23 เมษายน 2555

ติดเบรกแก่คุณธรรมและจริยธรรมที่ “ลื่นไหล”

23 เมษายน 2012

ในปัจจุบันไม่ว่าผู้นำ หรือ ผู้ตาม ต้องการให้ผู้คนมองว่าตนเป็นคนดีมีศีลธรรม มีคุณธรรมและจริยธรรม มิเพียงต้องการให้คนอื่นมองตนในทางดีนี้เท่านั้น ตนเองยังพยายามพูดคุยโน้มน้าวทุกหนทางให้คนอื่นเชื่อคล้อยตาม หรือพูดป้องกันตนเอง หรือ ใช้เหตุผลโน้มน้าวคนอื่นให้เห็นว่าตนเป็นคนเช่นนั้น แต่เมื่อสังเกตดีๆ ละเอียด ลุ่มลึก กลับพบเห็นสิ่งหนึ่งคือ ทั้งผู้นำและผู้ตามหลายต่อหลายคนต่างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ความก้าวหน้ามีชื่อเสียงดี มีบารมีและอำนาจ และมักมิได้คำนึงว่าที่จะได้สิ่งเหล่านี้มาด้วยวิธีไหน (ขอให้ได้ก็แล้วกัน!)

ความสัตย์ซื่อ การรับผิดชอบ เปิดเผย โปร่งใสในแต่ละตัวบุคคล เป็นคุณลักษณะ และ คุณธรรมส่วนบุคคลของแต่ละคนที่จะบ่งบอกถึงว่า ผู้นำคนนั้น ผู้ตามคนนี้เป็นคนที่มีศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรมในชีวิตของเขาหรือไม่? ยิ่งกว่านั้นเป็นตัวชี้ชัดชี้ขาดว่า คุณภาพในความเชื่อศรัทธาของผู้นำคนนั้น และ ผู้ตามคนนี้อยู่ในสภาพเช่นไร? ไม่จำเป็นที่จะไปตรวจสอบว่าเขา “ท่องหลักข้อเชื่อของอัครธรรมทูต” ได้หรือไม่? แต่พฤติกรรมในแต่ละวันเป็นความเชื่อศรัทธาที่ปฏิบัติออกมาแจ่มชัดให้คนรอบข้างได้เห็น

มีอาจารย์ท่านหนึ่งกรุณาสอนผมว่า หลุมพรางทางจริยธรรมและคุณธรรมสำหรับผู้นำคริสเตียนที่มีเป็นรูปธรรมคือเรื่อง เงิน(รวมถึงทรัพย์สิน ที่ดิน), เพศ, ชื่อเสียง(ตำแหน่ง ยศ ศักดิ์ศรี). และผมก็มองว่าจริงในปัจจุบัน เมื่อผู้นำคริสเตียนคนไหนที่ตกลงในหลุมพรางดังกล่าวแล้วและเมื่อผู้คนได้รู้เท่าทันแล้ว ผู้นำคนนั้นก็จะไม่ได้รับความนับถือ ไว้วางใจจากผู้คนรอบข้างต่อไป นี่เป็นการเสียที่ไม่คุ้มค่าในชีวิตของผู้นำคริสเตียน ดูนักเทศน์ชื่อเสียงโด่งดังในตะวันตก ได้รับการนับหน้าถือตา ร่ำรวยด้วยเงินถวายของชาวบ้าน แล้วก็ต้องมาตกลงในหลุมพรางดังกล่าว ชื่อเสียงดับวูบ นักเทศน์หรือผู้นำคริสต์ศาสนาที่ดังๆ ในประเทศไทยของเราก็พบกับสถานการณ์เช่นนี้ จนต้องผันตัวไปทำอาชีพอื่น หรือไม่ก็เก็บตัวให้เงียบ

ผมได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนของ ดร.จอห์น แมกซ์แวล เรื่อง PERSONAL ACCOUNTABILITY: PUTTING THE BRAKES ON MORAL BREAKDOWN เห็นว่าเป็นความคิดที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ จึงขอซึมซับเอาเนื้อหาความคิดมาแบ่งปันกันคิดครับ

การพัฒนาความรับผิดชอบในแต่ละตัวคน 

คนเราต่างต้องการให้ทุกคนเห็นว่าตนเป็นคนสัตย์ซื่อ ทุ่มเททำงานหนัก ไว้วางใจได้ และมีสมรรถนะในชีวิต ผมยังคิดสงสัยในใจว่าจะมีใครไหมหนอที่เริ่มต้นอาชีพการงานด้วยต้องการโกหกคดโกงตั้งแต่เริ่มต้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้นำ เราตั้งใจแล้วว่าต้องการประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราขาดความระมัดระวัง ความทะเยอทะยาน นิมิตหมายที่จะเป็นคนดีมีจริยธรรมน่าเคารพนับถืออาจจะดับวูบลง เราอาจจะต้องหลงจากเส้นทางที่เราจะมุ่งไปสู่จุดหมายที่เราปรารถนาจะสำเร็จ ความรับผิดชอบในแต่ละบุคคลหมายถึงการที่เราสามารถตอบและอธิบายและแสดงถึงความเป็นตัวตนคนดี หรือ ที่เราแสวงหาที่จะเป็นคนที่น่านับถือ หรือการเป็นคนมีชื่อเสียง เกียรติยศ เป็นคนสัตย์ซื่อสุจริต หรือ เป็นคนที่ใจสัตย์ซื่อมือสะอาดที่เราปรารถนาจะเป็น ดร. จอห์น แม็กซ์แวล ได้เสนอการพัฒนาความรับผิดชอบในแต่ละตัวคนมี 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ

1. ไม่ไว้วางใจตนเอง 

จากประสบการณ์ในชีวิต ผู้นำที่ล้มเหลวในด้านจริยธรรมของชีวิตมีบุคลิกลักษณะพื้นฐานร่วมกันดังนี้ มีความรู้สึกถึงความมั่นคงในชีวิตที่ผิดๆ เขายึดมั่นถือมั่นว่าตนเองจะไม่ทำให้ชีวิตของตนเองล่มจมฉิบหายด้วยบุคลิกที่มีคนตำหนิตักเตือน สำหรับผู้นำที่ใช้ปัญญา ย่อมไม่ไว้วางใจว่าตนเองจะกระทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา เขารู้ชัดว่าอำนาจทำให้คนฉ้อฉลได้ และเขาตระหนักเสมอว่า ความผิดพลาดล่มจมย่อมเกิดแก่ชีวิตได้ทุกขณะ

อย่าคิดว่าตนเองดีเกินที่จะกระทำความผิดด้านศีลธรรมจริยธรรม แต่ท่านพึงรู้เท่าทันตนเองเสมอว่าตนเองมีความอ่อนแอย่อมก้าวผิดทำพลาดได้เสมอเหมือนกับคนอื่นๆ การที่เราตัดสินใจกระทำการใดๆ บนฐานสำนึกเช่นนี้ก็จะปกป้องมิให้ “ด้านมืด” ของความมักใหญ่ใฝ่สูงในตัวเราแผลงฤทธิ์ออกมาในชีวิตของตน

จงวางใจในพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจของเจ้า 
 และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง (สุภาษิต 3:5 ฉบับมาตรฐาน)

2. กำหนดแนวป้องกันพฤติกรรม 

ผู้นำมิเพียงรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเท่านั้น แต่รับผิดชอบก่อนการกระทำของตนด้วย แน่นอนว่า ผู้นำควรจะเต็มใจที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเขา อย่างไรก็ตาม เขาควรจะมีความสุขุมรอบคอบพอที่จะเอาใจใส่ป้องกันพฤติกรรมของตนเองที่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดพลาดทางจริยธรรมที่ไม่ปรารถนาได้ ก่อนที่ความผิดพลาดเสียหายจะถูกกระทำให้เกิดขึ้น

3. เปิดโอกาสและเชิญชวนผู้อื่นให้ตรวจสอบตนเอง 

เมื่อใดที่ผู้นำไม่ตรวจสอบตนเองเขาย่อมไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คน แต่อย่างไรก็ตามอำนาจในด้านจริยธรรมต้องการมากกว่าการตรวจสอบตนเองของผู้นำเท่านั้น แต่ผู้นำที่มีความรับผิดชอบย่อมเปิดทางให้ผู้อื่นตรวจสอบพฤติกรรมของตนเอง ผู้นำจำพวกนี้เป็นผู้นำที่โปร่งใส เปิดเผยเชิงรุก (คือไม่รอให้คนอื่นมาตรวจสอบตนเอง แต่เปิดและเชิญชวนให้ผู้คนตรวจสอบพฤติกรรมของผู้นำเอง)

ผู้นำที่มีบารมีอิทธิพลเพิ่มพูนมากขึ้น ย่อมไม่ค่อยจะชอบลูกทีมที่มองต่างมุมกับตน หรือ ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของตน หรือลูกทีมที่มีคำถามต่อพฤติกรรมของผู้นำที่แสดงออก คนทั่วไปคาดหวังโดยอัตโนมัติว่า คำตำหนินินทาของลูกน้องน่าจะทำให้ผู้นำ(เจ้านาย)ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจะต้องเปิดตนเองด้วยความจริงใจให้ลูกทีมที่อยู่ล้อมรอบตนเองที่จริงใจ ได้ให้การแนะนำอย่างเปิดเผยจริงใจ ให้พูดความจริงที่เกี่ยวโยงกับตัวผู้นำ (แน่นอนครับ แล้วผู้นำจะต้องรับฟังอย่างใส่ใจ จริงใจ และครุ่นคิด ด้วยจิตใจที่ขอบคุณที่ลูกทีมเปิดเผย หรือ ในการเสี่ยงของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกทีมที่ไม่ขยันเข้ามาเสนอหน้าและความคิด!) ในวงเล็บผมว่าเองครับ

4. ถ่อมใจและน้อมรับการตรวจสอบจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ทุกวัน 

ในทุกวันก่อนเริ่มต้นชีวิตของวันใหม่ ให้เรามีเวลาที่สงบต่อพระพักตร์พระเจ้า ขอพระเจ้าได้ตรวจสอบภายในชีวิตของเรา สำแดงแจ้งชี้ให้เราเห็นสิ่งที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา และสิ่งที่เราซ่อนเร้น คบคิด วางแผนที่ขัดแย้งสวนทางกับพระประสงค์ของพระเจ้า ฟังข้อแนะนำจากพระเจ้า รับกำลังในการแก้ไขพัฒนาชีวิตขึ้นใหม่ตามพระประสงค์ และจงรักภักดี สัตย์ซื่อต่อพระองค์ เชื่อฟังและทำตามเสียงแห่งความเมตตาที่ตรัสกับเรา (ข้อนี้ ดร. จอห์น แม็กซ์แวล ไม่ได้ว่าไว้ครับ)

“ข้าแต่พระยาเวห์ พระองค์ได้ทรงตรวจสอบข้าพระองค์ และรู้จักข้าพระองค์” (สดุดี 139:1 ฉบับมาตรฐาน)

“จงมอบทางของท่านไว้กับพระเจ้า จงวางใจในพระองค์ และพระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จ” (สดุดี 37:5; 1971)

“จงมอบงานของเจ้าไว้กับพระเจ้า และแผนงานของเจ้าจะได้รับการสถาปนาไว้” (สุภาษิต 16:3; 1971)

“จงมอบภาระของท่านไว้กับพระเจ้า และพระองค์จะทรงค้ำจุนท่าน พระองค์จะไม่ทรงยอมให้คนชอบธรรมคลอนแคลนเลย” (สดุดี 55:22; 1971)

สรุป 

ดังสุภาษิตญี่ปุ่นได้ให้สติปัญญาไว้ว่า “เกียรติยศชื่อเสียงและความนับถือที่สร้างสั่งสมมาพันปีอาจจะล้มครืนลงด้วยการกระทำเพียงชั่วโมงเดียว” ให้เราปกป้องการล้มครืนลงของชื่อเสียง เกียรติยศ และความน่านับถือของเรา ด้วยการถามตนเองตามข้อถามต่อไปนี้ 1. พฤติกรรมอะไรบ้างของฉันที่เป็นรั้วกั้นป้องกันการใช้อิทธิพลในความเป็นผู้นำที่อาจจะทำความผิดพลาดในด้านจริยธรรม/ศีลธรรม? 2. ฉันจะเปิดทางให้แก่ใครที่จะมาตรวจสอบการกระทำของฉัน และ ตั้งคำถามในสิ่งที่ฉันได้ตัดสินใจ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง 
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่ 
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น