27 มกราคม 2555

จิตอาสา หรือ จิตรับใช้?

...เราพบบุคลิกภาพความเป็นเราในความสัมพันธ์ที่มีซึ่งกันและกัน เราจะไม่มีภาวะผู้นำถ้าเราแยกสัมพันธภาพที่เรามีต่อกันออกไป เพราะเราจะไม่สามารถมีบุคลิกภาพความเป็นเราโดยปราศจากความสัมพันธ์

เมื่อเราพูดถึงเรื่อง ผู้นำหรือภาวะผู้นำ เรามักที่จะคิดจะพูดถึงผู้นำคนต่างๆ ที่เราเห็น ผู้นำที่มีชื่อเสียง ใหญ่โต ผู้นำที่มีอิทธิพลสูงในด้านต่างๆ แต่สิ่งสำคัญและท้าทายในความเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำมิได้อยู่ที่สิ่งเหล่านั้น แต่ภาวะผู้นำอยู่ภายในตัวของเราต่างหาก

หลักคิดหลักเชื่อเรื่อง “ผู้นำที่รับใช้” ซึ่งมีรากฐานความคิดมาจากพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ บ่งชี้ถึงความแตกต่างในภาวะผู้นำสองลักษณะ กล่าวคือผู้นำที่ทำตัวนิ่งไม่ตอบโต้และไม่แสดงอำนาจแต่นำด้วยการรับใช้ อีกพวกหนึ่งเป็นผู้นำที่แสดงออกถึงอำนาจของตนและใช้อำนาจ(บางครั้งลืมตัวบางครั้งไม่รู้ตัว)กระทั่งการใช้อำนาจแบบเผด็จการ(อันนี้ตั้งใจ) ความสำคัญที่ท้าทายในความเป็นผู้นำคือ อะไรคือจุดสมดุลเหมาะสมระหว่างการเป็น ผู้นำที่เข้มแข็ง กับ ผู้นำที่รับใช้ ความจริงก็คือว่า ไม่มีใครที่จะเป็นผู้นำได้จนกว่าจะมีผู้ที่ยอมรับใช้

การเป็น “ผู้นำที่รับใช้” ทำให้ผู้นั้นมีโอกาสที่จะรับผิดชอบอย่างเสียสละ ส่วนมากแล้วเราจะไม่รู้ว่าเมื่อใดที่เราควรแสดงความเป็นผู้นำของตน บางครั้งบางคนอาจจะเคยพูดกับตัวเองในใจว่า ฉันรู้ว่าฉันเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในจุดนี้ แต่เมื่อไม่มีใครร้องขอให้ฉันขึ้นมานำฉันก็จะทำการรับใช้ทุกคนอย่าง “ผู้นำที่รับใช้” ผมชอบเสียงในใจที่มีหลักคิดหลักเชื่อแบบนี้ เพราะภาวะผู้นำมิได้แสดงออกได้เมื่อคน “ยอมรับ” หรือ “มอบตำแหน่ง” หรือ “มอบความไว้วางใจ” ให้

แต่ภาวะผู้นำเกิดจากหลักคิดหลักเชื่อภายในของแต่ละคนที่กระทำเพราะสำนึกว่า นี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า นี่เป็นการทรงเรียกของพระองค์ให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมในพระราชกิจของพระองค์ ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะเราเป็น “ผู้ใหญ่ใจดี” หรือ “ผู้มีจิตอาสา” ที่มักมีศูนย์กลางอยู่ที่คนทำดี คนที่มีจิตอาสา(ตนเองเป็นศูนย์กลาง) ซึ่งมักหมิ่นเหม่ต่อการ “ลืมตัว” หรือ “สำคัญตนผิด” ในภายหลังอาจกลับกลายเป็นการกระทำเพื่อคุณค่าและความหมายสำหรับตนเอง และพัฒนาไปสู่เพื่อชื่อเสียงและความสำคัญของตนเอง บางครั้งไม่รู้ตัว บางครั้งลืมตัว แต่บางครั้งก็ตั้งใจ! หลักคิดหลักเชื่อแบบมีตนเองเป็นศูนย์กลางในการกระทำดีง่ายที่จะ “ตกลงในหลุมพลางของการทดลองจากอำนาจแห่งความชั่วร้าย” ที่พระเยซูคริสต์ประสงค์ให้สาวกของพระองค์หลุดรอดออกจากการทดลองของอำนาจแห่งความชั่วนี้ ตามคำอธิษฐานที่พระองค์สอนสาวกของพระองค์

ด้วยเหตุนี้ ในการเป็นผู้นำที่รับใช้ บนรากฐานของพระคริสตธรรมคัมภีร์ และ คริสต์ศาสนศาสตร์ จึงตั้งอยู่บนรากฐานของการทรงเรียก การตอบสนองด้วยการเข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์ตามการทรงเรียก และนี่คือ การรับใช้ มิติแรก คือรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า มิติต่อมาคือ การรับใช้ในพื้นที่ ในกลุ่มชนตามพระประสงค์นั้น

การรับใช้ตามพระประสงค์มิได้ขึ้นอยู่กับ “ความประสงค์ต้องการ” ของเราเอง ดังนั้น จึงมิได้ขึ้นอยู่ที่ตำแหน่ง ฐานะ ศักยภาพ และ ทักษะ ที่เรามีเท่านั้น หรือความคิดเห็นของเรา หรือ คนรอบข้างว่า “เราทำได้หรือไม่” เพราะนี่เป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำงานท่ามกลางประชากรของพระองค์ ที่เรียกเราให้เข้าไปร่วมงานนั้น

ทุกขณะที่ทำงานต้องใคร่ครวญเสมอว่า พระเจ้ามีพระประสงค์อะไรในงานนี้ อย่าลืมตัวถามว่า เราต้องการอะไรจากการทำงานนี้ ดังนั้น การที่ผู้ใดจะเป็นผู้นำที่รับใช้ ต้องเริ่มต้นที่พระประสงค์ของพระเจ้า และเป็นการตอบสนองการทรงเรียกของพระองค์ มิใช่เพราะเรามี “จิตอาสา” เป็น”ผู้ใหญ่ใจดี” เป็น “ผู้นำที่ทำเพื่อสังคม” เท่านั้น

ให้เราใคร่ครวญถึงเรื่องราวของโมเสส โมเสสเป็นบุตรบุญธรรมของพระธิดาฟาโรห์ เข้านอกออกในพระราชวัง ได้รับการเลี้ยงดูและสั่งสอนฝึกปรือด้านการปกครอง การต่อสู้ และวิทยายุทธของอียิปต์ เมื่อออกไปไซท์งานการก่อสร้างของชุมชนคนยิว เห็นพี่น้องคนยิวถูกข่มเหงจึง “มีใจ” ที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องยิว ด้วยการใช้วิทยายุทธในการต่อสู้และสามารถทำลายทหารอียิปต์ที่ทำการข่มเหงนั้นถึงชีวิต ในที่นี้โมเสสต้องการช่วยแรงงานทาสชาวยิว แต่ในที่สุดต้องหนีหลบภัยไปต่างแดนที่มีเดียน

แต่ภายหลัง พระเจ้าทรงเรียกโมเสสให้มาร่วมพระราชกิจแห่งการปลดปล่อยของพระเจ้า โมเสสมาในฐานะผู้นำที่รับใช้พระเจ้า เขามาร่วมในพระราชกิจแห่งการปลดปล่อยของพระองค์ เพื่อรับใช้แรงงานทาสชาวยิวด้วยการนำเขาออกจากแดนทาส เพื่อไปสู่แผ่นดินที่เป็นไท แต่นั่นมิใช่แผนงานของโมเสสเอง โมเสสรับใช้พระเจ้าและประชาชนยิวตามแผนการณ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า งานเดียวกันแต่จิตรับใช้ที่แตกต่างกัน และนี่คือความแตกต่างเด่นชัดระหว่าง หลักคิดหลักเชื่อแบบ “จิตอาสา” หรือ “ผู้ใหญ่ใจดี” หรือ “ผู้นำมืออาชีพ” กับ “ผู้นำที่รับใช้” พระประสงค์ของพระเจ้าท่ามกลางประชาชนกลุ่มเป้าหมายของพระองค์

นี่คือความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่าง “ผู้นำที่รับใช้แต่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง” กับ “ผู้นำที่รับใช้ที่มีพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง” แห่งการรับใช้

วันนี้ทุกท่านทุกโอกาส ท่านสามารถที่จะทำหน้าที่ต่างๆ ด้วยภาวะผู้นำได้เสมอ
อยู่ที่ว่าท่านจะเลือกเป็นผู้นำแบบไหน
ผู้นำที่ใช้อำนาจจากฐานะ ตำแหน่ง หรือ
มีคนมอบหมายให้ท่านเป็นผู้นำ หรือ
มีองค์กรจ้างท่านมาเป็นผู้นำ หรือ
สามารถใช้กระบวนการเลือกตั้งทำตนจนเป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้คนเหล่านี้มักเป็น “ผู้นำมืออาชีพ” หรือ “ผู้นำรับจ้าง”
เหมือนกันคนรับจ้างเลี้ยงแกะที่พระเยซูพูดถึง
เมื่อมีภัยมาถึงตัว เมื่อไม่ได้ผลประโยชน์อย่างที่คิดที่หวัง
ผู้นำเหล่านี้ก็ชิ่งหนีละหน้าที่ ไม่รับผิดชอบอะไรต่อไป เพราะเขาเป็น “ผู้นำมืออาชีพ”(ผู้นำรับจ้าง)

หรือท่านจะเลือกเป็นผู้นำแบบ “จิตอาสา” หรือ “ผู้ใหญ่ใจดี”
ดูเหมือนจะดี แต่เสี่ยงต่อการทำในสิ่งที่ตนคิด ตนชอบ ตนอยากทำ
ที่เอาตนเป็นศูนย์กลางในการนำ
มักตกหลุมพรางตอนท้ายที่ทำดีเพื่อตนเอง สร้างชื่อเสียงของตนเอง

วันนี้ ขอเริ่มวันใหม่ที่จะสงบจิตใจฟังเสียงจากภายในว่า
วันนี้พระเจ้าประสงค์ให้ฉัน “ทำวันนี้” ให้เกิดอะไรขึ้น
วันนี้พระเจ้าประสงค์ให้ฉันสำแดงความรักเมตตา เอาใจใส่ เยียวยาชีวิตของผู้ใด
วันนี้พระเจ้าได้เปิดเผยและทรงเรียกให้ฉันเห็นอะไรบ้าง
วันนี้ขอใช้เวลาชีวิตและศักยภาพชีวิตที่มีอยู่เพื่อรับใช้พระประสงค์ในชีวิตของผู้คนที่ฉันพบเห็น
วันนี้ขอพระเจ้าปกป้องฉันจากหลุมพรางการรับใช้เพื่อหวังได้ชื่อสียง เกียรติยศ ทรัพย์สิน และอำนาจ

วันนี้ขอเพียงให้ข้าพระองค์รู้ว่า สิ่งนี้เป็นพระประสงค์ของพระองค์
ข้าพระองค์พร้อมที่จะทำตามที่พระองค์ทรงนำ
ข้าพระองค์ขอรับใช้พระองค์ในชีวิตของคนที่พระองค์ต้องการให้รับใช้ด้วยศักยภาพทั้งหมดที่ทรงประทาน
อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น