18 มีนาคม 2559

เราจะนำ สอน หรือ โค้ช คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเราอย่างไรดี?

คงปฏิเสธได้ยากว่า   การที่จะต้องนำ ต้องโค้ช หรือ สอนคนอื่น   ถ้าคนนั้นมีวัยวุฒิมากกว่า   หรือ แม้แต่เป็นเพื่อนรุ่นพี่  หรือ คนที่เคยมีตำแหน่งผู้นำสูงมาก่อน   ย่อมทำให้เราบางครั้ง “หวั่น ๆ”  ไม่มั่นใจในตนเอง   หรือไม่รู้จะเริ่มหรือจะทำอย่างไรดีที่จะเหมาะสม  สร้างสรรค์   และเกิดผลดีทั้งต่อเขาและเรา

ประเด็นนี้มิได้เกิดขึ้นในการทำงานรับใช้ในคริสตจักรเท่านั้น   แต่ได้เกิดขึ้นทั้งในที่ทำงาน และ ในชุมชนด้วยเช่นกัน   และที่สำคัญคือ  นี่คืองานที่เราจะต้องทำ จะต้องรับผิดชอบ   และบางครั้งเราต้องเสริมสร้างคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเราให้เป็นผู้นำ   เราจะทำอย่างไรดี?   ยิ่งถ้าคน ๆ นั้นมิได้มีอายุที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเราเท่านั้น   แต่ยังมีตำแหน่งสำคัญบางตำแหน่ง   หรือมีความรู้ดีในบางเรื่อง  หรือเป็นผู้ที่ชาวบ้านยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์ชุมชน” และมีผลงาน  ประสบการณ์เป็นตัวพ่วงมาด้วยแล้ว   จะให้เรานำ เราสอน และโค้ชคนระดับนี้ได้อย่างไร?

เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้   บ่อยครั้งเราเกิดคำถามสารพัดที่จู่โจมเข้ามาในความคิดความรู้สึกของเรา...  เขาจะยอมรับเราหรือไม่?   เขาจะคิดว่าเรามีประสบการณ์พอที่จะนำเขา สอนเขาหรือไม่?   และถ้าเขาไม่ยอมที่จะฟังเราล่ะ จะทำอย่างไรดี?   และ ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ที่สำคัญจำเป็นเพียงพอ  อะไรจะเกิดขึ้น?   เราจะต้องระวัง   ที่จะไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างเสียงในความคิดจิตใจแบบนี้จู่โจมทับถมจนเราเกิดความไม่มั่นใจ  และพัฒนาเป็นความกลัวงันไป!

ประสบการณ์ของผมที่เคยเผชิญเรื่องเช่นนี้   ผมสงบและเตือนตนเองให้นิ่ง  แล้วค่อย ๆ ก้าวไปทีละก้าวเล็ก  และก้าวย่างอย่างต่อเนื่องบนความสัมพันธ์ และ บนฐานของประสบการณ์และความเป็นจริง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเริ่มแยกแยะสถานการณ์นี้ว่าอะไรคือ “ความจริง” ในเรื่องที่อยู่ข้างหน้าผม   และเริ่มค่อยถามตนเองว่า
  • นี่เป็นงานที่ผมต้องรับผิดชอบใช่ไหม?   และที่ต้องรับผิดชอบเพราะอยู่ในตำแหน่งนี้ใช่ไหม?
  • เรามีความรู้ในเรื่องที่จะต้องสอน  นำ  และโค้ชเขาใช่ไหม?
  • เขาก็มีประสบการณ์หลายอย่างในชีวิตที่ผมสามารถเรียนรู้จากเขาใช่ไหม?
  • เราจะทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกันไม่ใช่หรือ?


เมื่อผมถามตนเองด้วยคำถามดังกล่าว   ซึ่งเป็นคำถามที่บอกกับตัวผมเองว่า  สิ่งเหล่านี้เป็น “ความจริง” ทั้งนั้น แล้วเราทำไมต้อง “ไม่มั่นใจ” ผมเตือนความจำตนเอง  โดยพูดกับตนเองว่า... เราเคยทดลองทำในเรื่องนี้มาแล้วไม่ใช่หรือ?   เรื่องนี้เราเคยทำมาแล้วไม่ใช่หรือ?   ยิ่งกว่านั้น เรายังได้รับเสียงสะท้อนกลับในการทำของเรา  เราได้บทเรียนจากประสบการณ์ไม่ใช่หรือ?   และเราก็ค้นพบหลักการปฏิบัติที่สำคัญในเรื่องการเสริมสร้างคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเราในทีมงานมาก่อนหน้านี้แล้วนี่!  

ยอมรับในสิ่งที่เราไม่รู้

สิ่งสำคัญประการหนึ่งในฐานะผู้นำและผู้สร้างทีมงาน  หรือแม้แต่ในการทำงานกับคน   เราจะต้องรู้เท่าทันตนเองว่า   เรารู้เรื่องอะไรบ้าง   เราไม่รู้ในเรื่องอะไรบ้าง   เราคิดเช่นไรในเรื่องนี้   หมายความว่าในฐานะที่เราเป็นผู้นำ  เพราะเรามีประสบการณ์ และ ความรู้ที่จะแบ่งปันแก่คนอื่น   ดังนั้น ให้เราทำ   ถ้าเราแบ่งปันความคิดสติปัญญาและสิ่งดีแก่คนอื่น   เราก็จะได้รับความมั่นใจจากคนอื่น    อย่างไรก็ตาม   เราไม่ได้รู้เสียทุกเรื่อง   ดังนั้น อย่ากลัวที่จะบอกกับคนอื่นตรง ๆ ว่า “เรื่องนี้ผมไม่รู้”   และบอกเขาจากความจริงใจว่า “ถ้าท่านมีความคิดในเรื่องนี้   ผมต้องการฟังเพื่อจะเรียนรู้”   เมื่อเราบอกกับคนอื่นด้วยความสัตย์ซื่อจริงใจ และ เปิดใจยอมรับความคิดของคนอื่น   เราจะได้รับการนับถือจากคน ๆ นั้น

เพื่อเป็นการพัฒนา ความสามารถ และ ทักษะในการทำงานกับทีมงานที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเรา   ผมได้ขอบางคนในกลุ่มแกนนำที่ผมทำงานด้วย   ขอเขาเป็นผู้สะท้อนและให้ข้อเสนอแก่ผมเกี่ยวกับการนำ การสอน และ การโค้ชในทีมงานที่ผมทำว่าเป็นอย่างไร   โดยผมจะตั้งประเด็นให้เขาช่วยสะท้อนกลับการเป็นผู้นำทีมของผม เช่น
  • สิ่งที่ผมทำได้ดีมีอะไรบ้าง?
  • มีอะไรที่ผมน่าจะทำได้ดีกว่าที่ทำอยู่?
  • มีอะไรบ้างที่ผมไม่ควรทำ?

คนในทีมงานที่ผมขอให้เป็นผู้สะท้อนกลับความคิดเห็นของเขาต่อการเป็นผู้นำของผม   ผมมีวิธีการคัดเลือกคือ   เป็นคนไว้ใจได้  ฉลาด  มีประสบการณ์ในการเป็นผู้นำมาพอประมาณ   ผู้ที่เต็มใจจะช่วยเป็นผู้สะท้อน   เป็นผู้ที่ผู้คนนับถือในความคิดเห็นของเขา

ในฐานะผู้นำกลุ่มทีมงานแกนนำกลุ่มต่าง ๆ  ผมต้องการที่จะเรียนรู้จากบุคคลที่มีประสบการณ์ในเรื่อง ประเด็นที่ผมไม่รู้   ยิ่งกว่านั้น  ถ้าผมรู้ว่าแกนนำกลุ่มท่านใดมีความชำนาญเฉพาะเรื่องใด   ผมจะต้องเข้าไปขอเรียนรู้เพื่อผมจะมีความรอบรู้ในเรื่องนั้น    ผมมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับแกนนำเช่นนี้   เขาพร้อมและเต็มใจแบ่งปันสิ่งที่เขารู้และชำนาญ   เขาเป็นคนที่อ่านมาก และ กล้าที่จะทดลองทำ  แล้วประมวลประสบการณ์ที่ได้รับให้เป็นองค์ความรู้ใหม่   การที่เราเปิดใจยอมเรียนรู้จากแกนนำต่าง ๆ เป็นการเพิ่มเติมองค์ความรู้ที่มาจากประสบการณ์ปฏิบัติที่เรายังขาดยังด้อยอยู่  และนี่คือสิ่งที่ผมกระหายหาอย่างมากครับ

ผู้นำมิใช่เป็นผู้รอบรู้เสียทุกเรื่องราว   ดังนั้นอย่ากลัวที่จะบอกทีมงานว่าเราไม่รู้   และถ่อมพอที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของทีมงานของตน   แม้คนนั้นจะเป็นลูกน้องของเราก็ตาม

“ผู้นำ” นอกจากเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลต่อความคิด ความเห็นความเข้าใจของผู้ร่วมทีมแล้ว   การถ่อมใจและจริงใจที่เรียนรู้จากคนอื่นในทีมก็เป็นภาวะผู้นำที่สำคัญในการนำคนที่มีวัยวุฒิ และ คุณวุฒิที่สูงกว่าเราด้วย   และเมื่อเราทำเช่นนี้ก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมการเปิดใจรับฟังรับการเรียนรู้จากคนอื่น ๆ ในทีมงานในชุมชนที่เราทำงานด้วย   ดังที่พระเยซูคริสต์สอนสาวกของพระองค์ว่า  การเป็นผู้นำคือการเป็นคนรับใช้คนอื่น...   การเป็นผู้นำคือการถ่อมใจถ่อมตนติดตามเรียนรู้จากคนอื่น   การที่เรานำใครก็ตามมิได้หมายความว่าเราต้องมีอะไรที่เหนือคนอื่นในเรื่องที่เรานำ   แต่เป็นการใส่ใจ  เปิดใจชื่นชม และ รับ  สิ่งดี ๆ ที่มีในชีวิตของคนอื่น   แล้วเอื้ออำนวยให้สิ่งดีเหล่านั้น “ฉายแสง ส่องสว่าง” ให้คนอื่นได้เห็น   ถ้าเป็นเช่นนี้ท่านย่อมนำคนอื่นได้อย่างไร้เงื่อนไขทั้งวัยวุฒิ และ คุณวุฒิ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น