คำพูด...ส่อสื่อถึงจิตใจของคนพูด
พระคริสต์มิได้
“บ่มเพาะชีวิตสาวก” ด้วยคำเทศน์ คำสอน หลักข้อเชื่อ และ
การประกอบกิจในคริสตจักรเท่านั้น
แต่พระองค์ทรงใช้แบบอย่างการดำเนินชีวิตของพระองค์ พร้อมกับการกระตุ้นให้สาวกได้คิด
และท้าชวนให้เขาต้องตัดสินใจให้ปฏิบัติชีวิตสาวกของพระองค์ในชีวิตประจำวัน ในทุกบริบทสถานการณ์ชีวิต
ข้อเขียนตอนนี้เป็นตอนที่
4 ในบทความเรื่อง ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์
“บ่มเพาะ” ในชีวิตสาวก
“...ด้วยว่าปากนั้นพูดสิ่งที่มาจากใจ
คนดีก็เอาของดีมาจากคลังแห่งความดีในตัวของเขา
คนชั่วก็เอาของชั่วมาจากคลังแห่งความชั่วในตัวของเขา” (มัทธิว 12:34-35
มตฐ.)
คำพูดมิเป็นเพียงการสื่อสารกันในสังคมมนุษย์เท่านั้น แต่คำพูดนั้นส่อสื่อออกมาถึงฐานคิด
ความรู้สึก และส่วนลึกแห่งจิตใจของคน ๆ นั้น และเมื่อนำเอาคำที่พูด
กับการกระทำที่แสดงออกมาเทียบเคียงกัน
เราก็จะได้รู้ถึงสภาพจิตใจของคน ๆ นั้นได้เป็นอย่างดี
คำพูดถูกกลั่นกรองจากเจตนาที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ดังนั้น คำพูดจึงออกมาพร้อมกับพลังแห่งเจตนา ย่อมมีพลังที่จะทำให้ก่อเกิดสิ่งดี หรือ สิ่งร้าย ย่อมมาจากความปรารถนาดีหรือการปรารถนาร้าย บางครั้งดูเหมือนเป็นคำพูดธรรมดา หรือบางครั้งทำเหมือนพูดเล่นกัน
แต่ก็สามารถที่จะทำร้ายทำลายความรู้สึกจนถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน หรือ อาจจะเสริมสร้างความเข้าใจ และ
ให้กำลังใจกันและกันก็ได้
การหลงเข้าไปอยู่ใต้อำนาจในความผิดบาปที่ปรากฏในพระธรรมปฐมกาลครั้งแรกก็เกิดจากคำพูดที่
“หลอกลวง” ของอำนาจแห่งความบาปชั่ว
เพราะคำพูดสามารถกลั่นกรองมาจากฐานคิดแห่งความชั่วของอำนาจบาปชั่ว และสำแดงฤทธิ์เดชต่อคุณค่า ความหมาย
และการเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์โลกพร้อมทั้งสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง
ความอิจฉาตาร้อนก็ทำคน ๆ นั้นไม่สามารถพูดดีกับคนบางคน
และบางครั้งก็พูดหลอกลวงเพื่อหาโอกาสทำร้ายทำลายคนที่ตนอิจฉาไม่พอใจ อย่างเช่นคาอินทำกับอาเบล
ในคริสตจักรปัจจุบัน ก็ประสบกับพลังจากคำพูดของผู้คนในและนอกคริสตจักร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดของคนในคริสตจักรที่บางครั้งที่เป็นภัยเงียบบ่อนเซาะรากฐานความมั่นคงของคริสตจักรและความเชื่อศรัทธา คำพูดที่พูดความจริงเพียงครึ่งเดียวก็ไม่ต่างอะไรกับการพูด
“โกหก หลอกลวง” ซึ่งหมายถึงคำพูดที่พูดความจริงแต่บางส่วน
แล้วซ่อนเร้นความจริงในส่วนที่เหลือไว้
อาการเช่นนี้มักพบมากในพวก “เล่นการเมือง” ในองค์กร
ทำอย่างไรที่จะทำให้วงการคริสตจักร “ปลอด”
วิธีการของพวก “นักการเมือง” และคนในคริสตจักรต้องไม่ยอมตนให้หลงตกลงในกับดักคำพูดที่ว่าจะให้ผลประโยชน์เป็นตัวจูงใจ มิเช่นนั้นแล้ว คริสตจักรก็จะประสบกับการแบ่งขั้วแยกพวก ความแตกแยก
การชิงดีชิงเด่น
และในที่สุดก็นำไปสู่การกล่าวโทษ ทำร้ายทำลายในลักษณะต่าง ๆ
สาวกของพระคริสต์ต้องระมัดระวังใส่ใจในคำพูดของตน มิใช่ “พูด” เพื่อที่ตนจะ “ได้” อย่างใจปรารถนาของตนเท่านั้น แต่พูดด้วยใจเมตตากรุณา และ
พูดด้วยการให้ชีวิต
เพื่อให้เกิดชีวิตใหม่ในผู้คนที่เราพูดด้วย กล่าวคือ เกิดกำลังใจ เกิดการคิดใหม่ มุมมองใหม่ ความคิดใหม่ ความเชื่อใหม่ การตัดสินใจใหม่แก่ผู้คนรอบข้างเราวันนี้
หมายเหตุ: บทเรียนชีวิตเชิงปฏิบัติทั้ง 6 ประการผู้เขียนจะเสนอต่อจากนี้ในทุกวันๆละ 1 ประการ ตลอดสัปดาห์นี้
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย
เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น