22 กรกฎาคม 2554

สร้างคน...สร้างระบบ...?

6คนเกียจคร้านเอ๋ย ไปหามดไป๊
พิเคราะห์ดูทางของมัน และจงฉลาด
7โดยปราศจากผู้หัวหน้า
เจ้าหน้าที่หรือผู้ปกครอง
8มันเตรียมอาหารของมันในฤดูแล้ง
และส่ำสมของกินของมันในฤดูเกี่ยว
9คนเกียจคร้านเอ๋ย เจ้าจะนอนนานเท่าใด
เมื่อไรเจ้าจะลุกขึ้นจากหลับ
10หลับนิด เคลิ้มหน่อย
กอดมือพักนิดหน่อย
11และความจนจะมาเหนือเจ้าอย่างคนจร
และความขัดสน อย่างคนถืออาวุธ
(สุภาษิต 6:6-11)

3เขาเป็นเช่นต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมธารน้ำ
ซึ่งเกิดผลตามฤดูกาล และใบก็ไม่เหี่ยวแห้ง
การทุกอย่างซึ่งเขากระทำก็จำเริญขึ้น
(สดุดี 1:3)

สมัยที่ผมเป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนสืบนทีธรรม เมื่อมีการฟื้นฟูและครูมาตอบคำถามในห้องเรียน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนถามคำถาม ปรากฏว่าไม่มีใครถาม ครูจึงให้นักเรียนเขียนคำถามลงในกระดาษเพื่อถามคุณครู ผมจำได้ว่า ผมเขียนถามไปว่า ผมจะเอาชนะความขี้เกียจได้อย่างไร? ทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องเป็นคนเกียจคร้าน? เมื่อครูอ่านคำถามหน้าชั้นเรียน นักเรียนในห้องพากันหัวเราะ ผมจำได้ว่า ครูตอบผมว่า “คำถามโลกแตก...”

เป็นเวลานาน ที่ผมไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการเกียจคร้านว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับด้านจิตวิญญาณอย่างแยกไม่ออก ผมมักคิดว่าถ้าจะแก้ไขความเกียจคร้านในตัวคน เราก็ควรพยายามที่จะพัฒนาตนเองให้มีนิสัยการทำงานให้ดีขึ้น มีแรงบันดาลใจในการทำงาน ทำงานทุ่มเทให้หนักขึ้น และทำงานให้มีประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น

สถาบันของเรา หน่วยงานราชการ ที่ทำงานขององค์กรเอกชนต่างประสบกับปัญหาที่คนทำงานในองค์กรทำงานแบบ “เช้าชามเย็นชาม” หรือไม่ก็ทำงานแบบทำตามหน้าที่ ขาดความกระตือรือร้น ขาดการทุ่มเท ขาดการจริงจังเพื่อให้ได้ผลผลิตในงานที่ทำให้มากขึ้น ซึ่งนักบริหารมักมองไปสาเหตุสองด้านคือ ระบบการทำงานที่ไม่สอดคล้องหรือเกื้อหนุนในการทำงานที่เกิดผลและมีประสิทธิภาพ ด้านเครื่องไม้เครื่องมือหรือด้านเทคโนโลยีในการทำงานอาจบกพร่อง จึงลงทุนมากมายมหาศาลในด้านนี้ แต่ผลที่ได้รับก็ไม่ดีไปกว่าเดิม ดังนั้น นักบริหารก็จะมองไปที่คนทำงาน อาจจะเกิดจากขาดแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจ จึงจัดการจ้างบริษัทพัฒนาบุคลากรเข้ามาทำการอบรมพนักงานและเจ้าหน้าที่ของตน จนแล้วจนรอดก็กลับเป็นในทำนองเดิมๆ ยิ่งสร้างระบบการประกันคุณภาพเพื่อกระตุ้นและให้เป็นแนวทางให้คนทำงานในองค์กรสร้างผลงานคุณภาพตามเป้าประสงค์ แต่ก็กลับพบว่ากลายเป็นภาระเพิ่มพูนภาระแก่คนทำงาน คนทำงานต้องด่าลับหลังว่า “พวกบริหารมันไม่มีอะไรจะทำแล้วหรือไง มัวแต่มานั่งคิดเปลี่ยนระบบประกันคุณภาพได้ทุกเดือนทุกอาทิตย์....” สิ่งที่คิดว่าใส่ลงไปเพื่อแก้ปัญหา และ พัฒนาคุณภาพกลับกลายเป็นโรคร้ายใหม่ในองค์กร และทำร้ายความไว้วางใจและความเชื่อถือของคนทำงานต่อผู้นำผู้บริหารองค์กร

แต่พระคัมภีร์มองเรื่องการไม่เกิดผลในชีวิตอย่างที่กล่าวข้างต้น มิได้มองว่าให้เสริมแรงกระตุ้น เพิ่มแรงบันดาลใจ หรือ เอาผลประโยชน์เข้าล่อเพื่อที่คนในองค์กรจะทำงานเกิดผลยิ่งขึ้น ภาพที่พระคัมภีร์ใช้ในที่นี้คือการเกิดผล แต่มิได้เน้นความสำคัญที่การทำงานมากมายซับซ้อน และมิใช่แม้แต่การสร้างกระบวนการที่จะทำให้เกิดผล

ในพระคัมภีร์กล่าวว่า คนที่เชื่อศรัทธาในพระเจ้า เป็นเหมือนต้นไม้ที่อยู่ริมธารน้ำแห่งชีวิต ต้นไม้นี้ไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานซับซ้อนยุ่งยาก วุ่นวาย อย่างเอาเป็นเอาตาย ต้นไม้เหล่านี้ไม่ต้องเข้าสัมมนาอบรมเชิงปฏิบัติการว่าจะทำอย่างไรที่จะเกิดผลดกคุณภาพดี ต้นไม้เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเติมคาเฟอินเพื่อกระตุ้นเอดรีนาลิน (adrenaline )ให้อยู่ในระดับเพียงพอ ต้นไม้ไม่ต้องรีบร้อนและเร่าร้อน แต่ในต้นไม้นั้นมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง สอดคล้อง เต็มกำลัง ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาจากภายนอกก็ตาม ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ต้นไม้รู้ว่าแหล่งอาหารที่จะบำรุงเลี้ยงดูต้นไม้อยู่ที่ไหน มาจากไหน แล้วต้นไม้นั้นจะหยั่งรากลงลึกในแหล่งการเลี้ยงดู ไม่จำเป็นต้องสู้ชิงและวุ่นวาย สิ่งสำคัญคือต้นไม้เรียนรู้ที่จะหยั่งรากลึกลงยึดแน่นในแหล่งอาหารที่เลี้ยงดูตนเอง

การหยั่งรากลงยึดติดแน่นในพระคริสต์คือวิธีการแก้ไขความเกียจคร้านเฉื่อยชาในชีวิตและจิตวิญญาณของเรา การหยั่งลึกยึดติดในพระคริสต์มิใช่ความพยายาม แต่เป็นการเข้าถึงแหล่งบำรุงเลี้ยง และ แหล่งฟื้นฟูชีวิตจิตวิญญาณของเราให้มีชีวิตฟื้นชื่นขึ้นใหม่ มีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ท่านจะเป็นคนเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อท่านเคยเป็นคนอ่อนแอมาก่อน
เมื่อท่านยอมจำนนต่อพระเจ้า ท่านก็จะค้นพบว่าพระองค์มีพระประสงค์อะไรในชีวิตของท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น