27 สิงหาคม 2561

สอนข้าฯให้รู้จักนับวันคืนของตน...เพื่อจะเป็นคนมีปัญญา

ชีวิตเต็มไปด้วยโอกาส  แต่มีคำถามว่า แล้วเราได้ทำอะไรกับโอกาสเหล่านั้น?   หรือเราปล่อยให้โอกาสเหล่านั้นเลื่อนไหลผ่านไปหรือเปล่า?  แล้วบอกกับตนเองว่า “รอไว้โอกาสหน้าก่อน  วันหน้าก็จะมีโอกาสอีก”  หรือ เราคว้าโอกาสเหล่านั้นไว้  แล้วใช้โอกาสนั้น   เพราะเราอาจจะไม่มีโอกาสอีกครั้งอย่างที่เราคิดก็ได้!

ในสดุดี 90:12 ผู้ประพันธ์ได้ทูลต่อพระเจ้าว่า  “ขอทรงสอนข้าพระองค์ทั้งหลายให้นับวันคืนของตน   เพื่อจะได้มีจิตใจที่กอปรด้วยสติปัญญา” (อมธ.)  ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งได้แปลแบบตีความว่า  “โปรดสอนข้าพระองค์ทั้งหลายให้นับวันคืนของตน  และตระหนักรู้ว่า วันเวลาที่เหลืออยู่นั้นน้อยนิดเต็มที  และโปรดสอนข้าพระองค์ทั้งหลายใช้เวลาเหล่านั้นอย่างที่ควรจะเป็น”

เอเฟซัส 5:15 กล่าวไว้ว่า  พราะฉะนั้นท่านจงระมัดระวังในการดำเนินชีวิต อย่าดำเนินชีวิตแบบคนไร้ปัญญา แต่จงดำเนินชีวิตแบบคนมีปัญญา” (อมธ.)

พระเยซูคริสต์เล่าถึงเรื่องชายคนหนึ่งที่จะเดินทางไปเมืองไกล  จึงได้มอบเงินให้แก่คนใช้   การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เขากระทำกันในสมัยของพระเยซูคริสต์   คนที่มั่งมีหรือคนชนชั้นปกครองจะมีคนใช้จำนวนมาก   บ้างเป็นคนใช้ในบ้านซึ่งเป็นคนใช้แบบใช้แรงงาน   จะมีคนใช้บางคนที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับสินทรัพย์ของเจ้านาย  และบ้างจะช่วยบริหารจัดการในธุรกิจของนาย   และคนใช้บางคนจะมีการศึกษาที่สูง และบ้างก็มีความสามารถที่มากกว่าเจ้านาย   สำหรับคนใช้ที่ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง   เมื่อเจ้านายอยู่บ้าน คนใช้คนนั้นจะมีพื้นที่อยู่และทำงานอย่างอิสระ  ในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบการงานที่ได้รับมอบหมาย

เมื่อเจ้านายจะเดินทางไปเมืองไกล  ก็จะมอบหมายอำนาจเต็มให้รับผิดชอบแก่คนใช้กลุ่มนี้   ในเรื่องที่พระเยซูคริสต์เล่าถึงเศรษฐีคนหนึ่งที่เดินทางไปเมืองไกล   ก็ได้มอบหมายให้คนใช้ที่เขาไว้วางใจดูแลทรัพย์สินและธุรกิจของเขา   เราไม่รู้ชัดแน่นอนว่า เจ้านายได้มอบเงินให้คนใช้แต่ละคน ๆ ละเท่าใดเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน   อาจจะให้กับคนแรก 50,000 บาท   คนที่สอง 30,000 บาท  และคนที่สาม 10,000 บาท

ท่านได้ลงทุนวันและเวลาในเรื่องอะไร และ อย่างไร?

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ใช้คำว่า “ดูโลส” ในภาษากรีก ที่แปลว่า “ทาส” หรือ “คนใช้”  คำว่า “ดูโลส” นี้ใช้กับทาส หรือ คนใช้ในชั้นพิเศษ   มิใช่คนที่ถูกบังคับ หรือ ฝืนใจให้ต้องเป็นทาส หรือ คนใช้   แต่ “ดูโลส” เป็นทาส หรือ คนใช้ที่ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระแล้วจากเจ้านาย  แต่ทาสคนนั้นเลือกที่จะรับใช้เจ้านายของตนด้วยใจรักต่อไป   ทาสหรือคนใช้คนนั้นสำนึกในพระคุณของเจ้านายที่ให้อภัย ยกหนี้ หรือ ปลดปล่อยจากการเป็นทาส   แต่เขายังตัดสินใจเลือกที่ยังจะเป็นทาสหรือคนใช้ของเจ้านาย “ด้วยใจสมัคร”

อัครทูตเปาโลมักเรียกตนเองว่า “ดูโลส” ของพระเยซูคริสต์  คือเป็นทาสสมัครใจรับใช้พระคริสต์   และเราแต่ละคนที่เป็นสาวกที่ติดตามพระเยซูคริสต์เฉกเช่นเปาโล กล่าวคือพระคริสต์ทรง “จ่ายหนี้ชีวิต” ที่หนักอึ้งเพื่อเรา   พระองค์ทรงอภัยยกโทษแก่เรา เราจึงเป็นอิสระในชีวิต แต่ที่เราติดตามเป็นสาวกพระคริสต์เพราะเราเลือกตัดสินใจที่ยังจะเป็น “ทาสรับใช้” ของพระคริสต์ด้วยความเต็มใจและสมัครใจ มิใช่เพราะเราต้องรับใช้พระองค์  แต่เพราะเราต้องการและเต็มใจรับใช้พระองค์  เพราะเรารักและสำนึกในพระคุณของพระองค์ที่มีในชีวิตของเรา และเราตระหนักชัดว่า พระองค์ทรง “ใส่ทุนชีวิต” หรือ ประทานสิ่งต่าง ๆ  ตะลันต์ความสามารถ  ทรัพย์สิน และทรัพยากรต่าง ๆ และ โอกาสแก่เราแต่ละคน   เพื่อที่เราจะสามารถใช้ของประทานเหล่านั้นเพื่อทำให้เกิดผลดีตามพระประสงค์ต้องการของพระองค์   เป็นการทำให้เกิดการยกย่องสรรเสริญพระเจ้า

เปาโลเขียนไว้ว่า  “ท่านไม่รู้หรือว่าร่างกายของท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิตในท่านซึ่งท่านได้รับจากพระเจ้า? ท่านไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง   พระเจ้าทรงซื้อท่านไว้ด้วยราคาสูง เหตุฉะนั้นจงถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของท่านเถิด” (1โครินธ์ 6:19 อมธ.)

พระเยซูคริสต์กล่าวว่า “หากผู้ใดปรารถนาจะตามเรามา เขาต้องปฏิเสธตนเอง รับกางเขนของตนแบกทุกวัน และตามเรามา” (ลูกา 9:23 อมธ.)   ในที่นี้มิได้หมายความว่าเราต้องละทิ้งทุกอย่างทำตนให้ยากจน แต่หมายความว่า สิ่งทั้งสิ้นเหล่านี้เป็นของพระเจ้า ชีวิตของเราเป็นของพระองค์ ครอบครัวของเราเป็นของพระองค์ ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่เป็นของพระองค์   ทุกสิ่งที่เรามีในชีวิตเป็นของพระเจ้า

คนใช้คนแรกในเรื่องเล่าของพระเยซูคริสต์  ได้ใช้ “ต้นทุนชีวิต” ที่เจ้านายให้แก่ตน “ลงทุน” จนเกิดผลร้อยเท่า  และ คนที่สองก็เกิดผลร้อยเท่าเช่นกัน   แม้ “ต้นทุนชีวิต” อาจจจะแตกต่างกัน

นี่แสดงว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดมิใช้ “ต้นทุนชีวิต” ที่พระเจ้าประทานแก่เราแต่ละคน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ  แต่ละคนได้ใช้ “ต้นทุนชีวิต” ที่พระเจ้าประทานแก่เราอย่างเกิดผลมากน้อยแค่ไหนต่างหาก 

พระเจ้ามิได้คาดหวังให้เราทำในสิ่งที่เราไม่มี “ต้นทุนชีวิต”   แต่พระเจ้าทรงคาดหวังว่าเราจะใช้ “ต้นทุนชีวิต” ที่พระองค์ประทานแก่เราแต่ละคนอย่างเต็มสมรรถภาพ   เราแต่ละคนอาจจะมี “ต้นทุนชีวิต” ที่แตกต่างไม่เท่ากัน   แต่เราจะต้องใช้ “ต้นทุนชีวิต” อย่างเต็มสมรรถนะ และ เต็มความพยายาม

ให้เราใช้ “ต้นทุนชีวิต” ที่เราได้รับจากพระเจ้า  และใช้ด้วยความเชื่อและสุดกำลังชีวิตเพื่อให้เกิดการยกย่องถวายเกียรติแด่พระเจ้า   ถ้าเรามิได้ใช้ “ต้นทุนชีวิต” ทั้งหมดที่เราได้รับเพื่อให้เกิดการถวายพระเกียรติ   เราก็จะไม่เกิดผล แม้เราจะมี “ต้นทุนชีวิต” เพียงน้อยนิด แต่ตั้งใจทำดีที่สุดเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า เฉกเช่นเด็กน้อยคนนั้นที่ให้สิ่งที่ตนมีทั้งหมดในเวลานั้นแด่พระคริสต์ เพียงปลาสองตัวขนมปังห้าก้อนเมื่อถวายแด่พระคริสต์  พระองค์ใช้อาหารน้อยนิดนี้พอเลี้ยงฝูงชนที่หิวโหยจำนวนมาก  

พระเจ้าทรงอวยพระพรผ่าน “ต้นทุนชีวิต”  ของเด็กน้อยคนนั้น  แม้จะมีเพียงน้อยนิดแต่เกิดผลอย่างไม่จำกัด   และเกิดการถวายเกียรติแด่พระเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

เราจะนับวันคืนชีวิตของเราอย่างไร?

การนับ “วันเวลาชีวิต”   คือการที่เราใช้ “ต้นทุนชีวิต” ทั้งหมดที่เราได้รับให้เกิดการถวายเกียรติแด่พระเจ้า   และเรายอมเชื่อฟัง และ กระทำตามการทรงชี้นำด้วยใจสัตย์ซื่อ แม้ “ต้นทุนชีวิต” จะดูน้อยนิดแค่ไหนก็ตาม แต่พระเจ้าจะทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านการที่เราใช้ “ต้นทุนที่น้อยนิด” ที่มีอยู่   เมื่อเรายอมเชื่อฟังและกระทำด้วยความสัตย์ซื่อ   พระเจ้าจะประทาน “ต้นทุนชีวิต” ที่มากขึ้นเพื่อเราจะใช้และรับผิดชอบต้นทุนชีวิตนั้นให้เกิดการถวายเกียรติแด่พระองค์มากยิ่งขึ้น

ให้เรากล้าที่จะใช้ “ต้นทุนชีวิต” เพื่อพระเจ้า และให้เรากล้าที่จะใช้ “ต้นทุนชีวิต” แม้กลัวว่าจะไม่เกิดผล   ให้เราพยายาม แม้อาจจะล้มเหลวก็ดีกว่าไม่ได้ลงมือทำเลย   แล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิต

แต่ถ้าเราสัตย์ซื่อในการใช้ “ต้นทุนชีวิต”  แม้จะน้อยนิดจนเกิดผลในที่สุด   พระเจ้าจะทรงประทาน “ต้นทุนชีวิต” ที่เพิ่มพูนขึ้น

ให้เราฉวยโอกาสทุกโอกาสที่อยู่หน้าเราในแต่ละวัน  อย่ารีรอ   เพราะเราอาจจะไม่มีโอกาสอย่างที่เราได้รับในวันนี้!   ให้เราใช้ “ต้นทุนชีวิต” ที่เราได้รับในแต่ละวันอย่างเกิดผล   เมื่อเราสัตย์ซื่อในของเล็กน้อย  พระเจ้าจะให้เรารับผิดชอบในสิ่งที่ใหญ่ขึ้น

การนับวันคืนชีวิตคือการที่เรารู้เท่าทันว่า  พระเจ้าประทาน “ต้นชีวิต” อะไรบ้างแก่เราในวันนี้   แล้วเราตั้งใจใช้ “ต้นทุนชีวิต” ดังกล่าว ร่วมกับพระราชกิจที่พระเจ้าทำในชีวิตประจำวันของเรา ทำให้เกิดการถวายเกียรติแด่พระเจ้าในวันนั้น ๆ

ให้เรารู้จักนับวันคืนชีวิตในทุกวันครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น