29 กุมภาพันธ์ 2559

แม่ไก่ได้พลอย แม่สุกรได้เพชร?

เมื่อคณะผู้บริหารบริษัท เวสท์เติร์น ยูเนียน คอมปานี (Western Union Company)  ขอให้ โธมัส เอดิสัน(Thomas Edison) นักประดิษฐ์นวัตกรรมผู้ยิ่งใหญ่   ช่วยบอกราคาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนั้นของเขาว่าราคาเท่าใด   เอดิสัน ขอเวลาที่จะคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้   ภรรยาที่บ้านเสนอเขาว่า ให้เรียกราคา $20,000  แต่เอดิสันเองรู้สึกว่า เป็นการตั้งราคาที่สูงเกินไป

เมื่อถึงวันที่พบปะกับคณะบริหารของบริษัทเพื่อเสนอราคา   ผู้บริหารบริษัทถามเอดิสันว่าจะเรียกราคาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนั้นเท่าไหร่   ในใจของเอดิสันอยากจะบอกพวกเขาว่า $20,000  แต่เขาไม่อยากพูดออกมาจากปากของเขา   ท่ามกลางความเงียบ  ผู้บริหารพูดขึ้นว่า  “ถ้าราคา $100,000 จะว่าอย่างไร?”

บ่อยครั้ง เป็นการง่ายที่เราจะตีค่าราคาในเรื่องต่าง ๆ ต่ำกว่าคุณค่าจริงของสิ่งนั้น   ถ้าเราไม่สามารถที่จะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตสังคมมากแค่ไหน   ในที่นี้เอดิสัน เห็นเพียงว่า สิ่งที่เขาผลิตขึ้นใหม่ชิ้นนี้  เป็นสิ่งใหม่ในสังคมโลก ที่จะให้ประโยชน์เฉพาะเรื่อง   แต่เขาไม่ได้มองเห็นไกลถึงว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขานอกจากจะสร้างประโยชน์เฉพาะแล้ว   ยังสร้างผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติ  และต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์ไปไกลกว่าที่เขาเห็นในเวลานั้น   ดังนั้น เขาจึงตีค่าราคาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนั้นของเขาต่ำกว่าความเป็นจริง   คุณค่ามิได้มีแต่ผลประโยชน์เฉพาะที่เกิดขึ้นในเวลานั้นเท่านั้น   แต่พลังของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนั้นเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนและสังคมโลกนี้เลยทีเดียวอย่างเช่นการผลิตหลอดไฟฟ้าเป็นต้น

ในฐานะคริสตชน   เรามักมองเห็นคุณค่าราคาชีวิตของพระคริสต์  และ  ชีวิตที่สละบนกางเขนของพระคริสต์เฉพาะเพียงการไถ่ชำระเราจากความบาปผิดที่เรากระทำเท่านั้น   ดังนั้น  ทุกวันนี้เราจึงมองคุณค่าของพระคริสต์เฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตวิญญาณของเรา  และเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลเท่านั้น   แต่แท้ที่จริงแล้วชีวิตที่รัก เมตตา ที่เสียสละแบบพระคริสต์นั้นนอกจากจะไถ่ถอนปลดปล่อยเราออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่วนานาลักษณะแล้ว   ความรักที่เสียสละของพระคริสต์ยังเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนจิตใจ ชีวิต และการเลือกวิถีชีวิตของผู้คน  และยังเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงระบอบสังคมอีกด้วย   และสิ่งนี้มิได้เกิดขึ้นเอง   แต่เป็นการทรงจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อมนุษยชาติที่พระองค์รักเมตตา
ดังที่มีเขียนไว้ว่า  สิ่งที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน  และสิ่งที่ใจมนุษย์คิดไม่ถึง
คือสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนทั้งหลายที่รักพระองค์” (1โครินธ์ 2:9 มตฐ.)

วันนี้เราจะดำเนินชีวิตแบบไหน   บนเส้นทางแห่งความรัก เมตตา และเสียสละด้วยชีวิตของพระคริสต์?   ที่เราเรียกว่าบนวิถีทางแห่งชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์   

เราจะทำตัวเป็นเหมือนแม่ไก่ได้พลอย  หรือ  แม่สุกรได้เพชร เช่นนั้นหรือ? 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 กุมภาพันธ์ 2559

เราจะทำสิ่งดีดีแก่พระคริสต์ในวันนี้ได้อย่างไร?

ในแต่ละวัน   เราจะพบทั้งคนที่รู้จักมักคุ้น  และก็พบคนแปลกหน้า   คนที่อยู่นอก “สายตา” ของเรา  คนที่เราไม่คาดคิดว่าอยากจะพบ   และที่สำคัญอีกพวกหนึ่ง  คือคนที่เราไม่ต้องการพบ   และอยากให้คนพวกนี้อยู่ห่าง ๆ เรา หรือเราจะพยายามห่างคนพวกนี้  

คำถามก็คือ ในฐานะที่เราเป็นคริสตชน เราจะกระทำต่อคนเหล่านี้อย่างไรดี?

ผู้เขียนพระธรรมฮีบรู บอกเราว่า  เราไม่ควรละเลยที่จะต้อนรับคนเหล่านี้...เพราะอาจจะเป็นการต้อนรับทูตสวรรค์โดยไม่รู้ตัว (13:2)

พระเยซูบอกแก่เราว่า  ถ้าเราต้อนรับคนแปลกหน้า  คนที่ไม่มีใครอยากคบพบเห็น   คนที่ต่ำต้อยด้อยค่า   เราก็ได้ต้อนรับกับพระคริสต์   เราทำต่อคนอื่นอย่างไรในแต่ละวัน   เราก็ทำกับพระคริสต์เช่นนั้นในวันนั้นด้วย (มัทธิว 25:38-40)

แต่ละวันที่ผ่านมา   เราท่านกระทำต่อคนอื่นที่เราพบเห็น  เหมือนกับที่เราตั้งใจต้องการกระทำต่อพระคริสต์หรือไม่?   คำตอบที่เราอยากตอบก็คงแน่นอนครับ...   เราต้องการกระทำต่อคนเหล่านั้นเหมือนกระทำต่อพระคริสต์แน่   แต่ในความเป็นจริงเราได้กระทำเช่นที่ตั้งใจไว้หรือไม่เป็นเรื่องสำคัญครับ!

มนุษย์เราทุกคนคือคนที่พระเจ้าทรงสร้างตามพระฉายาของพระองค์ (ปฐมกาล 1:26-27)   และในพระธรรมปฐมกาลบทที่ ย้ำความสำคัญที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระคริสต์ถึงสามครั้งสามหนด้วยกัน   ดังนั้น การที่เราจะกระทำต่อคนใดคนหนึ่งที่เราประสบพบเห็นในแต่ละวัน   เราต้องตระหนักชัดว่า เรากระทำต่อคนที่พระเจ้าทรงสร้าง และ เป็นคนที่มีคุณค่าสำคัญในสายพระเนตรของพระองค์   ที่เราจะต้องกระทำแก่คนนั้นด้วยความนับถือ ให้เกียรติ ด้วยความใส่ใจ และด้วยใจเมตตา   เพราะเขาก็เป็นคนหนึ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระองค์   แต่การที่เขาเชื่อในพระเจ้าหรือไม่ก็ไม่ได้ทำให้เขาคนนั้นมีพระฉายาของพระเจ้าต่ำต้อยด้อยค่าลงแต่ประการใดไม่

ถ้าเช่นนั้น   การยอมรับพระคริสต์   ก็ต้องยอมรับคนเล็กน้อยต่ำต้อยในชีวิตประจำวันของเราด้วย?

ศักเคียส คนเก็บภาษี   ต้อนรับพระคริสต์ด้วยความชื่นชมยินดีหาที่เปรียบมิได้  ในต้นฉบับภาษากรีกใช้คำว่า “chairō” ซึ่งมีความหมายว่า “ชื่นชมยินดีอย่างสุด ๆ หาสิ่งเปรียบมิได้”   แท้จริงแล้วศักเคียสไม่ได้คาดหวังว่า พระเยซูจะกล้าเสี่ยงมารับประทานอาหารในบ้านของเขา    ขอตั้งข้อสังเกตว่าในเหตุการณ์นี้พระเยซูคริสต์เสนอตัวไปเยี่ยมเขาและรับประทานอาหารที่บ้านของเขา    ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีผู้นำทางศาสนาคนไหนที่จะเข้าไปใต้ชายคาบ้านของคนบาปหนาระดับห้าดาว  คือคนเก็บภาษีในยุคนั้น   ศักเคียส หวังเพียงมองให้เห็นพระเยซูที่เขาร่ำลือกันนักหนานั้นหน้าตาเป็นอย่างไร   แต่พระเยซูคริสต์กลับเรียกเขาลงจากต้นไม้  และเอ่ยปากขอไปบ้านของเขา  ขอพักในบ้านของเขา   นั่นแน่นอนว่าพระองค์จะรับประทานในบ้านของเขาด้วย

พระคริสต์ยอมรับคนที่คนอื่นเกลียด  คนที่ถูกสังคมเฉดหัว  เป็นคนบาปหนา   ไม่มีทางได้รับความรอด

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระเยซูคริสต์ต่อชีวิตศักเคียสและครอบครัว   ทำให้ศักเคียสตัดสินใจยอมรับพระคริสต์ในชีวิตและพร้อมครอบครัวของเขา   แต่การแสดงออกถึงการยอมรับพระคริสต์น่าสังเกตมากครับ   ศักเคียสยอมรับพระคริสต์   ด้วยการประกาศการยอมรับ คนที่ตนเกี่ยวข้องด้วย   เขาขอมอบทรัพย์สิ่งของที่เขามีอยู่ครึ่งหนึ่งให้คนยากจน   และถ้าเขาโกงเงินภาษีของใครมาเขายินดีชดใช้คืน 4 เท่า  ซึ่งมากกว่าที่กำหนดไว้ในธรรมบัญญัติ   และพระคริสต์ประกาศว่า ความรอดได้มาถึงครอบครัวนี้แล้ว (ลูกา 19:9)  ความรอดจากพระคริสต์มิได้เริ่มต้นที่ศาสนพิธี เช่น รับบัพติศมา    แต่เริ่มต้นที่เขารับพระคริสต์เข้าในชีวิตของเขา และ กระทำอย่างที่พระคริสต์ทรงกระทำแก่เขากับคนรอบข้างด้วย

ความชื่นชมยินอย่างล้นเหลือหาที่เปรียบมิได้เกิดขึ้นในชีวิตของศักเคียสและครอบครัว   และความชื่นชมยินดีอย่างเหลือล้นดังกล่าวได้ไหลล้นเข้าสู่ชีวิตคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบข้างเขาด้วย

เปโตรกำชับคริสตจักรว่า ให้คริสตชนแต่ละคนต้อนรับเลี้ยงดูกันและกันด้วยความเต็มใจ (1เปโตร 4:9)   เปาโลสั่งให้คริสตชนมีใจเมตตาเห็นอกเห็นใจคนขัดสน  และเต็มใจต้อนรับแขกแปลกหน้า (โรม 13:13)   และสัจจะความจริงสำหรับคริสตชนคือ  ถ้าเราแบ่งปันอาหารของเราแก่คนที่หิว  นำคนยากจนไร้บ้านเข้ามาในบ้าน  คลุมกายแก่คนที่เปล่าเปลือย (อิสยาห์ 25:40) การกระทำเช่นนี้ของเราก็เป็นการกระทำแก่พระคริสต์ด้วย (มัทธิว 25:40)

ขอให้เราใคร่ครวญจริงจังในเรื่องนี้ว่า    ถ้าเรากระทำแก่ทุกคนที่เราพบเห็นในวันนี้ดั่งที่เราตั้งใจกระทำต่อพระคริสต์อะไรจะเกิดขึ้น?   ซึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นลูกคนหนึ่งของพระเจ้าด้วย   สำคัญกว่านั้น  เขาก็เป็นคนหนึ่งที่พระคริสต์ได้เอาชีวิตของพระองค์แลกมาด้วย (กิจการ 20:28)  

ท่านคิดว่า การกระทำต่อคนรอบข้างที่เราพบเห็นในวันนี้จะเป็นการกระทำต่อพระคริสต์หรือไม่?

แล้ววันนี้เราได้กระทำต่อพระคริสต์อย่างไรบ้างครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 กุมภาพันธ์ 2559

ล้มเหลว... ก้าวย่างสู่ความสำเร็จ

หลายปีมาแล้ว  ชายหนุ่มผู้มีตะลันต์คนหนึ่งในกรุงลอนดอนเตรียมตัวที่จะรับใช้พระเจ้า   เขาตัดสินใจมอบกายถวายชีวิตให้องค์พระผู้เป็นเจ้าใช้ตามพระประสงค์   เขาเป็นคนที่ฉลาดมีสติปัญญา   เขาสำเร็จการศึกษาพระคริสต์ธรรมด้วยคะแนนเกียรตินิยม

ก่อนที่เขาจะได้รับการสถาปนาเป็นศาสนาจารย์   เขาจะต้องเทศนาต่อหน้าคณะกรรมการพิจารณา และ กลุ่มผู้ฟังตามที่กำหนด   เหตุการณ์นี้สร้างความกดดันให้เกิดความเครียดแก่เขาอย่างสูง   ยิ่งเมื่อเขาเห็นแฟนสาวของเขานั่งท่ามกลางผู้ฟังด้วยยิ่งสร้างความวิตกกังวลแก่เขาอย่างมาก   เพราะความกังวลสับสนทำให้การเทศนาไม่ได้เป็นไปตามที่เขาได้เตรียม  ไม่ได้เทศน์อย่างที่ได้ร่ำเรียนมา    ยังผลให้คณะกรรมการพิจารณาไม่ให้เขาผ่านการสอบเทศนาและไม่อนุมัติการสถาปนาเขาเป็นศาสนาจารย์

การไม่อนุมัติครั้งนี้ทำให้เขาเกิดความสิ้นหวังอย่างขมขื่น    เขายิ่งโศกเสียใจมากขึ้นเมื่อคู่หมั้นสาวขอถอนหมั้น   จากสถานการณ์ที่เลวร้ายทั้งสอง   เขารับมือและจัดการกับความกดดันในชีวิตด้วยการแสวงหาเวลาสงบชีวิตจิตใจของเขา  ในเวลาหลายสัปดาห์   เขาเปิดใจทูลถามพระเจ้าต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมา   แล้วเขาพยายามสงบใจฟังพระเจ้า   ในที่สุดพระวจนะที่เป็นพระสัญญาของพระเจ้าเตือนให้เขาระลึกได้ว่า...
เรา​รู้​ว่า​เหตุ​การณ์​ทุก​อย่าง​ร่วม​กัน​ก่อ​ผล​ดี​แก่​คน​ที่​รัก​พระ​เจ้า
คือ​แก่​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​พระ​องค์​ทรง​เรียก​ตาม​พระ​ประ​สงค์​ของ​พระ​องค์ (โรม 8:28 มตฐ.)
เสียงจากพระวจนะที่ดังในจิตโสตประสาทของเขา  ช่วยให้เขายิ่งเกิดความสงบสันติมากยิ่งขึ้นในชีวิตจิตวิญญาณ

เมื่อโอกาสใหม่มาถึง   เขาสมัครเข้าสอบเทศนาอีกครั้งหนึ่ง   ชายหนุ่มคนนี้เทศนาอย่างมีพลังต่อหน้าคณะกรรมการ  แล้วได้รับการสถาปนาเป็นศาสนาจารย์เข้ารับใช้ในพันธกิจของพระเจ้า   จนถึงทุกวันนี้  หนังสือการเทศนาของ จี. แคมป์แบล มอร์แกน (G. Campbell Morgan) สร้างผลกระทบอย่างมากในชีวิตของผู้คน  

คนที่เคยล้มเหลว  เสียชื่อเสียงในเรื่องเทศนา   ได้เป็นคนที่เขียนอรรถาธิบายพระคัมภีร์หลายชุด   และยังเขียนหนังสือทางศาสนศาสตร์อีก 60 เล่ม   มอร์แกน ได้ทิ้งมรดกที่ยังมีพลังกระตุ้นในชีวิตจิตใจของผู้คน   และการที่เขาเผชิญหน้าและผ่านทะลุวิกฤติชีวิตอย่างมีชัยก็ด้วยการทรงช่วยของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่

บ่อยครั้งที่ความล้มเหลวมักทำให้เราต่อว่าพระเจ้า และ เกิดคำถามในชีวิตจิตใจ  ถึงการทรงเรียกของพระองค์ในชีวิตของเราแต่ละคน   บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถเห็นภาพใหญ่ทั้งหมดในการทรงเรียกตามแผนการของพระเจ้า   แต่จากบทเรียนชีวิตของ แคมป์แบล มอร์แกน  ถึงเราจะเห็น หรือมองไม่เห็นภาพใหญ่ทั้งหมดแห่งแผนการที่พระเจ้าทรงเรียกในชีวิตของเราแต่ละคนก็ตาม   เราต้องตระหนักชัดว่า พระเจ้ายังทรงทำงานของพระองค์แต่ละวันในชีวิตประจำวันของเรา   แต่บางครั้งพระองค์กำลังทำงาน “หลังฉาก”

วันนี้เป็นอีกย่างก้าวหนึ่ง   ที่พระเจ้าทรงทำงานในชีวิตของเรา!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 กุมภาพันธ์ 2559

ทำไมพระเจ้ายอมให้เราอ่อนแอ...จนตรอก?

ในความเข้าใจ และ คาดหวังของคริสตชนส่วนใหญ่   เข้าใจว่าพระเจ้าต้องการให้เราเป็นคนแข็งแรง   พระเจ้าทำให้เราแข็งแรงเสมอ  พระเจ้าประสงค์ให้คริสตชนทุกคนเข้มแข็งเพื่อเป็นการสะท้อนหรือถวายเกียรติแด่พระองค์   ท่ามกลางโลกที่กำลังเลวร้าย ปั่นป่วน  ทรุดโทรม   คริสตชนจะต้องเข้มแข็ง    แต่ท่านคิดอย่างไร ถ้าจะบอกตรงไปตรงมาว่า 

บ่อยครั้งที่พระเจ้ายอมให้เราต้องอ่อนแอและจนตรอกหมดทางสู้?

บ่อยครั้งใช่ไหมที่ชีวิตของเราอ่อนแอ  และบางครั้งอ่อนแอสุดจนไม่มีทางสู้ได้ในสถานการณ์นั้น   เรียกว่าชีวิตกำลังจนตรอก  สิ้นหวัง   ชีวิตมีแต่ความจำกัด  มีแต่ความทุกข์ยากลำบาก  จะเลือกทางไหนชีวิตก็ตีบตันอับจนทั้งสิ้น   แต่ในความอ่อนแอและตีบตันในชีวิตนั้นเป็นโอกาสที่พระเจ้าจะบ่มเพาะ “ความเข้มแข็งของพระองค์” ลงในชีวิตที่อ่อนแอของเรา   เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งที่เชื่อศรัทธาและไว้วางใจในพระองค์   มิใช่เป็นความเข้มแข็งในความสามารถของเราเอง   หรือเชื่อศรัทธาไว้วางใจในความเข้มแข็งของพลังอำนาจอื่นใด

ตกในภูมิศาสตร์ที่อับที่สุด

ในอพยพบทที่ 12   ประชาชนอิสราเอลต่างอัศจรรย์ใจที่ได้รับการทรงปลดปล่อยจากการเป็นทาสในอียิปต์   ด้วยการนำของโมเสส  อพยพในบทที่ 14 อิสราเอลตั้งค่ายพักแรมที่ริมฝั่งทะเลแดง   ถ้ามองตามภูมิศาสตร์   ที่ตั้งดังกล่าวเป็นจุดอ่อนอย่างยิ่งในทางยุทธศาสตร์   เพราะถ้าศัตรูล้อมและโจมตีเมื่อใด   อิสราเอลจะไม่มีทางหนี   นอกจากต้องสู้ลูกเดียว   แต่พระคัมภีร์บอกว่า  พระเจ้านำโมเสสให้อิสราเอลมาตั้งค่ายพักแรมในภูมิศาสตร์ที่ล่อแหลมเช่นนี้?

จริงอย่างคาด   พอชนชาติอิสราเอลรู้ข่าวว่า  กองทหารของอียิปต์ยกมาล้อมพวกเขา   ทั้งค่ายพักเกิดความระส่ำระสาย   พวกเขาถูกปิดล้อมด้วยถิ่นทุรกันดาร  และทะเลแดง   เหลือทางเดียวก็เป็นกองกำลังติดอาวุธของอียิปต์ที่กำลังบุกตรงเข้ามาหาพวกเขา    เกิดความโกลาหล  เกิดการร้องอื้ออึงไม่ได้ศัพท์   เกิดความกลัวตายอย่างที่สุด   พวกอิสราเอลไม่มีทางเลือกอื่นใด   นอกจากที่จะเลือกตายด้วยคมดาบ หรือ เลือกตายเพราะจมน้ำทะเลตาย   และนี่หรือคือภูมิศาสตร์ที่พระเจ้าให้โมเสสนำอิสราเอลมาตั้งค่ายพักแรมที่นี่?   พระเจ้าไม่รู้เรื่องการทำสงครามกระมัง?

ในภาวะเช่นนั้น   พวกอิสราเอลก็ไม่ต่างอะไรจากเราถ้าตกในสถานการณ์เช่นนั้นคือทั้งโกรธและกลัวลาน   พวกเขาตะโกนด่าทอโมเสสว่า “...หลุม​ฝัง​ศพ​ใน​อียิปต์​ไม่​มี​หรือ? ท่าน​จึง​พา​พวก​เรา​ออก​มา​ตาย​ใน​ถิ่น​ทุร​กัน​ดาร  ทำ​ไม​ท่าน​จึง​ทำ​กับ​เรา​เช่น​นี้​...(ที่)​พา​พวก​เรา​ออก​มา​จาก​อียิปต์?” (อพยพ 14:11 มตฐ.)

พวกเขาตกอยู่ในภูมิศาสตร์ที่อับจนที่สุด...   เป็นภูมิศาสตร์ที่พระเจ้าตั้งใจพาพวกเขามาที่นี่!

อิสราเอลไม่เข้าใจว่าทำไมโมเสสนำพวกเขามาตั้งค่ายในที่อับตันทางยุทธศาสตร์เช่นนี้   ทำไมพระเจ้านำพวกเขามาตกในกับดักของกองทัพอียิปต์?

ชีวิตตกอับเพื่อเรียนรู้ว่าพลังแห่งชีวิตมาจากไหน?

โมเสสกล่าวแก่ฝูงชนอิสราเอลที่กำลังระส่ำระสายว่า  อย่า​กลัว​เลย จง​ยืน​นิ่ง​อยู่ คอย​ดู​ความ​รอด​จาก​พระ​ยาห์​เวห์ ซึ่ง​ทรง​ทำ​เพื่อ​พวก​ท่าน​ใน​วัน​นี้ เพราะ​คน​อียิปต์​ที่​เห็น​ใน​วัน​นี้ พวก​ท่าน​จะ​ไม่​ได้​เห็น​อีก​ตลอด​ไป    พระ​ยาห์​เวห์​จะ​ทรง​รบ​แทน​ท่าน​ทั้ง​หลาย พวก​ท่าน​จง​สงบ​อยู่​เถิด (อพยพ 14:13-14 มตฐ.)   แล้วพระเจ้ารบแทนอิสราเอลอย่างไร?

ทูตของพระเจ้า และ เสาเมฆที่เคยนำหน้าอิสราเอลได้กลับมาอยู่ข้างหลังอิสราเอล กั้นระหว่างอิสราเอลและกองทัพอียิปต์ มีเมฆและความมืดกั้นกลางระหว่างอิสราเอลกับกองทัพอียิปต์ (ข้อ 19-20)   เมื่ออิสราเอลเดินชิดทะเลแดง   พระเจ้าทรงทำให้น้ำทะเลแยกออก   เกิดเป็นทางแห้งให้ชนชาติอิสราเอลเดินข้ามไปโดยปลอดภัย   แต่เมื่อกองทัพอียิปต์ยกพลลงบนทางในทะเลแดง  รถรบติดหล่มและน้ำทะเลไหลกลับท่วมทั้งกองทัพอียิปต์

จากเสียงด่าทอกลับกลายเป็นเสียงสรรเสริญว่า...
พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​เป็น​กำลัง​และ​บท​เพลง​ของ​ข้า​พระ​องค์
พระ​องค์​ทรง​เป็น​ความ​รอดของ​ข้า​พระ​องค์
พระ​องค์​นี่​แหละ​เป็น​พระ​เจ้า​ของ​ข้า​พระ​องค์ ข้า​พระ​องค์​จะ​สรร​เสริญ​พระ​องค์
พระ​เจ้า​แห่ง​บิดา​ของ​ข้า​พระ​องค์ ข้า​พระ​องค์​จะ​ยก​ย่อง​พระ​องค์
(อพยพ 15:2 มตฐ.)

แท้จริง เมื่อกองทัพอียิปต์เผชิญหน้ากับประชาชนอิสราเอล   พระเจ้าสามารถที่จะทำให้อิสราเอลกลายเป็นกองทัพที่เข้มแข็งและเอาชนะกองกำลังของอียิปต์ได้   แล้วทำไมพระเจ้าไม่ทำเช่นนั้นล่ะ?   เพราะถ้าพระองค์ทำเช่นนั้นชนชาติอิสราเอลก็จะเกิด “อาการแซมสัน”  (ผมไม่ได้หมายถึง อาการพากินสัน หรือ พากันสั่น   แต่หมายถึงแซมสัน) ที่พระเจ้าประทานให้เขามีกำลังมหาศาลสามารถเอาชนะพวกศัตรูอย่างราบคาบ

แต่เราจำได้ไหมว่า “อาการแซมสัน” นั้นเป็นอย่างไร   เมื่อพระเจ้าประทานกำลังแก่แซมสันจนสามารถเอาชนะคนฟีลิสเตียมากกว่า 1,000  คน  ด้วยตัวเขาเพียงคนเดียว   เมื่อเขาชนะเขาโห่ร้องบทเพลงว่าอย่างไร?
แซม​สัน​กล่าว​ว่า   ด้วย​ขา​กรรไกร​ลา   เป็น​กอง​ซ้อน​กอง
ด้วย​ขา​กรรไกร​ลา   ข้า​ได้​ฆ่า​คน​หนึ่ง​พัน​เสีย
(ผู้วินิจฉัย 15:16 มตฐ.)

“ข้าได้ฆ่าคนหนึ่งพัน”  ไม่มีส่วนไหนของบทเพลงที่ยกย่องสรรเสริญถึงพระราชกิจอันทรงพลังของพระเจ้าที่ประทานให้อิสราเอลเอาชนะศัตรูได้   ประเด็นที่นี้คือ   พระเจ้าทรงเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ของแซมสัน   แต่เขากลับมิได้รู้ว่าที่เขาทำเช่นนี้ได้เพราะเป็นพระกำลังของพระเจ้าที่ประทานให้แก่เขา

พระเจ้าประสงค์ให้อิสราเอลเรียนรู้และตระหนักชัดว่า พระองค์ทรงเป็นพระกำลังและเป็นความรอดปลอดภัยของพวกเขา   และนี่เองที่พระองค์ทรงให้อิสราเอลต้องตกลงในภาวะจนตรอก   ต้องตกในที่นั่งที่ดูเหมือนกำลังพ่ายแพ้ 

พระเจ้าทรงใช้ความอ่อนแอ และ การจนตรอกที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ที่พระองค์ทรงรัก   เพื่อประชากรของพระองค์จะเรียนรู้ว่ากำลังที่แข็งแรงมั่นคงที่แท้จริงมาจากพระเจ้าเท่านั้น   ความอ่อนแอจึงเป็นโอกาสที่พระเจ้าจะทรงเสริมสร้างให้เราเข้มแข็งอย่างตระหนักรู้ชัดเจนว่า   ที่เรามีกำลังและชัยชนะในชีวิตของเราได้นั้นเพราะพระเจ้าทรงเป็นแหล่งแห่งพลังความเข้มแข็งในชีวิตของเรา   เพื่อเสริมสร้างเราให้มีพลังชีวิตแต่ไม่อหังการ  


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 กุมภาพันธ์ 2559

พลังรับมือกับความว้าเหว่

โอกาส   อาจจะเวลาที่ลูกหลานมาเยี่ยมตอนคริสต์มาสและปีใหม่แล้วต่างกลับบ้านกลับช่องของตนเอง หรืออาจจะบางคนที่เป็นที่รักลาจากโลกไป  หรือบางครั้งเกิดความรู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้ง  รู้สึกไม่เป็นที่ต้องการของใครบางคน   ทั้ง ๆ ที่เวลานั้นเรากำลังต้องการใครบางคนเข้าใจและเอาใจใส่เรา  เหล่านี้สร้างความรู้สึก หนาวเย็น  เศร้า อ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว   แต่ต้องยอมรับว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เป็นจริงในชีวิตของเราแต่ละคนในบางครั้ง   และอาจจะเป็นเหตุการณ์และความรู้สึกของบางท่านในวันนี้ก็ได้

สถานการณ์ความว้าเหว่ โดดเดียว จนตรอก สิ้นคิด  แล้วสิ้นหวังในชีวิตย่อมเกิดขึ้นได้กับคนทุกชนชั้น วรรณะ  ไม่ยกเว้นแม้แต่ผู้ที่เป็นถึงพระมหากษัตริย์ที่อยู่สูงส่งเหนือประชาสามัญทั่วไป   อย่างกษัตริย์ดาวิดคร่ำครวญถึงความโศกเศร้า ทุกข์ทน  โดดเดี่ยว ใจแตกสลาย  แต่หาคนที่จะเห็นใจ และ เข้าใจตนไม่ได้   ไม่มีใครที่จะให้กำลังใจและความหวังแก่ดาวิดได้   ทั้ง ๆ ที่มีคนล้อมหน้าล้อมหลัง   มีคนคอยรับใช้ในทุกอย่าง   ในพระธรรมสดุดี 69:20 ดาวิดเขียนไว้ว่า

การ​เยาะ​เย้ย​ทำ​ให้​ใจ​ข้า​พระ​องค์​แตก​สลาย   ข้า​พระ​องค์​จึง​ล้ม​ป่วย
ข้า​พระ​องค์​มอง​หา​ความ​เห็นใจ แต่​ก็​ไม่​มี   หา​ผู้​ปลอบ​โยน แต่​ก็​ไม่​พบ (มตฐ.)

เมื่อดาวิดต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ทำให้ตนโศกเศร้า  โดดเดี่ยว  ว้าเหว่  และรู้สึกถูกทอดทิ้ง  ในเวลาเช่นนั้นเมื่อเขาเข้าใกล้ชิด และใคร่ครวญภาวนากับพระเจ้า   ท่านพบคำตอบในชีวิตของท่านว่า
แต่​ข้า​พระ​องค์​ทุกข์​ยาก​และ​เจ็บ​ปวด
ข้า​แต่​พระ​เจ้า ขอ​การ​ช่วย​กู้​ของ​พระ​องค์พิทักษ์​รักษา​ข้า​พระ​องค์
(สดุดี 69:29 มตฐ.)
เพราะ​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​ฟัง​คน​ขัด​สน    และ
​มิ​ได้​ทรง​ดู​หมิ่น​คน​ของ​พระ​องค์​ที่​ถูก​จำ​จอง(และหาทางออกไม่ได้)
(สดุดี 69:33 มตฐ.)

สิ่งที่เป็นพลังชีวิตของดาวิดที่ลุกขึ้นมาเผชิญหน้าและรับมือกับความว้าเหว่ โดดเดี่ยว สูญเสีย ถูกทอดทิ้ง และสิ้นหวังคือ   ดาวิดเลือกที่เข้าใกล้สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า   แทนที่จะครุ่นคิดวกวนจมจ่อมลงในกองโคลนแห่งความเศร้าสร้อยสิ้นหวัง   แต่ดาวิดยื่นมือขอพระเจ้าสัมผัสมือของเขา  และฉุดช่วยเขาให้หลุดรอดขึ้นจากโคลนตมแห่งความว้าเหว่เดียวดายนั้น  เพื่อนฝูง  คนรับใช้  ลูกน้อง  หรือคนสนิทในครอบครัวจะทอดทิ้งเขาในเวลาที่ยากลำบาก   แต่พระเจ้ามิใช่เช่นนั้น   พระองค์พร้อมจะ “ฉุดแล้วช่วย” เราให้ขึ้นมาจากสภาพชีวิตที่โดดเดี่ยว ซึมเศร้านั้น (ดู สดุดี บทที่ 40)

ในความเชื่อของคริสตชน   เราเชื่อว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเราเสมอในทุกสถานการณ์ชีวิต   ทรงนั่งอยู่ข้างเตียงที่เรานอนโทรมคุดคู้ไม่อยากลุกไปพบใคร   พระองค์พร้อมเสมอที่จะชูและช่วยเราเมื่อเรายื่นมือเปิดรับการทรงช่วยจากพระองค์   พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังชีวิตจากพระเจ้าที่พร้อมอยู่ในเวลาที่ยากลำบากในชีวิตของเรา  “เรา​จะ​ทูล​ขอ​พระ​บิดา และ​พระ​องค์​จะ​ประ​ทาน​ผู้​ช่วย​อีก​ผู้​หนึ่ง​ให้​กับ​พวก​ท่าน เพื่อ​จะ​อยู่​กับ​ท่าน​ตลอด​ไป” (ยอห์น 14:16 มตฐ.)

เราพูดคุยกับพระวิญญาณบริสุทธิ์แบบตรงไปตรงมาด้วยจริงใจ  พระองค์ฟังเราอย่างใส่ใจ   ไม่ว่าจะเป็นจิตใจที่แตกสลาย  ความเจ็บปวดในชีวิต ความเศร้าโศก  ความว้าเหว่ ถูกทอดทิ้ง  การสูญเสีย   พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเปิดเผยทางใหม่ที่เป็นคำตอบในชีวิตของเราในเวลาของพระองค์  

แม้ยังไม่มั่นใจก็ลองดูได้ครับ!   พระเจ้าเปิดโอกาสให้เราลองดูครับ 

แล้วท่านจะพบว่า “พระเจ้านั้นแสนดี...ไม่มีใครเหมือน”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 กุมภาพันธ์ 2559

เมื่อชีวิตพลิกผัน... พระเจ้าต้องการอะไร?

ในปี 1920  คณะกรรมการคัดเลือกผู้ถวายตัวเป็นมิชชันนารีสนใจชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ออสวาล์ด สมิธ (Oswald Smith) เพื่อส่งเขาไปเป็นมิชชันนารีรับใช้ในต่างแดน  ความใฝ่ฝันสูงสุดของชายหนุ่มออสวาล์ดคือ  เขาต้องการรับใช้ในฐานะมิชชันนารีในต่างแดน  เขาอธิษฐานแล้วอธิษฐานอีกว่า  “องค์พระผู้เป็นเจ้า  โปรดเปิดทางให้ข้าพระองค์ได้เป็นมิชชันนารีรับใช้พระองค์ในต่างแดนด้วย”

แต่ผลการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการปรากฏว่าไม่รับชายหนุ่มคนนี้เป็นมิชชันนารี   เพราะการตรวจสุขภาพพบว่าสุขภาพของเขาไม่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด   ชายหนุ่มออสวาล์ด บอกกับตนเองว่า  “พระเจ้าต้องมีแผนงานอื่นสำหรับฉัน”   เมื่อเขาอธิษฐาน   พระเจ้าประทานความคิดใหม่ผุดขึ้นในความนึกคิดของเขา   ถ้าเขาไม่สามารถที่จะไปเป็นมิชชันนารีในต่างแดน   เขาจะตั้งคริสตจักรขึ้นและคริสตจักรนี้จะส่งมิชชันนารีไปยังต่างประเทศ

ดังนั้น  ออสวาล์ด ได้ตั้ง คริสตจักรแห่งมวลชน (The People’s Church) ขึ้นในโตลันโต แคนาดา   ซึ่งเป็นคริสตจักรที่ส่งมิชชันนารีออกไปที่ต่าง ๆ มากที่สุดของบรรดาคริสตจักรในสมัยนั้น

ชายหนุ่มออสวาล์ด ได้เป็นมิชชันนารีสมใจไหม?   ไม่  

แต่ถ้าเขาไปเป็นมิชชันนารีเขาจะรับใช้ในที่หนึ่งที่ใดที่เขาเป็นมิชชันนารี   สร้างผลและผลกระทบต่อชีวิตและสังคมที่จำกัด   แต่เมื่อความใฝ่ฝันของเขาต้องพลิกผัน   เมื่อลมชีวิตเปลี่ยนทิศ   เขากลับสร้างผลและผลกระทบที่มากมายที่เขาคนเดียวทำไม่ได้   เมื่อชีวิตพลิกผัน  พระเจ้าใช้เป็นโอกาสต่อยอดความใฝ่ฝันของเขา  ให้เขาใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและความหมายมากกว่าที่เขาคิดและใฝ่ฝัน

อย่าลืมนะครับ   เมื่อชีวิตของเราพลิกผัน  ในเวลาที่ทิศทางชีวิตถูกปิดกั้น  มืดมน   โปรดหยุดนิ่ง  สงบต่อพระพักตร์พระเจ้า   แล้วถามพระองค์ว่า พระองค์มีทิศทางสำหรับชีวิตของเราที่ดีกว่าที่เราใฝ่ฝันใช่ไหม?   ขอทรงเปิดเผยตามเวลาแห่งแผนการของพระองค์   พระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา   แผนงานและพระราชกิจที่ทรงกระทำยิ่งใหญ่สำคัญยิ่งกว่าที่เราจะจินตนาการได้   และเมื่อพระองค์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา   เราอดไม่ได้ที่จะต้องร้องสรรเสริญถึง พระปัญญา และ  พระคุณของพระองค์

ท่านว่ามันยากไหมครับที่จะยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าที่ไม่ตรงกับความต้องการหรือตั้งใจของเรา?

ท่านเคยมีประสบการณ์ที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในยามที่ชีวิตท่านพลิกผันให้มีชีวิตที่ดีกว่าหรือไม่?

พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​ว่า เพราะ​เรา​รู้​แผน​งาน​ที่​เรา​มี​ไว้​สำ​หรับ​พวก​เจ้า
เป็น​แผน​งาน​เพื่อ​สวัสดิ​ภาพ   ไม่​ใช่​เพื่อ​ทำร้าย​เจ้า
เพื่อ​จะ​ให้​อนาคต​และ​ความ​หวัง​แก่​เจ้า
(เยเรมีห์ 29:11 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

08 กุมภาพันธ์ 2559

ทำไมพระเจ้าให้ฉันทำในสิ่งที่ฉันทำไม่ได้?

ท่านเคยเกิดคำถามในใจไหมว่า...  ทำไมพระเจ้าให้ฉันทำในสิ่งที่ฉันทำไม่ได้?
ไหนบอกว่า... พระเจ้าทรงมอบให้เราทำในสิ่งที่ไม่เกินความสามารถของเรา?
เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกินความสามารถของเรา   เราทำอย่างไรบ้าง?
ถ้าวันนี้... เราต้องพบกับสถานการณ์ที่เราไม่สามารถจัดการได้   เราจะทำอย่างไรดี?

พระเยซูคริสต์ก็เคยมอบหมายให้สาวกทำในสิ่งที่สาวกทำไม่ได้   แล้วสาวกตอบสนองอย่างไร?
มาระโก 6:34-37 เขียนไว้ว่า...
34 เมื่อ​พระ​เยซู​เสด็จ​ขึ้น​จาก​เรือ​แล้ว​ก็​ทอด​พระ​เนตร​เห็น​มหา​ชน และ​พระ​องค์​ทรง​สง​สาร​พวก​เขา เพราะ​ว่า​พวก​เขา​เป็น​เหมือน​ฝูง​แกะ​ไม่​มี​ผู้​เลี้ยง พระ​องค์​จึง​ทรง​เริ่ม​สั่ง​สอน​พวก​เขา​หลาย​ประ​การ 35 เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​เกือบ​จะ​ค่ำ​แล้ว พวก​สา​วก​มา​ทูล​พระ​องค์​ว่า ที่​นี่​เป็น​ถิ่นทุรกันดาร  และ​ตอน​นี้​เวลา​ก็​เย็น​มาก​แล้ว 36 ขอ​พระ​องค์​ทรง​ให้​ประ​ชา​ชน​ไป​เถิด พวก​เขา​จะ​ได้​ไป​หา​ซื้อ​อาหาร​รับ​ประ​ทาน​ตาม​ชน​บท​และ​หมู่​บ้าน​ที่​อยู่​แถบ​นี้37 แต่​พระ​องค์​ตรัส​ตอบ​พวก​สาวก​ว่า พวก​ท่าน​จง​เลี้ยง​พวก​เขา​เถิดพวก​เขา​ทูล​พระ​องค์​ว่า จะ​ให้​พวก​ข้า​พระ​องค์​ใช้​เงิน​สอง​ร้อย​เหรียญ​เดนา​ริอัน​ไป​ซื้อ​อาหาร​ให้​พวก​เขา​รับ​ประ​ทาน​หรือ?”

ประเด็นปัญหาที่จะต้องจัดการในที่นี้คือ   มีประชาชนจำนวนมากถึงเฉพาะผู้ชายมี 5,000 คนที่มาฟังการสอนของพระเยซูคริสต์   เวลาล่วงเลยมาถึงตอนเย็น  แถบนั้นก็เป็นถิ่นทุรกันดาร   เกิดปัญหาว่า ประชาชนจะไม่มีอาหารรับประทาน   พระเยซูกลับบอกสาวกว่า “พวกท่านจงเลี้ยงพวกเขาเถิด”   ให้เราพิจารณาถึงวิธีการแก้ปัญหาของสาวก

วิธีแรก  สาวกเสนอให้ปล่อยประชาชนกลับบ้าน   เป็นการแก้ปัญหาด้วยการบอกว่า “นี่ไม่ใช่ปัญหาของฉัน  แต่เป็นปัญหาของเขา”  แก้ปัญหาด้วย “การโยน” ปัญหาให้คนอื่นรับผิดชอบ สาวกอาจจะคิดว่า เราไม่ได้ชักชวนให้ประชาชนมาฟังคำสอนของพระเยซูสักหน่อย (ดูข้อ 32-33) และเราก็ไม่ได้สัญญาว่าถ้าใครฟังพระเยซูสอนจะมีอาหารมื้อเย็นแจก ดังนั้น สาวกเห็นว่า ประชาชนต้องรับผิดชอบตนเอง  

วิธีที่สอง  สาวกเห็นว่าโดยสภาพแวดล้อมปัญหานี้พวกตนแก้ไขไม่ได้  เพราะที่นี่เป็นถิ่นทุรกันดาร และเวลาก็เย็นมากแล้ว จะไปหาอาหารจากที่ไหน  และ  เราไม่มีเวลาแล้วมันจะมืดค่ำเสียก่อน สาวกกำลังเหมือนจะบอกว่า  แท้จริงก็อยากจะรับผิดชอบสิ่งนี้หรอก แต่เพราะสถานการณ์แวดล้อม และ เงื่อนไขเวลาไม่อำนวย เราจึงทำไม่ได้   “สภาพแวดล้อมกลายเป็นแพะรับผิด” ไป

วิธีที่สาม เป็นสาวกคนไหนไม่รู้  แต่คงมีหัวทางเศรษฐศาสตร์  ย้อนถามพระเยซูว่า “เราไม่มีเงิน  เราจะไปเอาเงินที่ไหนซื้ออาหารมาเลี้ยงประชาชน”  ไม่มีเงินย่อมแก้ปัญหาไม่ได้   เงินหมด “ปัญญา” กลวง

แต่พระเยซูคริสต์จัดการกับปัญหา  ด้วยความรับผิดชอบ   ดังนี้

ประการแรก   พระองค์ให้สาวกไปสำรวจว่า  ในกลุ่มประชาชนจำนวนมากนี้เขามีอาหารอะไรเท่าใด?   แล้วก็พบว่า  ประชาชนมีต้นทุนอาหาร “ขนมปัง 5 ก้อนกับปลา 2 ตัว” (ดูข้อ 38)  แน่นอนว่า  สาวกก็จะมองว่า มีต้นทุนแค่นี้พอทำน้ำยาอะไร

ประการที่สอง   แต่พระเยซูคริสต์รับต้นทุนที่ประชาชนมีอยู่   แล้วขอพระพรจากพระเจ้า  (ต้นทุนที่มีในชีวิตบวกกับพระพรของพระเจ้า = อุดมสมบูรณ์   พอเพียง และ เหลืออีก)

ประการที่สาม  พระเยซูคริสต์ทรงหักและแบ่งอาหารให้แก่ประชาชนจากปลาและขนมปังที่พระเจ้าทรงอวยพระพร  ประชาชนอิ่มทุกคน  เศษปลาและขนมปังที่เหลือรวบรวมได้ 12 ตะกร้าเต็ม

ทำไมพระเยซูถึงบอกให้สาวกหาอาหารเลี้ยงประชาชน   ทั้ง ๆ ที่พระองค์ก็รู้อยู่กะใจว่า สาวกทำไม่ได้?

และทำไมพระเจ้าถึงให้สถานการณ์ที่เราไม่สามารถจัดการรับมือได้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา?

เพราะพระองค์กำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา   อย่างน้อยที่สุดพระองค์ช่วยให้เรายอมรับความจริงว่า   ในหลายเรื่องที่เราไม่สามารถจัดการรับมือได้ในชีวิตประจำวัน   แต่ถ้าเราเปิดชีวิตของเราให้พระเจ้าเข้ามาทำงานในชีวิต   เราจะได้รับการเสริมสร้างใหม่   ในความรู้ถึงน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรามากยิ่งขึ้น   อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างและเพิ่มพูนความเชื่อและความไว้วางใจของเราต่อพระองค์ได้กว้างขวางและลุ่มลึกยิ่งขึ้น

วันนี้เราจะจัดการอย่างไรกับสถานการณ์ที่เหนือความสามารถและศักยภาพของเรา?

โบกมือลาสถานการณ์นั้น? เท่ากับเราบอกเลิกกับโอกาสที่ชีวิตของเราจะได้รับการสร้างจากพระเจ้า

หรือ เราจะค้นให้พบของประทานที่เรามีอยู่ในเวลานั้น  แล้วทูลขอพระเจ้าทรงสร้างเราให้สามารถรับมือกับสถานการณ์นั้น   พร้อมกับพระกำลังด้านต่างที่เป็นพระพรมาจากพระองค์   สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่แค่ “ความสำเร็จ”  แต่สิ่งที่ทรงคุณค่าอยู่ที่เราได้สัมผัสกับพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา และได้เรียนรู้ถึงพระประสงค์ และ บทเรียนการดำเนินชีวิตจากพระองค์ที่ทำให้ชีวิตของเราแกร่งและเกิดผลมากยิ่งขึ้น

วันนี้เราท่านต้องเลือกว่าเราจะจัดการอย่างไรในสถานการณ์ที่เหนือศักยภาพที่เราจะจัดการด้วยตนเองได้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

05 กุมภาพันธ์ 2559

ท่านเป็น...คนของพระเจ้า...?

ผู้คนส่วนใหญ่แล้วมักจะเข้าใจว่า  ซานตาครอส หรือ เซนต์ นิโคลัสในประวัติศาสตร์ เป็นผู้เฒ่าหนวดเครายาว พุงโต ใจดีและรักเด็ก  จะใช้ล้อเลื่อนเป็นพาหนะในการไปแจกของขวัญแก่เด็กดีทั้งหญิงและชาย   แต่บุรุษคนนี้มีชีวิตที่น่าสนใจและมีค่ามากกว่าตามตำนานที่เล่าขานเท่านั้น   เขาเป็นคนของพระเจ้าอย่างแท้จริงเลยครับ

เซนต์ นิโคลัส เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่มั่งคั่งร่ำรวย  ใน พาทารา (Patara) ประมาณปี ค.ศ. 270    พ่อแม่ได้สิ้นชีวิตเมื่อเขาอายุยังหนุ่มแน่น   และได้ทิ้งกองมรดกมากมายไว้ให้เขา   แต่นิโคลัสเป็นคนหนุ่มที่ถ่อมเขาได้แจกจ่ายแบ่งปันทรัพย์สินที่มีแก่คนยากคนจนเป็นการลับ

ในที่สุด นิโคลัส ได้ละทิ้งทรัพย์สมบัติของเขาเพื่อตอบการทรงเรียกของพระเจ้าให้รับใช้ในพันธกิจของพระองค์   ไม่นานนักเขาได้รับเลือกให้เป็นบิชอปแห่งมายรา (Myra)   พระเจ้าทรงมอบหมายให้เขานำคริสตจักรฟันฝ่าช่วงเวลาที่แสนยากเข็ญ   เป็นช่วงเวลาที่คริสตจักรถูกข่มเหงอย่างเลวร้ายสุด ๆ ในประวัติศาสตร์

ในช่วงปี ค.ศ. 303  ซึ่งอยู่ในช่วงการปกครองของจักรพรรดิ ไดโอเคลเทียน (Diocletians)  ได้มีคำสั่งให้พวกคริสตชนทำการถวายเครื่องบูชาให้กับเทพเจ้าในต่างศาสนา   แต่นิโคลัส และ คริสตชนอีกหลายพันคนกลับประกาศต้านว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นเจ้านายในชีวิตของพวกเขา ดังนั้น คริสตชน “หัวดื้อ” กลุ่มนี้จึงถูกจับเข้าคุก  แล้วพวกเขาถูกทำทารุณกรรมอย่างโหดร้าย   ถูกทรมานด้วยวิธีต่าง ๆ  ถูกโบยตีจนหมดสติ  บ้างก็ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม

อย่างไรก็ตาม  การทำร้ายทำลายอย่างรุนแรงเหี้ยมโหดไม่สามารถที่จะหยุดยั้งความเชื่อของคริสตชนได้   ตรงกันข้าม ความเชื่อของคริสตชนกลับแผ่แพร่ขยายกว้างออกไป     คริสตชนพวกนี้ถูกจำจองในคุกอยู่หลายปี   จนกระทั่งได้รับการปล่อยให้อิสระโดยพระราชกฤษฎีกาของจักรพรรดิ คอนสแตนติน  จักรพรรดิองค์ใหม่   เซนต์   นิโคลัสได้รับการต้อนรับกลับมาอีกครั้งหนึ่ง   ถึงแม้บิชอปของพวกเขาถูกโบยตี ทำทารุณกรรม แต่ก็ไม่ได้ทำให้   นิโคลัสต้องเสียชีวิตหรือพิกลพิการ    ด้วยการอธิษฐาน และ คำพยานของทหารถึงความสัตย์ซื่ออดทนของคริสตชน และ ข่าวของ เซนต์ นิโคลัส ที่ต้องถูกทรมาน ทำให้อีกหลายคนได้รับความรอดในพระเยซูคริสต์

ผู้คนปัจจุบันนี้ยังระลึกถึงเรื่องราวคนของพระเจ้าท่านนี้   เสื้อคลุมบิชอปสีแดงของเขา  คำสั่งสอนของเขาที่มีต่อเด็ก ๆ ให้เป็นคนที่ดำเนินชีวิตที่ดี  และการที่เขาให้สิ่งของอาหารและเงินทองแก่คนที่ตกอยู่ในความจำเป็นต้องการอย่างเป็นการลับ   และ

ถ้า เซนต์ นิโคลัสมีชีวิตในสมัยนี้  แทนที่จะมุ่งทำให้ผู้คนที่เขาช่วยเหลือสนใจและให้ความสำคัญในตัวเขา   แต่เขาจะกลับทำสิ่งเหล่านั้นเพื่อนำจิตใจของผู้คนมุ่งไปสัมผัสกับความรักขององค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นเจ้านายของเขา  เขาจะทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความถ่อมใจ  รักเมตตา และให้ชีวิตของตนแก่ผู้คน(ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น)

เราท่านน่าจะทำอย่างเซนต์ นิโคลัส หรือไม่หนอ?

11อย่า​อ่อน​ระอา   จง​มี​จิต​ใจกระตือรือร้น​ด้วยพระวิญญาณ จงปรนนิบัติองค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า
12จง​ชื่น​ชม​ยินดี​ใน​ความ​หวัง จง​สู้​ทน​ต่อ​ความ​ยาก​ลำ​บาก จงขะมักเขม้นอธิษฐาน   
13จง​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ช่วย​ธรรมิกชนเมื่อ​เขา​ขัด​สน จงอุตส่าห์​ต้อน​รับ​แขก​แปลก​หน้า   (โรม 12:11-13)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

01 กุมภาพันธ์ 2559

จะยอมรับและให้เกียรติคนที่ไม่น่านับถือด้วยหรือ?

“รักคนที่เขารักเราดีกว่า...”  นี่เป็นเสียงเพลงโบร่ำโบราณจากวิทยุที่คนแก่อย่างผมได้ยินจนคุ้นชินจดจำ

แต่ในฐานะคริสตชน  พระคริสต์บอกเราว่า “ให้รักศัตรูของท่าน”  มันช่างแตกต่างราวฟ้ากับดินเลยทีเดียว

ในชีวิตของแต่ละคน  ย่อมต้องประสบพบเจอกับคนที่มีอารมณ์ร้าย ร้อน รุนแรง  และพฤติกรรมหยาบกระด้าง  เต็มด้วยเล่ห์ เหลี่ยม และหลอกลวง  มีความโหดร้าย  คดในข้องอในกระดูกซ่อนสุมในจิตใจ   ในที่นี้ขอเรียกรวม ๆ ว่า “คนที่ไม่น่านับถือ”  

การที่ต้องเผชิญกับคนที่ไม่น่านับถือที่ว่านี้หรือไม่คงไม่ใช่ประเด็นปัญหาของเรา  

แต่คำถามของเราคือ แล้วเราจะรับมือ  ตอบสนองกับคนแบบนี้  ที่มักสร้างแต่ความรู้สึก “เครียด” ในความสัมพันธ์ของเราในฐานะคริสตชนอย่างไรต่างหาก  เป็นเรื่องที่เราจะต้องใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์

แล้วเราจะยอมรับนับถือคนที่ “ไม่น่านับถือ” ที่กล่าวข้างต้นนี้อย่างไรดี?

โดยปกติทั่วไปแล้วเรามักบอกว่า   ถ้าจำเป็นต้องติดต่อสัมพันธ์กับคนแบบนี้   ก็ให้ติดต่อเท่าที่จำเป็น   และเป็นไปได้แล้วให้อยู่ห่าง ๆ จากคนแบบนี้ ใช่ไหม?

ขอลองมองให้ชัดลงไปอีกนิดหนึ่งว่า คนแบบนี้ในชีวิตจริงของเรามีใครบ้าง?

คนในครอบครัว? เพื่อนฝูง? คนรู้จักมักคุ้น? คู่ชีวิต? ลูกหลาน?  เจ้านาย?  หรือ  ลูกน้อง?

จง​ให้​เกียรติ​ทุก​คน จง​รัก​พวก​พี่​น้อง จง​ยำ​เกรง​พระ​เจ้า จง​ถวาย​เกียรติ​แด่​จักรพรรดิ”    นี่เป็นคำสอนใน 1เปโตร 2:17  ฟังดูมันทำได้ง่าย ๆ เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก   แต่จะทำให้เป็นรูปธรรมจริง ๆ ในชีวิตประจำวันจะทำได้อย่างไรเป็นคำถามที่ไม่อยากถามครับ

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ  “การให้เกียรติ” แก่คนแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราหมดทางเลือกต้องอดทนหรือยอมอยู่ภายใต้พฤติกรรมความหยาบ คด เห็นแก่ตัวของคน ๆ นั้น   “การให้เกียรติ” มิได้หมายความว่าเราจะไม่เผชิญหน้า หรือ ประจันหน้าจัดการกับปัญหาที่อยู่ข้างหน้านั้น   “การให้เกียรติ”  ไม่ใช่การที่ปล่อยตัวเองให้ไหลตามกระแสในเวลานั้น

แล้วเราจะ “ให้เกียรติ” คนที่ “ไม่น่านับถือ” อย่างไรล่ะ?
  1. สำแดงความรักเมตตาแบบพระคริสต์แก่คนนั้น  แม้เขาไม่สมควรจะได้รับก็ตาม (1ยอห์น 4:19)
  2. เราสามารถ “ให้เกียรติ” คนแบบนี้โดยไม่ต้องเห็นด้วยกับพฤติกรรมของเขา (2โครินธ์ 6:14)
  3. ติดต่อสัมพันธ์ และ อยู่กับเขาอย่าง “สันติ”  แม้เขาจะไม่แสวงหาสันติก็ตาม (โรม 12:18)
  4. วางขอบเขตที่เหมาะสมในความสัมพันธ์กับคนแบบนี้ เพื่อมิให้เขาทำร้ายเราได้ (สดุดี 104:9)
  5. การสัมพันธ์กับคนแบบนี้ต้องพึ่งการแสวงหาวิถีทางที่พระเจ้าทรงนำ (ฮีบรู 12:2)

“การให้เกียรติ” คนที่ “ไม่น่านับถือ” ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นพันธกิจชีวิตที่พระเจ้าทรงเรียกให้เรากระทำด้วยจิตวิญญาณและพลังความรักเมตตาที่เสียสละของพระคริสต์   ที่ทรงทำเป็นตัวอย่างแล้วบนกางเขน   ไม่มีใครคนใดในพวกเราที่เป็นคนดีพร้อมสมบูรณ์แบบ   แต่นี่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะไม่ “ให้เกียรติ” แก่คน “ที่ไม่น่านับถือ” เหล่านั้น  เราพึงตระหนักว่า “​...พวก​ท่าน​ได้​รับ​การ​ไถ่​ออก​จาก​การ​ดำ​เนิน​ชีวิต​ที่​ไร้​สาระ ซึ่ง​ตก​ทอด​มา​จาก​บรรพ​บุรุษ​ของ​พวก​ท่าน ไม่​ใช่​ไถ่​ด้วย​สิ่ง​ที่​เสื่อม​สลาย​ได้​เช่น​เงิน​หรือ​ทอง แต่​ด้วย​พระ​โลหิต​ล้ำ​ค่า​ของ​พระ​คริสต์ ดัง​เลือด​ลูก​แกะ​ที่​ไร้​ตำหนิและ​ไร้​จุด​” (1เปโตร 1:18-19 มตฐ.)

การเรียนรู้ และ ฝึกวินัยชีวิตในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะสามารถจัดการด้วยตนเองได้   แต่เป็นเรื่องหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ในชีวิตประจำวันเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ “คนที่ไม่น่านับถือ”   ด้วยพระเมตตาของพระเจ้าที่เสริมสร้างเราให้มีพลังชีวิตที่รัก เมตตา และเสียสละเยี่ยงพระคริสต์บนกางเขน   การเสริมสร้างนี้เป็นการเสริมสร้างตามแผนการของพระองค์ที่ทรงมีในชีวิตของเราแต่ละคน   และพระราชกิจนี้ใช้เวลาครับ

ใช่ครับ... การที่ต้องทำงานกับ “คนที่ไม่น่านับถือ” พวกนี้วันแล้ววันเล่าเป็นโอกาสที่พระเจ้าจะเสริมสร้างเราแต่ละคนให้เป็นคนรับใช้ของพระองค์ที่พระองค์จะใช้เราได้อย่างเกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์ครับ   และก็เป็นวิถีทางหนึ่งที่พระองค์จะทรงสำแดงความรักเมตตาและปลดปล่อย “คนที่ไม่น่านับถือ” คนนั้นจากบ่วงแร้วของความบาปชั่ว...   โอ้โฮ...งานใหญ่และทรงคุณค่านะครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499