02 ตุลาคม 2556

จิตใจผู้นำที่รับใช้

จิตใจเป็นรากฐานแห่งชีวิตจิตวิญญาณของผู้นำ  

จิตใจเป็นแหล่งแห่งพลังขับเคลื่อนความปรารถนาที่จะรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าและการรับใช้ในแผ่นดินของพระองค์  

คนส่วนใหญ่จึงรู้สึกถึงว่าการทรงเรียกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากก้นบึ้งแห่งจิตใจ

ขอตั้งข้อสังเกตในที่นี้ว่า   สิ่งที่ออกมาจากส่วนลึกแห่งจิตใจของเราบางครั้งก็เป็นความคิด หรือ มุมมองชีวิตที่เลวร้ายไม่ถูกต้อง   แม้ในเวลาที่กำลังกระทำพันธกิจคริสตจักรอยู่ก็ตาม  

เมื่อไม่นานมานี้  มีเรื่องเกิดกับเพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่ง เขาเป็นผู้นำในหน่วยงานหนึ่ง  เหตุการณ์ทำให้เพื่อนคนนั้นของผมถึงกับ “เสียเส้น” เสียความรู้สึกอย่างแรง   ผมคิดว่าพวกเราคงเคยมีประสบการณ์เช่นนั้นมาแล้ว   เพื่อนผมแสดงออกถึงอารมณ์ที่ชัดและแรงในเวลานั้น

คนที่ทำให้เพื่อนผมคนนี้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นมิได้อยู่ที่นั่นในเวลานั้น   ขอบพระคุณพระเจ้าที่เขาไม่ได้อยู่เมื่อเพื่อนผมแสดงอารมณ์ที่ชัดเจนรุนแรงเช่นนั้น เพราะในเวลานั้น วิญญาณที่ควบคุมจิตใจของเขามิใช่วิญญาณที่มาจากเบื้องบน   แต่เป็นวิญญาณแห่งความเป็นปรปักษ์ที่ต้องการหักล้างทำลาย   ในเวลานั้นเพื่อนผมรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายถูก   ถึงแม้ว่าเขาจะจัดการกับสถานการณ์นั้นไม่ค่อยเหมาะสมก็ตาม  

ในฐานะผู้นำเราต้องสำนึกและตระหนักชัดเสมอว่า   วิญญาณแห่งความเป็นปรปักษ์  มันซุ่มคอยทุกช่วงวินาทีที่จะเข้ามาควบคุมจิตใจจิตวิญญาณของเรา  และทำทุกวิถีทางที่จะทำลายการรับใช้พระเจ้าอย่างมีประสิทธิภาพของเราเสีย   และมักกระซิบอยู่ข้างหูของเราว่า   เป็นความชอบธรรมที่เราจะแสดงอารมณ์รุนแรงเช่นนั้น

แต่เมื่อรู้ตัว คิดได้ว่า  ตนเองตกอยู่ในภาวะผู้นำที่ “นอตหลุด”  สิ่งที่เพื่อนของผมทำคือ   กลับมาหาพระวจนะของพระเจ้า   เพื่อแสวงหาพระประสงค์ของพระองค์  และขอการทรงช่วยกู้และสร้างใหม่จากพระองค์  และมั่นใจในพระสัญญาของพระองค์  เพื่อเขาจะกลับเป็นคนที่จะรับใช้ในพระราชกิจของพระองค์ในสังคมโลกนี้ได้   ด้วยการอยู่ภายใต้การควบคุมของพระวิญญาณจากเบื้องบน

“ข้า​แต่​พระ​เจ้า ขอ​ทรง​เนรมิต​สร้าง​ใจ​สะ​อาด​ใน​ข้า​พระ​องค์และ​
ขอ​ทรง​สร้าง​จิต​ใจ​หนัก​แน่น​ขึ้น​ใหม่​ภาย​ใน​ข้า​พระ​องค์” (สดุดี 51:10 มตฐ) 

“ข้า​แต่​พระ​ยาห์​เวห์
ขอ​ทรง​สอน​พระ​มรร​คา​ของ​พระ​องค์​แก่​ข้า​พระ​องค์
เพื่อ​ข้า​พระ​องค์​จะ​ดำ​เนิน​ใน​ความ​จริง​ของ​พระ​องค์
ขอ​ทรง​รวม​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​เป็น​ใจ​เดียว
ให้​ยำ​เกรง​พระ​นาม​ของ​พระ​องค์”(สดุดี 86:11 มตฐ)

และพระวจนะของพระเจ้าสัญญาว่า...
“เราจะให้ใจใหม่แก่เจ้า และ
  เราจะบรรจุวิญญาณใหม่ไว้ภายในเจ้าทั้งหลาย
  เราจะนำใจหินออกจากเนื้อของเจ้า  และให้ใจเนื้อแก่เจ้า”
(เอเสเคียล36:26 มตฐ)

ในการเป็นผู้นำที่รับใช้  เราต้องตระหนักเสมอว่า   เราต้องรับใช้ก่อนแล้วค่อยนำ

เพราะจิตใจที่รับใช้   เป็นจิตใจที่ถ่อมลง  “ยอม” ที่จะฟัง  ยอมที่จะเอื้ออาทร  ยอมที่จะเข้าใจคนอื่น  ยอมที่จะให้   แล้วค่อยตามด้วยการนำที่มีความมุ่งหมายที่จะรับใช้คนอื่น

ตรงกันข้าม   ถ้าเราเป็นผู้นำที่ใช้การนำก่อน   เรามักหลงลืมตัวที่จะใช้อภิสิทธิ์อิทธิพลในการนำ   ทำตัวเหนือคนอื่น   คิดว่าตนมีอำนาจจะตัดสินใจได้   เราต้องการให้คนอื่นทำตามที่เราต้องการ   และถ้ามีการรับใช้เรามักผูกติดกับความเป็นบุญคุณที่เราทำบางอย่างเพื่อเขา   การเป็นผู้นำที่นำก่อนจึงละเลยจิตใจและจิตวิญญาณที่รับใช้   จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ผู้นำประเภทนี้ต้องการตำแหน่ง  หรือสิ่งค้ำเสริมหนุนให้ตนมีอิทธิพลเหนือคนอื่น 

เราต้องเรียนรู้จากแบบอย่างการรับใช้ของพระคริสต์ในทุกสถานการณ์   พระเจ้าทรงเลือกและเรียกเราให้เป็นผู้นำ   มิเพียงเพื่อให้เราเข้มแข็งและสามารถทำงานได้   แต่พระองค์ประสงค์ให้เรามอบทั้งกายและถวายทั้งชีวิตจิตใจทั้งสิ้นของเราแด่พระองค์   และเราต้องตระหนักชัดในทุกขณะจิตว่าเรากำลังทำงานและรับใช้ใครกันแน่?   ใครคือผู้ที่ควบคุมความเป็นไปในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น   ตัวเราเองหรือพระคริสต์?

ในพระธรรมโคโลสีเตือนเราให้ตระหนักชัดว่า

“ไม่ว่าพวกท่านจะทำสิ่งใด
ก็จงทำด้วยความเต็มใจเหมือนทำถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า
  ไม่ใช่เหมือนทำต่อมนุษย์   ท่านทั้งหลายก็รู้ว่า...
  ท่านกำลังรับใช้พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่”
(โคโลสี 3:23-24 มตฐ)

ประเด็นอภิปราย

1. ที่ว่ารับใช้ก่อนและนำทีหลังนั้นเป็นอย่างไรสำหรับท่าน?   ท่านตระหนักในสิ่งนี้เมื่อท่านทำพันธกิจหรือไม่  อย่างไร?

2. การเป็นคนรับใช้สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการทรงเรียกให้ท่านเป็นผู้นำอย่างไรบ้าง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น