30 สิงหาคม 2554

ฤาถึงเวลาต้องปฏิรูปการอภิบาลในคริสตจักร?: ตอนที่ 5: ว่าด้วยการใช้ของประทาน

การใช้ของประทาน

การอภิบาลในยุคโลกาภิวัตน์ มักจะมี “ศิษยาภิบาล” เป็นผู้มีอิทธิพลเหนือในงานการอภิบาลทั้งหมด เป็นแกนกลางของการรวมตัวของคริสตจักร อาจจะมีคนอื่นบ้างที่ร่วมในพันธกิจการอภิบาลแต่มีส่วนร่วมในระดับที่จำกัด “ตัวศิษยาภิบาล” และ คำเทศนาของศิษยาภิบาลกลายเป็นจุดศูนย์กลางของพันธกิจ และการพบปะสามัคคีธรรมกันในชีวิตคริสตจักร ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับการอภิบาลในคริสตจักรตามพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่

คริสตจักรในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่มุ่งเน้นให้มีการบ่มเพาะ ฟูมฟัก และเลี้ยงดูชีวิตคริส-เตียนด้วยสมาชิกทุกคนในคริสตจักร ของประทานและการสำแดงจากพระวิญญาณนั้นมีแก่ทุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกัน (1โครินธ์ 12:4-7)

พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ สอนว่า คริสตจักรเป็นพระวรกายของพระคริสต์ซึ่งประกอบด้วยหลายอวัยวะ และแต่ละส่วนย่อมทำหน้าที่ของตนเอง และทำงานอย่างประสานสัมพันธ์กับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ไม่สามารถที่จะปฏิเสธหรือกีดกันอวัยวะหนึ่งใดในร่างกายไม่ให้ทำหน้าที่บทบาทของตน และพระเจ้าทรงให้ทุกอวัยวะมีความสำคัญเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ต้องการให้เกิดการแก่งแย่งกันระหว่างอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเดียวกัน แต่ให้อวัยวะทุกส่วนพะวงซึ่งกันและกัน เมื่อเกิดอะไรขึ้นแก่อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดในร่างกายย่อมมีผลกระทบต่อทุกส่วนในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเกียรติชื่นชม หรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นก็ตาม (ข้อ 14-26)

ความสามารถหรือของประทานที่มีอยู่ในแต่ละตัวคนของสมาชิกมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างให้ทุกคนทำพันธกิจเพื่อให้ชีวิตชุมชนคริสตจักรเจริญขึ้น และหนุนเสริมชีวิตของสมาชิกคนอื่นๆ ให้จำเริญขึ้นด้วย (14:12; 26) การทำงานประสานสัมพันธ์ของทุกส่วนทุกคนในคริสตจักรนั้นก็เพราะมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางที่ประสานให้เรามีความสัมพันธ์และทำงานสอดคล้องกันด้วยความรักของพระองค์ (เอเฟซัส 4:16) และให้ทุกอวัยวะในพระกายของพระคริสต์ใช้ของประทานเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กันและกัน และเพื่อสำแดงพระคุณนานาประการของพระเจ้า (1เปโตร 4:10)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง
The Urgent Need For Reformation in Pastoral Ministry ของ Darryl M. Erkel

25 สิงหาคม 2554

ฤาถึงเวลาต้องปฏิรูปการอภิบาลในคริสตจักร?: ตอนที่ 4: ว่าด้วยสองชนชั้นในคริสตจักร

สองชนชั้นในคริสตจักร

การอภิบาลชีวิตคริสเตียนในยุคทันสมัย ได้แบ่งผู้ทำงานอภิบาลออกเป็นผู้รับใช้ “ที่ได้รับการสถาปนา” ซึ่งเป็นผู้อภิบาลมืออาชีพที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษ กับ “ผู้รับใช้ฆราวาส” ดังนั้น การทำพันธกิจส่วนใหญ่จึงกระทำโดยศิษยาภิบาล หรือ ศาสนาจารย์ แต่มิได้คาดหวังว่าฆราวาสจะต้องทำอะไรมากมายในงานการอภิบาลชีวิตในคริสตจักร ส่วนมากก็ได้รับการคาดหวังว่า ให้เข้าร่วมนมัสการพระเจ้าด้วยความสัตย์ซื่อ ถวายสิบลดเป็นประจำ และเป็น “ผู้ชม” “ผู้ฟัง” ผู้สังเกตการณ์ทำพันธกิจต่างๆ ในคริสตจักร

แต่คริสตจักรในพระคัมภีร์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สมาชิกคริสตจักรทุกคนคือผู้ที่จะอภิบาลชีวิตของคนอื่นๆ สมาชิกแต่ละคนจะอภิบาลชีวิตซึ่งกันและกัน และทุกคนเป็นปุโรหิตต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า (1เปโตร 2:5-9; วิวรณ์ 1:6) แท้จริงแล้วพระวรกายทุกส่วนต่างเป็นพระวรกายแห่งการทำพันธกิจรับใช้ สมาชิกแต่ละคนทำพันธกิจรับใช้ด้วยของประทานที่มีอยู่ในแต่ละตัวคนเพื่อในการทำการดีทั้งปวง(โรม 12:6-8; 1โครินธ์ 12:4-11; 14:12,26; เอเฟซัส 4:11-16; โคโลสี.3:16; 1เปโตร.4:10-11)

ที่เราแบ่งคริสตจักรออกเป็นสองชนชั้นคือ “ฆราวาส” กับ “ผู้รับใช้ที่ได้รับการสถาปนา” นั้นเรากระทำตามมาตรฐานของพระคัมภีร์ตอนไหน? ในเมื่อคำที่เราใช้ทั้งสองคำในคริสตจักรมีส่วนที่ทำให้เราเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากความจริงในพระคัมภีร์ เราจะยอมเปลี่ยนคำที่ใช้แล้วทำให้เข้าใจความหมายผิดไปมาใช้คำที่สามารถสื่อสารความหมายอย่างถูกต้องตามพระคัมภีร์หรือไม่? ในเมื่อสมาชิกส่วนใหญ่ในคริสตจักรถูกทำให้เข้าใจว่าเขาเป็นเพียงสมาชิก เขาเป็นเพียงฆราวาส ดังนั้น งานพันธกิจ งานรับใช้เป็นหน้าที่ของผู้รับใช้ที่ได้รับการสถาปนา ผู้อภิบาลมืออาชีพ แล้วเราจะไปคาดหวังให้สมาชิกคริสตจักรส่วนใหญ่เป็นผู้เชื่อที่เกิดผลเพื่อพระคริสต์ได้อย่างไร? ถ้าสมาชิกคริสตจักรแต่ละคนคือผู้รับใช้และผู้อภิบาลชีวิต แล้วทำไมคริสตจักรไม่เสริมหนุนให้สมาชิกแต่ละคนอภิบาลชีวิตกันและกันในชุมชนคริสตจักร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง
The Urgent Need For Reformation in Pastoral Ministry ของ Darryl M. Erkel

23 สิงหาคม 2554

ฤาถึงเวลาต้องปฏิรูปการอภิบาลในคริสตจักร?: ตอนที่ 3: ผู้อภิบาลมืออาชีพ

ผู้อภิบาลมืออาชีพ

งานการอภิบาลในคริสตจักรปัจจุบันขาดด้อยในการมุ่งเน้นด้านการฟูมฟักและเสริมสร้างให้สมาชิกแต่ละคนใช้ของประทานในงานพันธกิจด้านต่างๆ ของคริสตจักร เราพบว่าศิษยาภิบาลในยุคนี้หนุนเสริมสมาชิกเพียงไม่กี่คนให้เข้ามามีส่วนร่วมการทำพันธกิจในคริสตจักร และเป็นการให้คนเหล่านั้นมีส่วนร่วมพันธกิจเพียงระดับที่จำกัด

ศิษยาภิบาลมักคิดและเข้าใจว่าส่วนสำคัญยิ่งในการอภิบาลชีวิตสมาชิกในคริสตจักรคือการเทศนาในวันอาทิตย์ และให้การนมัสการคือแกนกลางหนึ่งเดียวของพันธกิจในคริสตจักร ซึ่งถ้าเราพิจารณาจากพระคัมภีร์ในภาคพันธสัญญาใหม่เราพบว่า ในการพบปะกันของสมาชิกในคริสตจักรท้องถิ่นคือเวทีและโอกาสที่คริสเตียนแต่ละคนได้มีโอกาสใช้ของประทานที่มีอยู่ในตนเองในการหนุนเสริมชีวิตคริสเตียนกันและกันด้วยความรักและด้วยการกระทำ

6และเราทุกคนมีของประทานที่ต่างกัน ตามพระคุณที่ได้ประทานให้แก่เรา คือถ้าเป็นการเผยพระวจนะ ก็จงเผยตามกำลังของความเชื่อ 7ถ้าเป็นการปรนนิบัติก็จงปรนนิบัติ ถ้าเป็นการสั่งสอนก็จงสั่งสอน 8ถ้าเป็นการเตือนสติก็จงเตือนสติ ถ้าเป็นการบริจาค ก็จงให้ด้วยใจกว้างขวาง ผู้ที่ครอบครอง ก็จงครอบครองด้วยเอาใจใส่ ผู้ที่แสดงความเมตตาก็จงแสดงด้วยใจยินดี” (โรม 12:6-8)

ใน 1โครินธ์ 12 เปาโลได้ชี้ชัดว่า โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า ที่ได้ประทานของประทานให้ผู้เชื่อแต่ละคนที่แตกต่างหลากหลายไม่เหมือนกัน เช่นบางคนได้รับของประทานให้มีถ้อยคำที่ประกอบด้วยสติปัญญา, บางคนมีคำพูดที่ให้ความรู้, บางคนสามารถเผยพระวจนะ, อีกหลายคนที่มีความเชื่อที่แข็งแรง, บางคนมีความสามารถในการรักษาโรค, บ้างได้รับของประทานในการกระทำการอัศจรรย์, ส่วนบางคนพูดภาษาแปลกๆ ได้, อีกคนแปลภาษาแปลกๆ ได้ และ ฯลฯ แม้ว่าแต่ละคนจะมีของประทานที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป แต่พระวิญญาณองค์เดียวกันเป็นผู้ประทานตามชอบพระทัยของพระองค์ เพื่อใช้ของประทานเหล่านั้นในการสร้างประโยชน์แก่กันและกัน (ข้อ 4-12) และใช้ของประทานเพื่อทำให้คริสตจักรแข็งแรงขึ้น (1โครินธ์ 14:12) เพื่อให้พี่น้องในคริสตจักรเจริญขึ้น (ข้อ 26) ปลุกใจกันและกันให้มีความรักและทำความดี และหนุนใจกันและกัน (ฮีบรู 10:24-25) ใช้ของประทานของพระเจ้าอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อสำแดงพระคุณของพระเจ้า เป็นประโยชน์แก่กันและกัน เพื่อพระเจ้าจะได้รับเกียรติจากการงานที่เราทำ (1เปโตร 4:10-11)

อย่างไรก็ตาม ศิษยาภิบาลส่วนใหญ่มิได้มีความเข้าใจสัจจะในประการนี้อย่างเต็มที่ ปล่อยให้สมาชิกดำเนินหรือทำตามความเข้าใจของตนเอง ดังนั้น สมาชิกส่วนใหญ่ที่มาร่วมในการนมัสการพระเจ้าในคริสตจักรจึงทำตนเป็นเพียง “ผู้ชม” “ผู้ฟัง” “ผู้สังเกตการณ์” เท่านั้น และปล่อยให้คนเพียง 2-3 คน ทำงานทุกอย่าง แทนที่ทุกคนควรเข้ามามีส่วนร่วมในพันธกิจทั้งหลาย

มีคำถามที่เราในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคริสตจักรต้องตอบคือ มีพระคัมภีร์ตอนไหนหรือที่บอกเราว่า ให้มอบภาระความรับผิดชอบการบ่มเพาะ เลี้ยงดู ฟูมฟักชีวิตของผู้เชื่อในคริสตจักรให้คนใดคนหนึ่ง หรือ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรับผิดชอบ หรือเป็นความรับผิดชอบของพวก “ผู้อภิบาลมืออาชีพ” โดยเฉพาะ แทนที่จะอภิบาลเลี้ยงดูฟูมฟักซึ่งกันและกัน?

ทำไมคริสเตียนจำนวนมากมายที่เข้ามาร่วมในคริสตจักรยาวนานเป็นปีๆ แต่กลับไม่รู้เรื่องความเชื่อศรัทธาและชีวิตคริสเตียน(ไม่รู้ถึงแก่นแท้แห่งความเชื่อของคริสเตียน)เลย? และ

ทำไมคริสเตียนจำนวนมากไม่รู้เลยว่าตนมีของประทานฝ่ายจิตวิญญาณอะไรบ้าง จึงไม่รู้ว่าตนเองจะต้องมีบทบาทความรับผิดชอบในส่วนไหนของชีวิตคริสตจักร?

ศิษยาภิบาลในยุคทันสมัยนี้ได้เสริมหนุนให้เกิดสมาชิกที่สามารถขับเคลื่อนในหน้าที่การงานคริสตจักรด้วยความรับผิดชอบ หรือ สามารถสร้างเพียงสมาชิกคริสตจักร “ไม้ประดับ” นั่งบนเก้าอี้ในวันอาทิตย์(ให้เต็ม)ที่ไม่ต้องรับผิดชอบพันธกิจใดๆ ในคริสตจักร?

ตามความจริงแล้ว ศิษยาภิบาลจะต้อง เลี้ยงดู ฟูมฟัก บ่มเพาะให้สมาชิกแต่ละคนเป็นคนที่พระเจ้าจะทรงใช้ได้ เพื่อศิษยาภิบาลจะได้มอบหมายส่งทอดบทบาทความรับผิดชอบที่ตนได้รับจากพระเจ้าไปยังสมาชิกแต่ละคนตามของประทานที่แต่ละคนได้รับจากพระเจ้า เพื่อสมาชิกแต่ละคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในพันธกิจต่างๆ ในคริสตจักร เพื่อแต่ละคนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ เพื่อแต่ละคนจะจำเริญขึ้นสู่พระคริสต์ผู้เป็นศีรษะของคริสตจักร และทำงานประสานต่อติดสนิทเป็นร่างกายเดียวกันในพระคริสต์ด้วยความรัก (เอเฟซัส 4:11-16)

ศิษยาภิบาลคือผู้ที่ต้องดูแลจิตวิญญาณของสมาชิกให้เจริญเติบโตขึ้น และเป็นผู้ที่จะต้องรายงานต่อพระเจ้าในพันธกิจการอภิบาลฟูมฟักที่ตนเองได้รับมอบหมายจากพระองค์ (ฮีบรู 13:17) แล้วศิษยาภิบาลในยุคทันสมัยจะรายงานกับพระเจ้าอย่างไรในพันธกิจการอภิบาลสมาชิกผู้เชื่อที่ไม่เกิดผลในชีวิต มีแต่สมาชิก “ทารก” หรือ สมาชิก “เฒ่าทารก” ที่มีเต็มเกลื่อนคริสตจักร เป็นคริสเตียนที่ “นิ่งเฉย” ไม่ทำอะไร นอกจากนั่งอย่างนิ่งสุภาพ สงบเสงี่ยม ในการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ มีบ้างที่จดบันทึกคำเทศนาของศิษยาภิบาล หรือ ช่วยผ่านถุงถวายทรัพย์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่ สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง The Urgent Need For Reformation in Pastoral Ministry
ของ Darryl M. Erkel

18 สิงหาคม 2554

ฤาถึงเวลาต้องปฏิรูปการอภิบาลในคริสตจักร? ตอนที่ 2: ว่าด้วยเรื่องตำแหน่ง

ว่าด้วยเรื่องตำแหน่ง

ค่านิยมหนึ่งตามกระแสสังคมปัจจุบันที่เข้ามามีอิทธิพลในชุมชนคริสตจักรคือ การยกย่องคนที่มีตำแหน่ง หรือ ให้เกียรติกันด้วยตำแหน่งที่นำหน้าชื่อแก่ผู้ที่ทำงานในชุมชนคริสตจักร ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง “ศาสนาจารย์” “ศิษยาภิบาล” “บิช็อป” “ศิษยาภิบาลอาวุโส” “ด๊อกเตอร์” “ศจ.ดร.” หรือแม้แต่ “ผป. หรือ มน.” ดูจะเป็นวิธีการที่แตกต่างตรงกันข้ามกับหลักการคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่สอนสาวกและประชาชนของพระองค์ พระคัมภีร์สอนว่าเราต่างเป็นพี่น้องกันไม่มีความจำเป็นจะต้องยกย่องหรือให้เกียรติกันด้วยตำแหน่งที่นำหน้าชื่อเลย

พระเยซูคริสต์วิพากษ์พวกฟาริสี และ ธรรมาจารย์ว่า เขาเป็นพวกที่ชอบทำสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะยกย่องและอวดตนเอง จากมัทธิว 23:6-12 ผู้นำศาสนายิวพวกนี้ชอบ “นั่งในที่นั่งอันมีเกียรติ...ชอบรับการเคารพกลางตลาด ชอบให้คนอื่นเรียกตนว่า “ท่านอาจารย์” พระเยซูสอนสาวกของพระองค์ว่า “ท่านทั้งหลายอย่าให้ใครเรียกว่า “ท่านอาจารย์” เพราะพวกท่านมีพระอาจารย์เพียงผู้เดียว และพวกท่านทุกคนเป็นพี่น้องกัน”(ข้อ 8) อย่าให้เกียรติใครในโลกนี้ว่าพระบิดา เพราะพวกท่านมีพระบิดาเพียงผู้เดียว...”(ข้อ 9) อย่าให้ใครเรียกท่านว่า “พระครู” เพราะว่าพระครูของพวกท่านมีเพียงผู้เดียวคือพระคริสต์ ...”(ข้อ 10) และพระเยซูสอนว่า คนที่ยอมถ่อมตัวลงต่างหากที่จะได้รับการยกขึ้น (ข้อ 12)

ในพระธรรม มาระโก 10:35-45 เมื่อสาวกของพระเยซูคริสต์คือยากอบกับยอห์น มาขอตำแหน่งซ้ายและขวาจากพระองค์ พระเยซูคริสต์ตอบว่า “พวกท่านไม่เข้าใจสิ่งที่ท่านขอ...”(ข้อ 38-39) พระองค์ชี้ชัดว่า เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือการมีหน้ามีตาในสังคม ไม่ได้มาจากมนุษย์มอบชื่อเสียง หรือ ตำแหน่งให้กัน สำหรับในชุมชนผู้เชื่อแล้ว เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นสิ่งที่พระเจ้าจะทรงมอบให้ เป็นสิ่งที่พระเจ้าจะยกย่องเอง (ข้อ 40) พระเยซูคริสต์ได้สอนยากอบและยอห์นไปพร้อมๆ กับสาวกคนอื่นที่กำลังโกรธเคืองสาวกทั้งสองที่หวังจะได้ตำแหน่งพิเศษกว่าพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายรู้อยู่แล้วว่า คนที่นับว่าเป็นผู้ครอบครองของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายอยู่เหนือเขาทั้งหลาย และพวกที่เป็นใหญ่ก็ใช้อำนาจบังคับพวกเขา ในพวกท่านจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่ถ้ามีใครต้องการจะเป็นใหญ่ท่ามกลางท่าน คนนั้นจะต้องเป็นผู้ปรนนิบัติของท่านทั้งหลาย และถ้าใครต้องการจะเป็นนาย(ภาษากรีกแปลตรงตัวว่า เป็นคนแรก) คนนั้นจะต้องเป็นทาสของคนทั้งหลาย เพราะว่าบุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อจะปรนนิบัติคนอื่น และให้ชีวิตของท่านเป็นค่าไถ่คนจำนวนมาก”. (ข้อ 42-45)

มิใช่เพียงตำแหน่ง เกียรติยศ ชื่อเสียงที่ทำให้เกิดความขุ่นเคือง แตกแยก ในความเป็นพี่น้องกันในพระคริสต์แล้ว บ่อยครั้ง คริสตจักรมักหลงลืมไปว่า การที่แต่ละท่านทำหน้าที่รับใช้ในพันธกิจต่างๆ ตามของประทานจากพระเจ้านั้น มิใช่เป็นตำแหน่ง แต่เป็นงานความรับผิดชอบที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้กระทำ โดยมีเป้าหมายปลายทางในการสร้างเสริมสมาชิกแต่ละคนให้เติบโตขึ้น ดังปรากฏในเอเฟซัส 4:11-12 “และพระองค์เองประทานให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์ เพื่อเตรียมธรรมิกชนสำหรับการปรนนิบัติและการเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์”

คงปฏิเสธได้ลำบากยากยิ่งว่า การที่เรากำหนดให้มีตำแหน่งที่ใส่ใช้นำหน้าชื่อผู้นำคริสตจักรนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อตัณหาความต้องการภาคภูมิใจในตนเองลึกๆ ในขณะที่คริสตจักรกำลังถูกอิทธิพลกระแสนิยมของสังคมโลกเข้ามาครอบงำ พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่กลับมีคำสอนถึงการให้เกียรติและการยกย่องผู้เชื่อในชุมชนคริสตจักรว่ามิได้มาจากการที่มีตำแหน่ง คำนำหน้า ที่บอกถึงเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือ ได้รับการยกย่อง แต่เพราะการดำเนินชีวิตที่อุทิศชีวิตเพื่อพระนามของพระคริสต์... ทุ่มเทชีวิตในการประกาศข่าวประเสริฐ” (กิจการ 15:26) เปาโลขอให้สมาชิกคริสตจักรให้นอบน้อมต่อคนที่ถวายตัวในงานปรนนิบัติธรรมิกชน และทุกคนที่ร่วมทำงานตรากตรำ (1โครินธ์ 16:15-16) เพราะว่าพวกเขาทำให้จิตใจของข้าพเจ้าและของพวกท่านชื่นบาน เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงยอมรับคนเช่นนี้ (ข้อ 18) ใน 2โครินธ์ 8:18 เปาโลกล่าวว่า เราส่งพี่น้องคนหนึ่งที่คริสตจักรทุกแห่งยกย่องในเรื่องการประกาศ ข่าวประเสริฐไปพร้อมกับเขาด้วย ยิ่งกว่านั้น ให้คริสตจักรยอมรับนับถือผู้ที่ทำงานของพระคริสต์อย่างที่ไม่เกรงกลัวจะเสียชีวิต “เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงต้อนรับเขาในองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความยินดียิ่ง และจงนับถือคนประเภทนี้ เพราะเขาเกือบจะตายเนื่องจากงานของพระคริสต์ เขาเสี่ยงชีวิตของเขาเพื่อการปรนนิบัติของพวกท่านที่ไม่อาจทำให้ข้าพเจ้าได้นั้น จะสำเร็จบริบูรณ์”(ฟิลิปปี 2:29-30) พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ สอนให้คริสตจักรให้เกียรติ นับถือและต้อนรับคนที่มุ่งปรนนิบัติรับใช้พระคริสต์ ที่จะช่วยให้ชีวิตของสมาชิกคริสตจักรมีจิตใจที่มั่นคง เป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ และมั่นใจในพระพระประสงค์ทั้งหมดของพระเจ้า (โคโลสี 1:1-7; 4:12-13)

เป็นที่เด่นชัดว่า คริสตจักรในสมัยเริ่มแรกในพระคัมภีร์ ปฏิเสธที่จะแสวงหาเกียรติด้วยคำนำหน้าชื่อ ตำแหน่ง หรือ ให้การยกย่องแก่ผู้ทำงานในคริสตจักรตามกระแสสังคมแบบกรีกและยิวในเวลานั้น แต่คริสตจักรเลือกที่จะยกย่อง นับถือ และให้เกียรติตามหลักคำสอนในพระคัมภีร์คือ ยกย่อง ให้เกียรติแก่ผู้ที่ทำงานรับใช้พระคริสต์ท่ามกลางชีวิตสมาชิกคริสตจักรด้วยความถ่อม จริงใจ และสัตย์ซื่อ และเรียกตนเองว่าเป็น “พี่น้อง” “คนรับใช้” “เพื่อนร่วมงาน” “เพื่อนร่วมแอก” เพื่อนร่วมพันธกิจ”

ปัจจุบันคงกล่าวได้เต็มปากว่า เพราะการที่คริสตจักรหลายแห่งยอมรับอิทธิพลของกระแสสังคมโลกทันสมัย ในการยกย่อง ให้เกียรติ ด้วยการให้ตำแหน่ง หรือ คำนำหน้าชื่อ ย่อมมีผลทำให้เกิดการแบ่งแยก การหลงออกไปทางแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าเข้าสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จตามมาตรฐานแห่งโลกนี้ เป็นการตอบสนองตัวตนและความต้องการของผู้นำผู้บริหารคริสตจักร ทำให้การทำพันธกิจของผู้นำเหล่านี้หลงหายไปจากเส้นทางแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตชุมชนคริสตจักร

เปาโลได้เป็นตัวอย่างที่ดี ท่านยกย่องให้เกียรติแก่คนที่ทุ่มเทเพื่อพันธกิจของพระเจ้า ท่านยกย่องคนที่ปรนนิบัติพระคริสต์อย่างสัตย์ซื่อเพราะเห็นแก่สมาชิกคริสตจักร เพียรพยายามอธิษฐานเผื่อผู้ที่เชื่อให้เป็นผู้ใหญ่ มีความมั่นใจ และมั่นคงในพระประสงค์ของพระเจ้า (โคโลสี 1:7; 4:12-13)

เปาโล ได้เตือนบรรดาคนทำงานในคริสตจักรที่หลงระเริงไปกับกระแสสังคมทันสมัยในปัจจุบันนี้ว่า เราเป็นคนใช้ของพระคริสต์ ที่จะต้องรับผิดชอบต่อพระประสงค์ของพระเจ้า (1โครินธ์ 4:1) และเปาโลได้เตือนสติผู้ที่ทำงานรับใช้พระเจ้าว่า “เพราะว่าเราไม่ได้ประกาศตัวเอง แต่ประกาศว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และประกาศว่าตัวเราเองเป็นทาสของท่านทั้งหลายเพราะเห็นแก่พระเยซู” (2โครินธ์ 4:5)

ในจดหมายที่เขียนไปถึงคริสตจักรของอัครทูตเปโตร ท่านเรียกตนเองว่า ท่านเป็นคนหนึ่งในกลุ่มผู้อาวุโสในคริสตจักร แทนที่จะเรียกตนเองที่มีฐานะน่ายกย่องแตกต่างออกไป “เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงตักเตือนบรรดาผู้อาวุโสในพวกท่าน ในฐานะที่ข้าพเจ้าก็เป็นทั้งผู้อาวุโส และเป็นพยานถึงความทุกข์ทรมานของพระคริสต์ และเป็นหุ้นส่วนที่จะรับศักดิ์ศรีที่กำลังจะปรากฏ” (1เปโตร 5:1) ท่านอัครทูตยอห์น เขียนจดหมายถึงบรรดาคริสตจักรทั้งเจ็ด ท่านเรียกตนเองว่า “พี่น้องของท่านทั้งหลาย ผู้มีส่วนร่วมในความทุกข์ยากลำบาก” (วิวรณ์ 1:9)

น่าสังเกตว่า ผู้นำคริสตจักรในพระคัมภีร์ในยุคคริสตจักรสมัยเริ่มแรก ไม่ด่วนกระโดดลงไปสร้างความน่ายกย่อง นับถือ และมีเกียรติ อย่างกระแสสังคมยิวและกรีกที่ครอบงำผู้คนในเวลานั้น พวกท่านเหล่านั้นทำงานตรากตรำ ทุ่มเท อุทิศเสียสละชีวิต สัตย์ซื่อ ไร้เป้าหมายซ่อนเร้น เป้าหมายปลายทางคือพระประสงค์ของพระเจ้า และมีท่าทีการดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์ มุ่งมั่นมุ่งหน้าไปด้วยพระกำลังแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ต้องพึ่งชื่อตำแหน่งนำหน้าว่า “ศจ. ดร....” “ศาสนาจารย์” “ศิษยาภิบาล” “บิชอบ” “ผป. หรือ มน.”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง
The Urgent Need For Reformation in Pastoral Ministry ของ Darryl M. Erkel

16 สิงหาคม 2554

ฤาถึงเวลาต้องปฏิรูปการอภิบาลในคริสตจักร? ตอนที่ 1: ว่าด้วยผู้ใหญ่ของคริสตจักร

ผู้ใหญ่ของคริสตจักร

ในสมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษาพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี (ตอนนั้นเขาเรียกชื่อว่า โรงเรียนพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่) วันหนึ่ง ได้มีชายคนหนึ่งท่าทางบอกได้เลยว่าเป็นพ่อค้าคนจีน เข้ามาใน “ตึกเหลือง” ของพระคริสต์ธรรม เจอหน้าผมเขาถามแบบตรงไปตรงมาว่า “ในตึกนี้ใครใหญ่?” ผมตกใจ ชะงัก จึงถามไปอย่างระมัดระวังว่า “คุณต้องการอะไรครับ?” “อ๋อ...ผมจะเอาตู้เย็นมาส่ง ตู้เย็นที่เอาไปซ่อม...” เขาตอบ ผมค่อยโล่งใจ เขาต้องการพบผู้บริหารของโรงเรียน เพื่อจะรู้ว่าจะให้เอาตู้เย็นที่ซ่อมเสร็จแล้วไปไว้ที่ไหน

ตามประเพณีปฏิบัติที่ส่งทอดกันมาได้มอบหมายให้ “ศิษยาภิบาล” เป็นผู้ที่ดูแลปกครองคริสตจักรที่อยู่สูงสุดในคริสตจักร เป็นผู้ที่ตัดสินใจในขั้นสุดท้ายของคริสตจักร แต่เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของผู้ปกครองหรือผู้ที่ดูแลเอาใจใส่คริสตจักรในการสั่งสอนเทศนานั้นมีมากกว่าหนึ่งคนในแต่ละคริสตจักรที่เรารู้จักและเรียกว่า “ผู้ปกครอง”

ท่านทั้งสอง(เปาโลและบารนาบัส)ได้เลือกตั้งผู้ปกครองสาวกไว้ในทุกคริสตจักร ได้อธิษฐานและถืออดอาหาร ฝากสาวกไว้กับองค์พระผู้เป็นเจ้าที่เขาเชื่อถือนั้น (กิจการ 14:23)

เปาโลมอบหมายให้พวกผู้ปกครองในคริสตจักรเป็นผู้ “...รักษาฝูงแกะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงตั้งท่านไว้ให้เป็นผู้ดูแล และเพื่อจะได้ปกครองคริสตจักรขององค์พระผู้เป็นเจ้า ที่พระองค์ทรงได้มาด้วยพระโลหิตของพระองค์เอง (กิจการ 20:17, 28) ตักเตือนสั่งสอนสมาชิกคริสตจักร (1เธสะโลนิกา 5:12) เทศนาสั่งสอน (1ทิโมธี 5:17) เป็นผู้ดูแลรักษาจิตวิญญาณของสมาชิกคริสตจักร (ฮีบรู 13:17) อธิษฐานเผื่อสมาชิก และ ผู้เจ็บป่วยให้เจิมด้วยน้ำมัน (ยากอบ 5:14) เปโตรเตือนบรรดาผู้ปกครองคริสตจักร หรือ ผู้ใหญ่ในคริสตจักร ให้เลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า(สมาชิกคริสตจักร)ที่อยู่ในความดูแลด้วยความเต็มใจ ด้วยใจเลื่อมใสมิใช่เพราะเห็นแก่ทรัพย์สิ่งของที่ได้มาด้วยทุจริต ไม่เป็นเหมือนเจ้านายที่ข่มขี่ผู้อยู่ใต้อำนาจแต่เป็นแบบอย่างชีวิตแก่สมาชิก ให้ผู้ปกครองคริสตจักรปฏิบัติต่อกันและกัน กับสมาชิกคริสตจักรด้วยถ่อมใจ (1เปโตร 5:1-4)

บางคริสตจักรได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างในการปกครองดูแลคริสตจักรด้วยการแบ่งปัน(แยก?)ความรับผิดชอบที่มีอยู่ในคริสตจักร(ที่มักคิดว่าเป็นเหมือนองค์กรทั่วไป?) และแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบและอำนาจในการปกครองลดหลั่นลงมาเป็นโครงสร้างองค์กร และ เป็นโครงสร้างอำนาจในการปกครอง แล้วก็กำหนดและแต่งตั้งให้คนหนึ่งเป็น “ศิษยาภิบาลอาวุโส” แล้วมี “ศิษยาภิบาลผู้ช่วย...” ที่รับผิดชอบในหน้าที่การงานที่แตกต่างกันออกไป จากนั้นจึงลงมาเป็น “คณะผู้ปกครอง” “คณะธรรมกิจคริสตจักร” แล้วให้ศิษยาภิบาล หรือ ในบางคริสตจักรเป็น “ประธานคริสตจักร” (ซึ่งมิใช่ศิษยาภิบาล) มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

การจัดโครงสร้างอำนาจการปกครองเลี้ยงดูคริสตจักรเช่นนี้ดูจะแตกต่างจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ที่ “ผู้สอนและปกครองคริสตจักร” ต่างกระทำหน้าที่นี้ “ร่วมกัน” อย่าง “สอดประสานกันและกัน” และนำมาซึ่ง “ศานติสุข” ในชุมชนคริสตจักร เฉกเช่นอวัยวะในร่างกายเดียวกันที่ทำหน้าที่แตกต่างหลากหลาย แต่ทุกหน้าที่ของแต่ละอวัยวะที่ทำงานสอดประสานกันเพื่อประโยชน์สุขเกิดแก่ทั้งร่างกายเดียวกันนั้น และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ให้เกียรติแก่กันและกัน มิได้ยกย่องให้เกียรติแก่อวัยวะหนึ่งใดโดยเฉพาะ และก็มิให้อวัยวะหนึ่งใดที่สำคัญตนผิดคิดว่าในฐานะอวัยวะนั้นๆ มีเกียรติและสำคัญกว่าอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายเดียวกัน

คริสตจักรในปัจจุบันมักจะคิดว่าชุมชนคริสตจักรเป็น “องค์กรคริสตจักร” จึงคิดกำหนดโครงสร้างองค์กรคริสตจักร โครงสร้างนี้ทำให้เห็นการทำงานที่ชัดเจนเป็นส่วนๆ มักนำมาซึ่งการทำงานตามหน้าที่กำหนดโดยโครงสร้างนั้น และ เป็นอำนาจในการปกครองและการแบ่งงาน นำสู่การทำงานแบบแยกส่วนต่างคนต่างทำในหลายครั้งหลายคริสตจักร

ยิ่งในปัจจุบันมักนำไปสู่การให้อำนาจแบบลดหลั่นตามโครงสร้างองค์กร และมอบหมายให้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจตามโครงสร้างในที่สุด ในคริสตจักรก็มักหมายถึง “ประธานธรรมกิจคริสตจักร” “ประธานคริสตจักร” ซึ่งบางครั้งมักเป็นศิษยาภิบาล หรือ บางครั้งก็เป็นผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง ในปัจจุบันนี้เริ่มเห็นชัดเจนเมื่อคริสตจักรท้องถิ่นหลายที่มีศิษยาภิบาลที่มากกว่าหนึ่งท่านมักจะมี “ศิษยาภิบาลอาวุโส” (และที่ชัดเจนยิ่งกว่านั้นคือการที่พยายามให้ศิษยาภิบาลมีตำแหน่งอำนาจเทียบเท่าผู้บริหารสูงสุดขององค์กรธุรกิจและองค์กรทั่วไป หรือ ที่รู้จักกันในนาม CEO ซีอีโอ)

การมอบหมายให้ “ผู้บริหารสูงสุด” ขององค์กรมีอำนาจในการตัดสินใจตามโครงสร้างนั้นจำเป็นต้องคำนึงว่า เป้าหมายปลายทางและท่าทีการปฏิบัติงาน รวมไปถึงเป้าหมายปลายทางของคริสตจักรนั้นอยู่ที่ “องค์พระเยซูคริสต์เจ้า” ผู้ทรงเป็นศีรษะของคริสตจักร มิใช่ที่ “ศิษยาภิบาลอาวุโส” “ประธานธรรมกิจคริสตจักร หรือ คณะธรรมกิจคริสตจักร” อย่างองค์กรทั่วไป แต่คริสตจักรจะต้องตระหนัก สัตย์ซื่อ มุ่งที่จะกระทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า ตามพระทัยของพระคริสต์ และด้วยกำลังการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือ พูดให้ชัดว่า ทำงานภายใต้การร่วมมือกับพระวิญญาณบริสุทธิ์

ดังนั้น การที่คริสตจักรกำหนดให้มีการปกครองเอาใจใส่และเลี้ยงดูคริสตจักรอย่างกับการบริหารจัดการองค์กรคริสตจักรจึงเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของชุมชนคริสตจักร เพราะเราปล่อยให้คริสตจักรอยู่ในมือของ “ผู้บริหาร” ที่อาจจะยอมทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ตามพระทัยของพระคริสต์ ด้วยการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือ “ยึดกุมอำนาจการตัดสินใจ” ตามที่ตนเองเห็นชอบเห็นควร ตามสถานการณ์และภาวะที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ และร้ายสุดๆ ตามสถานการณ์การเมืองในองค์กรคริสตจักรนั้นๆ?

ณ เวลานี้ประเด็นที่เราจะต้องถ่อมใจพิจารณาร่วมกันอย่างสัตย์ซื่อ จริงใจ และด้วยการทรงนำของพระเจ้าคือ เราจะเอาใจใส่ เลี้ยงดู และบ่มเพาะชีวิตจิตวิญญาณของชุมชนคริสตจักรท้องถิ่นสู่เป้าหมายปลายทางใด? (ว่าทำไมคริสตจักรถึงตั้งอยู่? คริสตจักรตั้งอยู่เพื่อใคร อะไร?) ด้วยเป้าหมายปลายทางดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดการบริหารจัดการการอภิบาลและการทำพันธกิจของคริสตจักร(ว่าจะทำอะไร และ ทำอย่างไร) แล้วค่อยนำไปสู่การกำหนดจัดการโครงสร้างของการปกครองและองค์กรในสุดท้าย (ว่าเราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร)

การอภิบาลชีวิตสมาชิกคริสตจักร และ ชีวิตทั้งรวมของคริสตจักร มิใช่การปกครองด้วยอำนาจแต่เป็นการอภิบาลชีวิตผู้คนด้วยความรักของพระคริสต์ เป็นความรักที่เสียสละ น้ำพระทัยที่จะเสริมสร้างชีวิตใหม่ มิใช่การบริหารจัดการองค์กร แต่เป็นการเอื้ออำนวยการใช้ชีวิตร่วมกัน การทำพันธกิจตามพระประสงค์และพระบัญชาของพระคริสต์ด้วยกัน เพื่อสำแดงพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเจ้าให้เด่นชัดเป็นรูปธรรมในชีวิตของสมาชิกและชีวิตคริสตจักรที่พระคริสต์ทรงมอบหมายให้ดูแล บ่มเพาะ ฟูมฟัก ให้ชีวิตสาวกเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่ สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง
The Urgent Need For Reformation in Pastoral Ministry ของ Darryl M. Erkel

11 สิงหาคม 2554

รวยแล้วโง่

คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ต้องการที่จะมีเงินและทรัพย์จำนวนเพิ่มพูนมากขึ้น เพราะมักคิดกันว่าทรัพย์สินเงินทองจะทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิต และมักเผลอคิดไปว่าจะทำให้ชีวิตไม่ต้องตกอยู่ในภาวะความเครียดเพราะสามารถมีในสิ่งที่ต้องการ อีกทั้งการมีทรัพย์สินเงินทองที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเครื่องวัดถึงความสำเร็จในชีวิต

คณะธรรมกิจหลายต่อหลายคริสตจักรที่คิดในทำนองเดียวกันนี้ จะพยายามสะสมให้คริสตจักรมี “กองทุน” ที่เพิ่มใหญ่ขึ้นทุกปี (คนเหล่านี้มักคิดว่า...การสะสมกองทุนสำคัญยิ่งกว่าการทำพันธกิจ ดังนั้น คณะธรรมกิจจึงเลือกที่จะเอาเงินทองที่มีอยู่สะสมเป็นกองทุน มากกว่าที่จะเอาทรัพย์สินไปทำพันธกิจ) เพราะคณะธรรมกิจมักมีกรอบคิดว่า ยิ่งมีกองทุนใหญ่โตแค่ไหนก็ยิ่งรู้สึกว่าคริสตจักรมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และคริสตจักรไทยก็มักจะอ้างเสมอว่า “กองทุน” ที่สะสมใหญ่ขึ้นนั้นเป็นพระพรของพระเจ้า ทำให้เกิดคำถามว่า การที่งดเว้นทำพันธกิจคริสตจักรเป็นพระพรจากพระเจ้าได้เช่นไร?

ทำให้เกิดความสนเท่ห์ หรือ ไม่ก็เกิดคำถามขึ้นว่า แล้วปัจจุบันนี้ คริสเตียน คริสตจักรท้องถิ่น คริสตจักรภาค หรือคริสตจักรระดับชาติฝากความรู้สึกมั่นคงไว้ในการทรงนำของพระเจ้าและในการทำพันธกิจของพระองค์ หรือ รู้สึกมั่นใจในกองทุนที่ใหญ่ขึ้น ถ้าคริสเตียนและคริสตจักรฝากความมั่นคงมั่นใจในทรัพย์สินที่พอกพูนขึ้นก็ไม่ต่างอะไรกับพวกโจรหรือหัวขโมย, นักการพนัน, หรือนักลงทุนแบบกล้าได้กล้าเสี่ยง หรือไม่ก็พวกหวังชีวิตจะมั่นคงจากความร่ำรวยในกองมรดกที่จะเป็นของตนในอนาคต คนกลุ่มเหล่านี้ก็มีความคิดความเชื่อในทำนองนี้ แล้วคริสเตียน และ คริสตจักรจะคิดจะเชื่อเหมือนกับคนกลุ่มเหล่านี้หรือ?

เหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในสมัยของพระเยซูคริสต์เช่นกัน ในพระธรรมลูกา 12:16-21 ได้บันทึกไว้ว่า

15แล้วพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “ระวังให้ดี จงหลีกเลี่ยงจากความโลภทุกอย่าง เพราะว่าชีวิตของคนไม่ได้อยู่ที่การมีของฟุ่มเฟือย”

16แล้วพระองค์ตรัสอุปมาเรื่องหนึ่งให้เขาฟังว่า “ไร่นาของเศรษฐีคนหนึ่งเกิดผลบริบูรณ์มาก 17เศรษฐีคนนั้นจึงคิดในใจว่า 'ข้าจะทำอย่างไรดี? เพราะว่าข้าไม่มีที่ที่จะเก็บพืชผลของข้า' 18เขาจึงคิดว่า 'ข้าจะทำอย่างนี้ คือจะรื้อยุ้งฉางของข้าและจะสร้างใหม่ให้ใหญ่โตขึ้น แล้วข้า จะรวบรวมข้าวและสมบัติทั้งหมดของข้าไว้ที่นั่น

19แล้วจะบอกกับจิตใจของข้าว่า “จิตใจเอ๋ย เจ้ามีทรัพย์สมบัติมากเก็บไว้พอหลายปี
จงอยู่สบาย กิน ดื่ม และรื่นเริงเถิด' ”

20แต่พระเจ้าตรัสกับเขาว่า 'โอ คนโง่ ในคืนวันนี้ชีวิตของเจ้าจะต้องเรียกเอาไปจากเจ้า
แล้วของที่เจ้ารวบรวมไว้นั้นจะเป็นของใคร?'

21คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัว และไม่ได้มั่งมีฝ่ายพระเจ้าก็เป็นเช่นนั้นแหละ”

ตามหลักคิดหลักเชื่อในบทบัญญัติของพระคัมภีร์ เศรษฐี หรือ คนมั่งมีในสายพระเนตรของพระเจ้าต้องเป็นคนที่เอาใจใส่คนยากจน คนเล็กน้อย คนทุกข์ยาก คนถูกทอดทิ้งถูกย่ำยี หญิงหม้าย ลูกกำพร้า แรงงานต่างชาติให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าศักดิ์ศรีที่เป็นคนหนึ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้คนที่ “มั่งมี” ได้เป็นตัวแทนของพระองค์ที่จะเอาใจใส่ดูแลคนที่ปกป้องตนเองไม่ได้และคนเล็กน้อยเหล่านั้นตามที่กล่าวข้างต้น

พระเจ้าในคริสต์ศาสนามิได้รังเกียจคนมั่งมี หรือ เศรษฐี แต่ที่ใครมั่งมีนั้นพระเจ้ามีพระประสงค์ให้ใช้ความมั่งมีที่ได้รับนั้นตามพระประสงค์ของพระเจ้า เศรษฐีเป็นคนหนึ่งที่ได้รับเกียรติจากพระเจ้าให้เป็นผู้เอาใจใส่คนเล็กคนน้อย คนยากคนจน คนที่ถูกทอดทิ้งในพระนามของพระองค์

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่ได้รับทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมแล้วเป็นคนที่ “โลภ” และ มีชีวิตที่ “ฟุ่มเฟือย” จะทำสิ่งที่ต่อต้าน หรือ เป็นกบฏต่อพระประสงค์ของพระเจ้า แทนที่จะเป็นคนที่รับผิดชอบต่อทรัพย์สินเงินทองที่มีเพิ่มพูนมากขึ้นเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า เพื่อช่วยคนยากจน คนเล็กน้อย คนถูกทอดทิ้ง แต่เพราะ “วิญญาณแห่งความโลภ” และ “วิญญาณแห่งความฟุ่มเฟือย” เขาจึงกอบโกยเก็บกักทรัพย์ที่ได้มาทั้งหมดเพื่อตนเอง และเพื่อตนเองเท่านั้น

ความมั่นใจและความไว้วางใจของเขาคือ จำนวนทรัพย์สมบัติที่เขาสะสมเพิ่มพูนขึ้น และเขาคุยฟุ้งกับตนเองว่า “จิตใจเอ๋ย เจ้ามีทรัพย์สมบัติมากเก็บไว้พอหลายปี จงอยู่สบาย กิน ดื่ม และรื่นเริงเถิด'” คนมั่งมีหรือเศรษฐีเช่นนี้พระเยซูชี้ชัดว่า “เขาไม่ได้มั่งมีฝ่ายพระเจ้า” เพราะเขามั่งมีฝ่ายตนเองแห่งโลกนี้ และพระเยซูคริสต์เรียกคนมั่งมี หรือ เศรษฐีพวกนี้ว่า “โง่” สำหรับพระเยซูคริสต์แล้วคน “โง่” ไม่ใช่คนไม่รู้ แต่คนโง่คือคนที่ไม่ยอมทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าทั้งๆ ที่รู้ คนโง่สำหรับพระเยซูคริสต์คือคนที่เก็บสั่งสมเพื่อตนเอง ทำเพื่อตนเอง มีชีวิตเพื่อตนเอง ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า ความมั่งมีมั่งคั่งที่ตนได้รับนั้นต้องนำไปทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า

คนโง่ คือคนที่ “โลภ” และ มีวิถีชีวิตแบบ “ฟุ่มเฟือย” จึงทำให้เป็นคนเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ตัวเอง เมื่อเขาหลับตาเมินเฉยต่อพระประสงค์ของพระเจ้าเขาจึงมองไม่เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนอื่นแม้จะอยู่ใกล้ชิดรอบข้างตนก็ตาม เมื่อเขาไม่สามารถมองเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนเล็กน้อยรอบข้าง ในที่สุดเขาก็มองไม่เห็นศักดิ์ศรีและคุณค่าในชีวิตของตนเองด้วย แต่กลับไปหลงผิดและมองเห็นว่า สิ่งที่มีคุณค่าที่แท้จริงคือทรัพย์สินเงินทองมากมายที่ตนมีอยู่แล้ว และที่ตนอยากได้มากขึ้น แล้วก็บูชาทรัพย์สินเป็น “รูปเคารพ” ในชีวิตของตน

ในแผ่นดินของพระเจ้า ต้องการคนที่มีความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตและทุกสิ่งที่ตนมีอยู่ตามพระประสงค์ของพระเจ้า ดำเนินชีวิตประจำวันตามน้ำพระทัยของพระองค์ ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ น้ำพระทัยของพระองค์เป็นอย่างไรในสวรรค์ ขอให้เป็นจริงเช่นนั้นในแผ่นดินโลก ให้เราดำเนินชีวิตตามคำอธิษฐานนี้

สัจจะความจริงประการสุดท้ายในวันนี้คือ ชีวิตเป็นของประทานจากพระเป็นเจ้า พระองค์เป็นเจ้าของชีวิต มิใช่เราเป็นเจ้าของชีวิต ถ้าไม่มีชีวิตแล้ว ทรัพย์สินเงินทองกองใหญ่กองโตที่อุตส่าห์สั่งสมมาจะมีค่าและเป็นประโยชน์อันใด

“ความโลภ” คือการที่เข้าไปทำตัวเป็นเจ้าของในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน หรือความอยากที่จะเป็นเจ้าของในสิ่งที่เป็นของผู้อื่น เพราะคิดว่าตนจะมีความสุข ความมั่นคงในชีวิตถ้าได้เป็นผู้ครอบครองสิ่งเหล่านั้น ยิ่งมากยิ่งมีอำนาจ ยิ่งทำให้มีความสุขมากขึ้น ความโลภจึงทำให้จิตใจของคนๆ นั้นไม่สงบสุขจนกว่าจะได้สิ่งที่ตนเองต้องการ

“ฟุ่มเฟือย” คือการใช้สอยทรัพย์สินสิ่งของเพื่อตนเอง ตามใจตนเอง แต่มิได้คำนึงถึงการใช้ทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นตามพระประสงค์ของพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของ มุ่งเน้นการสร้างสุขและคุณค่าในชีวิตด้วยทรัพย์สินเงินทองมากกว่าสัมพันธภาพระหว่างตนกับพระเจ้า และสัมพันธภาพระหว่างคนในครอบครัว คนรอบข้างในที่ทำงาน และคนที่พบปะในชุมชน

08 สิงหาคม 2554

คำเทศนาที่เนินเขา: คำสอนที่ขัดแย้งกับความคาดหวัง

3“บุคคลผู้ใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณผู้นั้นเป็นสุข เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา
4“บุคคลผู้ใดโศกเศร้าผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม
5“บุคคลผู้ใดมีใจอ่อนโยนผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก
6“บุคคลผู้ใดหิวกระหายความชอบธรรมผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มบริบูรณ์
7“บุคคลผู้ใดมีใจกรุณาผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับพระกรุณาตอบ
8“บุคคลผู้ใดมีใจบริสุทธิ์ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้เห็นพระเจ้า
9“บุคคลผู้ใดสร้างสันติผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร
10“บุคคลผู้ใดต้องถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรมผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา
..........
44ฝ่ายเราบอกท่านว่าจงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน 45ทำดังนี้แล้วท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ เพราะว่าพระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน และให้ฝนตก แก่คนชอบธรรมและคนอธรรม
(มัทธิว บทที่ 5)

ฝูงชนที่มาฟังคำเทศนาสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ที่เนินเขาไม่คาดคิดล่วงหน้าเลยว่าตนจะได้ยินได้ฟังคำสอนแบบนี้ ซึ่งเราท่านต่างรู้ถึงเนื้อหาคำสอนของพระองค์ที่เนินเขาในครั้งนั้น ประชาชนที่มาฟังในครั้งนั้นต่างออกจากที่นั่นด้วยความประหลาดใจ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาแปลกประหลาดใจคือเป็นคำสอนที่ขัดแย้งกับความคาดหวังของพวกเขา

ผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมได้กล่าวถึงพระเมสิยาห์ที่จะเสด็จมาว่า พระองค์เป็นเชื้อสายของดาวิด เป็นผู้ที่เกิดจากหญิงพรหมจารี ทรงเป็นผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ อย่างไรก็ตามเราพบว่า คนที่เป็นครูสอนของอิสราเอลในอดีตได้บิดเบือนคำพยากรณ์ให้มีความหมายเอนเอียงไปตามความคิดเห็นของตนเอง หลายคนจึงไม่รู้จักพระเมสิยาห์(ที่ทรงสัญญา)เมื่อพระองค์เสด็จมา แต่พวกเขากลับเข้าใจผิดถึงพระราชกิจและพระเจตนาของพระองค์ เนื่องจากมีการบิดเบือนพระสัญญาของพระเจ้า ดังนั้น ประชาชนก็เกิดความเข้าใจผิด แต่เมื่อพระเยซูสอนความจริง สิ่งที่ทรงสอนจึงผิดคาดและแตกต่างไปจากที่พวกเราได้รับการสอนมาก่อน แตกต่างจากที่พวกเขาคาดหวัง จนพระเยซูทรงกล่าวยืนยันกับพวกเขาว่า 49เพราะเรามิได้กล่าวตามใจเราเอง แต่ซึ่งเรากล่าวและพูดนั้น พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาพระองค์นั้นได้ทรงบัญชาให้แก่เรา 50เรารู้ว่าพระบัญชาของพระองค์นั้นเป็นชีวิตนิรันดร์ เหตุฉะนั้นสิ่งที่เราพูดนั้น เราก็พูดตามที่พระบิดาทรงบัญชาเรา” (ยอห์น 11:49-50)

เมื่อพระเยซูคริสต์สั่งสอนฝูงชน พระองค์ต้องจัดการเกี่ยวกับความคิดความเข้าใจที่ผิดๆ ของประชาชน ประชาชนยิวในเวลานั้นคาดหวังว่าพระเมสิยาห์จะเป็นผู้นำทางการเมืองที่จะนำพวกเขาให้หลุดรอดออกจากแอกแห่งการยึดครองของโรมัน แต่มิใช่การหลุดพ้นจากการตกเป็นทาสของความบาปอย่างที่เราเข้าใจ พวกเขาคาดหวังผู้นำที่มีจิตใจเมตตาต่อคนยิวและคนต่างชาติที่กลับใจมาเชื่อในพระเจ้าของพวกเขาเท่านั้น และพวกเขาสั่งสอนกันว่า การที่ได้เป็นเชื้อสายของอับราฮัมก็เป็นการเพียงพอแล้วที่พระเมสิยาห์จะยอมรับพวกเขา

แต่พระเยซูคริสต์โจมตีความคิดความเข้าใจที่ผิดพลาดเหล่านี้ และสอนแปลกแตกต่างจากที่ประชาชนเข้าใจ แทนที่พระองค์จะปลุกระดมเพื่อโค่นล้มอำนาจของโรมัน แต่พระองค์กลับบอกว่าคนที่ได้รับความทุกข์ยากเข็ญใจว่าเป็นผู้ที่ได้รับพระพร แย่ยิ่งกว่านั้น พระองค์เรียกร้องให้คนที่ฟังคำสอนของพระองค์รักคนที่กดขี่ข่มเหงพวกเขา คนที่ปกครองพวกเขา คนที่ด่าทอแช่งสาปพวกเขา พระองค์ยังทรงสอนว่า พระบิดามิได้มีพระทัยเมตตาต่อคนยิวและคนต่างชาติที่กลับใจเท่านั้น แต่พระองค์ทรงมีพระทัยเมตตาต่อทุกคน เหนือสิ่งอื่นใด พระเยซูบอกพวกเขาตรงๆ ว่า ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าแผ่นดินของพระเจ้าได้ ไม่ว่าคนนั้นจะเคยทำการอัศจรรย์ในพระนามของพระองค์ก็ตาม แต่คนที่ทำตามน้ำพระทัยของพระบิดาเท่านั้นที่จะเข้าแผ่นดินของพระเจ้าได้

ในตอนท้ายของคำสอนที่เนินเขาของพระเยซู คนฟังรู้สึกงงงวยคละเคล้ากับความประหลาดใจ สิ่งที่พวกเขาเคยรับการสอน เข้าใจ และคาดหวังเกี่ยวกับเรื่องพระเมสิยาห์ กับสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังจากพระเยซูช่างแตกต่างห่างไกลกันไปคนละเรื่อง เกิดความรู้สึกแสบๆ คันในความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพระเมสิยาห์ที่ตนเข้าใจกับที่พระเยซูสอน

05 สิงหาคม 2554

ฉันฝันถึงคริสตจักรที่มีชีวิต

ฉันฝันถึงคริสตจักรที่หยั่งรากลงในพระวจนะของพระเจ้า
เป็นคริสตจักรที่สัตย์ซื่อและจงรักภักดีต่อการทรงเปิดเผยของพระเจ้าผ่านทางพระวจนะ
เป็นคริสตจักรที่ศิษยาภิบาลอธิบายและให้ความหมายของพระวจนะด้วยความเชื่อศรัทธา
สัตย์ซื่อ และถูกต้องตามพระคัมภีร์
และแสวงหาทุกหนทางที่จะนำพระวจนะให้เข้าในชีวิตของสมาชิกทุกคนในคริสตจักร
เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกรักในพระวจนะของพระเจ้าและกระทำตามพระวจนะนั้น
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกเชื่อฟังพระเยซูคริสต์ และ มีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงให้เหมือนชีวิตพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน
เป็นคริสตจักรที่ปกป้องอิทธิพลของกระแสสังคม และ กระแสนิยม ที่ขัดแย้งสวนทางกับพระวจนะของพระเจ้า
เป็นคริสตจักรที่สำแดงออกถึงความเติบโตเข้มแข็งและงดงามบนรากฐานของพระวจนะ
ฉันฝันถึง คริสตจักรแห่งพระวจนะของพระเจ้า

ฉันฝันถึงคริสตจักรที่นมัสการยกย่องสรรเสริญพระเจ้า
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกมาร่วมกันเข้าเฝ้าพระเจ้าและยกย่องสรรเสริญพระองค์
เป็นคริสตจักรที่ตระหนักและเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงสถิตอยู่ท่ามกลางชีวิตของพวกเขา
และทุกคนก้มกราบพระองค์ด้วยความถ่อมจิตถ่อมใจ
และมีพระองค์เท่านั้นที่เป็นผู้สำคัญและสูงสุดในชีวิต
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกมาร่วมโต๊ะกับองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อเฉลิมฉลองถึงมหกิจแห่งการทรงกอบกู้พวกเราให้รอดบนกางเขน
เป็นคริสตจักรที่นมัสการสรรเสริญพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยสุดจิตสุดใจ
ด้วยทักษะการขับร้องและดนตรีหลากหลายชนิดและสอดคล้องกับบริบทของคริสตจักร
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกเชื่อมั่นในการอธิษฐาน และ ไว้วางใจมอบทุกเรื่องไว้ในพระเจ้าด้วยการอธิษฐาน
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกได้นมัสการ ยกย่อง สรรเสริญ อธิษฐาน และร่วมสามัคคีธรรมมิเพียงแต่ในวันอาทิตย์ที่คริสตจักรเท่านั้น
แต่ยกย่องสรรเสริญ อธิษฐานและนมัสการพระเจ้าในครอบครัว ในที่ทำงาน และในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน
ยิ่งกว่านั้น การดำเนินชีวิตประจำวันของสมาชิกคริสตจักรยังทำให้ผู้พบเห็นและสัมผัสสรรเสริญและยกย่องพระเจ้าด้วย
ฉันฝันถึงคริสตจักรที่นมัสการ ยกย่อง เทิดทูนพระเจ้าให้เป็นเอกในชีวิต

ฉันฝันถึงคริสตจักรที่ห่วงใยเอาใจใส่
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกมีความแตกต่างหลากหลายทั้งด้านชาติพันธุ์ เชื้อชาติ วัย ฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ ความรู้
แต่มีเอกภาพและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในครอบครัวของพระเจ้า
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกมีความสัมพันธ์ สามัคคีธรรม ที่อบอุ่น เหนียวแน่น ยอมรับ และต้อนรับกันและกัน
และจะไม่ทำให้สัมพันธภาพในคริสตจักรต้องฉีกขาด เพราะความเห็นแก่ตัว หยิ่ง ยโส
สมาชิกรักซึ่งกันและกันด้วยบริสุทธิ์ใจ ด้วยความอบอุ่น อดทนต่อกันและกัน ด้วยการยกโทษกันและกัน
แบกภาระของกันและกัน
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกเข้าใกล้สัมพันธ์และเอาใจใส่คนที่ว้าเหว่ หนุนเสริมคนที่อ่อนแอ
ยอมรับคนที่ถูกเหยียดหยามต่ำต้อย และคนที่ถูกกีดกัน ปฏิเสธ จากสังคมชุมชน
เป็นคริสตจักรที่เปี่ยมล้นด้วยความรักขององค์พระผู้เป็นเจ้า
เป็นท่อที่นำให้ความรักเมตตากรุณาของพระองค์ไหลล้นไปยังผู้คนที่อยู่ในสังคมโลก
เป็นชุมชนคริสตจักรที่ดึงดูดความสนใจ แพร่ขยาย
เป็นพลังสัมพันธภาพใหม่ของพระเยซูคริสต์ที่ไหลซึมเข้าไปในทุกอณูแห่งชีวิตของสังคมโลก
ฉันฝันถึงคริสตจักรที่ห่วงใยเอาใจใส่

ฉันฝันถึง คริสตจักรแห่งการรับใช้และให้บริการ
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกได้เห็นและตระหนักชัดว่า
พระคริสต์ทรงเป็นคนใช้ท่ามกลางมวลชน
และได้ยินเสียงแห่งการทรงเรียกของพระคริสต์ให้ตนเป็นคนใช้ของคนรอบข้าง
ด้วยการมีชีวิตที่หลุดพ้นจากการเห็นแก่ตน ละทิ้งตนเองเพื่อรับใช้คนอื่น
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกเชื่อฟังพระบัญชาของพระคริสต์ให้มีชีวิตในโลกนี้
เพื่อนำให้พระกิตติคุณซึมและแทรกตัวเข้าไปในชีวิตแห่งโลกนี้
เฉกเช่นเกลือ และ แสงสว่างของโลกนี้
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกแบ่งปันข่าวดีแห่งพระเยซูคริสต์แก่เพื่อนบ้านผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน
ด้วยความกระตือรือร้นแต่ด้วยวิธีการที่เรียบง่าย
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกรับใช้ในชุมชนคริสตจักรด้วยความบากบั่น
ทั้งแก่คนในพื้นที่และคนจากต่างถิ่นต่างชาติ แก่ทั้งคนที่มีครอบครัวและคนโสด โดดเดี่ยว
ทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติ ทั้งคนสูงอายุและเยาวชนคนอายุน้อย
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกตื่นตัวเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วในสังคม
เป็นคริสตจักรที่รู้เท่าทัน และ ยืดหยุ่นพร้อมที่จะปรับวิธีการทำพันธกิจของตนที่จะรับใช้ความจำเป็นต้องการของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้การรับใช้ของคริสตจักรเกิดผลและมีคุณค่าต่อชีวิตของผู้คนทั้งหลาย
เป็นคริสตจักรที่มีนิมิตหมายเพื่อโลกนี้ เป็นนิมิตที่กว้างขวางแต่มั่นคงและสัตย์ซื่อต่อพระประสงค์ของพระเจ้า
เป็นคริสตจักรที่ท้าชวนให้คนหนุ่มสาวของตนที่จะมอบกายถวายชีวิตในการรับใช้
เป็นคริสตจักรที่ส่งสมาชิกของตนเองเข้าไปในสังคมโลกเพื่อการรับใช้
ฉันฝันถึง คริสตจักรแห่งการรับใช้และให้บริการ

ฉันฝันถึงคริสตจักรที่มีความคาดหวังและรอคอย
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกไม่สามารถหยุด อยู่นิ่ง และ พึงพอใจต่อสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ของคริสตจักร
ไม่ว่าในความมั่งคั่งมั่นคงทางวัตถุ และ การเงินของคริสตจักร
ความสะดวกสบายที่คริสตจักรเป็นอยู่
หรือจมจ่อมอยู่ในความยากจนข้นแค้นจนไม่คิดจะทำอะไร
เพราะบอกกับตนเองว่าตนทำอะไรไม่ได้อย่างคริสตจักรที่มั่งมี
เป็นคริสตจักรที่สมาชิกตระหนักชัดว่า ตนคือผู้ที่จาริกไปในโลกนี้
ที่สมาชิกคริสตจักรต้องตื่นอยู่เสมอในการรับใช้พระคริสต์ด้วยความสัตย์ซื่อ
เพราะสมาชิกคริสตจักรทุกคนคาดหวังและรอคอยการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งของพระคริสต์
ที่ทำให้ความหวังของสมาชิกทุกคนโชติช่วง สว่าง ร้อนรนอยู่เสมอในโลกที่มืดมน เย็นชา และสิ้นหวัง
เพื่อสมาชิกคริสตจักรแต่ละคนจะไม่ต้องอับอายหรือเสียใจ
เมื่อพระคริสต์ปรากฏพระองค์ในสถานการณ์และผู้คนต่างๆ ในสังคม ชุมชน
ฉันฝันถึง คริสตจักรที่มีความคาดหวังและรอคอย

ฉันฝันถึง คริสตจักรที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
เป็นคริสตจักรที่ตระหนักชัดว่า ตนเองไม่สามารถขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ด้วยกำลังความสามารถของตนเองเท่านั้น
แต่ที่ขับเคลื่อนไปสู่เป้าประสงค์ของพระเจ้าได้นั้น เพราะได้รับการทรงนำและพระกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์
สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนตระหนักชัดว่า เราเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนกับพระวิญญาณบริสุทธิ์
พระวิญญาณบริสุทธิ์กระทำพระราชกิจในเรา และ ผ่านเรา
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นองค์ที่ปรึกษาของเรา
พระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่กับเราเสมอ
ฉันฝันถึง คริสตจักรที่ขับเคลื่อนไปด้วยพลังแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

นี่คือความฝันของฉันถึงคริสตจักรที่มีชีวิต
ขอให้เราแต่ละคนร่วมและมีส่วนในความฝันนี้
ด้วยการทรงนำของพระเจ้า ขอให้ความฝันเป็นจริงตามพระประสงค์ของพระองค์

03 สิงหาคม 2554

พระเจ้าทรงมีชัยเหนือศัตรู แต่คริสเตียนกลับตกอยู่ใต้อำนาจแห่งกระแสโลก

2ที่ประทับของพระองค์ตั้งอยู่ในซาเล็ม
ที่พำนักของพระองค์อยู่ในศิโยน
3ที่นั่น พระองค์ทรงหักลูกธนูเพลิงทั้งโล่ ดาบ และยุทธภัณฑ์
(สดุดี 76:2-3)

สดุดีบทที่ 76 เป็นบทเพลงที่เฉลิมฉลองถึงชัยชนะของพระเจ้าเหนือศัตรูของพระองค์ ถึงแม้ว่าเราไม่ทราบว่าอาสาฟประพันธ์บทเพลงเฉลิมฉลองบทนี้ในเหตุการณ์ใดโดยเฉพาะ แต่แน่นอนว่าเป็นบทเพลงที่สรรเสริญพระเจ้าที่ทรงมีชัยเหนือศัตรูที่ยกทัพมาบุกรุกกรุงเยรูซาเล็ม แต่พระเจ้า “...ทรงหักลูกธนูเพลิง ทั้งโล่ ดาบ และยุทธภัณฑ์” ของพวกศัตรู (76:3)

เมื่อเราได้อ่านบทเพลงสดุดีที่มีเนื้อหาในลักษณะนี้ เราคงคิดว่าเราจะใช้พระธรรมในทำนองนี้ในการนมัสการพระเจ้าของเราได้อย่างไร แน่นอนว่า เราอาจจะทำเหมือนอาสาฟที่ใช้บทเพลงสดุดีระลึกถึงพระราชกิจอันมีชัยของพระเจ้าที่ทรงกระทำในประวัติศาสตร์ แต่มีคำถามว่า เราจะใช้บทเพลงสดุดีลักษณะนี้มากกว่านี้ได้ไหม?

สำหรับส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าบทเพลงที่มีเนื้อหาอย่างในสดุดีบทที่ 76 เป็นแรงดลบันดาลใจให้เราเฉลิมฉลองถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า แต่ในยุคปัจจุบัน ใครคือศัตรูของเราที่ยกทัพมาบุกรุกชีวิตของเราอันเป็นที่สถิตและประทับของพระเจ้า เรารู้อยู่แล้วว่าศัตรูตัวจริงนั้นมิใช่ตัวคน แต่เปาโลได้เคยเขียนไว้ว่า ในทุกวันนี้เรา 12...ไม่ได้ต่อสู้กับเนื้อหนังและเลือด แต่ต่อสู้กับเทพผู้ครอง ศักดิเทพ เทพผู้ครองพิภพในโมหะความมืดแห่งโลกนี้ ต่อสู้กับเหล่าวิญญาณที่ชั่วในสถานฟ้าอากาศ” (เอเฟซัส 6:12) ในฉบับอมตธรรมได้แปลไว้ว่า “ด้วยว่าเราไม่ได้ต่อสู้กับเนื้อหนังและเลือด แต่ต่อสู้กับเหล่าเทพผู้ครอง เทพผู้ทรงอำนาจ เทพผู้ทรงเดชานุภาพของโลกอันมืดมนนี้ และต่อสู้กับเหล่าวิญญาณชั่วในย่านฟ้าอากาศ”

ในฐานะคริสตชนในยุคปัจจุบันนี้ เราต้องชัดเจนว่าศัตรูตัวจริงที่คริสเตียนต้องต่อสู้ด้วยมิสามารถเห็นด้วยตา แต่ผลงานของศัตรูเหล่านี้เราสามารถเห็นถึงการครอบงำ ควบคุม มีอำนาจเหนือชีวิตของผู้คนในโลกนี้ ซึ่งสามารถเห็นชัดว่าอำนาจชั่วเหล่านี้ทำงานแผลงฤทธิ์ผ่าน นักการเมือง นักปกครอง ผู้บริหารที่ฉ้อฉลมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตน สภาที่ออกกฎหมาย กำหนดนโยบาย ผู้ควบคุมระบบเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ พ่อค้าแม่ขาย อีกทั้งผ่านการใช้ระบบสื่ออันทันสมัยที่ทำให้ผู้คนต้องตกลงเป็นทาสของมัน และนี่คือผลงานของศัตรูตัวจริง และนี่แสดงชัดว่าผู้คนมากมายรวมถึงคริสเตียนด้วยที่ตกเป็น “ทาส” เป็น “เครื่องมือ” ของอำนาจอันชั่วร้ายที่เป็นศัตรูตัวจริงของเราและพระเจ้า และนี่คือเป้าหมายแห่งพระราชกิจของพระเจ้าในการเอาชนะและหยุดยั้งอำนาจชั่วของศัตรูตัวจริงนี้

การต่อสู้นี้ได้ถึงที่สุด และพระเจ้าเป็นฝ่ายที่มีชัยชนะ และเหตุการณ์ชัยชนะนี้เกิดขึ้นในเยรูซาเล็ม หรือห่างออกนอกกรุงเยรูซาเล็มไปเพียงเล็กน้อย ที่ภูเขากะโหลกศีรษะ พระคริสต์ 15...ทรงปลดเทพผู้ครองและศักดิเทพเสีย พระองค์ได้ทรงประจานเขา และชนะเขาโดยกางเขนนั้น” (โคโลสี 2:15) ประจักษ์พยานหลักฐานที่ยืนยันถึงชัยชนะของพระเจ้าคือการเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์ เมื่อพระเจ้าทรงกระทำให้พระคริสต์ “เป็นขึ้นจากความตาย” และให้สถิตอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า ให้อยู่ “...21สูงยิ่งเหนือบรรดาเทพผู้ครอง เหนือศักดิเทพ เหนืออิทธิเทพ เหนือเทพอาณาจักร และเหนือนามทั้งปวงที่เขาเอ่ยขึ้น มิใช่ในยุคนี้เท่านั้น แต่ในยุคที่จะมาถึงด้วย” (เอเฟซัส 1:20-21)

พระธรรมสดุดีบทที่ 76 ได้กล่าวถึงชัยชนะของพระเจ้าเหนืออำนาจชั่วร้ายซึ่งสำเร็จเป็นจริงทางพระเยซูคริสต์ ในยุคของอาสาฟ ยูดาห์เชื่อว่า “ที่ประทับของพระองค์ตั้งอยู่ในซาเล็ม ที่พำนักของพระองค์อยู่ในศิโยน” และที่นั่น “...พระองค์ทรงหักลูกธนูเพลิงทั้งโล่ ดาบ และยุทธภัณฑ์” ของศัตรูผู้บุกรุก ในยุคปัจจุบันนี้ โดยทางพระเยซูคริสต์ พระองค์มีชัยเหนืออำนาจแห่งสากลจักรวาลทั้งหลาย ที่แผลงฤทธิ์ออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ปัจจุบัน รวมถึงคนทั้งหลายที่เรียกตัวเองว่าคริสเตียนด้วย

ในทุกวันนี้ การเฉลิมฉลองชัยชนะของพระเจ้าเหนืออำนาจแห่งความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ดั่งบทเพลงสดุดีของอาสาฟในบทที่ 76 คงไม่เป็นคำถามสำหรับเรา แต่ในฐานะคริสเตียนเราสามารถที่จะเฉลิมฉลองชัยชนะของพระเจ้าเหนืออำนาจและความชั่วร้ายที่มาในทุกรูปแบบ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราได้หรือไม่นั่นเป็นคำถามที่เราต้องตอบ

ประเด็นที่เราจะต้องพิจารณาคือ การดำเนินชีวิตประจำวันของเรายอมโอนอ่อนผ่อนตามกระแสแห่งโลกนี้ที่ตกอยู่ใต้การควบคุมและปกครองของเหล่าอำนาจชั่วร้าย หรือที่เราดำเนินชีวิตและเผชิญกับผลแห่งอำนาจชั่วทั้งหลายด้วยกำลังของเราเอง หรือด้วยกำลังที่พระเยซูคริสต์ทรงเสริมหนุนเรา และที่สำคัญชีวิตของเรารอดพ้นออกมาจากอำนาจแห่งความชั่วร้ายเหล่านั้นมาอยู่ภายใต้การปกครอง คุ้มครองในพระเมตตาของพระคริสต์หรือไม่? หรือเรากำลังมีความสุขสบายกับโอกาส อำนาจ ความมั่งคั่ง ที่เราได้จากผลที่เรายอมตกเป็นเครื่องมือของอำนาจแห่งความชั่วร้ายนั้น? เราคงต้องระมัดระวังที่ เราเฉลิมฉลองชัยชนะของพระเจ้าเหนือกองทัพของมารซาตาน แต่เรากำลังหลงระเริงกับความตื่นเต้น ชื่อเสียงเกียรติยศ ความสะดวกสบาย มั่งคั่ง ที่เป็นเพียง “เศษเนื้อ” ที่กระแสนิยมแห่งโลกนี้ที่หยิบยื่นแลกเปลี่ยนกับชีวิตจิตวิญญาณของเรา?