11 กุมภาพันธ์ 2556

ทำไมผู้ชายไม่ชอบ(เบื่อ)การไปโบสถ์?


นี่คงเป็นคำถามซ่อนลึกในใจของเราหลายคน   ของผู้ชายหลายคน  ผมถามตนเองว่า “ทำไมฉันไม่ชอบไปโบสถ์?”   ผมว่าไม่ใช่ผมที่ถามคำถามนี้เท่านั้น   แต่ศิษยาภิบาล ผู้นำผู้บริหารคริสตจักรก็ถามคำนี้(ในใจ)บ่อยๆเช่นกัน   เป็นความจริงเลยครับ  ผมได้รับการแบ่งปันความรู้สึก หรือ ปัญหาในจิตใจจากหลายคนที่บอกกับผมว่า   ทำไมลูกชายฉันไม่ไปโบสถ์?   ทำไมลูกสาวฉันไม่ไปโบสถ์?   ทำไมลูกเขยฉันไม่ไปโบสถ์?   ทำไมสามีฉันไม่ไปโบสถ์?   เออ...ทำไมคนพวกนี้ไม่ไปโบสถ์?

เช้านี้ได้อ่านข้อเขียนของ ดริว ดิก (Drew Dyck) ที่ไปสัมภาษณ์  เดวิด เมอร์โรว์ (David Murrow) ผู้เขียนหนังสือชื่อ “ทำไมผู้ชายเกลียดการไปโบสถ์: ฉบับปรับปรุงใหม่ให้เป็นปัจจุบัน”  เมอร์โรว์ มองว่า  ประเด็นนี้จะต้องพิจารณาการเข้าถึงพวกผู้ชาย และ สภาพชีวิตชุมชนคริสตจักรที่หนุนเสริมให้ชีวิตของคนกลุ่มนี้เจริญเติบโต งอกงาม  รุ่งเรือง เฟื่องฟู  จนพบกับคุณค่าและความหมายในชีวิตหรือไม่

ใช่เลย!   เกาถูกที่คัน(อย่างน้อยของผมครับ)   และทำให้ใจชื้น(หรือน่าตกใจก็ไม่รู้?)ว่า   ไม่ใช่ในเมืองไทยเท่านั้นที่ผู้ชายไม่ชอบไปโบสถ์   แต่ในอเมริกาและยุโรป(ที่เป็นประเทศส่งมิชชันนารีมาเมืองไทย)ด้วยก็กำลังประสบปัญหาหนักอกเหมือนกับเรา?   แต่ที่สำคัญคือ  อ่านเอกสารฉบับนี้แล้วกระตุ้นให้ผมได้คิดเจาะลึกลงในเรื่องผู้ชายกลุ่มนี้ที่ไม่ชอบมาโบสถ์ครับ

คริสตจักรจะดึงดูดความสนใจของผู้ชาย(จนเข้ามาในโบสถ์)ได้อย่างไร?

การที่คริสตจักรจะดึงดูดความสนใจของคนผู้ชายกลุ่มนี้ให้เข้ามาในโบสถ์คงไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนนะครับ   ไม่ต้องไปย้ายสนามกอล์ฟเข้ามาอยู่ในบริเวณคริสตจักร   หรือคิดให้อนุชนมาตั้งร้าน “คริสตจักร เดอ คาเฟ่” นะครับ   เพราะการกระทำกิจกรรมและสร้าง  “อีเว้นท์” เช่นนี้ดึงดูดพวกเขาเข้ามาได้เพียงพักหนึ่งสั้นๆ เท่านั้นครับ!  

แต่คริสตจักรจะต้องเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ดูเป็นจุดเล็กน้อยแต่ทรงพลังในระยะยาวคือ  ในทุกวันอาทิตย์คริสตจักรจะต้องมีเป้าหมายที่เจาะจงและชัดเจนว่า  อะไรคือเป้าหมายที่คริสตจักรจะทำร่วมพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ที่มาโบสถ์แต่ละคนในวันนี้?   แล้วให้ทุกอย่างที่ทำในวันนั้นล้อตามนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวร่วมกัน  

อย่างที่ทราบครับ  ผู้ชายกลุ่มนี้เวลาจะทำอะไรต้องมี “เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงชัดเจน” ครับ

ประการที่สอง  ผู้ชายกลุ่มนี้ไม่มีความสนใจเพียงน้อยนิดกับการเข้าร่วมใน “ศาสนพิธี”  แต่ศาสนพิธีที่ทำร่วมกันต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายหลักในวันอาทิตย์นั้นถึงจะดึงดูดความสนใจของคนพวกนี้ได้   ดังนั้น คำเทศนาในวันนั้นจะต้องนำไปสู่เป้าหมายของวันอาทิตย์นั้นชัดเจนที่สุด   เป็นขั้นเป็นตอนที่จะนำไปกระทำ   เป็นคำเทศนาที่เป็นรูปธรรม   และ บ่งชี้ชัดว่าเมื่อทำตามเป้าหมายดังกล่าวแล้ว  ผลอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของเขา  ครอบครัว  การงานที่เขาทำ  เพื่อนฝูงที่เขาคบค้าสมาคม

ให้เราเรียนบทเรียนจากวิธีการของพระเยซูคริสต์   การสอนของพระเยซูคริสต์ตอบคำถามชีวิตของผู้คน   เมื่อพวกเขาต้องการรู้ว่า  คนยิวควรจะส่งส่วยให้ซีซาร์หรือไม่   ถึงแม้ว่านี่เป็นคำถามกับดักพระเยซูของผู้นำศาสนาและนักการเมืองยิว   แต่ก็เป็นคำถามที่ค้างคาใจไม่มีคำตอบที่ลงตัว   พระองค์ตอบอย่างมีหลักการและเป็นรูปธรรม   พระองค์ถามพวกเขาว่า “รูปและคำจารึกบนเหรียญนั้นเป็นของใคร?”  พวกเขาตอบว่า “เป็นของซีซาร์”   พระเยซูตอบพวกเขาอย่างชัดเจนว่า  “...ของของซีซาร์จงถวายแด่ซีซาร์  และของของพระเจ้าจงถวายแด่พระเจ้า” (มัทธิว 22:21 ฉบับมาตรฐาน)  

ดังนั้น  คำเทศนาของโบสถ์ที่ใช้เวลา 25-30 นาที   ต้องมีคำตอบต่อเป้าหมายเจาะจงของอาทิตย์นั้นอย่างชัดเจน  ผู้คนไม่ต้องค้างคาใจต่อไป!   การเทศนามิใช่ “การแบ่งปันพระวจนะของพระเจ้า” เท่านั้นครับ   แต่พระวจนะตรัสอะไรกับผู้ฟังแต่ละคน?  แล้วกระตุ้นหนุนเสริมให้เขากระทำความเชื่อให้เป็นรูปธรรมในสถานการณ์ชีวิตของเขาครับ

อีกตัวอย่างหนึ่ง   เมื่อสาวกที่อยู่ในเรือที่กำลังถูกกระหน่ำด้วยคลื่นลมแรง  เรือของพวกเขาตกอยู่ในอันตรายกลางทะเลท่ามกลางความมืด    พระเยซูได้เสด็จมาบนทะเลเข้าใกล้เรือของสาวก   สาวกเข้าใจว่า พระเยซูเป็น “ผีทะเล” จึงตกใจและร้องเสียงดังด้วยความกลัว   แต่พระเยซูบอกพวกเขาทันทีว่า “ทำใจดีๆ ไว้  นี่เราเอง  อย่ากลัวเลย” เปโตรเลยบอกว่าถ้าเป็นพระเยซูจริงขอให้ตนเดินบนน้ำทะเลไปหาพระองค์ พระเยซูตอบเปโตรอย่างเป็นรูปธรรมว่า “มาเถิด”  เปโตรออกจากเรือเดินบนทะเลไปหาพระเยซูได้   แต่เมื่อเปโตรเห็นลมพัดแรงก็กลัว   แล้วเขาก็เริ่มจมน้ำจึงร้องว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า  ช่วยผมด้วย”   พระเยซูเอื้อมมือจับเขาไว้ทันที   แล้วพูดกับเปโตรว่า “ช่างมีความเชื่อน้อย  สงสัยทำไม?”  (มัทธิว 14:22-32 ฉบับมาตรฐาน)

ในเรื่องนี้  เมื่อสาวกกำลังตกใจกลัวเพราะคิดว่าพระองค์เป็นผีทะเล   แต่พระองค์บอกพวกเขาตรงๆ ว่า “ไม่ใช่ผีทะเล  เป็นเราเอง”  

พระเยซูคริสต์พร้อมที่จะให้เปโตรพิสูจน์ว่า  เป็นพระองค์ไม่ใช่ผี   พระเยซูตอบว่า “มาเถิด”  พระองค์เปิดโอกาสให้เปโตรได้ทดลองความเชื่อของตนเพื่อจะมีความเชื่อที่ชัดเจน และ เติบโตยิ่งขึ้นผ่านการทดลองกระทำ  

ในที่นี้ต้องยอมรับว่า  ความเชื่อที่ไม่ผ่านการปฏิบัติในชีวิต   ความเชื่อก็ยังคงเป็นเพียง “หลักข้อเชื่อ”  จากหนังสือมาอยู่ในความทรงจำของคนๆ นั้นเท่านั้น  

แต่ความเชื่อที่ผ่านการทดลองทำด้วยชีวิตของคนๆ นั้น เป็นเหมือนเมล็ดความเชื่อที่ถูกบ่มเพาะให้เมล็ดแตกตัว  หยั่งราก  งอกต้นอ่อน  ผลิใบ  เป็นความเชื่อที่เป็นรูปธรรม เป็นความเชื่อที่จะเติบโต  แข็งแรง  และเกิดผลครับ

เรื่องไม่ได้จบลงแค่นี้ครับ   ในสภาพความเป็นจริงของชีวิตไม่ได้ราบเรียบสงบครับ   ทุกคนต้องพบกับคลื่นลมแห่งชีวิต   ที่บางครั้งพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง   เมื่อผู้คนถูกจู่โจมจากคลื่นลมชีวิตเช่นนี้   เกิดความกลัว  สงสัย  และที่สำคัญคือ   ชีวิตกำลังจมลง   ถ้าเป็นพระเยซูคริสต์   พระองค์จะเอื้อมมือแล้วคว้าเราไว้ แล้วฉุดเราขึ้นจากการจมน้ำ   พระคัมภีร์บอกว่า “ทันที” (ข้อ 31) เมื่อคนที่มาร่วมในโบสถ์   แล้วนำพระวจนะไปทดลองทำในชีวิต   แต่เกิดความไม่แน่ใจ  สงสัย  เลยหยุดใคร่ครวญพระวจนะ   ชีวิตถดถอยจมลง โบสถ์ได้ทำอะไรกับชีวิตของคนๆ นั้น ยื่นมือคว้าฉุดชีวิตของคนๆ นั้นขึ้นจากการจมทันทีอย่างพระคริสต์หรือเปล่าครับ?

หรือกว่าจะรู้ว่าคนนั้นจมลงในกระแสน้ำชีวิตของสังคมโลก ก็ต่อเมื่อเขาจากเราไปแล้ว!

หรือเรากลับบอกว่าต้องให้เขาตะเกียกตะกายขึ้นจากน้ำเอง  เพื่อเขาจะเรียนรู้ชีวิต และ แข็งแรงขึ้นในความเชื่อ? แล้วก็ปล่อยให้คนๆ นั้นจมลงในน้ำต่อหน้าต่อตา   แล้วบอกว่า  “เพราะเขามีความเชื่อน้อย เพราะเขาสงสัยจึงจมน้ำตาย”?   (ช่างเป็นการกระทำที่แตกต่างจากพระเยซูคริสต์อย่างสิ้นเชิง)  สำหรับพระเยซูคริสต์เมื่อประสบกับสถานการณ์เช่นนี้พระองค์ทรงฉุดช่วยก่อนครับ! 

พระเยซูคริสต์มิได้ละเลยในการช่วยให้คนๆ นั้นเกิดการเรียนรู้   แต่ทุกครั้งพระองค์จะสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่คนๆ นั้นประสบในชีวิต   พระองค์มิได้ต่อว่า หรือสั่งสอนเปโตรก่อน   จนกว่าเปโตรยอมรับความจริงก่อนแล้วพระองค์ถึงช่วยเปโตร   แต่พระคัมภีร์บอกเราว่า  “พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์จับเขาไว้ทันที” แล้วถึงกระตุ้นถามสำนึกของเปโตรว่า  “ช่างมีความเชื่อน้อย  ท่านสงสัยทำไม?” (ข้อ 31)

ในการเอาใจใส่ ชูช่วยชีวิตในลักษณะต่างๆ   ต้องนำสู่การสะท้อนคิดเพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของคนๆ นั้น เพื่อหนุนเสริมเพิ่มพลังให้ความเชื่อเติบโต เข้มแข็งยิ่งขึ้น   แต่เราพบบ่อยเหลือเกิน คริสตจักรทำกิจกรรมเพื่อกิจกรรม แต่มิได้ใช้กิจกรรมที่ทำหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตและความเชื่อของผู้คนที่เข้าร่วมในโบสถ์  

แต่พระเยซูคริสต์กล้าที่จะกระตุ้นถามถึงสำนึกและความเชื่อของเปโตร เพื่อเปโตรและสาวกคนอื่นที่ร่วมในเหตุการณ์นั้นต้องใคร่ครวญถึงความเชื่อและชีวิตของตนเอง นำไปสู่การหยั่งรากลงลึกในพระเยซูคริสต์ และในที่สุด  เมื่อพระเยซูและเปโตรขึ้นเรือแล้ว  ลมก็สงบ  พวกที่อยู่ในเรือจึงกราบนมัสการพระองค์ทูลว่า  “พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงแล้ว” (ข้อ 32-33)   จากความเชื่อที่เป็นคำสอน   เติบโตสู่ความเชื่อที่ได้จากการกระทำ และ ประสบการณ์ตรง   เป็นความเชื่อจากชีวิตจริงครับ

ผู้ชายกลุ่มที่ไม่ชอบมาโบสถ์กลุ่มนี้   ต้องการที่จะไปโบสถ์ที่มีเป้าหมายที่เจาะจงชัดเจน   ที่มิเพียงไปทำศาสนพิธีในวันอาทิตย์เท่านั้น   แต่เขาต้องการรับพระวจนะของพระเจ้าที่เป็นแสงสว่างที่ตอบปัญหาหรือคำถามในชีวิตที่เขาประสบพบทั้งในครอบครัว  ที่ทำงาน  กลุ่มเพื่อน  และในชุมชน   เขาต้องการแนวทางที่เขาจะใช้ในการดำเนินชีวิตท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว   และเมื่อเขาสะดุดล้มลง  หรือชีวิตกำลังจมดิ่งเขาต้องการมือที่ยื่นออกและคว้าแล้วฉุดเขาขึ้นมาทันที   เขาต้องการชุมชนคริสตจักรที่จะบ่มเพาะฟูมฟักให้ชีวิตและความเชื่อของเขาเติบโต เข้มแข็ง และเกิดผล   เขาต้องการเป็นคนหนึ่งในคริสตจักรที่มีคุณค่าในชุมชน   และเขาเองได้พบกับความหมายในชีวิตของเขา

แล้วชุมชนคริสตจักรของเรามีสิ่งเหล่านี้เยี่ยงพระคริสต์ทรงมีและให้กับสาวกของพระองค์หรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ข้อสังเกตบางประการ

ถ้าเราสังเกตผู้อภิบาล   เราจะพบว่าส่วนใหญ่มีศักยภาพและความสามารถที่ดีในการเข้าถึงสตรีในคริสตจักร   แต่ในปัจจุบันคริสตจักรต้องการผู้อภิบาลที่สามารถเข้าถึงเยาวชนคนหนุ่มสาวในคริสตจักร   จากการสังเกตจะพบว่า  ผู้อภิบาลสามารถเข้าถึงอนุชนคนหนุ่มสาวที่เป็นหญิงได้มากกว่าเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เป็นชาย   ประเด็นที่พึงพิจารณาคือผู้อภิบาลมักใช้วิธีเข้าถึงเยาวชนที่เป็นหญิง   ไปใช้กับการเข้าให้ถึงเยาวชนที่เป็นชาย   ซึ่งมักไม่ประสบความสำเร็จ  

ดังนั้น พันธกิจที่คริสตจักรทำมักเป็นพันธกิจที่สตรีถนัด   ไม่ว่าจะชั้นเรียนอนุบาล   คริสเตียนศึกษาสำหรับเด็กทั้งชายและหญิง   แต่พอโตขึ้นชั้นเด็กโตเริ่มมีเยาวชนหญิงมากกว่าชาย   พอโตเป็นวัยรุ่น   วัยรุ่นชายก็หลุดลอยออกไปจากคริสตจักร (ทั้งๆ ที่เป็นลูกหลานสมาชิกคริสตจักรนั้น)   แล้ววัยรุ่นกลุ่มนี้ก็พัฒนาไปสู่  “กลุ่มผู้ชายที่ไม่ชอบมาโบสถ์?”

งานและกิจกรรมที่ทำในคริสตจักรมักเป็นงานที่เหมาะสำหรับสตรี เช่น การทำความสะอาด การจัดดอกไม้   การเตรียมอาหารสำหรับต้อนรับแขก หรือ งานเลี้ยงของโบสถ์   การสอนเด็ก   การเยี่ยมเยียน   กลุ่มอธิษฐาน  หรือ แม้แต่กลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ส่วนมากก็เป็นผู้หญิง  และ ฯลฯ  

สิ่งที่ทำเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิดครับ  แต่ในระยะยาวจะทำให้ คริสตจักรก้าวเดินไปอย่าง “กะโผลกกะเผลก”  เพราะขาข้างหนึ่งมันพิการครับ!

ผู้อภิบาลที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชายเข้ามาในโบสถ์เป็นผู้อภิบาลแบบไหน?

ลักษณะของผู้ชายกลุ่มนี้คือไม่อดทนนานครับ   ถ้าเขาเข้ามาในโบสถ์เดี๋ยวเดียวเขาก็จะตัดสินว่าคนที่พูดกับเขา คนที่เทศนา เป็นคนแบบไหนสำหรับเขา   ถ้าผู้อภิบาลที่มิใช่เป็นคนดึงดูดผู้ชายกลุ่มนี้   จะท่าทีแสดงออกไม่เป็นตามที่ผู้ชายกลุ่มนี้คาดหมาย   กล่าวคือไม่เป็นคนที่กล้าเสี่ยง  เขาก็จะไม่สนใจที่จะมาโบสถ์ครั้งต่อไป

แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าผู้อภิบาลจะต้อง “แมน”   เพราะอย่างผู้อภิบาลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง  ดึงดูดผู้ชายจำนวนมากเข้ามาร่วมในโบสถ์   อย่างเช่น ริค วอเรน  เขามักร้องไห้บนธรรมมาสบ่อยๆ   แต่เขาเป็นคนที่มีนิมิต  เขามีนิมิตที่กว้างไกล   และสิ่งนี้ที่เป็นตัวดึงดูดความสนใจของผู้ชาย   ผู้อภิบาลจะต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ชาย  ไม่ว่าจะเป็นท่าทีที่แสดงออก  หรือการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  หรือมีความกล้าหาญที่จะตัดสินใจ

ทิม เคลเลอร์ มิใช่ผู้อภิบาลที่มีลักษณะเป็น “แมน”   แต่เขาเป็นเจ้าแห่งความคิด  ในมหานครนักคิดนิวยอร์ก   เขามีความเป็นเหมือนผู้ชายในแมนฮัตตันที่เป็นนักคิด   พวกเขาไม่ได้หาเงินด้วยการขายแรงกาย   แต่พวกเขาได้เงินมาจากการ “ขายความคิด”   ดังนั้น พวกผู้ชายในเมืองนี้จึงเสาะหาผู้อภิบาลที่ความแหลมคมอย่างพวกเขา   และ เคลเลอร์มีลักษณะที่สอดคล้องกับประการนี้   เขามุ่งเน้นให้คริสตจักรทำพันธกิจ   เมื่อทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ   เขาจึงเป็นที่นับถือเลื่อมใสของผู้ชาย   ผู้ชายไม่ต้องการมานั่งในโบสถ์ปีแล้วปีเล่าเพื่อที่จะมานั่งฟังเทศนาแล้วยืนขึ้นร้องเพลงเท่านั้น  พวกผู้ชายอาจจะพูดว่า  “ตกลง  ผมจะฟัง  ฟังแล้วจะต้องทำอะไรต่อไป?”

ผู้หญิงในคริสตจักรรู้สึกต่อเรื่องนี้อย่างไร?

ผู้ชายที่มาโบสถ์เป็นประจำจะรู้สึกมั่นคงกว่าผู้หญิงที่มาโบสถ์   เพราะผู้หญิงที่มาโบสถ์เขารู้สึกว่าเรื่องผู้ชาย(ของเขา)ที่ไม่มาโบสถ์เป็นประเด็นสำคัญ(หรือ หนักอกหนักใจ)สำหรับเธอ   พวกเธอเห็นสามีเบื่อหน่ายกับการมาโบสถ์   เขาเห็นลูกชายหายหน้าไปจากโบสถ์   เขาเห็นน้องชายพี่ชายของเขาไม่สนใจศาสนา  บ่อยครั้ง เขานั่งม้านั่งในโบสถ์ทั้งแถวเห็นแต่ผู้หญิง   พวกเธอรู้ซึ้งถึงสถานการณ์นี้อย่างดี

สำหรับผู้ชายที่มาโบสถ์ด้วยความสบายอกสบายใจ   ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา   ผู้ชายส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้เขารู้ว่า  โบสถ์คือพื้นที่ที่เขามี “อำนาจ”   พวกเขาจะฝังตัวอยู่ในโบสถ์   แล้วก็พูดว่า ผู้ชายก็ควรจะเรียนรู้ที่จะร้องเพลงนั้นเพลงนี้

แต่น่าสังเกตว่า ผู้ชายกลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีความคิดเรื่องการทำพันธกิจ   พวกเขารู้สึกสบายกับการที่อยู่ในโบสถ์   และสนใจที่จะปกป้องรักษาอำนาจของเขาในโครงสร้างของโบสถ์ที่เป็นอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น