06 กรกฎาคม 2554

เมื่อสำนึกตัวได้ว่า...

17เมื่อเขาสำนึกตัวได้ จึงพูดว่า 'ลูกจ้างของพ่อไม่ว่าจะมีมากสักแค่ไหนก็ยังมีอาหารเหลือเฟือ แต่ข้ากลับต้องมาอดตายที่นี่ (ลูกา 15:17)

อุปมาเรื่องบุตรหลงหายเป็นเรื่องที่คริสเตียนจำนวนมากรู้จักและชื่นชอบ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมและบ่งบอกถึงสัมพันธภาพที่พระเจ้ามีต่อเรา ซึ่งเป็นภาพที่ต่อยอดจากอุปมาเรื่องแกะหายและเหรียญหาย พระเยซูคริสต์ทรงพรรณนาถึงภาพความรักสูงสุดของพระเจ้า และทรงแสวงหาลูกของพระองค์ที่หลงหายด้วยความเมตตา

การเริ่มต้นคำอุปมาเรื่องบุตรหลงหาย ทำให้ผู้ฟังในเวลานั้นต้องตกใจถึงความอวดดีของบุตรคนเล็ก ที่เรียกร้องให้พ่อแบ่งสมบัติในส่วนที่เป็นมรดกของเขาทั้งๆ ที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่น่าตกใจมากกว่านั้นที่ผู้เป็นพ่อยินยอมทำตามที่ลูกคนเล็กเรียกร้อง เราคาดการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกคนเล็กได้ และเราคงไม่แปลกใจว่าในที่สุดชีวิตของเขาก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ยิ่งกว่านั้น เรายังรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นการยุติธรรมแล้ว ลูกคนเล็กได้รับผลที่เขาเองได้กระทำลงไป เป็นการลำบากอย่างยิ่งที่ผู้ฟังของพระเยซูคริสต์จะจินตนาการได้ว่าจะมีคนที่ชีวิตตกต่ำถึงขนาดต้องเป็นคนเลี้ยงหมู และคิดจะกินอาหารของหมู (บางคนอาจจะคิดสมน้ำหน้าในใจ)

เมื่อมาถึงเหตุการณ์ในจุดนี้ บุตรคนเล็กจึง “สำนึกตัวได้” (ตามรากศัพท์ในภาษากรีกมีความหมายตามตัวอักษรว่า “เขาคิดถึงตัวเองได้” “เขาได้คิด...และ...เขาคิดได้ว่า”) เราจินตนาการได้เลยว่าบุตรคนเล็กได้มองเห็นถึงตนเองที่ถูกขับไสไล่ส่ง เขาสามารถมองเห็นตนเองชัดเจนขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่มืดมน ลุ่มหลง และหลอกลวง เขาได้ทำให้ชีวิตของตนต้องยุ่งเหยิงสับสน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาต้องเสียดายสินทรัพย์ที่สูญเสียไป เสียใจในความสัมพันธ์ที่ฉีกขาด หดหู่ใจต่อความสูญเสียทางจริยธรรม และ จิตวิญญาณของตน

แม้ว่าในชีวิตของเราอาจจะไม่เคยต้องทำงานที่ต่ำต้อยเฉกเช่นการที่บุตรน้อยคนยิวต้องเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมลทินอย่างหมู หวังและรอคอยที่จะกินอาหารของสัตว์มลทินนั้น เมื่อชีวิตตกต่ำลงสุดๆ ก็คาดหวังที่จะอยู่รอดแม้ต้องทำสิ่งที่รู้ทั้งรู้ว่าเป็นมลทิน หลายคนก็มีประสบการณ์แห่งการ “สำนึกตัวได้” หรือ “คิดได้” เราเกิดความเสียใจที่ได้ตัดสินใจเลือกทำบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาด เรายอมรับถึงความผิดพลาดนั้นด้วยความรู้สึกเจ็บปวดอย่างจริงใจ ที่ชีวิตของเราได้ออกห่างจากชีวิตที่เราหวังจะเป็น แต่เมื่อใดก็ตามที่เรา “สำนึกตัวได้” ในเวลานั้นเองความสิ้นหวังได้ถูกทำลายลง และยังนำเราเข้าหาพระเจ้า เมื่อเราสำนึกถึงความอ่อนแอและความล้มเหลวในชีวิต เราพร้อมที่จะหันกลับมาหาพระองค์

ในชีวิตที่ผ่านมาท่านเคยมีประสบการณ์ของการ “สำนึกตัวได้” “ได้คิด...และ...คิดได้” หรือไม่? เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด? ในครั้งนั้นได้เกิดอะไรขึ้น? ในทุกวันนี้มีความจำเป็นหรือไม่ที่ท่านจะต้อง “สำนึกตัวได้”? เพื่อท่านจะได้หันกลับมาหาพระเจ้า เพราะความช่วยเหลือของพระองค์เท่านั้นที่จะหนุนเสริมเราได้

เมื่อเราได้มีเวลาที่จะสะท้อนคิดในเรื่องบุตรที่หลงหายในคำอุปมาที่พระเยซูคริสต์ได้เล่า เป็นโอกาสที่เราได้ทบทวน หรือ เตือนความทรงจำของเรา ครั้งเมื่อเราเคย “สำนึกได้ว่า” “คิดได้ว่า” ทำให้เราได้เห็นถึงความอ่อนแอในตนเอง และ การที่ถูกอำนาจของความชั่วครอบงำจนโงหัวไม่ขึ้น ทำให้เรายอมรับความล้มเหลวและความจำกัดในชีวิต

ในเวลาเดียวกันเมื่อเราสำนึกได้ในเวลาที่ชีวิตตกต่ำ ตึงเครียด โศกเศร้าเช่นนั้นว่า พระเจ้ามิได้ละทิ้งเรา แต่เป็นเวลาที่ทรงช่วยเราให้ “สำนึกตนได้” นั้นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเข้าใกล้ชิดพระองค์อีกครั้งหนึ่ง เราได้พบกับทางชีวิตใหม่ในพระองค์ การที่เราท่านยอมรับถึงความสิ้นหวัง จนตรอก สิ้นทางออกในชีวิตเป็นก้าวแรกของการยอมน้อมรับเอาพระคุณของพระคริสต์

แท้จริงแล้ว การที่เราสามารถ “สำนึกตัวได้” หรือ “การคิดได้” นั้น เป็นการทรงหนุนช่วยและการเปิดเผยของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และนี่คือก้าวแรกแห่งพระคุณที่ยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตของเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น