18 ตุลาคม 2556

ใครคือผู้รับใช้ของพระคริสต์?

อ่าน เอเฟซัส 4:11-16

11...พระ​องค์​เอง​ประ​ทาน​ให้​บาง​คน​เป็น​อัคร​ทูต
บาง​คน​เป็น​ผู้​เผย​พระ​วจนะ
บาง​คน​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ประเสริฐ
บาง​คน​เป็น​ศิษยาภิบาล​และ​อา​จารย์

12 เพื่อ​เตรียม​ธรรมิก​ชน(ประชากรของพระเจ้า) ​สำ​หรับ​การ​ปรนนิบัติ(พันธกิจการรับใช้)​และ​
การ​เสริม​สร้าง​พระ​กาย​ของ​พระ​คริสต์
(เอเฟซัส 4:11-12 มตฐ. ในวงเล็บเป็น อมต.)

ใครคือผู้รับใช้ของพระคริสต์?  อย่างที่เราทราบแล้วว่า   สมาชิกคริสตจักรส่วนใหญ่ต่างชี้ไปทางเดียวกันคือ ศิษยาภิบาล หรือ ศาสนาจารย์ว่าเป็น “ผู้รับใช้” หรือ คนใช้ของพระคริสต์  กล่าวคือคนที่รับใช้พระคริสต์อย่างเป็นทางการเช่น เป็นผู้นำในการนมัสการพระเจ้า  อธิษฐาน  เทศนา  ไปเยี่ยมเยียนคนที่เจ็บป่วย   ดูแลกิจกรรม โปรแกรมต่างๆ ของคริสตจักรที่ตนเป็นศิษยาภิบาล และ ฯลฯ   และนี่คือความเข้าใจของสมาชิกส่วนใหญ่ว่าใครคือผู้รับใช้ของพระคริสต์

แต่นี่มิใช่เป็นสัจจะความจริงเรื่องผู้รับใช้ของพระคริสต์ตามคำสอนในพระคัมภีร์   ให้เราศึกษาเจาะลึกลงในพระธรรมเอเฟซัส 4:11-12   ในพระธรรมตอนนี้ได้กล่าวว่า  ผู้รับใช้ของพระคริสต์คือใคร 

พระคัมภีร์ตอนนี้กล่าวว่า อัครทูต  ผู้เผยพระวจนะ  ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ   ศิษยาภิบาล และ อาจารย์(ครูผู้สอน)   เป็นผู้ทำหน้าที่ “งานรับใช้” ในคริสตจักรหรือ?   เขาเป็นคนที่ลงมือลงชีวิตขับเคลื่อนรับใช้ในพันธกิจของคริสตจักรหรือ?

คำตอบคือไม่ใช่แน่นอน  

ถ้าตอบตามเนื้อหาสัจจะในพระคัมภีร์ตอนนี้   ตามสำนวนอมตธรรมบอกเราชัดเจนว่า   บุคคลที่กล่าวมานี้มีหน้าที่  “เพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้าสำหรับงานรับใช้...” (4:12)   แต่ถ้าในฉบับมาตรฐานแปลว่า  “เพื่อเตรียมธรรมิกชนสำหรับการปรนนิบัติ(การรับใช้)...”  “ธรรมิกชน” ในตอนนี้แปลจากภาษาอังกฤษคำว่า “saints”  ในที่นี้ไม่ได้ได้หมายถึงคริสตชนที่มีคุณภาพชีวิตจิตวิญญาณที่สูงกว่าคนอื่น   แต่หมายถึงทุกคนที่ไว้วางใจในพระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดและมีพระองค์เป็นองค์เจ้าชีวิต (Lord) ของตน  

ดังนั้น ในอมตธรรมจึงแปลได้ชัดเจนว่า  เป็น “ประชากรของพระเจ้า”   คือทุกคนที่เป็นคนของพระคริสต์   ที่ได้รับการบ่มเพาะ  เสริมสร้าง  และฝึกฝนโดยศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรให้เป็นคนรับใช้ของพระคริสต์

บ่มเพาะ  เสริมสร้าง  และฝึกฝนในเรื่องอะไร?   ในฉบับอมตธรรมบอกว่า  เพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้า “สำหรับงานรับใช้”  คำว่า “งาน” ในที่นี้ภาษากรีกใช้คำว่า “ไดอาโคเนีย” (diakonia)  มีความหมายว่า “บริการรับใช้”  ซึ่งโดยทั่วไปมักแปลว่า “พันธกิจ” (ดู โครินธ์ 4:1;  5:18)   จึงมิได้บ่งบอกความหมายถึง “งานรับใช้และบริการ” อย่างชัดเจนตรงตามความหมาย

ดังนั้น   ตามสัจจะความจริงในเอเฟซัส 4:11-12   ศิษยาภิบาลและผู้นำของคริสตจักรจึงมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการ บ่มเพาะ เสริมสร้าง และฝึกฝน ประชากรของพระเจ้าในคริสตจักร หรือ คนของพระคริสต์เพื่อทำงานรับใช้บริการ หรือ พันธกิจการรับใช้  

ภารกิจหลักและความรับผิดชอบแรกของศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรมิใช่งานรับใช้ หรือ พันธกิจการรับใช้บริการ   แต่เป็นการบ่มเพาะ เสริมสร้าง และฝึกฝนให้สมาชิกแต่ละคน (ประชากรของพระเจ้า) ที่ได้รับการทรงเรียกให้เข้ามาร่วมในพระราชกิจของพระเจ้า   เพื่อให้ทำพันธกิจการรับใช้และบริการ  เพื่อร่วมกันเสริมสร้าง “พระกาย” คือคริสตจักรให้เข้มแข็งขึ้น

การที่เราเรียกผู้นำคริสตจักร และ ศิษยาภิบาลว่า “ผู้รับใช้”   มักสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า  ผู้นำคริสตจักรเหล่านี้เท่านั้นที่มีหน้าที่ในการทำพันธกิจการรับใช้  

ตามพระคัมภีร์ตอนนี้ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการทำพันธกิจการรับใช้คือ  สมาชิกคริสตจักรที่เป็นประชากรของพระเจ้าทุกคน  

ส่วนศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรคือผู้ที่ทำการบ่มเพาะ  เสริมสร้าง  และฝึกฝนประชากรของพระเจ้า(สมาชิกคริสตจักร) ให้เป็นคนรับใช้ในพันธกิจของพระองค์

ประเด็นใคร่ครวญ

1. ท่านคิดอย่างไรกับคำสอนในเอเฟซัส 4:11-12?
2. ความคิดแบบนี้เป็นความคิดใหม่สำหรับท่านหรือไม่?   เป็นความคิดที่ทำให้ท่านสับสนหรือ เป็นความคิดที่น่าตื่นเต้น?
3. ท่านมองว่าตนเองคือคนรับใช้ของพระคริสต์หรือไม่?
4. การที่มองว่าท่านเป็นคนรับใช้ของพระคริสต์มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของท่านหรือไม่?  อย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

2 ความคิดเห็น:

  1. จากที่อ่านมาสรุปได้คือ
    ผู้ที่ไว้วางใจในพระคริสต์คือผู้รับใช้
    ผมเข้าใจถูกมั๊ยครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ21 เมษายน 2566 เวลา 12:30

    ผู้ที่เป็นคริสเตียน คือ ผู้รับใช้ ถูกต้องไหมครับ

    ตอบลบ