ปัญหาใหญ่น้อยอาจจะมิใช่เรื่องสำคัญที่สุดในสายตาของคริสตจักร แต่การที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางเรื่อง ที่ไปกระทบต่อบางสิ่งที่คริสตจักรเคยทำมาด้วยความคุ้นชิน
หรือ ที่เป็นประเพณีปฏิบัติ และ ถ้ามีอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนแล้วเสนอให้ทำ ก็จะมีกลุ่มในคริสตจักรลุกขึ้นมาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้น มักจะได้รับการต้านก่อนเสมอ
การเปลี่ยนแปลงในคริสตจักรนั้นมีหลายเรื่อง
หลายด้าน หลายมุม
การเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นเรื่องการนมัสการ
รูปแบบการนมัสการ หรือ วิธีการนมัสการ
การบ่มเพาะเสริมสร้างสมาชิกให้เป็นคนรับใช้ของพระคริสต์ในบริบทชีวิตด้านต่างในชีวิตประจำวัน การแบ่งงานในทีมผู้อภิบาล กลยุทธในการทำพันธกิจในชุมชน วิธีการเรียนการสอนในคริสตจักร วิธีการจัดวางตกแต่งในตัวอาคารโบสถ์ สีคริสตจักร
ไปจนถึงชื่อคริสตจักร
และอีกหลายเรื่องมากมาย
แล้วอะไรล่ะที่เป็นตัวต้านการเปลี่ยนแปลงในคริสตจักร?
ทำไมคริสตจักรมากมายถึงไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลง?
ผู้นำและสมาชิกคริสตจักร
ดูเหมือนมีแนวโน้มที่จะขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
แม้แต่เรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่ดีสร้างสรรค์ก็ตาม การต่อต้านมักแสดงออกด้วยอาการต่าง ๆ เช่น
- การปกป้องตนเอง เมื่อคนในคริสตจักรได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือ ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงมักจะแสดงอาการ “ก้าวถอย” เพื่อปกป้องความเป็นตัวตนที่เป็นอยู่ในเวลานั้น แทนที่จะเปิดใจรับฟัง พิจารณา ใคร่ครวญคำวิจารณ์-วิพากษ์ หรือ ให้ข้อเสนอ ด้วยการคิดอย่างใคร่ครวญรอบด้าน
- ปฏิเสธ แต่บางคนบางพวกเมื่อได้ยินการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงปัญหาหรือจุดอ่อนด้อยของคริสตจักรก็จะเลือกทางออกหรือการตอบสนองด้วยการปฏิเสธทันที และเห็นว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
- กล่าวโทษคนวิพากษ์ เช่น “ที่เขาว่าการนมัสการของเราไม่ได้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้รับการสัมผัสจากพระเจ้า ก็เพราะพวกเขาเองไม่ได้เตรียมจิตเตรียมใจให้พร้อมที่จะเข้าร่วมในการนมัสการพระเจ้าของเรา”
- อ้างพระเจ้า (อย่างผิด ๆ) สมาชิกและผู้นำคริสตจักรกลุ่มนี้มีความสับสนในการแยกแยะระหว่าง “พระเจ้า” กับ “คริสตจักร” เขาจะบอกว่า “พระเจ้าทรงเป็นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง พระเจ้าเป็นอย่างไรในอดีต ก็จะเป็นเช่นนั้นทั้งในวันนี้และในอนาคต” ดังนั้น “คริสตจักรไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามความคิดใหม่ของคุณ”
- ติดยึดกับความทรงจำในอดีต (อาจจะเป็นจริง หรือ มโนเอาเอง) ความจำที่อบอุ่นในอดีตกลายเป็นตัวครอบงำการคิดการจินตนาการถึงสิ่งดี ๆ อื่น ๆ ในปัจจุบันและอนาคต ถ้าไม่เข้ากรอบประสบการณ์ที่ตนคุ้นชินถือว่า “ไม่ใช่”
- ความกลัวลาน ความกลัวคือตัวต้านการเปลี่ยนแปลงในเกือบทุกกรณี และนำให้เกิดการเผชิญหน้าต่อต้านเมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลง แม้จะเห็นเหตุผลว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญจำเป็น แต่เพราะความขลาดกลัวทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือ การสู้กันในทางความคิด เป็นความ “รู้สึก” ที่อยู่เหนือเหตุผลคำอธิบายใด ๆ
- เลี่ยงการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลแบบข้าง ๆ คู ๆ เช่น “ฉันรู้นะว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ แต่ฉันมีเวลาทำงานที่นี่อีกเพียง 5 ปี ฉันจะให้ผู้นำคนใหม่เป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงจะดีกว่า” “ฉันอยู่ในตำแหน่งรักษาการ... ฉันไม่ควรเปลี่ยนแปลงอะไร... รอผู้บริหารตัวจริงเขาตัดสินใจดีกว่า”
แท้จริง
การหลีกเลี่ยง หรือ การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงมีผลร้ายต่อคริสตจักร การติดยึดอยู่กับแนวทางการปฏิบัติเดิม ๆ อาจจะนำความเสื่อมทรุด
เลวร้ายมาสู่คริสตจักร
ทำให้คริสตจักรมีประสิทธิภาพ และ ความสามารถที่จำกัดในการสร้างผลกระทบที่สร้างสรรค์ต่อชุมชน
ถ้าเช่นนั้นเราจะสามารถหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คริสตจักรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร? ข้างล่างนี้มีประเด็นบางประการที่ใช้ในการพิจารณาในเรื่องนี้
- อธิษฐานทูลขอความชัดเจน การทรงนำ และ ความกล้าหาญ ทูลขอต่อพระเจ้าให้ทรงสร้างจิตใจคนในคริสตจักรให้รับการเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลงใหม่ที่จะขับเคลื่อนชีวิตตนและคริสตจักรไปบนเส้นทางที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์
- เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจำเป็น จะไม่มุ่งใส่ใจว่าจะเกิดการสูญเสียอะไร แต่ใส่ใจว่าคริสตจักรจะได้รับอะไร ในฐานะผู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ต้องช่วยให้คนในคริสตจักรได้เห็นชัดถึงภาพรวมที่สร้างสรรค์ของผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และประโยชน์ที่คริสตจักรจะได้รับ
- สร้างแรงบันดาลใจแก่ทุกคน ให้ชวนคิดชวนคุยเป็นการส่วนตัวกับผู้นำที่มีอิทธิพลในความคิดของสมาชิกคริสตจักรให้สามารถเห็นภาพนิมิตใหม่ที่ชัดเจน
- ค่อย ๆ ช่วยให้ผู้คนในคริสตจักรแต่ละคนยอมรับการเปลี่ยนแปลง การที่ค่อย ๆ สร้างความเข้าใจไปทีละคนจะช่วยปรับเปลี่ยนความคิดของผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงให้มีโอกาสปรับและเปลี่ยน มีโอกาสในการพิจารณาเรื่องนั้นอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง (แต่โปรดหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจด้วยการเรียกประชุม)
- ให้มีความเชื่อศรัทธาเหมือนเด็ก ถ้าท่านไม่เป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ ท่านจะไม่สามารถเข้าไปในแผ่นดินสวรรค์ไม่ได้เลย
ดังนั้น
เมื่อจะต้องมีการพิจารณา หรือ พูดคุยถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง หรือ
การทำในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ
ผู้ที่เอื้ออำนวยการเปลี่ยนแปลงจะต้องรู้เท่าทันวัฒนธรรมของคริสตจักรในเวลานั้น ตระหนักและยอมรับถึงความรู้สึกที่ไม่มั่นคงต่อการเปลี่ยนแปลง และมีวิธีการ หรือ แนวทาง
การเอื้ออำนวยการเปลี่ยนแปลงคริสตจักรบนฐานของความรักเมตตาแบบพระคริสต์ และ
ด้วยจิตวิญญาณแห่งการรับใช้ของพระคริสต์
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น