิกฤติ(สำหรับสาวก แต่วิกฤติของประชาชนสาวกไม่สนใจ เพราะคนจำนวนมากเช่นนั้น แม้จะมีเงินแต่จะไปซื้ออาหารมากมายเช่นนี้จากใครในหมู่บ้านชนบท) แต่พระเยซูคริสต์ทรงเห็นวิกฤติ พระองค์จึงตรัสตอบสาวกว่า “พวกท่านจงเลี้ยงพวกเขาเถิด” (ข้อ 37)

อะไรที่ทำให้สาวก และ พระเยซูมองในเหตุการณ์เดียวกันแต่มองเห็นแตกต่างกัน? อะไรที่ทำให้คนหนึ่งเห็นวิกฤติ แต่อีกคนหนึ่งมองว่าไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ถ้าเรากลับย้อนไปอ่านพระคัมภีร์ข้อก่อนหน้านี้ ที่จริงพระเยซูชวนเหล่าสาวก “ไปยังที่สงบเงียบ” (ข้อ 32) แต่ประชาชนวิ่งจากเมืองต่างๆ ตามพระเยซูไป มาระโกบันทึกชัดเจนว่า “เมื่อพระเยซูทรงขึ้นจากเรือ และเห็นคนหมู่ใหญ่ก็ทรง สงสาร เพราะพวกเขาเป็นเหมือนแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง” (ข้อ 34) พระองค์เปลี่ยนจากการหาที่สงบเงียบ มาอยู่กับฝูงชนกลุ่มนี้ เพราะพระเยซูคริสต์มองฝูงชน “ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาคุณ” คำว่า “สงสาร” ในที่นี้ทำให้เราคิดถึงคำอุปมาเรื่อง “ชาวสะมาเรียผู้มีใจเมตตา” ที่พระเยซูคริสต์เล่า บอกว่า “แต่ชาวสะมาเรียคนหนึ่งเดินทางมาถึงที่ที่คนนั้นอยู่ เมื่อเห็นเขาก็ สงสาร...” (ลูกา 10:33 อมตธรรม) คือเป็นความรู้สึกที่มาจากส่วนลึกก้นบึ้งแห่งจิตใจ หรือที่บอกว่าเป็นความรู้สึกที่ลุ่มลึกจากลำไส้

การมองสถานการณ์หรือเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ด้วย “จิตใจที่เมตตา” ทำให้ผู้มองสามารถเห็นวิกฤติ เพราะผู้มองเหตุการณ์นั้นมองด้วยความสำนึกว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้น ตนต้องการที่จะรับผิดชอบต่อสถานการณ์นั้น

แต่ถ้ามองสถานการณ์เดียวกันนั้นด้วยตรรกะ แล้วสรรหาเหตุผลสารพัดเพื่อยืนยันความเข้าใจต่อเหตุการณ์นั้นว่าถูกต้อง ก็จะใช้หลักการบริหารจัดการแบบ “ปัดสวะ” “โยนกอง” ออกไปรอบๆ ให้ความรับผิดชอบห่างพ้นไกลตัว จึงมองไม่เห็นวิกฤติ หรือมองว่าถ้ามันจะมีวิกฤติก็เป็นวิกฤติ “ของเขา” มิใช่วิกฤติของตน คนอื่นต้องแก้ปัญหา ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น เมื่อสาวกเห็นว่าจะค่ำแล้ว ถึงเวลารับประทานอาหารแล้ว จึงบอกพระเยซูว่าให้ปล่อยประชาชนไปในหมู่บ้านหาที่พักหาอาหารกินกันเอง สาวกมองไม่เห็นวิกฤติ มองเห็นแต่เหตุการณ์! และเสนอวิธีการบริหารจัดการเหตุการณ์นั้นแบบไร้ความสำนึกรับผิดชอบ

กระบวนการสร้างสาวกของพระเยซูคริสต์

สิ่งแรก เมื่อพระองค์จะสร้างสาวกเหล่านี้ให้มีวิธีคิด วิธีเชื่อ และวิธีมองใหม่ พระองค์ “ผลัก” สาวกให้เข้าไปในวิกฤติกาลครั้งนั้น พระเยซูบอกกับสาวกว่า “พวกท่านจงเลี้ยงพวกเขาเถิด” (ข้อ 37) พระองค์ดึงเหล่าสาวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์นั้น ยิ่งกว่านั้นให้มีส่วนรับผิดชอบในสถานการณ์นั้น

ทั้งนี้พระเยซูคริสต์มิเพียงแต่ที่จะให้สาวกคิดและเข้าใจว่า เขาจะต้องมีส่วนร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมรับผิดชอบกับประชาชนในเหตุการณ์นี้เท่านั้น แต่พระองค์กำลังจะสร้างความเข้าใจใหม่แก่สาวกว่า ในทุกวิกฤติถ้าเราไม่หลีกลี้หนีไปให้ห่าง แต่ยอมอยู่ในวิกฤตินั้นด้วยความเชื่อและไว้วางใจในพระเจ้า จะเป็นโอกาสที่เราจะเห็นถึงพระราชกิจแห่งพระคุณของพระองค์ และพระราชกิจเหล่านั้นที่จะเสริมสร้างสาวกให้เติบโต เข้มแข็ง และเกิดคุณค่าความหมายในชีวิต

ประการที่สอง เมื่อพระเยซูดึงเหล่าสาวกเข้ามาอยู่ท่ามกลางวิกฤติในตอนนั้น โดยบอกพวกเขาให้เลี้ยงประชาชน ทันทีเราได้เห็นวิธีคิดและความคิดของสาวกที่มีอยู่ เขาตอบพระเยซูว่า “นี่จะต้องใช้เงินเท่ากับค่าจ้างคนงานคนหนึ่งถึงแปดเดือนทีเดียว (หรือสำนวนเดิมคือ สองร้อยเดนาริอัน หนึ่งเดนาริอันคือค่าจ้างแรงงานคนหนึ่งในหนึ่งวัน) เราต้องใช้เงินมากขนาดนั้นไปซื้ออาหารมาให้เขากินหรือ”

สิ่งที่สาวกคิดได้ทันทีคือ มันเป็นความรับผิดชอบของเราต่ออาหารการกินของประชาชนด้วยหรือ? เราไม่ได้บอกพวกเขาว่าเราจะเลี้ยงอาหารพวกเขา ที่พระองค์ทรงรักษาโรค ทรงขับผี และทรงสั่งสอนก็เป็นสิ่งที่เกินพอเสียอีก เราจะต้องซื้อหาอาหารมาเลี้ยงพวกเขาด้วยหรือ? (คิดด้วยหลักการ ตรรกะ เหตุผล)

ความคิดที่สองคือ “มันต้องใช้เงิน(ต้องมีงบประมาณ)” นี่เราจะต้องใช้เงินมหาศาล เราไม่มีเงินมากมายขนาดนั้น พระองค์รู้ไหมเราต้องใช้เงินเท่ากับค่าจ้างคนทำงานคนหนึ่งที่ทำงานนานถึงประมาณ 8 เดือนเลยเชียวนะ มันไม่ใช่วิกฤติของเรา เราจึงไม่ต้องรับผิดชอบ ถึงเราจะรับผิดชอบเราก็ไม่มีกำลังพอ (คำพูดแบบนี้คุ้นๆ หูอยู่ใช่ไหมครับ) สาวกบอกพระเยซูคริสต์ตรงๆ ว่า เราไม่สามารถทำอะไรในวิกฤติกาลครั้งนี้

ประการที่สาม การเปลี่ยนวิธีคิด วิธีเชื่อ ของสาวกในเหตุการณ์ครั้งนี้ พระองค์ส่งสาวกลงไปค้นหาความจริงด้วยตนเอง ความจริงที่ต้องค้นหาในวิกฤติครั้งนี้คือ การค้นหา “ศักยภาพ” หรือ “ของประทาน” ที่มีอยู่ในคน(ทั้งตนเองและคนอื่น) และชุมชนในสถานการณ์วิกฤตินั้น และสิ่งที่สาวกค้นพบในชุมชนวิกฤติครั้งนั้นคือ “ขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัว” และเด็กที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อที่ยอมให้อาหารของตนแก่สาวก

แต่ในความคิดของสาวกก็คือ อ้ายแค่เศษอาหารจิ๊บจ้อยนี้จะพออะไรกับฝูงชนจำนวนมากมาย พวกเขาบอกพระเยซูว่า “เด็กคนหนึ่งที่นี่มีขนมปังบาร์เลย์ห้าก้อนกับปลาเล็กๆ สองตัว แต่จะพออะไรกับคนมากมายขนาดนี้” (ยอห์น 6:9 อมตธรรม)

ในวิกฤติกาลเช่นนี้ พระเยซูต้องการเปลี่ยนความคิดของสาวกว่า ในชีวิตนี้ความสำเร็จหรือการแก้ปัญหามิใช่ขึ้นอยู่กับการมีทรัพยากรจำนวนมากหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับการทรงจัดเตรียมของพระเจ้า และเราจะยอมใช้สิ่งที่พระองค์จัดเตรียมสำหรับเราที่จะใช้ในงานของพระองค์หรือไม่ แต่โดยปกติแล้วคนที่มองข้ามวิกฤติก็จะไม่มองหาของประทานที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า พระเยซูคริสต์จึงหนุนเสริมให้สาวกลงไปค้นหาของประทานในชุมชนนั้นด้วยตัวของสาวกเอง

ประการที่สี่ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ พระเยซูคริสต์ทรงเปลี่ยนวิธีคิดวิธีเชื่อของเหล่าสาวกจากการที่จะฝ่าวิกฤติด้วยความเชื่อมั่นใน “เงินทองงบประมาณ” “ทรัพยากร” และความสามารถของตนเองที่มีอยู่ แต่พระองค์สำแดงให้เห็นชัดว่า วิกฤติครั้งนี้จะฝ่าผ่านไปได้ก็ด้วยสำนึกว่า การเปลี่ยนวิกฤติครั้งนี้คือ พระราชกิจอันทรงพระคุณของพระเจ้า และพระองค์เชิญชวนสาวกของพระองค์เข้ามีส่วนร่วมในพระราชกิจอันทรงคุณครั้งนี้ด้วย

พระเยซูทรงรับขนมปังห้าก้อนและปลาสองตัวนั้นมา ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นมองฟ้าสวรรค์แล้วขอบพระคุณพระเจ้า และหักขนมปังส่งให้เหล่าสาวก พวกเขาก็แจกจ่ายให้ประชาชน พระองค์ยังทรงแบ่งปลาสองตัวให้คนทั้งปวงโดยทั่วกันด้วย ในวิกฤติของมนุษย์เป็นโอกาสที่พระเจ้าจะทรงสำแดงความเมตตากรุณาแก่ประชาชน วิกฤติของมนุษย์เป็นโอกาสที่มนุษย์และองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น ในวิกฤตินั้นเองที่พระเจ้าทรงเปิดโอกาสให้เราได้มีส่วนร่วมรับใช้ในพระราชกิจของพระองค์ และที่สำคัญคือในวิกฤตินั้นเองที่เราได้รับการเรียนรู้ใหม่ๆ จากพระเจ้า ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนในความคิดความเชื่อ ในทัศนคติและมุมมอง และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตไปในทางที่พระองค์ประสงค์ วิธีการที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อในขั้นนี้คือ การที่พระองค์เชิญชวนให้เราเข้ามาร่วมในพระราชกิจของพระองค์ ลงมือกระทำด้วยตนเอง และได้รับประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำครั้งนั้น ดั่งสาวกที่ได้รับขนมปังและปลาจากที่พระองค์ทรงหักแล้วนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชน

ประการสุดท้าย พระองค์บ่มเพาะเสริมสร้างเราให้เป็นสาวกของพระองค์ด้วยการตอกย้ำความคิดความเชื่อที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นความคิดความเชื่อที่ยั่งยืน ไปสู่การเป็นสำนึกที่ตระหนักชัด สู่การเป็นวินัยชีวิตที่เป็นอุปนิสัยคริสเตียนของเราแต่ละคน

ท่ามกลางความอัศจรรย์ใจของเหล่าสาวก และ รู้สึกตื่นเต้นกับเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มตัว แล้วยังชื่นชมกับการที่ได้เลี้ยงอาหารคนจำนวนมากมายให้อิ่มหนำสำราญ พระเยซูคริสต์ตรัสสั่งให้สาวกรวบรวมเศษอาหารที่เหลือได้ 12 ตะกร้าเต็ม (6:43 อมตธรรม)

นี่คือกระบวนการประมวลให้เกิดเป็นองค์ความรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ การประมวลมิได้กระทำด้วยการสรุปเป็นหลักการของพระเยซูคริสต์ แต่พระองค์ประมวลโดยให้สาวกแต่ละคน “นับพระพร” คือลงไปเก็บเศษอาหารที่เหลือด้วยตนเอง สาวกต้องทึ่งอย่างมากเมื่อพบว่าอาหารที่เหลือมีมากถึง 12 ตะกร้า การได้เห็นถึงพระพรและพระคุณของพระเจ้าเช่นนี้เป็นภาพที่ย้ำเตือนในความคิดและความทรงจำของสาวกไปตลอดชีวิต และสิ่งนี้ภายหลังได้สะท้อนออกมาในคำกล่าวและการทำพันธกิจของเปโตรที่มีต่อคนง่อยที่หน้าประตูงามว่า เงินและทองเราไม่มี แต่สิ่งที่เรามีคือ ในพระนามพระเยซูคริสต์แห่งนาซาเร็ธจงเดินเถิด (กิจการ 3:6)

การสร้างสาวกไม่ได้สร้างแต่ความรู้เท่านั้น การสร้างสาวกเป็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตจากพระเจ้า เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่รากฐานของชีวิตคือ ความคิดและความเชื่อ มุมมองและทัศนคติ พฤติกรรมและการดำเนินชีวิต ให้เปลี่ยนแปลงไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า แน่นอนว่า องค์ความรู้เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิต แต่การก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อจะต้องไม่มองข้ามหรือหลีกเลี่ยงวิกฤติในชีวิต เพราะนั่นคือโอกาสที่พระเจ้าจะทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา เราต้องพร้อมที่ลงมือกระทำตามที่พระเจ้าทรงนำ การฟันฝ่าวิกฤติเป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่ท้าทายและเชิญชวนให้เราเข้าไปมีส่วนร่วม และจะต้องเริ่มต้นการร่วมในพระราชกิจการเปลี่ยนแปลงตามแผนการที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ และจากของประทานที่มีอยู่ในชุมชนและคนในชุมชน แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยปานใดก็ตาม การสร้างสาวกต้องพบความจริงด้วยประสบการณ์ตรง และการประมวลประสบการณ์เป็นองค์ความรู้สู่การพัฒนาเป็นความสำนึกตระหนักชัด และยึดมั่นดำเนินชีวิตตามแนวทางที่ได้รับการทรงเปลี่ยนตามพระประสงค์นั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
แม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
เดือนระลึกพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี พฤศจิกายน 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น