ท่านเคยเกิดคำถามในใจไหมว่า... ทำไมพระเจ้าให้ฉันทำในสิ่งที่ฉันทำไม่ได้?
ไหนบอกว่า...
พระเจ้าทรงมอบให้เราทำในสิ่งที่ไม่เกินความสามารถของเรา?
เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกินความสามารถของเรา เราทำอย่างไรบ้าง?
ถ้าวันนี้...
เราต้องพบกับสถานการณ์ที่เราไม่สามารถจัดการได้
เราจะทำอย่างไรดี?
พระเยซูคริสต์ก็เคยมอบหมายให้สาวกทำในสิ่งที่สาวกทำไม่ได้ แล้วสาวกตอบสนองอย่างไร?
มาระโก 6:34-37 เขียนไว้ว่า...
34
เมื่อพระเยซูเสด็จขึ้นจากเรือแล้วก็ทอดพระเนตรเห็นมหาชน
และพระองค์ทรงสงสารพวกเขา
เพราะว่าพวกเขาเป็นเหมือนฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง
พระองค์จึงทรงเริ่มสั่งสอนพวกเขาหลายประการ 35
เมื่อเวลาผ่านไปเกือบจะค่ำแล้ว พวกสาวกมาทูลพระองค์ว่า “ที่นี่เป็นถิ่นทุรกันดาร และตอนนี้เวลาก็เย็นมากแล้ว 36
ขอพระองค์ทรงให้ประชาชนไปเถิด
พวกเขาจะได้ไปหาซื้ออาหารรับประทานตามชนบทและหมู่บ้านที่อยู่แถบนี้”
37
แต่พระองค์ตรัสตอบพวกสาวกว่า “พวกท่านจงเลี้ยงพวกเขาเถิด”
พวกเขาทูลพระองค์ว่า “จะให้พวกข้าพระองค์ใช้เงินสองร้อยเหรียญเดนาริอันไปซื้ออาหารให้พวกเขารับประทานหรือ?”
ประเด็นปัญหาที่จะต้องจัดการในที่นี้คือ มีประชาชนจำนวนมากถึงเฉพาะผู้ชายมี 5,000 คนที่มาฟังการสอนของพระเยซูคริสต์
เวลาล่วงเลยมาถึงตอนเย็น
แถบนั้นก็เป็นถิ่นทุรกันดาร
เกิดปัญหาว่า ประชาชนจะไม่มีอาหารรับประทาน พระเยซูกลับบอกสาวกว่า
“พวกท่านจงเลี้ยงพวกเขาเถิด”
ให้เราพิจารณาถึงวิธีการแก้ปัญหาของสาวก
วิธีแรก สาวกเสนอให้ปล่อยประชาชนกลับบ้าน
เป็นการแก้ปัญหาด้วยการบอกว่า “นี่ไม่ใช่ปัญหาของฉัน แต่เป็นปัญหาของเขา” แก้ปัญหาด้วย “การโยน” ปัญหาให้คนอื่นรับผิดชอบ สาวกอาจจะคิดว่า
เราไม่ได้ชักชวนให้ประชาชนมาฟังคำสอนของพระเยซูสักหน่อย (ดูข้อ 32-33) และเราก็ไม่ได้สัญญาว่าถ้าใครฟังพระเยซูสอนจะมีอาหารมื้อเย็นแจก ดังนั้น
สาวกเห็นว่า ประชาชนต้องรับผิดชอบตนเอง
วิธีที่สอง สาวกเห็นว่าโดยสภาพแวดล้อมปัญหานี้พวกตนแก้ไขไม่ได้ เพราะที่นี่เป็นถิ่นทุรกันดาร และเวลาก็เย็นมากแล้ว
จะไปหาอาหารจากที่ไหน และ เราไม่มีเวลาแล้วมันจะมืดค่ำเสียก่อน สาวกกำลังเหมือนจะบอกว่า แท้จริงก็อยากจะรับผิดชอบสิ่งนี้หรอก แต่เพราะสถานการณ์แวดล้อม
และ เงื่อนไขเวลาไม่อำนวย เราจึงทำไม่ได้
“สภาพแวดล้อมกลายเป็นแพะรับผิด” ไป
วิธีที่สาม เป็นสาวกคนไหนไม่รู้ แต่คงมีหัวทางเศรษฐศาสตร์ ย้อนถามพระเยซูว่า “เราไม่มีเงิน เราจะไปเอาเงินที่ไหนซื้ออาหารมาเลี้ยงประชาชน”
ไม่มีเงินย่อมแก้ปัญหาไม่ได้ เงินหมด “ปัญญา” กลวง
แต่พระเยซูคริสต์จัดการกับปัญหา ด้วยความรับผิดชอบ ดังนี้
ประการแรก พระองค์ให้สาวกไปสำรวจว่า
ในกลุ่มประชาชนจำนวนมากนี้เขามีอาหารอะไรเท่าใด? แล้วก็พบว่า
ประชาชนมีต้นทุนอาหาร “ขนมปัง 5 ก้อนกับปลา 2 ตัว” (ดูข้อ 38)
แน่นอนว่า สาวกก็จะมองว่า
มีต้นทุนแค่นี้พอทำน้ำยาอะไร
ประการที่สอง แต่พระเยซูคริสต์รับต้นทุนที่ประชาชนมีอยู่ แล้วขอพระพรจากพระเจ้า (ต้นทุนที่มีในชีวิตบวกกับพระพรของพระเจ้า = อุดมสมบูรณ์ พอเพียง และ
เหลืออีก)
ประการที่สาม พระเยซูคริสต์ทรงหักและแบ่งอาหารให้แก่ประชาชนจากปลาและขนมปังที่พระเจ้าทรงอวยพระพร ประชาชนอิ่มทุกคน เศษปลาและขนมปังที่เหลือรวบรวมได้ 12 ตะกร้าเต็ม
ทำไมพระเยซูถึงบอกให้สาวกหาอาหารเลี้ยงประชาชน ทั้ง ๆ ที่พระองค์ก็รู้อยู่กะใจว่า สาวกทำไม่ได้?
และทำไมพระเจ้าถึงให้สถานการณ์ที่เราไม่สามารถจัดการรับมือได้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา?
เพราะพระองค์กำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา
อย่างน้อยที่สุดพระองค์ช่วยให้เรายอมรับความจริงว่า
ในหลายเรื่องที่เราไม่สามารถจัดการรับมือได้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเราเปิดชีวิตของเราให้พระเจ้าเข้ามาทำงานในชีวิต เราจะได้รับการเสริมสร้างใหม่
ในความรู้ถึงน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรามากยิ่งขึ้น
อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างและเพิ่มพูนความเชื่อและความไว้วางใจของเราต่อพระองค์ได้กว้างขวางและลุ่มลึกยิ่งขึ้น
วันนี้เราจะจัดการอย่างไรกับสถานการณ์ที่เหนือความสามารถและศักยภาพของเรา?
โบกมือลาสถานการณ์นั้น?
เท่ากับเราบอกเลิกกับโอกาสที่ชีวิตของเราจะได้รับการสร้างจากพระเจ้า
หรือ เราจะค้นให้พบของประทานที่เรามีอยู่ในเวลานั้น แล้วทูลขอพระเจ้าทรงสร้างเราให้สามารถรับมือกับสถานการณ์นั้น
พร้อมกับพระกำลังด้านต่างที่เป็นพระพรมาจากพระองค์ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่แค่ “ความสำเร็จ” แต่สิ่งที่ทรงคุณค่าอยู่ที่เราได้สัมผัสกับพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา
และได้เรียนรู้ถึงพระประสงค์ และ บทเรียนการดำเนินชีวิตจากพระองค์ที่ทำให้ชีวิตของเราแกร่งและเกิดผลมากยิ่งขึ้น
วันนี้เราท่านต้องเลือกว่าเราจะจัดการอย่างไรในสถานการณ์ที่เหนือศักยภาพที่เราจะจัดการด้วยตนเองได้
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น