06 กุมภาพันธ์ 2555

ให้เวลา หรือ เสียเวลา?

ปัจจุบันเรามักพูดและได้ยินคำว่า “เสียเวลา” แต่ในหลายเรื่องเราไม่ได้เสียเวลาแต่เราต้อง “ให้เวลา” การเสียเวลาคือการที่ใช้เวลาไปอย่างไม่เกิดสาระประโยชน์อันใด แต่การให้เวลาคือการที่เอาเวลาที่มีอยู่ใช้ในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้เกิดขึ้นแม้จะต้องใช้เวลาที่มากขึ้นก็ตาม แต่นี่ไม่เป็นการเสียเวลา

แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่งานที่กำลังทำต้องหยุดชะงัก เราจะ “ให้เวลา” หรือ เราจะ “เสียเวลา” ช่วงนั้น เป็นสิ่งเราต้องตัดสินใจเลือก บ่อยครั้งเมื่อเรากำลังทำงานบนคอมพิวเตอร์แล้วเกิดเครื่องเสียลง ทำงานต่อไปไม่ได้ เราจะ “เสียเวลา” เช่น หยุดงานรอจนกว่าเครื่องซ่อมเสร็จแล้วค่อยว่ากันใหม่ อยู่เฉยๆ หรือไม่ก็หายใจทิ้ง ให้เวลาผ่านไปเป็นนาทีๆ หรือไม่ก็ไปนั่งดูทีวีเรื่อยเปื่อยรอจนเครื่องซ่อมเสร็จ หรือเมื่อไฟฟ้าดับเราทำงานไม่ได้ ตัดสินใจไปเดินห้างเพื่อ “ฆ่าเวลา” ที่มีอยู่ หรือบางครั้งไม่รู้จะทำอะไรดีในเวลานั้นเลยเปิดเน็ท ลุยท่องเน็ทอย่างไร้เป้าหมายเพื่อฆ่าเวลา

หรือเราจะยอม “ใช้เวลา” ผมเชื่อว่า “เวลา” เป็นของประทานจากพระเจ้าที่เราจะต้องใช้ของประทานนี้อย่างรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ในแต่ละช่วงเวลาเราคงต้องถามตนเองว่า เราจะใช้เวลาที่พระเจ้าประทานแก่เราอย่างไร เราคงไม่คิดที่จะทำตัวเอง “ฆ่าเวลา” ที่พระเจ้าประทานให้ไปวันหนึ่งๆ

ในที่นี้ผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ หยุดทำงานไม่ได้ ผมไม่ได้หมายความเช่นนั้น ยิ่งกว่านั้น เรายังต้องระวังและตระหนักว่า ทุกวันนี้หลายต่อหลายคนอยู่นิ่งอยู่เงียบไม่เป็น ต้องมีอะไรทำติดต่อกันอย่างไม่หยุดหย่อน เราต้องยอมรับว่ากรอบคิดของคนในปัจจุบันคิดเรื่องการทำงานจนลืมเรื่องการพักผ่อน และ การมีชีวิตที่สงบสันติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การใช้เวลา” ที่สงบ สันติ และสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ประทานเวลา แหล่งแห่งชีวิต และพลังชีวิตของเรา

วินัยการใช้เวลาส่วนตัวที่ใกล้ชิด ติดสนิทกับพระเจ้า

แต่เราก็ต้องสารภาพว่า บ่อยครั้งลึกๆ เมื่อเรามีเวลาที่จะใกล้ชิดติดสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เรารู้สึกว่า “เสียเวลา” เมื่อเราพบว่า ในเวลานั้นเราไม่มีจิตใจที่สงบ ที่ใกล้ชิดและสนิทกับพระเจ้าเลย ทำให้เรารู้สึกว่า “เสียเวลา” John Ortberg เคยกล่าวว่า บ่อยครั้งที่ผู้คนมักถามกันว่า เวลาที่เราจะเข้าใกล้ชิด ติดสนิท อยู่คนเดียวกับพระเจ้านั้น เราจะต้องทำอะไรและต้องทำอย่างไรบ้าง John Ortberg แนะนำว่า คนถามๆ ผิด เพราะอิทธิพลกระแสคิดคนในยุคทันสมัยจะคิดจะถามเช่นนั้น แต่คำถามที่ควรจะถามน่าจะเป็นว่า การใช้เวลาในการสงบติดสนิทและอยู่กับพระเจ้าคนเดียว “ไม่ต้องทำอะไรบ้าง” ต่างหาก

ในการที่เราจะใช้เวลาใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้ามี 2 ลักษณะด้วยกันคือ เราไม่ทำในสิ่งที่เราทำเป็นประจำในเวลาทั่วไป และเราเลือกทำในสิ่งที่เวลาทั่วไปเราไม่ได้ทำกัน

สิ่งที่ควรละหรือไม่ทำเมื่อเราแสวงหาการมีเวลาส่วนตัวติดสนิทกับพระเจ้า เช่น ให้ละเว้นจากการมีความสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งต่างๆ มุ่งที่จะใกล้ชิดสนิทกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัว ละเว้นออกห่างจากเสียงดังต่างๆ ที่กระตุ้นเร้าความสนใจของเรา แล้วมุ่งเพ่งดูถึงความสัมพันธ์ของตนที่มีกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ประเด็นสำคัญของการมีชีวิตส่วนตัวที่ติดสนิทใกล้ชิดพระเจ้า มิได้ขึ้นอยู่กับว่า “ฉันต้องทำอะไร” แต่ขึ้นอยู่กับว่า “ฉันต้องละเลิกและไม่ทำอะไร” และจะต้องออกไปจากสภาพที่มีเสียงและสิ่งที่เรียกร้องจากชีวิตและความสนใจของเรา สิ่งที่ทำให้จิตใจของเราเขว หรือ วอกแวก แล้วให้เพ่งพินิจว่า ชีวิตของเราอยู่ในสภาพเช่นไรบ้าง เมื่ออยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า

1. มีวินัยชีวิตที่อยู่คนเดียวกับพระเจ้า

ลักษณะแรกที่เราพบคือ ความเป็นไทหรือเสรีในชีวิตของเรา ภายหลังที่มีเวลาส่วนตัวใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้า ความคิดความเห็นของคนรอบข้างที่มองว่าเราเป็นคนเช่นไรกลับกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยลงไปทีเดียว เพราะผู้คนเหล่านั้นต่างมีสภาพชีวิตของเขาเอง และวันหนึ่งเขาก็ต้องตายจากไปพร้อมกับคำชื่นชมและคำวิพากษ์ของคนทั่วไปต่อการดำเนินชีวิตของเขา สิ่งนี้เป็นเครื่องเตือนใจผมเสมอเมื่อมีชีวิตส่วนตัวใกล้ชิดกับพระเจ้า แต่การที่ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัวผมได้สัมผัสและรู้สึกลุ่มลึกถึงสงบศานติที่เกิดขึ้นในจิตใจ พระคัมภีร์และการบันทึกประจำวันเป็นสิ่งที่ดี แต่มิใช่เรื่องจำเป็นในช่วงสงบศานติใกล้ชิดกับพระเจ้า

สิ่งแรกที่ไม่ควรลืมของการใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัวคือ ไม่ทำอะไรเลย (น่าสนใจมากครับ ในพระธรรมอพยพได้อธิบายถึง “วันสะบาโต” คือวันที่ไม่ทำอะไร...ในวันนั้นอย่ากระทำการงานใดๆ ไม่ว่าเจ้าเองหรือบุตรชายหญิงของเจ้า หรือทาสทาสีของเจ้า หรือแขกที่อาศัยในประตูเมืองของเจ้า อพยพ 20:10)

2. รำพึง ตรึกตรอง ใคร่ครวญ

ลักษณะที่สองของ “การใช้เวลาคนเดียวกับพระเจ้า” คือการฟัง รำพึง ตรึกตรอง และใคร่ครวญ ในเวลานี้ผมจะนำเอาเรื่องที่ห่วงหาอาทรมาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า มีทั้งเรื่องครอบครัว หรือ พันธกิจที่ทำ เช่น ผมห่วงใยลูกคนหนึ่งของผม ผมคิดถึงเรื่องความเข้มแข็งของทีมงาน ผมนำเอาความไม่มั่นใจว่าผมทำงานพันธกิจที่ผมรับผิดชอบให้ดำเนินไปอย่างดีเหมาะสมหรือไม่ ผมวางสิ่งเหล่านี้ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า จากนั้นผมจะใช้เวลาในการฟัง ในที่นี้โปรดเข้าใจว่า การนิ่งฟังเป็นการอธิษฐานแบบหนึ่งด้วย เป็นการอธิษฐานที่รวมเอาการคิด จินตนาการ และการถามจากใจของเรา สำหรับผมแล้ว บ่อยครั้งผมจะทูลขอสติปัญญาจากพระองค์ถึงก้าวต่อไปที่ผมควรที่เดินไป ในช่วงนั้นเมื่อได้รับการเปิดเผยผมจะเกิดความคิด ผมจะจดความคิดเหล่านั้นไว้ (คนแก่ขี้ลืมครับ) เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการกำหนดหรือปรับแต่งแผนงานแผนชีวิตของเราภายหลังได้

ในที่นี้กรุณาอย่าเอาเรื่องแผนงานไปยุ่งย่ามสับสนในการมีชีวิตคนเดียวกับพระเจ้า อย่าสับสนจนใช้เวลาที่อยู่คนเดียวใกล้ชิดกับพระเจ้ามาคิดวิเคราะห์ ใคร่ครวญ และวางแผนงาน เพราะเมื่อเราวางแผนงานเราคาดหวังผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำตามแผนนั้น แต่ในการที่เรามีชีวิตคนเดียวติดสนิทกับพระเจ้าเป็นช่วงเวลาที่เราปลดปล่อยให้ตนเองเป็นไท ปล่อยที่จะไม่ยึดติดกับสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นตามแผนงาน เพราะความกดดันจากสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นตามแผนงานนั้นปิดกั้นเราจากสิ่งที่พระเจ้าต้องการประทานแก่เรา แต่เมื่อผมรำพึง ตรึกตรอง และใคร่ครวญ ผมหวังอย่างยิ่งว่า พระเจ้าจะทรงเปิดเผย และ ทรงนำผมในเรื่องนั้นไปอีกก้าวหนึ่งตามพระประสงค์ และ แผนการของพระองค์ อาจจะตามผลิตผลของแผนงานหรือไม่ก็ได้

3. หนุนเสริมเพิ่มผลผลิต

ลักษณะที่สามของการ “ใช้เวลา” คนเดียวกับพระเจ้า เปรียบได้กับวัวนม สัตว์ 4 ขา เมื่อเราเพ่งพินิจ พิจารณาอย่างละเอียด ตลอดวันเราเห็นว่าวัวนมไม่ได้ให้ผลผลิตอะไรเลย แต่มันใช้เวลาชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าในการกินอาหาร แล้วยังใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงในการเคี้ยวเอื้อง ในแต่ละวันวัวแต่ละตัวใช้เวลาเพียงไม่เกิน 5-10 นาทีในการรีดนมที่วัวใช้เวลาเกือบ 24 ชั่วโมงในการผลิต แต่เราก็ประจักษ์ว่า วัวนมได้ผลิตนมเลี้ยงคนจำนวนมหาศาล

ในการผลิตนมวัว(แท้) เราไม่สามารถที่จะเร่งเวลาการผลิตได้ เพราะกระบวนการผลิตนี้ถูก “จำกัดความเร็ว”

ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่สร้างสรรค์และเกิดผลผลิต เราต้องมีเวลา “กินหญ้า” และ “เคี้ยวเอื้อง” เราต้อง “มุ่งมั่น” และ “ยืนหยัด” ในงานพันธกิจที่เราทำนั้น ยิ่งคนที่ใช้เวลา “ทุ่มเท” และ “ยืนหยัด” ในงานที่ทำนั้นมากเพียงไร คนๆ นั้นที่จะเสริมเพิ่มผลผลิตมากขึ้น คนเราสามารถที่จะผลิตกาแฟสำเร็จรูปได้ แต่การที่จะได้นมวัวแท้(จากฟาร์ม) เราจะต้อง “ใช้เวลา”

สำหรับผมแล้ว การที่เราจะเกิดผลิตผลในชีวิตเราต้องใช้เวลา และบางครั้งก็เป็นการใช้เวลากับสิ่งที่ผมชอบผมรักที่จะทำ ไม่ว่าการอ่านหนังสือที่ผมชอบ การปลีกวิเวกมีเวลาอยู่เงียบๆ การพูดคุยกับผู้คนโดยเฉพาะคนที่คนทั่วไปไม่สนใจ ตั้งคำถามดูเหมือนกวนประสาทที่เขาไม่ถามกัน ฟังเขาพูดกัน และ ฯลฯ ทำสิ่งเหล่านี้เพราะรักที่จะทำและอยากที่จะทำ ที่บางครั้งเรามองเห็นว่าเป็นการเสียเวลา

แล้วท่านล่ะครับ ท่าน “ใช้เวลา” หรือ “เสียเวลา” ในชีวิตอย่างไรบ้าง? ในความรู้สึกของท่าน ท่านได้ใช้เวลาอย่างเหมาะสมเพียงพอหรือไม่? ถ้าเราค้นพบว่า ชีวิตภายในของเรามีเสรีหรือความเป็นไท เราก็จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จำเป็นสำหรับการวางแผนงานแผนชีวิตของเรา และถ้าเราใช้เวลาในการบ่มเพาะอย่างสร้างสรรค์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราก็จะมุ่งมั่น ตั้งใจ ยืนหยัดที่จะใช้เวลาชีวิตกับสิ่งนั้น แต่ถ้าไม่เราคงจำเป็นต้องกลับมาคิดใหม่ว่าเราจะ “ใช้เวลา” อย่างสร้างสรรค์อย่างไรเพื่อจะไม่เป็นการ “เสียเวลา”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น