ในสังคมประชาธิปไตย
คนเราต่างอ้างถึงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลยิ่งใหญ่กว่าสิ่งอื่นใด ยิ่งใหญ่กว่าสิทธิร่วมของชุมชน สิทธิของคนรอบข้าง และสิทธิที่เราจะอยู่รอดร่วมกันอย่างมีคุณค่าและความหมายของการเป็นคนที่ต่างมีพระฉายาของพระเจ้าในชีวิตของแต่ละคน
แท้จริงแล้วสิทธิส่วนบุคคลเป็นสิทธิที่ต้องสอดคล้องกับสิทธิร่วมของชุมชนคนรอบข้างที่เราร่วมมีชีวิตอยู่ด้วย
การที่คริสตชนคนใดคิดว่าสิ่งที่ตนกระทำไม่ผิด หรือ คริสตชนบางคนอ้างว่าไม่เห็นพระคัมภีร์ห้ามเรื่องนี้เรื่องนั้นชัด
ๆ ดังนั้น เขาต้องทำได้ สำหรับคริสตชนเราต่างดำเนินชีวิตใต้ร่มพระคุณของพระเจ้า เรามีชีวิตอยู่ด้วยพระคุณของพระเจ้า
เราไม่ได้ดำเนินชีวิตภายใต้อิทธิพลของข้อบัญญัติ หรือ ถกเถียงกันด้วยเหตุผลว่าอะไรผิดอะไรถูกเท่านั้น
แต่การดำเนินชีวิตใต้พระคุณนั้นเราต้องมองเห็นถึงชีวิต จิตใจ
ความเปราะบาง
ความต้องการของเพื่อนมนุษย์ด้วย
ชีวิตที่ดำเนินใต้ร่มพระคุณจะต้องดำเนินไปบนรากฐานความรักเมตตาและเสียสละแบบพระคริสต์ ที่มีพระคุณต่อชีวิตของเราทั้งที่เราไม่ควรจะได้รับพระคุณความรักเมตตานั้นจากพระองค์เลย และพระคุณนั้นทำงานในชีวิตของเรา
เปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่ ทั้ง ๆ ที่เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้ง ๆ ที่เราไม่สามารถที่จะเป็นคนใหม่ได้เพราะความสามารถของเราเอง
เปาโล กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ใน 1โครินธ์ 10:23 อย่างชัดเจนว่า..
เราทำทุกสิ่งได้ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่ง(ที่เราทำ)นั้นจะเป็นประโยชน์
เราทำทุกสิ่งได้
แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งนั้นทำให้(เรา)เจริญขึ้น (1โครินธ์ 10:23 มตฐ.)
อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมคริสตชนของไทยเรา เช่น คนที่บอกว่าตนมีความเชื่อ ดังนั้น
เราสามารถดื่มเครื่องดื่มประเภทที่มีแอลกอฮอล์
และคิดว่าสามารถควบคุมตนเองในการดื่ม
ดังนั้น เมื่อเชิญเพื่อน ๆ มาร่วมในงานเลี้ยงก็บริการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยไม่สนใจหรือแคร์ว่าคริสตชนคนอื่นจะมองเช่นไรในการกระทำเช่นนี้ เพราะตนคิดว่าเพื่อนคริสตชนบางคนเชื่อในสิ่งที่ไร้สาระไม่สำคัญ เป็นต้น
ในฐานะคริสตชนคนหนึ่ง เราจะไม่สนใจแต่ความคิดความเชื่อของตนเท่านั้น และไม่แคร์ไม่ใส่ใจ
ไม่ให้ความสำคัญกับความคิดความเชื่อของเพื่อนคนอื่น ไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองอย่างไรต่อพฤติกรรมของตนที่แสดงออกไม่ได้ แต่เปาโล บอกเราชัดเจนว่า อย่าให้ใครเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว
แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น (1โครินธ์ 10:24) เพราะในฐานะคริสตชนนอกจากไม่ทำตามที่ตนคิดตนเชื่อเท่านั้น แต่ต้องใส่ใจถึงความคิด ความเชื่อ
ความรู้สึกและความจำกัดของแต่ละคนด้วย
เพื่อนของเราบางคนอาจจะรับไม่ได้ที่เราเลี้ยงเหล้าในงานเลี้ยง แต่เราฝืนจะเลี้ยงเพราะเป็นสิทธิเสรีภาพของเรา การกระทำเช่นนี้จะกลายเป็น
"หินสะดุด" แก่เพื่อนคนนั้นได้
หรือทำให้บางคนต้องหลงผิดไป (ข้อ 32)
ในฐานะคริสตชน เปาโล เตือนให้ระลึกเสมอว่า เราทุกคนจงทำให้เพื่อนบ้านพอใจ
เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความเชื่อของเขา (โรม 15:2 มตฐ.) และให้เราต้อนรับกันและกัน
เช่นเดียวกับที่พระคริสต์ได้ทรงต้อนรับท่าน เพื่อพระเกียรติของพระเจ้า
(ข้อ 7)
ที่เราไม่กระทำตามใจตน มิใช่ เพราะเรามีเสรีภาพในการตัดสินใจ หรือเพราะเราเห็นว่าชีวิต
ความคิดและความเชื่อของเพื่อนคนนั้นมีความสำคัญกว่าเสรีภาพส่วนตัวเท่านั้น แต่ที่เราไม่กระทำตัวเป็นหินสะดุดของเพื่อนเพราะเราเห็นว่า
การกระทำเช่นนี้เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วย
ในฐานะคริสตชน ในแต่ละวันเราต้องอยู่ร่วม ทำงาน
และมีชีวิตร่วมกับคนอื่น
เราจะไม่สนใจว่าเราคิดเราเชื่ออะไรอย่างไรเท่านั้น แต่เราจะสนใจความคิด ความเชื่อ
ความรู้สึก ความเปราะบาง หรือ
ความจำกัดของเพื่อนเรา และทุกสิ่งเรากระทำลงไป
นอกจากจะไม่เป็นต้นเหตุให้เขาต้องเกิดความขัดแย้งกับความคิด ความเชื่อ
และความรู้สึกของเขาเท่านั้น
แต่การกระทำของเราควรเป็นการเสริมสร้างชีวิต จิตใจ และความคิดความเชื่อของเขาให้เจริญเติบโตขึ้น
และเหนือสิ่งอื่นใดเราประสงค์ให้การกระทำแต่ละอย่างของเราเป็นต้นเหตุให้เกิดการถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วย
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น