14 มีนาคม 2559

ยึดมั่นในพระวจนะพระเจ้านั้นเป็นอย่างไร?

พระวจนะของพระเจ้าเป็นเรื่องชีวิต   ดังนั้น พระวจนะจึงจะต้องเข้ามามีส่วนในชีวิตของเราทุกมิติ   ไม่ว่าจะเป็นความนึกคิด  จิตใจ  ทัศนคติมุมมอง  การตัดสินใจ  การวางเป้าหมาย  การวางแผน  และการดำเนินชีวิตในประจำวัน   ตลอดจนความทรงจำที่มีในชีวิตของแต่ละคน

เมื่อเปาโลกล่าวว่า “จงยึดมั่นในพระวจนะ...” (ฟิลิปปี 2:16 มตฐ.)  เปาโลหมายถึงการที่คนนั้นยอมเปิดชีวิตทุกมิติของตนให้พระเจ้าใช้พระวจนะของพระองค์เข้ามาปรับแก้ และ เสริมสร้างชีวิตของเราให้มี “พระวจนะและพระประสงค์” ของพระองค์เป็นรากฐานชีวิตของเรา    ทั้งชีวิตของเราต้องยึดมั่นบนรากฐานดังกล่าว   หรือ กล่าวได้ว่าพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าเป็น “เสาหลัก” หรือ “สรณะ” ที่เราแต่ละคนต้องยึดไว้อย่างมั่นคงตลอดเวลา

เราท่านต่างต้องเคยประสบกับภาวะ “วิตกกังวล” กันทั้งนั้น   ความวิตกกังวลคือการที่เกิดความคิดเชิงลบที่ผุดขึ้นในความนึกคิดและความรู้สึกของเรา   ความวิตกกังวลทำให้เราต้องคิดแล้วคิดอีกในเรื่องนั้น   ถ้าเกิดการวิตกกังวลความคิดที่ซ้ำย้ำคิดนี้จะไม่สิ้นสุด   จนกว่าความคิดเชิงลบนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นความนึกคิดเชิงบวก สร้างสรรค์ ที่นำไปสู่ความหวัง

การยึดมั่น ไตร่ตรอง และ ใคร่ครวญในพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าก็คล้ายกัน   กล่าวคือ  การที่เรามีความคิดตรึกตรองอย่างรอบคอบ สุขุม ใจถ่อม  ทำให้เกิดสำนึกตระหนักรู้ในเชิงบวกและสร้างสรรค์   ความคิดเช่นนี้ก่อเกิดความหวัง   และนำให้เกิดพลังชีวิต   เห็นเป้าหมายชัดเจน   และกล้าที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายแม้จะมีมิติที่เสี่ยงอยู่ก็ตาม   พระวจนะและพระประสงค์จึงเป็น “หลักยึด” ในชีวิต   เป็นเข็มทิศนำทางชีวิต   และเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้ชีวิตดำเนินไปบนเส้นทางแห่งชีวิตตามพระวนจะและพระประสงค์ของพระเจ้า   เพื่อชีวิตจะสำแดงพระวจนะและพระประสงค์ออกมาเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน

การยึดมั่นในพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นกระบวนการ   ซึ่งมีขั้นตอนหลัก 7 ประการดังนี้
  1. การได้ยินพระวจนะ:   การที่เราจะมีพระวจนะเป็นหลักยึดในชีวิต   ต้องมีพระวจนะเข้ามาในชีวิตของเรา   การได้ยินเป็นทางหนึ่งที่พระวจนะจะเข้ามาในชีวิตของเราแต่ละคน   แต่เราจะต้อง “ฟังพระวจนะอย่างใส่ใจ”   เราต้องเปิดความนึกคิด  จิตใจ  และความรู้สึกของเราให้พระวจนะเข้ามาในชีวิต
  2. การอ่านพระวจนะ:  เป็นทางที่สองที่พระวจนะจะเข้าในชีวิตของเรา  การอ่านพระวจนะไม่ใช่การอ่านท่องบทสวดที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือ จะเกิดผลเกิดพลังเมื่ออ่านท่องบ่นสวดคำสอน   หรือ บางครั้งก็มีการกำหนดว่าต้องอ่านท่องกี่รอบ  หรือกำหนดว่าจะต้องท่องจำได้  แต่การอ่านพระวจนะของพระเจ้าเป็นการอ่านด้วย “ดวงตา”  แห่งความคิด  จิตใจ  ความสำนึกและตระหนักรู้ตัว   เพื่อเมื่ออ่านแล้วสามารถนำมาใคร่ครวญ  พิจารณา  เพ่งพินิจว่า   ชีวิตของเราเป็นไปตามพระวจนะหรือไม่   จะทำอย่างไรที่ชีวิตประจำวันของเราจะทำตามพระวจนะจน “พระวจนะและการดำเนินชีวิตของเรา” เป็นเนื้อเดียวกันกับพระวจนะ  หรือที่ภาษาคริสตชนเรียกว่า “ติดสนิทกับพระเจ้า”
  3. การศึกษาพระวจนะ:   เป็นการอ่านพระวจนะ   เพื่อที่จะฟังให้ได้ยินถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตความนึกคิดและในจิตใจของเรา   เพื่อที่จะเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าผ่านทางพระราชกิจของพระองค์ที่กระทำในยุคสมัยต่างที่มีความแตกต่างเปลี่ยนแปลงมากมายที่พบเห็นในพระคัมภีร์   ประวัติศาสตร์คริสตจักร   และชีวิตของผู้เชื่อทั้งหลาย   การเรียนรู้ถึงพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าเช่นนี้ก็เพื่อจะนำสิ่งที่เรียนรู้มาวางเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน   และการตอบสนองต่อพระประสงค์ที่เรียนรู้ในยุคสมัยของเรา
  4. การรำพึงภาวนา  ใคร่ครวญ  ตรึกตรองในพระวจนะ:  เป็นการที่แต่ละคนหาเวลาที่จะมีชีวิตส่วนตัวกับพระเจ้า   แล้วให้พระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้ามีครอบครองความนึกคิด  จิตใจ  ความรู้สึกและจินตนาการของเรา   เป็นเวลาที่เราเปิดใจเปิดชีวิตสนทนากับพระเจ้า   และให้เวลาที่มีใจสงบรับฟังพระองค์อย่างใส่ใจ   ด้วยความตั้งใจที่จะให้พระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าเข้ามาปกป้องครอบครองในทุกมิติชีวิตเรา   และเราเองซึมซับเอาพระวจนะเข้าไปทุกส่วนในชีวิตจริงของเรา
  5. การทำตามพระวจนะในชีวิตประจำวัน:  เป็นการประยุกต์พระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าที่ได้จากการศึกษา และ ไตร่ตรอง ให้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เท่าทันยุคทันเหตุการณ์ที่เราต้องประสบพบเจอในแต่ละวัน
  6. การถอดบทเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต:  เมื่อเรานำพระวจนะมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันเราจะได้รับประสบการณ์ชีวิตในสิ่งที่เราปฏิบัติตามพระวจนะ   ในประสบการณ์นั้นส่วนหนึ่งเป็นการเปิดเผยของพระเจ้าให้เราได้เห็นและสัมผัสถึงการทรงทำงานของพระองค์  และพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา   ชีวิตของเราจะได้รับการปรับเปลี่ยน แก้ไข  และเสริมสร้างใหม่ตามพระประสงค์ของพระองค์   และช่วยให้เราตอบสนองต่อพระประสงค์ในชีวิตของเราที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  7. การหยั่งรากและการจำพระวจนะในชีวิต:  เท่าที่ผ่านมา คริสตจักรมักเน้นให้สมาชิกอ่านพระวจนะ  เพื่อจะจดจำพระวจนะ   เพื่อว่าเมื่อชีวิตประสบกับวิกฤติจะสามารถมีพระวจนะมาใช้ในวิกฤตินั้น   แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากสมาชิกส่วนใหญ่คือ   เมื่ออ่านพระวจนะแล้วก็จะลืมเลือน  หรือ ท่องไม่จำสักที   แต่ถ้าเราปฏิบัติพระวจนะในชีวิตประจำวัน   แล้วมีการถอดบทเรียนรู้ถึงพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเรา   และเอาบทเรียนไปปฏิบัติให้ดีกว่าเดิมอีก    มิใช่เพียงเราจะสามารถจดจำพระวจนะตอนนั้น ๆ เท่านั้น   แต่เราจะหยั่งรากฝังตัวลงในพระวจนะ  พระวจนะจะเป็นที่ยึดและรากฐานแห่งชีวิตของเราด้วย


ดังนั้น   การที่เราจะฟังพระวจนะของพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์เมื่อเราไปร่วมนมัสการพระเจ้าที่คริสตจักรดูจะไม่เป็นการเพียงพอ   เราจะไม่มีพระวจนะเป็นที่จะหยั่งรากและที่เกาะยึดสำหรับชีวิตของเรา   และเราก็ไม่มีพระวจนะที่เราจะสามารถยึดชีวิตเราให้มั่นได้   แล้วก็จะพบกับอาการเดิม ๆ คือ  อ่านและฟังพระคัมภีร์แล้วไม่เห็นจำสักที   พูดสั้น ๆ ว่า  เราไม่มีพระวจนะในชีวิต   แล้วเราจะยึดมั่นพระวจนะในชีวิตของเราได้อย่างไร?

“ข้าพระองค์ยินดีในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระองค์ ... ข้าพระองค์ใคร่ครวญข้อบังคับของพระองค์  และพิเคราะห์วิถีทางของพระองค์ ... ข้าพระองค์ไม่ละเลยพรวจนะของพระองค์ ... ขอทรงสอนข้าพระองค์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายของพระองค์ ... โปรดประทานความเข้าใจ...แล้วข้าพระองค์จะปฏิบัติตามด้วยสุดใจ ... ขอทรงนำข้าพระองค์ไปตามทางที่ทรงบัญชา   เพราะข้าพระองค์จะชื่นชมในทางนั้น” (สดุดี 119:11, 14-16, 33-35 อมต.)  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น