17 กันยายน 2557

กลัวล้มเหลว: หลอมความล้มเหลวแล้วหล่อเป็นความสำเร็จ

แน่นอนครับ...คงไม่มีใครชื่นชมและมีความสุขกับความล้มเหลวที่ตนประสบ!   เพราะมันสร้างความเจ็บปวดแก่เราในทุกมิติของชีวิต   ไม่ว่านั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกหรือครั้งที่หนึ่งพันก็ตาม

ทำไมหรือ?   เพราะความล้มเหลวเป็นเหมือนของบูดเน่ากลิ่นเหม็นที่เราไม่อยากดม   มันเป็นเหมือนหนามที่แหลมคมที่เราไม่ต้องการถูกตำหรือทิ่มแทง   มันทำให้เรารู้สึกอายที่ล้มเหลว  มันสร้างความอึดอัดและยุ่งยากใจไม่น้อย   เมื่อพบกับความล้มเหลวมักตามด้วยความสิ้นหวังท้อแท้   และเราก็ไม่ต้องการคำวิพากษ์หรือการตัดสินจากคนที่รู้เห็นในความล้มเหลวของเรา

อย่างไรก็ตาม  การวิจัยแสดงเห็นว่า  การกลัวความล้มเหลวมักนำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่งและการหลีกเลี่ยงหลีกหนีจากสิ่งที่คนนั้นกลัวว่าตนจะล้มเหลว   การกลัวความล้มเหลวจึงขัดขวางการเติบโตในชีวิตจิตวิญญาณของเราในทุกการท้าทายใหม่   และเสียโอกาสการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่มีในชีวิตของเรา

ถ้าต้องการความสำเร็จในชีวิต   เราต้องเต็มใจยอมรับการล้มเหลว   แทนการกลัวความล้มเหลว

ทุกคนมีความกลัวได้   แต่อย่าให้ความกลัวเข้ามาครอบงำและควบคุมชีวิตจิตใจของเรา   ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองของเราต่อความกลัว

อีกมุมมองหนึ่ง ไม่ควรมองความล้มเหลวเป็นเหมือนปีศาจที่ซุ่มซ่อนตนในมุมมืดคอยสร้างสิ่งที่เลวร้ายแก่ชีวิตเรา   แท้จริงแล้ว  ถ้าไม่มีความล้มเหลว  เราก็จะไม่ได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ อีกมายในชีวิต   แทนที่จะมองความล้มเหลวเป็นความเลวร้าย   แต่ให้เรามองความล้มเหลวเป็นมิตรของเรา   เป็นมิตรที่มีความจริงใจสะท้อนให้เราเห็นตัวตนแท้จริงในบางแง่บางมุมให้เราได้เห็นตระหนักและหาโอกาสที่จะแก้ไขและพัฒนา  

ให้เรามาร่วมกันพิจารณาว่าเราจะก้าวย่างอย่างไรในความล้มเหลวที่เกิดขึ้นแก่เรา   ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุดจากความล้มเหลวในแต่ละครั้ง   แล้วสามารถเยียวยาความรู้สึกให้เข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุดเมื่อเราล้มเหลว   แล้วใช้บทเรียนจากความล้มเหลวครั้งนั้นในการดำเนินชีวิตในสถานการณ์ใหม่ ๆ ต่อไป

และนี่คือ 4 ก้าวย่างที่จะช่วยให้เราอยู่เหนือการกลัวความล้มเหลว

ก้าวย่างที่ 1:   ฟังเสียงสะท้อน (แต่อย่าให้เสียงนั้นเข้ามาควบคุมจิตใจของเรา)

มีจิตใจที่ขอบคุณต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์   ที่ใครคนนั้นยอมใช้เวลาของเขาที่พิจารณาการงานของเราแล้วแบ่งปันความคิดเห็นของเขาแก่เรา   และเราคาดหวังว่าคำวิพากษ์ของเขาจะเป็นประโยชน์ต่อเรา   ถึงแม้ครั้งแรกเมื่อเราได้รับคำวิพากษ์มิได้รู้สึกเช่นนั้นก็ตาม

ครั้งแรกที่ผมเริ่มเขียนบทใคร่ครวญ และ ข้อเขียนต่าง ๆ ลงในอินเตอร์เน็ท   ได้รับคำวิพากษ์จากคนใกล้ชิดถึงความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสิ่งที่ผมเขียน เช่น...

“สิ่งที่คุณเขียนความหมายกำกวม...”
“วันนี้มีที่สะกดผิด 5 ที่”
“ทำไมเขียนประโยคซ้ำซ้อน”
“คุณพิมพ์ตกอีกแล้ว”...

พอได้ยินความคิดเห็นและคำวิพากษ์เหล่านี้เป็นเหมือนถูกผึ้งต่อยเข้าที่หัวใจ   แต่ที่เขาบอกมาถูกทั้งนั้น   ครั้งแรกผมก็แก้ตัวในใจว่า   ก็ผมเป็นคนที่สะกดผิด พิมพ์ตก ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว   นี่ตรวจทานไปสองครั้งแล้วนะมันยังเกิดขึ้น (...ช่วยไม่ได้...)   แท้จริงแล้ว  ผมมันใจร้อนครับ “รีบเขียนรีบส่ง”   ต้องการให้มันขึ้นบนอินเตอร์เน็ทเร็ว ๆ และนี่คือสาเหตุที่เกิดการผิดพลาดตามคำวิพากษ์   ใช่สินะ บทความข้อเขียนของเราก็ไม่ได้มาตรฐานที่คนเขาจะอ่านกัน เมื่อใจสงบแล้วก็เริ่มแก้ไขในสิ่งผิดพลาดตามคำวิพากษ์

ผมเริ่มตั้งกติกาสำหรับตนเอง เช่น

ทุกข้อเขียนเมื่อเขียนเสร็จจะทิ้งไปอย่างน้อย 1 วัน   แล้วกลับมาอ่านตรวจทานแก้ไข เพิ่มเติมอย่างน้อยอีก 3 รอบ   และก่อนที่ข้อเขียนนั้นจะถูกส่งขึ้นเน็ทจะอ่านตรวจทานอีก 2 รอบ   ต่อมาภายหลังข้อเขียนที่จะนำไปลงซ้ำในบล๊อกจะมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ช่วยอ่านตรวจทานแล้วนำขึ้นบล๊อก

ผมได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาชิ้นงานที่ตนเองทำด้วยความรับผิดชอบ   ผมเริ่มเรียนรู้ในการเขียนในการนำเสนอที่ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น   และช่วยให้ผมพัฒนาในการมองสิ่งที่ติดลบให้เป็นแง่บวกที่เสริมสร้าง   ผมมีโอกาสพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผมให้เป็นความสามารถที่สร้างสรรค์จนกลายเป็นทักษะติดตัว

ขอบคุณคนใกล้ชิดคนนั้นที่ชี้ความล้มเหลวของผมด้วยความกล้าหาญหวังดีและจริงใจ   และผมได้เติบโตพัฒนาขึ้นในชีวิต

ก้าวย่างที่ 2:   ยอมออกเหงื่อในสิ่งเล็กน้อย

เรามักได้ยินคำเตือนว่า “อย่าไปเสียเหงื่อกับสิ่งเล็กสิ่งน้อย”   ซึ่งเป็นการเตือนให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยสมดุลภาพ   ไม่จุกจิกหยุมหยิมในสิ่งที่เราทำ    แต่คงไม่ใช่ในสถานการณ์นี้   เพราะการที่ไม่ใส่ใจในรายละเอียดมักทำให้งานของเราล้มเหลวหรือไปไม่ถึงเป้าหมาย  เมื่อสิ่งนี้เกิดเพิ่มมากขึ้นจะกลายเป็นสิ่งที่ผิดพลาดทำให้เรามองข้ามสิ่งที่สำคัญ  และการมองข้ามบางสิ่งที่สำคัญนี้เองที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการทำงาน   และเมื่อเกิดความล้มเหลวในงานที่ทำซ้ำบ่อยขึ้น   ย่อมเป็นการสร้างความกลัวต่อความล้มเหลว

ดังนั้น   การใส่ใจยอม “ออกเหงื่อ” ในสิ่งสำคัญเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม

อย่าสนใจเพียงเรื่องใหญ่ ๆ ที่เราผิดพลาด   แต่ต้องใส่ใจในเรื่องเล็กน้อยด้วย   เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะสูงขึ้นในการทำงานของเรา   เอาใจใส่ในรายละเอียด   มุ่งมองที่จะพัฒนาการงานที่ทำ   และเราจะได้ประสบการณ์ความสำเร็จในงานที่เราทำ   และเป็นการย้ำเตือนให้เราเรียนรู้และมั่นใจในความสำเร็จ   มากกว่ากลัวความล้มเหลว

ก้าวย่างที่ 3: วิเคราะห์เจาะลึกลงในสิ่งที่เราผิดพลาด

เมื่อเราต้องพบกับความล้มเหลวผิดพลาดของเรา   ให้เราค้นหาวิเคราะห์เจาะลึกสิ่งที่ล้มเหลวผิดพลาดนั้น   ด้วยการถามคำถามดังนี้
  1. ทำไมฉันถึงผิดพลาดล้มเหลวครั้งนี้?
  2. ฉันทำผิดที่ตรงไหนบ้าง?
  3. ครั้งหน้า ฉันจะทำให้ดีกว่าครั้งนี้ได้อย่างไรบ้าง?
  4. ฉันจะขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง(ในสิ่งที่ฉันทำล้มเหลวผิดพลาด)?

ให้เราบันทึกความล้มเหลวผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้   พร้อมกับคำตอบและความคิดที่ได้จากการวิเคราะห์เจาะลึก   บางท่านอาจจะรู้สึกมีจิตใจที่ห่อเหี่ยวที่ต้องมาเขียนในสิ่งที่ตนเองผิดพลาดจนล้มเหลว   แต่การที่เราต้องเขียนสิ่งที่ล้มเหลวที่เกิดขึ้น   และวิเคราะห์ถึงความผิดพลาดต่าง ๆ ที่ได้ทำลงไปจะช่วยทำให้เราเห็น “ความล้มเหลว” ดังกล่าวชัดเจนและอย่างเป็นระบบ   จะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจว่าทำไมถึงเกิดความล้มเหลว  และจะป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีกในครั้งหน้าได้อย่างไร   และนี่คือการวางรากฐานที่มั่นคงไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต

อย่ากล่าวโทษตนเองในสิ่งที่ตนกระทำผิด   เพราะการกระทำผิดและความล้มเหลวเป็นส่วนที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาและความก้าวหน้าในชีวิตของเรา   แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงความล้มเหลวและการกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมได้   ถ้าเราใส่ใจและวิเคราะห์เจาะลึกในสิ่งที่ผิดพลาดให้กลายเป็นการเรียนรู้ใหม่ของเรา   แล้วนำสิ่งที่เรียนรู้ลงสู่การจัดการความล้มเหลวและความผิดพลาดดังกล่าว   เพื่อเราจะหลอมความผิดพลาดแล้วหล่อให้เป็นความก้าวหน้า และ สำเร็จต่อไป

วิเคราะห์เจาะลึกความล้มเหลว   เรียนรู้และเข้าใจความล้มเหลว  ไม่กระทำซ้ำแต่ก้าวไปในทางใหม่สู่ความสำเร็จ

ก้าวย่างที่ 4:   ลงสนามแล้วลองใหม่อีกครั้งหนึ่ง

James Johnson กล่าวว่า “ตัวชี้วัดความสำเร็จของคุณ มิใช่วัดจากจำนวนครั้งที่คุณตกจากหลังม้า   แต่อยู่ที่เมื่อคุณตกจากหลังม้าแต่ยังลุกขึ้นแล้วกระโดดขึ้นหลังม้าใหม่อีกกี่ครั้งต่างหาก”

เมื่อเราล้มเหลวอย่างมีประสิทธิภาพและได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่   แล้วหักหาญทดลองทำใหม่อีกครั้งหนึ่ง   ไม่ยอมให้ความล้มเหลวของเรามาฉุดลากเราให้นอนอยู่บนพื้น   แต่ลุกขึ้น  ประยุกต์สิ่งที่เรียนรู้ แล้วทดลองใหม่อีกครั้งหนึ่ง  เปลี่ยนแปลงวิธีการอีกครั้งหนึ่ง   แล้วลุกขึ้นก้าวออกไปสนามแล้วรับมือกับมันใหม่   แต่ด้วยความรู้และความเข้าใจที่เยี่ยมกว่าครั้งก่อน

Denis Waitley เคยกล่าวไว้ว่า  “จงให้ความล้มเหลวเป็นครูของเรา  แต่อย่าให้มันเป็นสัปเหร่อมาฝังเรา   ความล้มเหลวอาจทำให้เราใช้เวลามากขึ้นแต่มิใช่ทำให้เราปราชัย   ความล้มเหลวเป็นเหมือนทางเบี่ยง(ที่ใช้ชั่วคราว)  แต่มิใช่ทางตัน...”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น