29 มกราคม 2559

คริสตจักรจะขึ้นจาก “หล่ม” อย่างไร?

เมื่อผู้นำคริสตจักรพูดถึงความรู้สึกว่าคริสตจักร “ติดหล่ม”   ส่วนใหญ่จะพูดถึงอาการของสิ่งต่อไปนี้
  • สมาชิกคริสตจักรที่มาร่วมมีจำนวนไม่เพิ่มขึ้น
  • จำนวนเงินที่ถวายไม่สมดุลกับจำนวนคนที่เข้ามาร่วมนมัสการ
  • พันธกิจที่คริสตจักรดูเซ็ง ๆ เดิม ๆ น่าเบื่อ หรือ คริสตจักรไม่สามารถเข้าถึงผู้คนอย่างที่คาดหวังไว้

ในภาวะเช่นนี้ผู้นำคริสตจักรมักถามว่า  “เราจะทำอะไรดีที่จะเอาชนะอุปสรรคที่ทำให้คริสตจักรหยุด/ชะงักในการเพิ่มพูน?”  หรือ  “เราจะทำอะไรดีที่จะช่วยให้คริสตจักรมีคนมาร่วมเพิ่มมากขึ้น?”   เป็นการง่ายที่เรามักรีบกระโจนลงไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่จะเอาชนะอุปสรรคที่มาขวางกั้นการเพิ่มพูนของคริสตจักร เกือบทุกรายที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้  ผู้นำคริสตจักรจะแสวงหาทางที่จะขจัดอุปสรรคที่ขวางกั้นอยู่   แต่หารู้ไม่ว่าการทำเช่นนั้นมันเป็นเหมือนการหนีเสือปะจระเข้  พังกำแพงอุปสรรคหนึ่ง แต่กลับไปชนกับอีกกำแพงที่ขวางอยู่ข้างหน้า

ผู้นำคริสตจักรที่ให้ความสำคัญมุ่งเน้นที่จะหาทางเอาชนะอุปสรรคที่ทำให้คริสตจักรไม่เพิ่มพูนเท่านั้น  กำลังหลงทางในการรับมือหรือการจัดการกับปัญหาที่ “คริสตจักรติดหล่ม”  สิ่งที่ผู้นำคริสตจักรควรพิจารณาคือ  เปลี่ยนจากกรอบคิดการมุ่งเน้นที่จะทำให้คริสตจักรเกิดการเพิ่มพูนด้วยแผนระยะสั้นไปสู่การให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ทีมงานอภิบาล และ สมาชิกคริสตจักร  ซึ่งเป็นแผนระยะยาว

การมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งของคริสตจักร กับ การสร้างให้คริสตจักรเติบโตเพิ่มพูนต่างกันอย่างไร?

การมุ่งเน้นในการสร้างให้คริสตจักรเติบโตเพิ่มพูน  มักเป็นการที่คิดว่า “คริสตจักรจะทำอะไรดี?”  มากกว่าที่จะคิดพิจารณาว่า “คริสตจักรมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร?”  ซึ่งคริสตจักรส่วนใหญ่ที่คิดในทำนองนี้ แต่การคิดพิจารณาแบบนี้มักไม่ช่วยให้คริสตจักรสามารถจัดการให้ทะลุทะลวงอุปสรรคปัญหาความน่าเบื่อหน่ายได้  

แต่คริสตจักรต้องมาใส่ใจถึงวิถีการกระทำหรือวิถีวัฒนธรรมของคริสตจักร ที่ทำซ้ำซากย่ำอยู่กับที่   และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคริสตจักรไม่มีความคิดร่วมที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของสมาชิก 

การที่คริสตจักรจะเอาชนะปัญหา “คริสตจักร เซ็ง น่าเบื่อหน่าย  ไม่มีชีวิตชีวา”  มิใช่การมุ่งมองว่าจะทำอะไรที่จะทำให้คริสตจักรเพิ่มพูนขึ้น แต่ต้องกลับมาใส่ใจมองหาว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้คริสตจักรเข็มแข็งขึ้น   จึงมิใช่การแสวงหาว่าจะทำอะไรดี แต่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของคริสตจักรด้วยการใส่ใจเสริมสร้างสมาชิกและทีมงานอภิบาล ให้การขยับขับเคลื่อนที่จะดันให้คริสตจักรขึ้นจากหล่มแห่งความแสนเซ็งน่าเบื่อหน่ายนั้น

7 วิธีที่ผู้นำจะช่วยคริสตจักรขึ้นจากหล่ม ด้วยการเปลี่ยนมุมมองที่มุ่งเน้นให้คริสตจักรเพิ่มพูนไปเป็นคริสตจักรที่เข้มแข็ง
  1. ประเมินวิถีวัฒนธรรมในคริสตจักร หรือ การทำพันธกิจของเรา   เป็นการง่ายหรือความเคยชินอย่างมากที่เราจะมุ่งเน้นไปมุ่งมองเป้าหมายการทำพันธกิจ ที่คิดว่าจะทำให้เกิดการเติบโตเพิ่มพูนสมาชิกคริสตจักร แท้ที่จริงเป้าหมายมิใช่ว่าจะทำอย่างไรให้มีคนเพิ่มขึ้น แต่ควรใส่ใจวิถีวัฒนธรรม วิธีการทำพันธกิจของเรามากกว่า เราต้องเจาะลึกลงในวิถีวิสัยการทำพันธกิจในคริสตจักรของเรา
  2. เราต้องตรงไปตรงมา ในฐานะผู้นำ การเป็นคนเปิดเผย ปราศจากอคติเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่เราจะก้าวข้ามมุ่งขับเคลื่อนทะลุอุปสรรคที่ขวางกั้นพันธกิจที่เรากำลังทำ  เราและทีมงานของเราต้องมีความสัมพันธ์แบบเปิดเผยตรงไปตรงมาในการสื่อสารในทีมงานอภิบาลคริสตจักร และ ในการทำงานร่วมกันทีมงานนั้น
  3. สร้างบรรยากาศที่รู้สึกปลอดภัย  ในฐานะที่เราเป็นผู้นำ เป็นการง่ายที่เราจะพยายามยัดเยียดความคิด หรือ ทิศทางในการที่จะออกจากการติดหล่มแก่ทีมงานของเรา   อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ล้อมรอบเราแต่ละคนมักจะเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดที่ดีเยี่ยม แทนที่เราพยายามรีบเร่งจะหาข้อสรุปที่ดีสำหรับปัญหาที่เรากำลังพบ เราจะต้องเสริมสร้างบรรยากาศที่ทีมงานของเรารู้สึกปลอดภัยที่จะเสนอความคิดเห็น  กระบวนการที่ท้าทาย และการยอมรับความล้มเหลว
  4. ตั้งคำถามที่ถูกต้อง ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มิใช่ผู้นำที่รู้สารพัดคำตอบ  แต่เป็นผู้นำที่สามารถตั้งคำถามที่ถูกต้อง เมื่อเราตั้งคำถามที่ถูกต้อง เราก็จะได้คำตอบที่สามารถเจาะทะลุเข้าถึงคำตอบที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น
  5. ยอมรับความจริงเที่ยงแท้ และ โปร่งใส   บ่อยครั้งที่ผู้นำคริสตจักรที่ “ติดหล่ม” มักจะนำคริสตจักรบนจุดยืนที่มิใช่บริบท หรือ สถานการณ์ที่กำลังติดหล่มนั้น   ตัวเขาอาจจะมีความคิดว่าจะนำทีมงาน/คริสตจักรอย่างไร    อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่สำคัญคือการยอมรับความจริงถึงความอ่อนแอที่เรากำลังเป็นอยู่ด้วยกันในคริสตจักร   ถ้าเรายอมรับถึงความอ่อนแอที่เรากำลังเป็นอยู่ขณะติดหล่มแล้ว  ก็จะช่วยให้เราสามารถที่จะแยกแยะลงไปว่าเราจะแข็งแรงขึ้นได้อย่างไร   จำเป็นที่เราจะต้องยอมรับความจริงที่เรากำลังเผชิญหน้า  แล้วหาเพื่อนกลุ่มเล็กที่เราไว้วางใจและสามารถแบ่งปันกับเขาอย่างเปิดเผยด้วยความโปร่งใส ไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝงซ่อนเร้นข้างหลัง
  6. หนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คนในทีมงานของเรา   ถ้าเราต้องการให้คริสตจักรมีความเข้มแข็งและเกิดผลที่แท้จริง  เราจะต้องเป็นผู้นำที่หนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คนในทีงานของเรา มิใช้ใช้เขาเป็นคนขับเคลื่อนงานพันธกิจตามสั่งเท่านั้น นั่นหมายความว่า เราจะต้องทุ่มเทในการพัฒนาทีมงานของเรา และต้องร่วมกับทีมงานบ่มเพาะ หล่อหลอมและหนุนเสริมสมาชิกแต่ละคนให้เข้มแข็งด้วย  
  7. หาจุดเริ่มและย่างก้าวที่เหมาะสมในสถานการณ์ของเรา บางครั้งจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะนำคริสตจักร “หลุดออกจากหล่ม” ที่กำลังติดแหงกอยู่ ด้วยการเริ่มที่จะทำให้ตนเองหลุดออกจากการติดหล่มนั้นก่อน   ช่วงนี้เป็นเวลาที่สำคัญมากที่จะต้องทุ่มเทในการคิด วิเคราะห์ ใคร่ครวญ  ในการอ่าน และการเขียนสิ่งที่คิดที่อ่านออกมาให้เห็นเป็นกระบวนการ หรือเชื่อมสัมพันธ์สิ่งที่พบและเข้าใจ ให้ความใส่ใจอย่างมากในการที่เราจะเรียนรู้จากบุคคลอื่น รวมทั้งเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงานร่วมทีมของเรา สมาชิกที่เรานำด้วย  ในที่นี้จำเป็นต้องฟังสมาชิกคริสตจักรอย่างใส่ใจ


ในปี ค.ศ. 2016  ผมหวังว่าคริสตจักรจะเลือกที่จะเสริมสร้างให้คริสตจักรเข้มแข็ง  ซึ่งเมื่อสมาชิกเข้มแข็ง  คริสตจักรก็จะเข้มแข็ง ถ้าเราเริ่มกระบวนการเสริมสร้าง “ความเข้มแข็งของคริสตจักร”  เราก็จะพบว่า
คริสตจักรก็จะเกิดผล  และ การเติบโตเพิ่มพูนของคริสตจักรก็จะตามมา  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น