13 กุมภาพันธ์ 2555

เมื่อไม่มีสัญญาณจากพระเจ้า

ขอโทษค่ะ...ไม่มีสัญญาณจากหมายเลขที่ท่านเรียก

ผมได้ประสบกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ชีวิตของเขากำลังตกลงในหุบเหว “เงามัจจุราช” ผมได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญลึกๆ ในชีวิตของเขา เขาบ่นออกมาอย่างไร้เป้าหมายว่า...

ชีวิตของ “ฮา” (เป็นภาษาเมืองเหนือแปลว่า กู ที่เขาใช้คำนี้กับผมเพราะความสนิทสนม) ทำไมถึงตกต่ำถึงขนาดนี้
นี่ฮายังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะถึงก้นเหว
หุบเหวเงามัจจุราชของฮาไม่เหมือนของดาวิดว่ะ
ชีวิตฮาดิ่งลงอย่างไร้เป้าหมาย
และที่สำคัญคือ ฮารู้สึกได้เลยว่า พระเจ้าอยู่ห่างไกลจากฮาจนฮาเอื้อมไม่ถึง
ฮาพยายามอ่านพระคัมภีร์ แต่ในใจฮามีแต่ความสับสน วุ่นวาย อ่านไม่รู้เรื่อง ฮาเลยไม่อยากอ่าน
ฮาพยายามอธิษฐาน แต่ฮาก็ไม่รู้จะพูดกับพระเจ้าอะไรอีกแล้ว
ที่สำคัญคือฮารู้สึกว่า พูดไปก็ไม่มีใครฟัง พระเจ้าไม่รู้อยู่ที่ไหน

อ้ายพวก “เซนต์” (เขาหมายถึงพวกคริสเตียนที่ทำตัวดูบริสุทธิ์ มีชีวิตที่ดีตามความคาดหมายของคริสตจักรทั่วไป) มันคงพูดกันอย่างสะใจว่า จิตวิญญาณของฮามันอยู่ในค่ำคืนที่มืดดำสนิท (เขาหมายถึงจิตวิญญาณที่ตกในอำนาจแห่งความบาป)...

นี่เพื่อนผมคนนี้ใช้คำทางคริสต์ศาสนศาสตร์ ที่ นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขน มีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ท่านได้กล่าววลีที่ว่า “ค่ำคืนที่มืดมิดแห่งจิตวิญญาณ” (The Dark Night of the Soul) แต่ท่านมิได้ใช้ในความหมายเหมือนกับเพื่อนคนนี้ของผม ท่านหมายความว่า เป็นช่วงเวลาที่จิตวิญญาณจะเจริญเติบโตสูงสุด แต่แน่นอนครับที่จิตวิญญาณของหลายต่อหลายคนต้องประสบพบเจออย่างเพื่อนของผมคนนี้ก่อนที่จะพัฒนา เติบโต สู่ชีวิตจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง แต่เมื่อชีวิตจิตวิญญาณตกอยู่ในภาวะสับสนยุ่งเหยิง วุ่นวาย ไร้เป้าหมายที่เป็นหนทางนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเติบโตนี้ เขาต้องการเพื่อนสักคนหนึ่งครับ

ถ้าผมเป็นเหมือนเพื่อนคนนี้ เมื่อตกอยู่ในสภาพชีวิตอย่างเขา ผมต้องการเพื่อนที่ยอมรับผม เพื่อนที่ฟังผม(แม้ว่าการพูด บ่น ไม่เข้าท่าปานไหนก็ตาม) ผมต้องการเพื่อนที่อดทนกับผม เพราะในช่วงเวลาเช่นนั้นชีวิตจิตวิญญาณของผมมัน “เตลิด” อย่างไร้ทิศทาง ผมต้องการเพื่อนที่พยายามเข้าใจสถานการณ์ชีวิตของผม (แม้จะเข้าใจยากแค่ไหนก็ตาม) ผมต้องการเพื่อนที่อยู่กับผม (แม้ไม่รู้ว่าจะทำอะไรก็ตาม) เพียงอยู่เป็นเพื่อนของผมก็พอแล้ว เพื่อว่าเมื่อสถานการณ์ชีวิตถึงจุดหักเห เมื่อชีวิตถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างการที่จะตัดสินใจกลับไปเส้นทางชีวิตดั้งเดิม กับการเลือกที่จะเดินบนเส้นทางที่กำลังประสบความทุกข์ยากลำบาก ผมจะได้มีเพื่อนที่ประสานมือกันอย่างมั่นคงแน่นหนาสู่ทางแห่งการเติบโตในชีวิตจิตวิญญาณ ท่านรู้ไหมครับว่า มือของเพื่อนคนนั้นที่ประสานกุมแน่นมือผมในวิกฤติชีวิตเช่นนี้ แท้จริงแล้วคือพระหัตถ์ของพระคริสต์ พระกำลังจากพระคริสต์ที่ฉุด ลาก และนำผมไปในทางของพระองค์ มันเป็นมือของเพื่อนที่พระหัตถ์ของพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของผม ผ่านชีวิตของเพื่อน ผ่านมือของเพื่อนครับ

สถานการณ์ชีวิตอย่างที่กล่าวข้างต้น เป็นชีวิตเหมือนที่พระเยซูคริสต์เปรียบเหมือนหญิงที่กำลังคลอดบุตร (ยอห์น 16:20-22 ฉบับมาตรฐาน)

“เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า
ท่านจะร้องไห้และคร่ำครวญ แต่โลกจะชื่นชมยินดี
พวกท่านจะเป็นทุกข์ แต่ความทุกข์ของท่านจะกลับกลายเป็นความชื่นชมยินดี
เมื่อผู้หญิงจะคลอดบุตร นางก็มีแต่ความทุกข์เพราะถึงกำหนด
แต่เมื่อคลอดบุตรแล้วนางก็ไม่คิดถึงความเจ็บปวดนั้นเลย
เพราะมีความชื่นชมยินดีที่มีคนหนึ่งเกิดมาในโลก...”

นอกจากจะต้องอุ้มท้องนานถึงประมาณ 9 เดือน บางคนแพ้ท้องบางคนกลับไม่แพ้ และเมื่อถึงช่วงเวลาที่จะคลอดบุตรเป็นช่วงเวลามรสุมชีวิต แม่ที่ตั้งครรภ์จะเจ็บท้องคลอด และเมื่อถึงจุดพลิกผัน เมื่อแม่เจ็บมากก็ต้องเบ่ง ใช้กำลังทั้งสิ้น “สุดแรงเกิด” เพื่อเบ่งให้ชีวิตใหม่เกิดมา ถ้าแม่ไม่ยอมเบ่ง หรือ แม่ไม่มีแรงเบ่งจะเป็นปัญหาหนึ่งของการคลอดลูก

ท่านเคยมีประสบการณ์ในห้องคลอดไหม ทั้งที่เป็นคนคลอดเอง หรือคนที่เป็นเพื่อนของคนที่จะคลอดลูก แต่ผมเคยอยู่ข้างเตียงเมื่อภรรยาคลอดลูกทั้งสองคน เมื่อถึงเวลาสุดยอดของการเบ่งให้ชีวิตใหม่เกิดมาในโลก ผมช่วยอะไรมากไม่ได้ แต่เอามือให้ภรรยาเกาะกุมไว้ ไม่ใช่เกาะกุมธรรมดาครับ แต่เมื่อเบ่งคลอด ภรรยาใช้มือผมเป็นที่ออกแรงเบ่งพร้อมบีบมือผมอย่างสุดแรงเกิดครับ นอกจากการเจ็บมือที่เราเองไม่สนใจ แต่เราเบ่งไปพร้อมกับคนคลอดลูกด้วยครับ ไม่ใช่เหงื่อของแม่ของทารกเท่านั้นที่ออกมาเป็นเม็ดโป้งๆ อ้ายเราคนอยู่ข้างเตียงคนคลอดเหงื่อก็แตกเปียกโชกไปด้วยเช่นกันครับ ทำให้ผมเข้าใจได้เลยว่า การเป็นเพื่อนที่ตกอยู่ในภาวะ “ค่ำคืนแห่งความมืดมิดของวิญญาณ” นั้นจะทำอะไรได้บ้าง จะเป็นเพื่อนแบบไหน

หลังจากการคลอดลูกคนแรกครั้งนั้น ผมมีโอกาสพูดคุยกับพยาบาลที่ทำคลอด ปรากฎว่ามีเรื่องราวมากมายในห้องคลอด ผมว่าน่าจะมีคนเขียน “เรื่องเล่าจากห้องคลอด” พี่พยาบาลท่านเล่าว่า เมื่อกำลังเจ็บท้องคลอดสุดขีด แม่บางคนพูดอะไรออกมาไม่รู้ตัว มีทั้งคำแช่งคำด่า คำอธิษฐาน และหลายต่อหลายคนมักจะบ่นว่าจะไม่ยอมตั้งครรภ์มีลูกอีกแล้ว คลอดลูกคนนี้ก็พอกันที แต่พี่พยาบาลเล่าต่อพร้อมทั้งเสียงหัวเราะเล็กว่า แล้วอีกสองปีก็พบว่าท้องโย้มาคลอดลูกอีกคนหนึ่ง

“เพื่อน” ที่อยู่ด้วยกับคนที่คลอดลูก เบ่งให้ทารกเกิดมาในโลกนี้แทนคนกำลังคลอดไม่ได้ครับ เบ่งแทนคนคลอดไม่ได้ครับ แต่เบ่งไปพร้อมกับคนคลอดได้ครับ! มือของเราเป็นที่กุมยึดและบีบของคนคลอดเมื่อเขาเจ็บครรภ์และเบ่งคลอดได้ครับ แต่เจ็บหน่อยนะครับ ในช่วงเวลานั้น ในบางกรณีต้องทนฟังคำที่กลั่นมาจากสุดแรงเกิดอย่างไม่ต้องคิดไม่ถือสาอะไรครับ ในหลายครั้งหลังคลอดแล้ว ผู้เป็นแม่ไม่รู้หรอกว่าตนเองบ่น ด่า สาปแช่ง หรือขอคำพรอะไรบ้าง แต่คำเหล่านั้นกลับค้างคาใจของเพื่อนผู้คลอด ทิ้งมันไว้ในห้องคลอดเถิดครับ หลายเรื่องหลายราวที่ดูเสียหายและดูไม่ดีเมื่อเพื่อนตกในภาวะสุดๆ ของ “ค่ำคืนที่มืดมิดแห่งจิตวิญญาณ” ให้ทิ้งไว้กับหุบเหวนั้น แต่ติดตามการเกิดมาของชีวิตใหม่ ความชื่นชมยินดีทั้งเม็ดเหงื่อ คราบน้ำตา ที่ใช้แรงจนหมดสิ้นแต่ยังสดชื่น

ทำให้เข้าใจในอีกแง่มุมมองหนึ่งของอุปมาเรื่องบุตรหาย (ลูกา 15:11-32 ฉบับมาตรฐาน) ที่พระเยซูคริสต์ทรงเล่า เมื่อบุตรคนเล็กชีวิตตกต่ำสุดๆ ไม่เหลืออะไรในชีวิต ทำผิดทำชั่วมากมาย รู้ว่าตนทำผิดต่อพ่อและทำผิดต่อพระเจ้า แต่เลือกที่จะกลับมาเผชิญหน้ากับความจริง และขอพึ่งพระคุณของพ่อ สิ่งที่พ่อตอบสนองคือ แทนการไต่สวนกลับวิ่งออกไปรับลูก แทนการบีบให้ลูกสารภาพสิ่งที่ทำผิดกลับวิ่งเข้าโอบกอดและจูบลูก(ที่สกปรกโสมม) แทนการแจกแจงความผิดที่กระทำและโทษที่ควรรับอย่างยุติธรรม กลับกลายเป็นการเตรียมงานเลี้ยงใหญ่ แทนการเปลี่ยนสถานภาพของการเป็นลูกไปเป็นอย่างอื่นเพราะนำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล กลับนำเอาเครื่องประดับมาสวมใส่ให้ใหม่ ทั้งนี้เพราะพ่อมีมุมมองว่า “เพราะว่าลูกของเราคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก หายแล้วแต่ได้พบอีก” วิกฤติชีวิตของบุตรคนเล็กกลับกลายเป็นความชื่นชมยินดี เพราะวิกฤตินำมาซึ่งชีวิตใหม่

เรื่องนี้มิได้จบเพียงแค่นี้ พระเยซูคริสต์เล่าต่อไปถึงบุตรคนโตที่อยู่กับพ่อที่บ้าน รับผิดชอบงานบ้าน กลับจากงานที่ทุ่งนา พอรู้เรื่องก็ “โกรธไม่ยอมเข้าบ้าน” (ข้อ 28) (ทำตัวเหมือนคนปัจจุบันเลย “ถ้าบ้านนี้มีผมต้องไม่มีน้อง ถ้ามีน้องต้องไม่มีผม”?) แต่พ่อออกมาหาเขาเหมือนอย่างที่พ่อออกไปหาลูกคนเล็ก แต่สิ่งที่สร้างความอัดอั้นโกรธแค้นคือ “ความผิดอย่างมหันต์ที่น้องทำกับครอบครัว” (ข้อ 29-30) แต่พ่อเสนอมุมมองใหม่ ซึ่งเป็นมุมมองแห่งพระคุณ คือ แทนที่จะมัวติดยึดกับการกระทำที่ผิดพลาด ยังเกาะกุมด้วยความเจ็บปวด แต่พ่อบอกให้ลูกคนโตว่า “นี่เป็นเรื่องที่เราสมควรจะชื่นชมยินดีและรื่นเริง เพราะน้องคนนี้ของลูกตายไปแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก หายไปแล้วแต่ยังได้พบกันอีก” (ข้อ 32)

ครับ อย่าให้เรามัวถูก “สิ่งที่ไม่ดีที่เพื่อนของเราแสดงออก” เมื่อชีวิตของเพื่อนที่ตกลงใน “ค่ำคืนที่มืดมิดแห่งจิตวิญญาณ” หรือ เหมือน “แม่ที่กำลังปวดเบ่งคลอด” ต้องเกาะกุมและกระตุ้นให้เราวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ในขณะที่เพื่อนของเราคนนั้นและคนอื่นกำลังชื่นชมยินดีและรื่นเริง เพราะเขากำลังเฉลิมฉลองกับชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้น

อย่างที่นักบุญยอห์นแห่งกางเขนบอกไว้ครับ นี่คือช่วงเวลาชีวิตของผู้ที่ตกลงในหุบเหวแห่งความมืดมิดของจิตวิญญาณที่จะพบกับพระคุณของพระเจ้าในชีวิตใหม่ ท่ามกลางความทุกข์ยาก เจ็บปวด สิ้นหวังของชีวิตจิตวิญญาณ ให้เราเป็นเพื่อนของผู้นั้นจนไปถึงเวลาแห่งการเกิดชีวิตใหม่ เวลาแห่งความชื่นชมยินดี เวลาแห่งการเติบโตแข็งแรง และที่จะนำสู่เวลาแห่งการเกิดดอกออกผล

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น