30 เมษายน 2559

อะไรเป็นเป้าหมายของสามัคคีธรรมในวันอาทิตย์?

ในฐานะศิษยาภิบาล  ผู้นำ  แกนนำคริสตจักร และ ในฐานะที่เป็นคริสตชนคนหนึ่ง   ท่านคิดและเข้าใจว่า เรารวมตัวกันที่คริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อจุดประสงค์อะไร?   เราคงมีคำตอบที่หลากหลายแตกต่างกันไป   บ้างก็ตอบว่า...

เรามาที่คริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อที่จะสรรเสริญพระเจ้า  เฉลิมฉลองขอบพระคุณพระองค์

เรามาคริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อที่จะได้พบปะพี่น้องความเชื่อเดียวกัน   มีโอกาสหนุนจิตชูใจกัน

เรามาคริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อที่จะรับใช้พระเจ้าในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่เราได้รับมอบหมาย และ ตามของประทานและความสามารถของเรา

เรามาคริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อที่จะร่วมในการประกอบศาสนพิธีที่สำคัญของคริสตจักร   ดังนั้น ในวันอาทิตย์สำคัญ ๆ ทางคริสต์ศาสนา เช่น คริสต์มาส  อิสเตอร์  วันอาทิตย์ที่พิธีมหาสนิท จะมีคนมาร่วมมากเป็นพิเศษ เป็นต้น

สำหรับผมส่วนตัวแล้ว   เป้าประสงค์ของการที่เรามาร่วมกันในวันอาทิตย์ที่คริสตจักรก็เพื่อที่พบปะเพื่อนหนุนเสริมเพิ่มพลังความเชื่อแก่กันและกันในชีวิตการเป็นสาวกของพระคริสต์   กล่าวแบบตรงไปตรงมาก็คือ  เรามาเพื่อที่จะเสริมสร้างกันและกันให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่ง ๆ ขึ้น หรือที่เราเรียกการกระทำนี้ว่า “สร้างสาวกของพระคริสต์”

แต่อย่างไรก็ตาม   ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า   การพบปะสามัคคีธรรมในวันอาทิตย์ของคริสตจักรที่จะให้เกิดการบ่มเพาะ เสริมสร้าง ให้สมาชิกคริสตจักรเป็น “สาวกของพระคริสต์” นั้น   เพียงการเข้าร่วมนมัสการพระเจ้าร่วมกันในโบสถ์อาทิตย์ละครั้งดูจะไม่น่าไปถึงเป้าหมายได้   เพราะในการนมัสการมักเป็นการสื่อสารทางเดียว   ขาดโอกาสที่จะสะท้อนคิดถึงประสบการณ์ชีวิตที่ประสบพบเจอมาตลอดสัปดาห์  ขาดโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน   ขาดโอกาสที่จะรับใช้หนุนเสริมกันและกัน   ด้วยเหตุนี้ การที่สมาชิกมาคริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อร่วมในการนมัสการพระเจ้าเท่านั้น   จึงเป็นที่มาของ “คริสตจักรถุงก้นรั่ว”   (ผู้เชื่อจำนวนเพิ่มขึ้นแต่ก็อยู่ไปสักพักแล้วก็เงียบหายไป)

หนทางหนึ่งที่จะใช้การพบปะสามัคคีธรรมของสมาชิกคริสตจักรในวันอาทิตย์ให้เป็นโอกาสของการเสริมสร้างสมาชิกคริสตจักรให้เป็นสาวกของพระคริสต์   เพื่อที่สมาชิกแต่ละคนจะกลับเข้าไปสู่ครอบครัว และชุมชน/สังคมเพื่อสำแดงชีวิตแบบพระคริสต์มากยิ่งขึ้นนั้น   คริสตจักรควรจะจัดให้มี “กลุ่มเล็ก” หรือ การจัดการให้มีกลุ่มคนที่ไม่มากเกินไปประมาณ 3-12 คน   ที่จะพบปะอย่างไว้วางใจกันและกัน  รับฟังซึ่งกันและกัน   เสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ให้สนิทชิดเชื้อจนกล้าที่จะแบ่งปันประสบการณ์ และ ประเด็นชีวิตส่วนตัวที่ต้องเผชิญแก่กันละกัน   แล้วร่วมกันค้นหาและเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของกันและกัน   มีส่วนหนุนเสริมรับใช้กันและกัน   ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้มิใช่มีเพียงในกลุ่มเล็ก 1-2 ชั่วโมงในวันอาทิตย์เท่านั้น   แต่เป็นความสัมพันธ์ ห่วงใย เอื้ออาทรที่สานต่อไปในทุกวันตลอดสัปดาห์ที่จะมาถึงด้วย

การเสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์จะเกิดขึ้นก็เพราะ “ความสัมพันธ์” ในชีวิตที่มีต่อกันและกัน   มิใช่อยู่ที่ข้อมูลความรู้ หรือ หลักการที่ท่องบ่นจดจำกันได้เท่านั้น   แต่เป็นการไว้เนื้อเชื่อใจกันจนสามารถแบ่งปันว่า ในชีวิตประจำวันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา  พระเจ้าทรงกระทำอะไรบ้างในแต่ละวัน   ทั้งชีวิตที่พบกับความชื่นชมยินดี และ ในความห่วงวิตก หรือ ความขัดข้องใจในวิกฤติชีวิตที่ต้องประสบ   เป็นโอกาสที่จะร่วมกันแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า  และใช้พระกิตติคุณของพระคริสต์ในการตอบโจทย์ชีวิตที่แต่ละคนต่างต้องพบประสบเผชิญหน้า   เป็นโอกาสที่คนในกลุ่มเล็กจะใส่ใจและรับใช้กันและกัน   และด้วยกระบวนการนี้เป็นการเสริมสร้างให้สมาชิกในกลุ่มเกิดการเสริมสร้างชีวิตของกันและกัน

สิ่งสำคัญคือ...  คริสตจักรต้องเน้นย้ำให้ความสำคัญว่า   การเสริมสร้างชีวิตสมาชิกให้เป็นสาวกของพระคริสต์เป็นเป้าหมายอันดับแรกที่คริสตจักรต้องเอาจริงเอาจัง   มิสามารถที่จะละเลยและมองข้าม

ทำไมต้องใช้กระบวนการกลุ่มเล็กในการเสริมสร้างสมาชิกให้เป็นสาวกพระคริสต์?
  1. ถ้าคริสตจักรต้องการแก้ไขอาการ “คริสตจักรถุงก้นรั่ว” การปกป้องรักษาผู้คนที่มาเชื่อในคริสตจักรไม่ให้ “หลุดหาย” ไป   คริสตจักรจำเป็นจะต้องสร้างสมาชิกให้เป็นสาวก  ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีกลุ่มเล็กเพื่อการเสริมสร้างสาวกในคริสตจักร
  2. เพราะคริสตจักรต้องการเอาใจใส่ทุกชีวิตที่เข้ามาร่วมในคริสตจักร   และเป็นความจริงว่า ถ้าผู้คนมาคริสตจักรแล้วเขาไม่รู้สึกว่า “เขาได้รับอะไรในชีวิต”   โอกาสที่เขาจะไม่มาร่วม  จนถึงหลุดหายไปย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ
  3. ในกลุ่มเล็ก เป็นโอกาสที่เกิดการสร้างเสริมกันและกันในการรับใช้   การรับใช้เป็นรากฐานของการเกิดความรู้สึกของสมาชิกแต่ละคนว่า ตนเป็นผู้ที่มีคุณค่า   เป็นการเสริมสร้างความหมายในชีวิตของสมาชิกคนนั้นๆ
  4. ทำให้เกิดโอกาสในการติดตามหนุนเสริมกันและกันในวันอื่น ๆ ตลอดสัปดาห์   กลุ่มเล็กกลายเป็นกลุ่มความสัมพันธ์ที่เอาใจใส่ชีวิตของกันและกันแม้ในเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
  5. โดยกระบวนการกลุ่มเล็กนี้   เป็นกระบวนการเสริมสร้างภาวะผู้นำของกันและกัน   และ เสริมสร้างการเป็นสาวกของพระคริสต์แก่กันและกันด้วย
  6. กลุ่มเล็กเป็นโอกาสที่เราจะได้แบ่งปันสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและกิจการงานที่ทำในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา    ทำให้เกิดการชื่นชมกันและกัน   และในเวลาเดียวกันเป็นโอกาสที่จะบอกเล่าถึงสิ่งที่แต่ละคนห่วงกังวล หรือ วิกฤติที่เผชิญ   ทำให้มีเวลาที่จะรับฟังกันและกัน   ตลอดจนการหนุนเสริมให้กำลังแก่กันและกัน  ทั้งร่วมกันอธิษฐานเพื่อแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้าในเรื่องนั้น ๆ ร่วมกัน   และนี่ก็เป็นการเสริมสร้างภาวะผู้นำในยามวิกฤติแก่กันและกันด้วย
  7. กลุ่มเล็กเป็นโอกาสที่จะแสวงหาว่า  สมาชิกกลุ่มจะทำสิ่งที่ต่อยอดจากความสำเร็จที่ผ่านมาแล้วอย่างไร   เพราะมิเช่นนั้นแล้วเมื่อผู้คนทำอะไรที่ประสบกับความสำเร็จแล้วมักคิดว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว   และอาจจะเกิดภาวะหยุดทำต่อได้


คริสตจักรเป็นชุมชนของผู้เชื่อ  ที่ศิษยาภิบาล ผู้นำ และ แกนนำคริสตจักรกระตุ้น หนุนช่วยให้สมาชิกคริสตจักรมีชีวิตที่เป็นสาวกของพระคริสต์มากยิ่ง ๆ ขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน   และเราเรียนรู้จากพระคริสต์ว่า แนวทางในการสร้างสาวกเริ่มต้นที่การวางรากฐานความสัมพันธ์   การดำเนินชีวิตที่เป็นตัวอย่างตามคำสอนและตามแบบอย่างชีวิตของพระคริสต์   แล้วพระองค์ส่งพวกเขาออกไปสร้างสาวกต่อเนื่อง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น