ความนึกคิดของมนุษย์นั้นเหมือนบ่อน้ำลึก
แต่ผู้ที่มีความเข้าอกเข้าใจสามารถลงลึกถึงปัญญาที่อยู่ก้นบ่อในความนึกคิดของคน
(สุภาษิต 20:5 สมช.)
ถ้าเราต้องการมีปัญญา
และ ได้ปัญญา เราต้องถาม และถามคำถามที่คมชัดและมีปัญญา
ในพระธรรม สุภาษิต 20:5
เขียนไว้ว่า “ความประสงค์ในใจคนเหมือนน้ำลึก แต่คนที่มีความเข้าใจจะวิดมันออกมาได้”
(มตฐ.) ส่วนอมตะธรรม แปลว่า “ความคิดดีเหมือนน้ำที่อยู่ลึกในใจคน แต่คนที่มีความเข้าใจก็ตักมันออกมาได้ (อมต.) ผมขออนุญาตแปลว่า “ความนึกคิดของมนุษย์นั้นเหมือนบ่อน้ำลึก
แต่ผู้ที่มีความเข้าอกเข้าใจสามารถลงลึกถึงปัญญาที่อยู่ก้นบ่อในความนึกคิดของคน”
(สมช. สำนวนสามัญชน)
เราจะตักเอาน้ำในบ่อลึกได้อย่างไร?
เราจะดึงเอาความนึกคิดที่มีปัญญาออกมาจากคนได้อย่างไร?
ก็ด้วยการตั้งคำถามที่ดี คำถามที่ชัดเจน
ด้วยปัญญาแหลมคม!
เมื่อคนภูธรอย่างผมลงกรุงเทพฯ ต้องอาศัยรถแท็กซี่พาผมไปที่จุดหมายปลายทาง ผมอยากจะรู้เรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ หรือ เรื่องในสังคม ผมถามคนขับแท็กซี่ และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมเรียนรู้สิ่งดี ๆ มีปัญญาจากคนขับแท็กซี่
ไม่แพ้อาจารย์ระดับดอกเตอร์ที่บรรยายในวันนั้น หรือ ท่านผู้บริหารสถาบันและองค์กรที่โด่งดังที่พูดในวันนั้น ผมเรียนรู้ว่า แท้จริงแล้วเราสามารถเรียนรู้ และ
ได้รับปัญญาจากคนทุกระดับชั้น
เพียงถ้าเราสามารถถามคำถามที่ชัดเจนแหลมคม
และสิ่งสำคัญประการต่อมาคือ ถามแล้วต้องฟังอย่างใส่ใจ ครับ
เมื่อผมดูทีวีโดยเฉพาะข่าวเมื่อมีการสัมภาษณ์ ผมมักจะหงุดหงิดกับพิธีกรหรือผู้สัมภาษณ์ในรายการ
ที่ถามคำถามเพื่ออวดภูมิความรู้เท่าทันของตน
ไม่ได้ตั้งคำถามที่จะขุดจะดึงเอาปัญญาความคิดจากผู้ให้สัมภาษณ์ พิธีกรเหล่านี้น่ารำคาญ มักสอดแทรกถามตัดหน้าอย่าง “อวดรู้” ที่อึดอัดคับข้องใจกว่านั้น เพราะเมื่อดูรายการนั้นผ่านทีวี ผมไม่มีโอกาสถามในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ ยิ่งสร้างความรำคาญขัดแย้งในใจมากขึ้น แก้ปัญหาด้วยการปิดเครื่องไม่ดูไม่ฟังคำถามที่
“งี่เง่า” “สอดรู้” ของคนสัมภาษณ์เหล่านั้น
การขุดค้น ดูดดึงเอาน้ำแห่งปัญญาให้ขึ้นจากบ่อลึกแห่งความคิดคือ การที่เราจะรู้จักถามคำถามที่ชัดเจนแหลมคม และรู้จักที่จะฟังอย่างใส่ใจต่างหาก ที่เราจะนำมาสะท้อนคิด ที่เราจะได้เรียนรู้ ที่เราจะได้ปัญญา
ในการประชุมสำคัญ ๆ ของทั้งระดับองค์กร ระดับชาติ หรือ นานาชาติ เช่น
การประชุมสภาฯ สมัชชา และ ฯลฯ
เรามีแต่คนที่ต้องการ “พูดมาก”
จนลืมตั้งคำถามตนเองด้วยคำถามที่ชัดเจนและแหลมคม (พวกทำตัวเป็นดาวสภาฯ)
ในการประชุมเหล่านี้จึงไม่ค่อยเสริมสร้างสติปัญญา แต่มักเสริมสร้างแต่ความแตกหัก ขัดแย้ง
บาดแผล จนกลายเป็นสมัชชา หรือ
การประชุมสภาฯ ด้อยปัญญาไปก็มีมาก
ปัญญาเกิดจากการที่ต้องการที่จะรู้เรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง ถูกต้อง
สัจจริง จึงต้องพยายามที่จะตั้งคำถามที่ชัดเจนและแหลมคม เพื่อที่จะขุดค้นหาปัญญาจากบ่อลึกของผู้คนต่าง
ๆ รากฐานสำคัญที่จะได้ปัญญาจึงขึ้นอยู่กับความตั้งใจที่จะเรียนรู้และมีความสัมพันธ์ที่จริงใจ และใช้เวลาในการฟังอย่างใส่ใจและใคร่ครวญ
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น