07 ตุลาคม 2556

ผู้นำที่มีพลังดึงดูดคน

7 พระ​เยซู​กับ​พวก​สา​วก​ของ​พระ​องค์​จึง​ออก​จาก​ที่​นั่น​ไป​ยัง​ทะเล​สาบ   คน​จำนวนมาก​จาก​แคว้น​กา​ลิลี​ก็​ตาม​ไป​ด้วย รวม​ทั้ง​คน​จาก​แคว้น​ยูเดีย      8 จาก​กรุง​เยรู​ซาเล็ม​และ​จาก​อิดู​เมอา จาก​แม่​น้ำ​จอร์​แดน​ฟาก​ตะ​วัน​ออก และ​จาก​ดินแดน​รอบ​เมือง​ไท​ระ​และ​เมือง​ไซ​ดอน  ผู้​คน​มาก​มาย​เมื่อ​ได้​ยิน​ถึง​สิ่ง​ที่​พระ​องค์​ทรง​ทำ​นั้น​ก็​มา​หา​พระ​องค์  (มาระโก 3:7-8 มตฐ.)

อะไรที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากติดตามพระเยซู?

อะไรที่เป็นพลังในตัวของพระเยซูที่ดึงดูดผู้คนเข้ามาหาพระองค์?

ผู้นำทั้งหลายทุกวันนี้ต่างต้องการมี “เสน่ห์” มีบุคลิกที่จูงใจให้ผู้คนเข้ามาหาตนเอง   แต่คำถามมักอยู่ที่ว่า  แล้วเสน่ห์ที่ว่านั้น หรือ พลังดึงดูดคนอื่นให้เข้ามาหาตนเองนั้นจะมีได้อย่างไร   บ้างก็เข้าใจว่า  “เสน่ห์” หรือ “แรงดึงดูดผู้คนเข้ามาหาตน” นั้น   เป็นสิ่งที่บางคนได้รับมาตั้งแต่เกิด   นั่นก็หมายความว่าบางคนจะไม่มีสิ่งนี้   แต่ “เสน่ห์” หรือ “แรงดึงดูดคนอื่นเข้ามาตนเอง” นั้นเป็นบุคลิกลักษณะหนึ่งในตัวคนเราแต่ละคน   จะเด่นหรือด้อยในเรื่องนี้เกิดจากการที่เจ้าตัวเลือกว่าตนจะเป็นคนแบบไหนอย่างไรมากกว่า   หรือกล่าวฟันธงก็คือว่าเป็นบุคลิกที่สามารถพัฒนาได้ครับ

“เสน่ห์” หรือ “พลังดึงดูดผู้คนเข้าหาตนเอง” นั้นเป็นสัมพันธภาพของทั้งผู้นำและผู้พบเห็น   เวลาใดที่บุคลิกลักษณะของผู้นำเป็นที่ถูกตาต้องใจของคนรอบข้าง  เขากลายเป็นคนที่มีเสน่ห์แก่ผู้คนที่พบเห็น   นั่นหมายความว่า “พลังดึงดูด” ดังกล่าวเกิดจากบุคลิกของผู้นำที่คนรอบข้างสัมผัสได้ว่า “เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับตน   เป็นบุคลิกที่ตนชื่นชอบ   เป็นบุคลิกที่ไม่เห็นแก่ตัวแต่มีจิตเมตตาเอื้ออำนวยคุณค่า และ คุณประโยชน์แก่ผู้อื่นรอบข้าง   เป็นผู้นำที่มีบุคลิกมั่นคงบนจุดยืนชีวิตของตนเอง   มีอารมณ์ที่หนักแน่น   ยอมรับคนอื่นตามที่เขาเป็นแม้จะไม่ได้เป็นคนสมบูรณ์พูนพร้อมตามที่ตนต้องการก็ตาม

พระคัมภีร์ตอนนี้บอกว่า “...ผู้คนมากมายเมื่อได้ยินถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทำนั้นก็มาหาพระองค์” (ข้อ 8)   การกระทำของพระเยซูคริสต์เป็นพลังดึงดูดให้ประชาชนติดตามพระองค์   ลักษณะเด่นประการแรกของพระเยซูคริสต์คือ   พระองค์ทรงมีชีวิตที่เคียงข้างคนต่ำต้อยยากจนเจ็บป่วย   พระราชกิจของพระองค์ทรงกระทำแก่คนเล็กน้อยด้อยค่าที่คนมีอำนาจปฏิเสธ   เป็นกลุ่มคนที่ถูกกีดกันออกจากสังคม   ออกจากชุมชนศาสนายิวในเวลานั้น  และนี่คือเสน่ห์ที่ดึงดูดใจคน  

แต่ตรงกันข้ามกลับกลายเป็น “แรงผลัก” ให้ผู้คนที่รู้สึกว่าพระองค์เป็นภัยอันตรายต่อความมั่นคง  เด่นดังในชีวิตของตนให้ห่างไปจากพระองค์   อย่างเช่นพวกฟาริสี   พวกที่ปากบอกว่าไม่ชอบการเมืองอย่างพวกโรมัน   แต่คบค้ากับพวกนักการเมืองที่หากินกับศาสนาอย่างพวกของเฮโรด   แล้วทำตัวแบบนักการเมืองในสภา(ศาสนา)ซันเฮดริน  พวกเขาจึงหาช่องทางที่จะฆ่าพระเยซูเสีย  เป็นต้น

ลักษณะเด่นของพระเยซูคริสต์ประการที่สองคือ   การกระทำของพระองค์เป็นการกระทำจากจิตใจที่รักเมตตาที่สวนกระแสกับคำสอนของพวกผู้นำศาสนายิวในเวลานั้น   พระเยซูทรงมีจิตใจที่รักเมตตาแก่ทั้งคนดีและคนเลวบาปชั่ว   พระองค์ทรงให้โอกาสชีวิตแก่ทุกคนที่มาสัมพันธ์และสัมผัสกับพระองค์   และนี่จึงเป็นแรงดึงดูดผู้คนมากมายให้เข้ามาหาและติดตามพระองค์   เพราะเขาสำนึกในพระคุณทั้งๆที่เขาไม่สมควรจะได้รับโอกาสใหม่ในชีวิต   ทั้งนี้เพราะพระองค์มีจิตใจรักเมตตาเยี่ยงพระบิดา  “...เพราะ​ว่า​พระ​องค์(พระบิดา)​ทรง​ให้​ดวง​อาทิตย์​ของ​พระ​องค์​ขึ้น​ส่อง​สว่าง​แก่​คน​ดี​และ​คน​ชั่ว​เสมอ​กัน และ​ให้​ฝน​ตก​แก่​คน​ชอบ​ธรรม​และ​คน​อธรรม” (มัทธิว 5:45)

ลักษณะเด่นของพระเยซูคริสต์ประการที่สามคือ  ความถ่อมใจรับใช้คนอื่น   พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่แตกต่างจากผู้นำในสมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้นำในศาสนาหรือบ้านเมืองก็ตาม   พระองค์ปฏิเสธการเป็นผู้นำแบบเจ้านาย   แต่พระองค์ยืนหยัดการมีชีวิตผู้นำแบบคนใช้   ทรงยอมเป็นคนใช้ล้างเท้าสาวก  ทรงรับใช้แม้แต่คนต่างชาติ  สตรีต่างชาติต่างวัฒนธรรม  หรือแม้แต่คนที่ถูกตีตราไล่ออกไปให้พ้นจากสังคมของยิว เช่น  หญิงโสเภณี   คนโรคเรื้อน   คนถูกผีเข้าผีสิง  คนเก็บภาษี   แม้แต่โจรที่กางเขน

ลักษณะเด่นของพระเยซูคริสต์ประการที่สี่คือ   ความกล้าหาญที่กล้าเสี่ยงและท้าทายสิ่งที่ผิด   พระองค์กล้าที่จะสวนกระแสการตีความพระคัมภีร์ที่มีตามกระแสนิยมในเวลานั้น   ทรงท้าทายเรื่องคำสอนวันสะบาโตที่ไม่ให้ทำอะไรนอกจากประกอบศาสนพิธี   แต่พระองค์ท้าทายว่า  วันสะบาโตมีไว้เพื่อทำการดี   เป็นโอกาสในการช่วยชีวิตผู้คน   พระองค์ท้าทายต่ออำนาจผู้นำศาสนาในเวลานั้นว่า   ชีวิตของผู้คนที่พระเจ้าประทานให้นั้นสำคัญยิ่งกว่าศาสนาพิธี   ดังนั้น   ในวันสะบาโตคือวันที่จะกอบกู้และช่วยชีวิตของผู้คน

ลักษณะเด่นของพระเยซูคริสต์ประการที่ห้าคือ   พระองค์มีชีวิตเพื่อจะให้ชีวิตแก่คนอื่นรอบข้าง   มิใช่เพื่อจะปกป้องชีวิตตนเอง  ปกป้องงานของตนเอง  ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง  และปกป้องอำนาจ  ชื่อเสียงของตนเอง

ด้วยคุณลักษณะเช่นนี้ของพระคริสต์นี่เองที่เป็น “เสน่ห์” และ “แรงดึงดูด” ผู้คนมากมายติดตามพระองค์   

ในทางตรงกันข้าม   ภาวะผู้นำที่สร้าง “แรงผลักดัน” ผู้คนให้ออกห่างจากตนเอง คือ 

ภาวะผู้นำที่หยิ่ง ผยอง:   แน่นอนครับไม่มีใครอยากจะติดตามผู้นำที่คิดว่าตนเองดีเลิศประเสริฐศรีกว่าคนอื่นๆ

ภาวะผู้นำแบบไม้หลักปักขี้ควาย:  พวกเงียบเพราะ “ปากอมสาก”  ไม่พูดเพื่อรักษาตนเองให้ปลอดภัย   ไม่มีใครอยากตามผู้นำที่โลเล   ไม่มั่นคง  ไม่ชัดเจน แบบนี้

ภาวะผู้นำอารมณ์ร้าย:   ถ้าผู้คนไม่สามารถคาดหวังพึ่งพิงจากตัวผู้นำ   เขาเลิกที่จะคาดหวังทุกอย่างจากองค์กร

ภาวะผู้นำแบบตามจิกลูกน้อง:  คนเราต้องการผู้นำที่ติดตามงานแบบเข้าใจและเสริมสร้าง   แต่ไม่ต้องการผู้นำที่ติดตามงานแบบสร้างความกดดันแก่ลูกน้อง

ภาวะผู้นำเห็นแก่ตัว:   ทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จตนเอง   คิดทุกอย่างเพื่อปกป้องตนเอง   เมื่อผู้คนพบว่าผู้นำทำเพื่อตนเอง   เขาก็บอกกับตนเองว่า   แล้วเราจะเสียเวลาตามผู้นำแบบนี้ไปทำไม

ภาวะผู้นำที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบจากคนอื่น:   ไม่มีใครต้องการผู้นำที่คาดหวังว่าลูกน้องต้องเป็นคนสมบูรณ์แบบ   เพราะเราก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่า  ไม่มีใครที่จะเป็นคนสมบูรณ์แบบได้  และใครก็ไม่ต้องการถูกดดันให้ชีวิตและการทำงานต้องเครียดตลอดเวลา    แต่ผู้คนต้องการผู้นำที่พร้อมยอมรับตามที่แต่ละคนเป็น   และมีน้ำใจที่จะหนุนเสริมเพิ่มพลังพัฒนาชีวิตการงานไปสู่ความสมบูรณ์ด้วยกัน      

เราอาจจะต้องมีเวลานั่งลงสงบใจพิจารณาว่าเรามีภาวะผู้นำแบบไหน   มีภาวะผู้นำที่มี “เสน่ห์” และ “มีพลังดึงดูด” ผู้คนเข้ามาหาตนเอง   หรือ  มีภาวะผู้นำที่สร้างแต่  “พลังผลักดัน” ให้คนอื่นออกห่างไปจากตนเอง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น