01 กันยายน 2554

ฤาถึงเวลาต้องปฏิรูปการอภิบาลในคริสตจักร?: ตอนที่ 6: ว่าด้วยผู้ปกครองผู้อภิบาลชีวิตคริสตจักร

ความรับผิดชอบของผู้ปกครอง

ในยุคการบริหารองค์กรเฟื่องฟูมักมอง “ผู้ปกครองคริสตจักร” แยกออกจากส่วนพันธกิจการอภิบาลชีวิต คริสเตียนกระแสหลัก คริสตจักรปัจจุบันส่วนใหญ่มักมีความคุ้นชินในความคิดที่ว่า “ศิษยาภิบาล” คือผู้อุทิศทุ่มเทในการทำงานพันธกิจด้านจิตวิญญาณ (เช่น การอธิษฐาน การเทศนา การสอน ศาสนพิธีต่างๆ ฯลฯ) และมองว่า ผู้ปกครองและมัคนายกจะรับผิดชอบในงานที่ “ไม่ใช่ด้านจิตวิญญาณ” (เช่น การบริหารคริสตจักร ดูแลทรัพย์สิน งบประมาณ การเงินการทองของคริสตจักร ฯลฯ) นี่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่ชัดเจน และแสดงให้เห็นว่าคริสตจักรยอมให้อิทธิพลประเพณีและความคิดผิดๆ เข้ามาครอบงำพันธกิจการอภิบาลชีวิตในคริสตจักรของเรา

ความจริงก็คือว่าคำว่า “ศิษยาภิบาล” “ผู้ปกครองคริสตจักร” และ “ผู้ปกครองดูแล” ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ใช้แทนกันได้ ดังนั้น ผู้ปกครองคริสตจักรจึงมีความรับผิดชอบในการสอนและเลี้ยงลูกแกะของพระเจ้า (กิจการ 20:28) มีหน้าที่ในการเทศนาสั่งสอน (1ทิโมธี 5:17) มีการดำเนินชีวิตประจำวันที่ไร้ตำหนิ เป็นผู้ที่มีคุณธรรม ยึดมั่นในหลักคำสอนของพระคริสต์ เตือนสติด้วยคำสอนที่มีหลัก คัดค้านคำสอนที่ผิด พวกที่พูดมากไม่เป็นสาระ (ติตัส 1:5-9) ให้เลี้ยงลูกแกะ(สมาชิก) ที่อยู่ในความดูแลด้วยความเต็มใจไม่ใช่เห็นแก่ทรัพย์สิ่งของที่ได้มาโดยทุจริต เลี้ยงลูกแกะด้วยใจเลื่อมใสมิใช่ด้วยการใช้อำนาจกดขี่บังคับ และมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ดี (1เปโตร 5:1-4) ดังนั้น ผู้ปกครองจึงมิใช่มีบทบาทหน้าที่เข้าไปเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการคริสตจักร หรือ คณะธรรมกิจคริสตจักร เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารคริสตจักรเท่านั้น

อีกประการหนึ่ง ที่คริสตจักรได้มีการแบ่ง “ผู้ปกครองประจำการ” กับ “ผู้ปกครองนอกประจำการ” ไม่พบว่ามีคำสอนเช่นนี้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ เพราะเมื่อได้รับการมอบหมายจากพระเจ้าให้เป็นผู้ปกครองดูแลลูกแกะของพระเจ้าแล้วก็ควรจะถวายชีวิตทั้งสิ้นเพื่อกระทำตามพระราชกิจที่ทรงมอบหมาย และในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ไม่มีการแบ่ง “ผู้ปกครอง” ที่ทำหน้าที่การสอน กับ “ผู้ปกครอง” ที่ทำหน้าที่การบริหารจัดการองค์กร อย่างที่มีบางคริสตจักรเข้าใจและทำกัน

การคัดสรรผู้อภิบาล

คริสตจักรท้องถิ่นในยุคปัจจุบัน มักจะแสวงหาผู้รับผิดชอบการอภิบาลชีวิตคริสตจักรจากบุคคลนอกชุมชนคริสตจักรของตน โดยตั้งคณะกรรมการที่จะแสวงหาและเลือกสรรคนจากนอกชุมชนคริสตจักรเข้ามาเป็น “ผู้อภิบาล” ของตน ซึ่งแตกต่างตรงกันข้ามกับคำสอนและการปฏิบัติในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ที่มองว่า ผู้ที่จะสั่งสอนอภิบาลเลี้ยงดูลูกแกะในชุมชนคริสตจักรควรเป็นผู้ที่เลือกสรรจากคนในชุมชนคริสตจักรของตน ซึ่งเป็นคนที่ได้พิสูจน์ตนเองแล้วในการดำเนินชีวิต ในความเชื่อ และในการอุทิศตนแด่พระประสงค์ของพระเจ้า และแสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นผู้ที่มีของประทานในการอภิบาลเลี้ยงดูชีวิตของผู้คนในชุมชนด้วย ซึ่งเราจะเห็นว่า อัครทูตจะเลือกสรรคนในชุมชนคริสตจักรขึ้นมาเป็นผู้ปกครองดูแลชีวิตของสมาชิกในคริสตจักร (กิจการ 14:23; 2ทิโมธี 2:2; ติตัส 1:5)

น่าเสียดายที่คริสตจักรท้องถิ่นในยุคปัจจุบันไม่มีกระบวนการการคัดสรรและฝึกฝนผู้คนในคริสตจักรให้มีภาวะผู้นำในพันธกิจด้านการอภิบาลชีวิตผู้คนในชุมชนคริสตจักร ทำให้ต้องมุ่งมองหาผู้ที่จะมาทำหน้าที่รับผิดชอบอภิบาลชีวิตจากคนนอกชุมชนคริสตจักรของตน ในพระธรรม 1 ทิโมธี 3:1-7 และ ติตัส 1:5-9 กล่าวถึงคุณสมบัติ และ คุณธรรมของผู้ที่จะทำหน้าที่อภิบาลชีวิตคนในชุมชนคริสตจักรนั้น เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบจากการดำเนินชีวิตประจำวัน จากการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่าง ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบชัดเจนบุคคลภายนอกชุมชนคริสตจักรได้ละเอียดชัดเจนอย่างการตรวจสอบสังเกตใกล้ชิดคนที่เป็นคนหนึ่งในชุมชนคริสตจักรของตนได้

ศักดิ์และสิทธิในการประกอบพิธีมหาสนิท

คริสตจักรส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันมักสอนกันว่า ผู้ที่มีศักดิ์และสิทธิในการประกอบพิธีมหาสนิทคือบุคคลที่ได้รับการสถาปนาแต่งตั้งเป็นศิษยาภิบาลหรือศานาจารย์อย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่มิได้สอนหรือเสนอให้ทำเช่นนั้น การที่ตราหลักการปฏิบัติให้ผู้ที่ได้รับการสถาปนาอย่างถูกต้องเท่านั้นที่จะทำหน้าที่ประกอบพิธีมหาสนิทนั้นเท่ากับเป็นการปฏิเสธความเป็น “ปุโรหิต” ในชีวิตของผู้เชื่อแต่ละคนตามคำสอนในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ แต่พึงตระหนักเสมอว่า อาหารมื้อสุดท้ายที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสถาปนาขึ้นนั้นเป็นอาหารร่วมกันของชุมชนคริสตจักร มิใช่มื้ออาหารเฉพาะของ “ชุมชนนักบวช”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง
The Urgent Need For Reformation in Pastoral Ministry ของ Darryl M. Erkel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น