27 กันยายน 2554

เทศนาเพื่อชีวิต...เทศนาเปลี่ยนความคิด?

นี่คงมิใช่อีกรายการหนึ่งที่วิ่งตามกระแสสังคม ที่มีอะไรต่อมิอะไรเพื่อชีวิต เช่น
บทเพลงเพื่อชีวิต
ละครเพื่อชีวิต
การศึกษาเพื่อชีวิต
กิจกรรมเพื่อชีวิต
ฯลฯ
แล้วนี่จะมาเติมอีกหัวเรื่องหนึ่ง "เทศนาเพื่อชีวิต..." เช่นนั้นหรือ?

คริสเตียนย่อมมีความคุ้นชินกับหลายๆ เรื่องในคริสต์ศาสนา หรือ ในคริสตจักร
เทศนาก็เป็นเรื่องที่เราท่านคุ้นชินอย่างมาก
ทุกวันอาทิตย์ในการนมัสการก็มีการเทศนา

นมัสการบ่าย เราก็มีการเทศนา แม้ว่าอาจจะเป็นการเทศนาฉบับย่อยลงก็ตาม
การพบปะในกลุ่มเล็กหลายต่อหลายคริสตจักรก็ยังเป็นการนมัสการพระเจ้าฉบับย่อ ก็เทศนาอีกเช่นกัน
แต่งงาน วันเกิด พิธีศพ ฯลฯ เราก็เทศนาอีกเช่นเคย
เทศนาจึงกลายเป็นกิจกรรมในคริสต์ศาสนาที่ติดอันดับ
ไม่วายที่หลายคนมานมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์ก็ตั้งอกตั้งใจมาฟังเทศนา
และศิษยาภิบาล ศาสนาจารย์ ส่วนมากที่ทุ่มเทจริงจังกับการเทศนา

คำถามที่ต้องการตอบชัดเจนคือ... แล้วเป้าหมายปลายทางของการเทศนา เราต้องการให้เกิดอะไรขึ้น?

ผมเชื่อว่าทุกคนต่างมีคำตอบ
หลายคนก็มีหลายคำตอบ
ต่างคนต่างก็มีคำตอบที่แตกต่างหลากหลายจากคนอื่น
แล้วท่านล่ะ... เป้าหมายปลายทางของการเทศนาท่านต้องการให้เกิดอะไรขึ้น?

สำหรับ ริก วอร์เรน (Rick Warren) แล้ว
เป้าหมายปลายทางของการเทศนาก็เพื่อให้ผู้ได้ยินได้ฟังคำเทศนาเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตน...
แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า แล้วกระบวนการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากการได้ยินได้ฟังคำเทศนานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ริก วอร์เรน (Rick Warren) ได้ให้การสัมภาษณ์ในวารสารการเทศนา (A Preaching Magazine)
ถึงเส้นทางขั้นตอนของการเทศนาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิต 10 ขั้นตอนที่น่าสนใจ

คริสเตียนเราเชื่อว่าชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้ และการเปลี่ยนแปลงมิได้เกิดจากเจ้าตัว หรือ นักเทศน์
ถ้าเช่นนั้นคำเทศนาเปลี่ยนแปลงชีวิตคนฟังอย่างไร?

ประการแรก พฤติกรรมทั้งสิ้นที่แสดงออกมาของคนเรานั้นตั้งอยู่บนฐานรากของสิ่งที่เขาเชื่อ ถ้ามีใครมาถามผมว่าทำไมคุณถึงทำเช่นนั้น คำตอบก็คือเพราะผมมีความเชื่อในบางสิ่งบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังของการกระทำของผม เช่น มีบางคนที่ต้องแยกทางหย่าร้างกับคู่ชีวิต นั่นแสดงว่าเขามีความเชื่อบางสิ่งบางประการอยู่เบื้องหลังการหย่าร้างในครั้งนี้ เขาอาจจะตอบว่า "ผมเชื่อว่า ผมจะมีความสุขมากกว่าถ้าเราเลิกที่จะอยู่ด้วยกัน" หรือ อาจจะมีสิ่งที่เขาคิดเขาเชื่ออื่นๆ ก็ได้ และถ้าใครคนหนึ่งมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส นั่นก็เพราะเขามีความคิดความเชื่ออยู่เบื้องหลังการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าว ในที่นี้เราต้องชัดเจนว่า ในทุกพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกย่อมมีความคิดความเชื่ออยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมนั้นๆ

ประการที่สอง ความบาปและอำนาจแห่งความบาปจะบิดเบือนและหลอกลวงความเชื่อแห่งพฤติกรรมชั่วที่แสดงออกมา หลักคิดนี้มีนัยสำคัญสำหรับการเทศนา เมื่อเราทำบาป ในเวลานั้นจะมีเสียงภายในบอกเราว่าสิ่งที่เราทำลงไปนั้นเป็นการกระทำที่ดีที่สุดในเวลานั้น เสียงนั้นทำให้เราคิดว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่เรากำลังหลอกตนเอง เมื่อเยาวชนของเราทำอะไรโง่ๆ ลงไป แต่เขากลับคิดและเชื่อว่าเขากำลังทำในสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่ความจริงเป็นพฤติกรรมที่โง่ๆ พระคัมภีร์บอกเราว่านั่นเป็นอำนาจแห่งความชั่วหรือเสียงของซาตานที่หลอกในความคิดความเชื่อของเรา

ประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมเริ่มต้นที่ความนึกคิดของคน หลักคิดหลักการนี้เราเห็นได้ชัดเจนตลอดคำสอนในพระคัมภีร์ เช่น การที่พระเจ้าตัดสินพระทัยล้างสังคมโลกในสมัยโนอาห์ ปฐมกาล 6:5 เขียนไว้ชัดว่า "พระยาห์เวห์...ทรงเห็นว่าเค้าความคิดในใจทั้งหมดของเขาล้วนเป็นเรื่องชั่วร้ายตลอดเวลา" (ฉบับมาตรฐาน) และในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ โรม 12:2 เขียนไว้ว่า "...จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจของท่าน..." พระคัมภีร์ได้สอนอย่างชัดเจนว่า เราคิดอย่างไรย่อมมีผลกระทบต่อความรู้สึกของเรา และเมื่อเรารู้สึกอย่างไรย่อมมีผลต่อการกระทำหรือพฤติกรรมที่เราแสดงออก เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตเริ่มต้นที่ความคิดความเชื่อของคน แต่การที่อำนาจความผิดบาปจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนเริ่มต้นที่การหลอกลวง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจึงเริ่มต้นที่ความคิดความเชื่อของคน

ประการที่สี่ การที่จะช่วยให้ชีวิตของผู้คนเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งแรกเราจะต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่ความคิดความเชื่อของคนๆ นั้น เราจะไม่พยายามเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่พฤติกรรมของเขา เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นที่ความนึกคิดของคน และด้วยเหตุนี้พระเยซูคริสต์ถึงตรัสว่า ท่านจะรู้สัจจะและสัจจะจะทำให้ท่านเป็นไท สัจจะจะช่วยปลอดปล่อยท่านหลุดออกจากการครอบงำทางความคิดความเชื่อของอำนาจแห่งความชั่วร้ายของซาตาน

ประการที่ห้า การที่พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงที่ความเชื่อความคิดของเขานั่นเป็นการสูญเสียเวลา ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ผมได้รับเรือลำหนึ่งในทะเลสาบ เรือลำนี้มีโปรแกรมควบคุมการขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยโปรแกรมตั้งไว้ให้เรือขับเคลื่อนมุ่งไปทางทิศเหนือ แต่ถ้าผมต้องการให้เรือมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ผมต้องหันเรือลำนี้กลับ 180 องศา ถ้าผมต้องการที่จะ "เปลี่ยนทิศทาง" (กลับทิศทางเรือ) ที่มุ่งไปผมมีสองทางเลือก ทางเลือกที่หนึ่งผมพยายามควบคุมและเปลี่ยนทิศทางการขับเคลื่อนของเรือโดยใช้พวงมาลัยเรือเพื่อบังคับให้เรือหันกลับไปทางทิศใต้ แต่ถ้าผมปล่อยพวงมาลัยเรือเมื่อใด เรือก็จะตีกลับมุ่งไปทางทิศเหนืออย่างเดิมตามที่โปรแกรมตั้งไว้ ผมจะต้องปล้ำสู้ ควบคุมพวงมาลัยเรือให้ได้ เกิดแรงต้านอย่างสูงเพราะโปรแกรมตั้งให้ไปทางทิศเหนือ แต่ผมกลับหมุนพวงมาลัยเรือให้ไปทางทิศใต้ ไม่ช้าไม่นานผมก็เหนื่อยอ่อน หมดแรง (ซึ่งเราเห็นตัวอย่างเช่นนี้ในชีวิตจริง เช่น คนตัดบุหรี่กลับไปสูบอีก คนที่ต้องการลดน้ำหนักกลับไปมีพฤติกรรมการกินอย่างเดิมหรือหนักไปกว่าเดิม เมื่อเกิดความเครียดเมื่อใดเขาก็กลับไปพึ่งเหล้าพึ่งเบียร์) ทางเลือกที่สองคือ ผมต้องเปลี่ยนโปรแกรมที่ตั้งไว้ให้เรือมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงควาามคิดความเชื่อของคน และนั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ถึงจะสามารถนำไปสู่การให้นาวาชีวิต "หันกลับ" ทิศทางที่จะมุ่งหน้าได้

ประการที่หก คำในพระคัมภีร์ที่มีความหมายตรงกับการเปลี่ยนแปลงทางความคิดความเชื่อคือ "การกลับใจเสียใหม่" (metanoia) ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อคิดถึง "การกลับใจ" มักจะคิดว่าเป็นการหยุดยั้งการกระทำชั่ว แต่นี่ไม่ใช่ความหมายของการกลับใจในคริสต์ศาสนา ถ้าท่านไปค้นคำอธิบายศัพท์พระคัมภีร์ (lexicon) ท่านจะไม่สามารถพบเลยว่า การกลับใจหมายถึงการหยุดการกระทำชั่ว ความหมายของ "การกลับใจใหม่" หรือ metanoia มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงความนึกคิด เรามีชีวิตในยุคของการเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงธุรกิจ และการเทศนาก็คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงความนึกคิดของคน คำว่า "การกลับใจใหม่" ในคริสต์ศาสนาอาจจะเทียบเคียงกับคำที่ใช้ในสังคมยุคปัจจุบันคือ "การเปลี่ยนกระบวนทัศน์" การกลับใจใหม่คือการเปลี่ยนแปลงที่รากฐานของกระบวนทัศน์ทีเดียว คือการที่ผมออกจากความมืดไปสู่ความสว่าง ที่จะออกจากความรู้สึกผิดไปสู่การรับการอภัยโทษ ออกจากความสิ้นหวังสู่ความหวัง ออกจากชีวิตที่ไร้เป้าหมายทิศทางไปสู่เป้าหมายใหม่ ออกจากการมีชีวิตด้วยตนเองเป็นชีวิตในพระเยซูคริสต์ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงลงลึกถึงรากของกระบวนทัศน์ และการกลับใจคือการที่เกิดการเปลี่ยนแปลงความนึกคิดของเราลงลึกถึงระดับความเชื่อและระบบคุณค่าในชีวิต

ประการที่เจ็ด การเปลี่ยนแปลงวิถีการกระทำของผมเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของผม ดังนั้น การที่เรานำให้ผู้คนได้มีความสัมพันธ์และสัมผัสกับพระวจนะของพระเจ้า ผมไม่สามารถกดดัน หรือ บีบบังคับให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดความเชื่อของเขา ใน 1โครินธ์ 2:13 กล่าวไว้ว่า "นี่คือสิ่งที่พวกเราพูด...ด้วยถ้อยคำซึ่งพระวิญญาณทรงสอน เป็นการสำแดงความจริงด้านจิตวิญญาณด้วยถ้อยคำฝ่ายจิตวิญญาณ" (อมตธรรม) ในที่นี้มีทั้ง "พระวจนะ" และ "พระวิญญาณ" ในการเทศนาของเรา คำเทศนามากมายในปัจจุบันมีองค์ประกอบทาง "พระวจนะ" แต่ขาดองค์ประกอบของ "พระวิญญาณ"

เราพูดถึงการต่อสู้ด้านจิตวิญญาณ ผมไม่คิดว่าการต่อสู้ด้านจิตวิญญาณศัตรูที่เราต่อสู้คือวิญญาณชั่วร้าย ผมคิดว่าเมื่อพระคัมภีร์กล่าวถึงสงครามทางจิตวิญญาณนั้นคือการโค่นล้มการยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเชื่อของคนเรา ใน 2โครินธ์ 10 เขียนไว้ว่า "...อาวุธที่เราใช้ไม่ใช่อาวุธของโลก แต่เป็นอาวุธที่เปี่ยมด้วยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าสามารถทำลายล้างที่มั่นต่างๆ ได้ เราทำลายล้างประเด็นโต้แย้งและคำแอบอ้างทั้งปวงที่ตั้งตัวขัดขวางความรู้ของพระเจ้า และเราสยบทุกความคิดให้ยอมจำนนเชื่อฟังพระคริสต์" (10:4-6 อมตธรรม)

ประการที่แปด การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตเป็นผลจากการกลับใจใหม่ โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลง การกลับใจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน แต่การกลับใจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการกระทำของชีวิต การกลับใจคือสิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดความเชื่อของเรา ดังนั้น จึงมิใช่เรียกร้องให้คนละทิ้งการกระทำผิดบาป ด้วยเหตุนี้ ยอห์นผู้ให้บัพติสมาจึงกล่าวว่า "จงเกิดผลให้สมกับการกลับใจใหม่" (มัทธิว 3:8 อมตธรรม) ทำไมเราถึงต้องเกิดผลในการกลับใจใหม่ของเรา? เพราะผลที่เกิดขึ้นจากการกลับใจใหม่คือการกระทำ คือพฤติกรรมของเราที่แสดงออกมา เปาโลกล่าวใน กิจการ 26:20 ว่า "...ข้าพระบาทประกาศว่าเขาควรกลับใจใหม่...และพิสูจน์การกลับใจใหม่ด้วยการกระทำของตน" ดังนั้น การกระทำมิใช่การกลับใจใหม่ แต่การกลับใจใหม่คือการที่เปลี่ยนความคิดความเชื่อ และการเปลี่ยนความคิดความเชื่อจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการกระทำและการดำเนินชีวิต

ประการที่เก้า การเทศนาที่ขุดลึกลงถึงรากของชีวิต คือการเทศนาให้เกิดการกลับใจใหม่ เป็นการเทศนาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลงลึกในความคิดความเชื่อของผู้ฟัง เป็นการเทศนาที่ตามด้วยการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง เป็นการเทศนาที่ชี้ชัดถึงความแตกต่างชัดเจน มากกว่าการเทศนาแบบผิวเผิน การเทศนาแบบผิวเผินมักเป็นการเทศนาที่มุ่งสอนเกี่ยวกับหลักข้อเชื่อ หรือ การตีความเกี่ยวกับหลักข้อเชื่อแต่ปราศจากการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือการเทศนาแบบเจาะลึกลงในเบื้องหลังของพระคัมภีร์ข้อนั้นๆ เป็นการเทศนาที่มีความรู้น่าสนใจแต่ไร้ซึ่งการประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิต การเทศนาคือการนำพระวจนะของพระเจ้ามาปรเะยุกต์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้ฟังในเรื่องชีวิต พระเจ้า อำนาจชั่ว เรื่องอนาคต เรื่องในอดีต เรื่องชีวิตของผู้ฟัง และพันธกิจในชีวิตของผู้ฟัง

เราจะเห็นว่าเรื่อง "การกลับใจใหม่" เป็นเรื่องแกนกลางของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ มัทธิว 3:2 ยอห์นผู้ให้บัพติสมาเริ่มเทศนากล่าวว่า "จงกลับใจใหม่เพราะอาณาจักรสวรรค์มาใกล้แล้ว" (อมตธรรม) และพระเยซูเองก็เทศนาว่า "จงกลับใจใหม่เพราะอาณาจักรสวรรค์มาใกล้แล้ว" (มัทธิว 4:17 อมตธรรม) ตลอดพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เราพบว่ามีการกล่าวถึงการกลับใจตลอดเล่ม ไม่ว่าจะเป็นสาวก เปโตร เปาโล จนถึงยอห์นผู้เขียนพระธรรมวิวรณ์

ประการสุดท้าย การที่จะเกิดผลจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการมีความคิดความเชื่อใหม่ที่ชัดเจน ที่มีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึก และท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเจตจำนงในชีวิต ทั้งสามสิ่งนี้ในคำเทศนาจะต้องได้รับการประยุกต์ให้ใช้ได้จริงในชีวิต กล่าวคือในการเทศนาที่นำมาถึงการเปลี่ยนแปลงมีสามมิติด้วยกันคือ ความรู้ อารมณ์ความรู้สึก และการกระทำ และผู้เทศนาจะต้องเป็นคนที่ไวต่อความรู้สึกของผู้ฟัง เพราะในบางครั้งบางคนก็ต้องการการปลอบประโลม ในขณะที่บางคนต้องการการท้าทาย และนักเทศน์มักพลาดในการที่จะรู้เท่าทันความรู้สึกต้องการของผู้ฟัง

จุดอ่อนประการสำคัญในการเทศนาของเราในทุกวันนี้คือ การที่นักเทศนาจะท้าทายความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ฟังอย่างถ่อมสุภาพ นักเทศน์หลายคนเก่งในการตีความพระวจนะ บางคนเก่งในการประยุกต์ใช้พระวจนะในชีวิตประจำวัน แต่นักเทศนาส่วนมากจะไม่เต็มอกเต็มใจนักที่จะยืนขึ้นเรียกร้องให้ผู้ฟังกลับใจใหม่ เราน่าจะเทศนาและท้าทายให้ผู้ฟังให้กลับใจใหม่ทุกวันอาทิตย์ แต่เราอาจจะไม่ต้องใช้คำว่ากลับใจใหม่ แต่ใช้คำที่คนสมัยนี้ฟังแล้วเข้าใจง่าย อาจจะท้าทายให้ผู้ฟังได้เปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ หรือ ให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในชีวิต ข่าวดีแห่งพระกิตติคุณในทุกวันอาทิตย์นำไปสู่การท้าทายว่า คุณพร้อมจะเปลี่ยนความคิดของคุณหรือไม่? คุณต้องการเปลี่ยนจากวิธีการคิดแบบเดิมของคุณไหม?

วิถีชีวิตของผู้คนในทุกวันนี้ตกอยู่ในความสับสนมืดมน ชีวิตฉีกขาดและแตกเป็นเสี่ยงๆ ถ้าคำเทศนาของเราไม่มีข่าวสารให้กลับใจใหม่ นั่นคงไม่ใช่คำเทศนา เพราะไม่ว่าคุณจะปรุงแต่งคำเทศนาของคุณด้วยอะไรก็ตาม เป้าหมายปลายทางที่การเทศนาต้องการให้เกิดขึ้นคือ การที่ผู้ฟังจะเปลี่ยนความคิดความเชื่อ และความคิดความเชื่อใหม่ก็จะควบคุมส่วนอื่นๆ ของชีวิต และชีวิตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ อย่างแน่นอน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 กันยายน 2554 เวลา 11:27

    เรียนท่านอาจารย์ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง ทางกองบรรณาธิการข่าวคริสตชนพบว่า บทความที่ท่านอาจารย์เขียนมีประโยชน์ยิ่ง และท่านอาจารย์ก็เป็นผู้ที่มีของประทานในการเขียนอย่างชัดเจน อยากขออนุญาตท่านอาจารย์นำบทความเหล่านี้เผยแพร่ผ่าน "ข่าวคริสตชน" เพื่อให้เป็นประโยชน์ในวงกว้าง ขอท่านอาจารย์โปรดพิจารณา

    ขอแสดงความนับถือ
    กองบรรณาธิการข่าวคริสตชน
    kaochristian1@gmail.com

    ตอบลบ