จากตอนก่อนที่ผ่านมา เราได้พบว่า
ความขัดแย้งในครอบครัวคือโอกาสที่จะขัดเกลาชีวิตแต่ละคนในครอบครัวให้มีชีวิตเป็นเหมือนพระคริสต์ และเป็นชีวิตที่ได้รับกำลัง การหนุนเสริม การเปลี่ยนแปลง
และการสร้างใหม่จากพระวิญญาณของพระเจ้า
ดังนั้น
ชีวิตของคนในครอบครัวจึงได้รับการขัดเกลาให้มีชีวิตที่เกิดผลตามพระวิญญาณ
(กาลาเทีย 5:22-24)
ตามกระแสโลกปัจจุบัน ใคร ๆ ก็ต้องการเป็นเอกเป็นต้น ตั้งแต่เรามีชีวิต เราต้องการมีอำนาจ เราต้องการที่จะเป็นผู้ควบคุม และเราต่างก็ปกป้องตนเองก่อน เมื่อเราอยู่ในภาวะแข่งขันกับคนอื่น หรือ เกิดความขัดแย้งกับใครบางคน
เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อน ?
แต่พระเจ้าทรงเรียกให้เราต้องให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อนตนเอง
นี่คือสิ่งที่พระคริสต์ได้สำแดงเป็นรูปธรรมแก่ประชาชนและสาวก
พระคริสต์บอกว่า
พระองค์มาในโลกนี้มิใช่เพื่อรับการปรนนิบัติ
แต่มาเพื่อที่จะรับใช้ผู้คนประชาชน
และที่สำคัญคือมาเพื่อที่จะให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะมีชีวิต เพราะพระองค์ทรงเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญในชีวิตของประชาชนคนอื่นทั่วไป จนยอมให้ชีวิตของพระองค์แก่ผู้คน
และนี่คือสิ่งที่พระเจ้าเรียกร้องให้เราเป็นและกระทำ!
ในพระธรรมเอเฟซัส
เปาโลได้กล่าวถึงการดำเนินชีวิตคริสตชนไว้หลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่เปาโลสอนว่า “จงยอมเชื่อฟังกันและกัน
เนื่องด้วยใจยำเกรงพระคริสต์” (เอเฟซัส 5:21 อมต.) เมื่อพูดถึงเรื่องการยอมเชื่อฟังเรามักคิดถึงความสัมพันธ์ของคู่สมรส
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภรรยาที่ยอมเชื่อฟังสามี
แต่พระธรรมตอนนี้เน้นให้ทุกคนในครอบครัวยอมเชื่อฟังกันและกัน และให้ทุกคนในครอบครัวใหญ่(คริสตจักร)ของพระเจ้าที่จะยอมเชื่อฟังกันและกันด้วยเช่นกัน
การที่เราจะยอมฟังคนอื่นได้ก็ต่อเมื่อเราให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อนตนเอง
ในฟิลิปปี 2:5-8 เปาโลสอนคริสตชนให้มีชีวิตตามแบบอย่างของพระคริสต์ พระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่ “โลก”
มากกว่าพระองค์เอง
“(พระเยซูคริสต์)...ผู้ทรงสภาพเป็นพระเจ้า
ไม่ทรงถือว่าความทัดเทียมกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่จะต้องยึดไว้
แต่ทรงสละพระองค์เองและทรงรับสภาพทาส
ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์
และทรงปรากฏอยู่ในสภาพมนุษย์
พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง
ทรงยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา
กระทั่งมรณาบนกางเขน”
(มตฐ.)
ถ้าเราจะมีชีวิตตามแบบพระคริสต์ หรือ
ถ้าเราต้องการติดตามพระองค์
เราต้องให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อน
และเมื่อเราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในครอบครัว ถ้าเราจะต้องให้ความสำคัญแก่คนอื่นในครอบครัวก่อน ท่านจะว่าอย่างไร?
จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้เท่าทันตนเองว่า
เรามักต้องการที่จะเป็นผู้มีอำนาจควบคุมความสัมพันธ์
แต่นั่นมักสร้างความเจ็บปวดในความสัมพันธ์
จำเป็นที่เราจะต้องมองคนอื่นว่าเป็นเพื่อนร่วมงานร่วมชีวิตมากกว่าคู่แข่งขัน
หรือ ศัตรูของเรา
เราต้องให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อน
ให้ความยอมรับนับถือในความรู้สึกและประสบการณ์ที่เขามี ให้เราทำหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้มีข้อยุติร่วมกัน
การยอม
การให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อน
คือการที่เราล้มเลิกเป้าหมายที่จะ “เอาชนะ” แต่กลับช่วยให้เกิดการแสวงหาข้อยุติร่วมกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ
การที่คนในครอบครัวเลิกที่จะตั้งตนเป็นผู้สำคัญที่สุด แล้วเลิกเข้าควบคุมความสัมพันธ์ในครอบครัว
แต่กลับหันหน้าเข้าหากันที่จะแสวงหาข้อยุติร่วมกันด้วยการให้ความสำคัญแก่คนอื่นในครอบครัวก่อน และนี่คือจุดเริ่มต้นที่แต่ละคนในครอบครัวที่จะนำพระพรให้แก่กันและกัน
มีข้อพระคัมภีร์ที่บอกถึงการรับมือกับความขัดแย้งหลายข้อหลายตอน
เช่น
“คำตอบนุ่มนวลช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไปแต่คำกักขฬะเร้าโทสะ”
(สุภาษิต 15:1 มตฐ.)
“อย่าทำชั่วตอบแทนชั่ว
หรืออย่าด่าตอบการด่า แต่ตรงกันข้าม จงอวยพร
เพราะพระองค์ได้ทรงเรียกให้พวกท่านทำเช่นนั้น
เพื่อพวกท่านจะได้รับพระพร” (1เปโตร 3:9 มตฐ.)
“จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่พวกท่านต้องการให้พวกเขาปฏิบัติต่อท่าน
เพราะนี่คือธรรมบัญญัติและคำสั่งสอนของบรรดาผู้เผยพระวจนะ”
(มัทธิว 7:12 มตฐ.)
ในทุกความขัดแย้งเรามีทางเลือกว่าจะให้เป็นพระพร
หรือ เป็นการสาปแช่ง
เราเลือกที่จะให้ความขัดแย้งขยายบานปลาย หรือ ให้เกิดศานติ ถ้าเรากระทำต่อคนอื่นด้วยความรักเมตตา แม้คนนั้นจะเป็นที่คนสร้างความเจ็บปวดแก่เราก็ตาม เราจะเป็นพระพรแก่เขา
และเราก็ได้รับพระพรสะท้อนกลับมาถึงตัวเราเองด้วย ไม่ใช่ง่ายที่เราจะเป็นคนที่มีใจเมตตา
การดำเนินชีวิตท่ามกลางสังคมที่แก่งแย่งแข่งขัน และสังคมที่มีแต่ความขัดแย้งชิงดีชิงเด่น การดำเนินชีวิตตามคำสอนพระมหาบัญญัติของพระคริสต์เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
และเมื่อเรายอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตในชีวิตของเรา พระองค์ก็จะทรงเปลี่ยนการกระทำที่ตอบโต้เอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามของเราด้วยการให้เกียรติและเคารพ พระเจ้าทรงอวยพระพรคนอื่น ๆ ผ่านชีวิตของเรา คำพูดที่เหน็บแนม
เสียดสี ถากถางก็จะสูญหายไปจากชีวิตของเรา
การปกป้องแต่ตนเองก็หมดไปจากเรา
แต่เรากลับมีความใส่ใจและหาความเข้าใจฝ่ายตรงกันข้ามมากกว่าการที่จะเอาชนะคะคาน
แสวงหาความเข้าอกเข้าใจด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา
เมื่อเราเป็นพระพรแก่ผู้คนในครอบครัว พระพรนั้นก็เป็นพระพรสำหรับครอบครัวของเรา
และครอบครัวของเราก็จะเป็นพระพรสำหรับผู้คนอื่น ๆ ได้ด้วย
ความขัดแย้งในครอบครัวจึงมิใช่ “ยาขม” ที่น่าเบื่อหน่ายอีกต่อไป
แต่กลับเป็นโอกาสที่เราจะกระทำตามการทรงเรียกของพระเจ้า และให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จเป็นรูปธรรมในชีวิตของเรา
อีกทั้งยังเป็นการนำพระพรมาถึงครอบครัว
และ คนอื่น ๆ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ
เป็นโอกาสที่เราจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น
วันนี้ท่านมองความขัดแย้งในบ้านด้วยมุมมองแบบไหน?
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น