18 กุมภาพันธ์ 2556

Lent 3: มีกินมีอยู่ด้วยพระคุณ


ระบบเศรษฐศาสตร์ในแผ่นดินของพระเจ้า
อ่าน มัทธิว 20:1-16

แผ่นดินสวรรค์เป็นเช่นเจ้าของสวนองุ่นที่ออกไปแต่เช้าเพื่อจ้างคนมาทำงานในสวนของตน   เมื่อเขาตกลงว่าจะจ่ายค่าจ้างวันละหนึ่งเดนาริอันแล้วพวกเขาก็ไปทำงานในสวนองุ่น...

ลูกจ้างที่มาเริ่มทำงานเมื่อบ่ายห้าโมงเย็นรับเงินไปคนละหนึ่งเดนาริอัน   ฝ่ายคนที่มาก่อนนึกว่าตนจะได้มากกว่านั้น   แต่ก็ได้คนละหนึ่งเดนาริอันเหมือนกัน   เมื่อพวกเขารับเงินแล้วจึงบ่นต่อว่าเจ้าของสวน   คนมาทีหลังทำงานแค่ชั่วโมงเดียวกลับได้เท่าๆ กับเราที่ตรากตรำกรำแดดมาทั้งวัน

แต่เจ้าของสวนตอบคนหนึ่งในพวกนั้นว่า   “เพื่อนเอ๋ยเราไม่ได้โกงนะ   ก็ตกลงกันไว้ว่าหนึ่งเดนาริอันไม่ใช่หรือ...   เราพอใจจะให้คนมาทีหลังเท่าๆ กันกับท่าน   เงินของเรา  เราไม่มีสิทธิ์ใช้ตามใจชอบหรือ   หรือว่าท่านอิจฉาเพราะเห็นเราใจกว้าง”  (ข้อ 1-2, 9-15 อมตธรรม)

คนในสมัยพระเยซูคงมีความรู้สึกว่า   พระเยซูเป็นคนที่พวกเขาเข้าใจยาก  เดาใจไม่ถูก   หลายๆ เรื่องพระองค์มีความคิดและพฤติกรรมที่ทวนกระแสสังคม  และประเพณีนิยมที่คนส่วนใหญ่ยึดถือทำตาม   ยิ่งพวกผู้นำศาสนายิว   นักการเมือง  คนมั่งมี   คงกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า   “เราไม่เข้าใจคนบ้านนอกคนนี้” 

ในสายตาของประชาชน  พระเยซูคริสต์เป็นที่เคารพนับถือในด้านศาสนา   แต่ไม่มีตำแหน่งในวงการศาสนา   เป็นคนที่เติบโตในบ้านนอก   พระองค์สอนให้สาวกที่ติดตามเป็นคนเคร่งครัดในธรรมบัญญัติของพระเจ้า   แต่พระองค์กลับคบค้าสมาคมกินข้าวกินปลาร่วมกับพวกคนเก็บภาษี  คนนอกรีต  รวมทั้งหญิงโสเภณี 

คำสอนของพระเยซูฟังดูแปลกแตกต่างจากพวกธรรมาจารย์ ฟาริสี และผู้นำศาสนายิวคนอื่นๆ   พระองค์บอกว่าคนมั่งมีจะเข้าแผ่นดินของพระเจ้าก็ยากยิ่งกว่าอูฐจะลอดรูเข็มเสียอีก   แล้วอย่างงี้ใครจะเข้าแผ่นดินสวรรค์ได้   เมื่อหญิงหม้ายนำเงินเพียงไม่กี่สตางค์มาถวายที่พระวิหารแต่พระองค์บอกว่าหญิงหม้ายนำเงินมาถวายพระเจ้ามากกว่าเศรษฐีที่นำเงินมาถวายจำนวนมาก

พระเยซูอยู่เคียงข้างคนยากคนจน  คนด้อยโอกาส   คนที่ถูกสังคมตราหน้าหน้าว่าบาปหนา   คนเจ็บป่วยที่สังคมรังเกียจกีดกัน   คนที่ผีสิงผีเข้า   แต่ทำไมพระองค์ปล่อยให้หญิงคนหนึ่งชโลมบนพระเศียรของพระองค์ด้วยน้ำมันหอมนารดาที่ราคาแพงลิบลิ่วเป็นหมื่นเป็นแสนบาทในปัจจุบัน   ทำให้เสียของ   แทนที่จะขายน้ำมันหอมนั้นแล้วเอาเงินไปช่วยคนยากคนจน  คนเจ็บป่วยอดอยาก

อุปมาที่เราอ่านในวันนี้   เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างแรงงาน   เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำมาหากิน  การอยู่รอด  เป็นเรื่องเศรษฐกิจ   มุมมองและระบบคุณค่าของพระองค์ก็สร้างความรู้สึกงงงวยขัดแย้งขึ้นในสังคมตอนนั้นด้วยเช่นกัน

บนหลักคิดของคนทั่วไปทั้งมั่งมีและยากจนต่างมองว่า  คนทำงานมาก คนทำงานหนัก ควรได้รับค่าจ้าง มากกว่าคนทำงานน้อย  คนทำงานเพียงชั่วครู่ชั่วยาม    ดังนั้น หลักค่าจ้างแรงงานในที่นี้คือความสัมพันธ์ระหว่างงานที่ทำกับเงินค่าจ้างที่ได้รับ   เป็นมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบ พ.ศ. 2504 ยุคผู้ใหญ่ลี   หรือจอมพล สฤษดิ์  ธนรัตน์    ที่มีสโลแกนว่า “งานคือเงิน  เงินคืองาน  บันดาลสุข”?  ที่มองว่า  ทำงานเพื่อทำเงิน  ทำเงินเพื่อสร้างความสุข?

แต่พระเยซูคริสต์กล่าวถึงระบบคุณค่าในแผ่นดินของพระเจ้าถึงงานและเงินที่แตกต่างสวนทางกับหลักคิดของคนในสังคมยุคนั้น  และก็รวมถึงยุคนี้ด้วย   น่าสังเกตว่า  
  • เจ้าของสวนองุ่นตกลงกับคนที่มาทำงานแต่เช้าตรู่ว่าค่าแรงทั้งวันในการทำงานคือ หนึ่งเดนาริอัน    หนึ่งเดนาริอันเป็นค่าจ้างแรงงานที่พอนำไปเลี้ยงชีวิตครอบครัวได้หนึ่งวัน   หลักคิดการทำงานในแผ่นดินของพระเจ้าคือ  ทำงานเพื่อคุณค่าความหมายของชีวิต   ทำงานเพื่อการมีกินมีอยู่ของครอบครัว   การทำงานเป็นความรับผิดชอบ
  • เรื่องของแรงงานจะต้องอยู่บนรากฐานของความยุติธรรม   ในที่นี้ความยุติธรรมมีสองนัยยะด้วยกันคือ  เจ้าของสวนองุ่นทำตามที่สัญญาตกลงกันเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้าง   นัยยะที่สองคือ ในการตกลงเรื่องค่าจ้างแรงงานจะไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน   กล่าวคือ  ค่าจ้างแรงงานต้องพอที่ผู้ใช้แรงงานจะมีพอนำไปเลี้ยงดูครอบครัวและชีวิตของตนเอง   สำหรับแผ่นดินของพระเจ้า  การทำงานเป็นเรื่องของชีวิตของตนและครอบครัว   เป็นเรื่องคุณค่าของชีวิตและความรับผิดชอบต่อกันและกัน   มิใช่เพียง “ทำงานเพื่อทำเงิน”
  • ความยุติธรรมเรื่องค่าจ้างแรงงานในแผ่นดินของพระเจ้าต้องเป็นความยุติธรรมที่ควบคู่ไปกับความเมตตากรุณา    ระบบคุณค่าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่สามารถแยกความยุติธรรมออกจากความเมตตากรุณา   ในอุปมานี้จึงแสดงออกชัดเจนว่า   แม้แรงงานแต่ละกลุ่มมาทำงานในเวลาที่แตกต่างกัน   แต่ทุกคนได้รับค่าจ้างแรงงานพอนำไปเลี้ยงดูเพื่อความอยู่รอดในครอบครัวในวันนั้น    ดังนั้น  ค่าจ้างแรงงานในที่นี้จึงเป็นระบบความยุติธรรมที่เปี่ยมล้นด้วยความรักเมตตากรุณาจากเจ้าของสวนองุ่น   ที่พระองค์ต้องการให้ค่าแรงงานเพื่อการดำรงชีวิตและอยู่รอดของผู้ทำงาน   แต่มิใช่ให้เพราะทำงานมากหรือน้อย  ตำแหน่งสูงหรือไม่มีตำแหน่ง  


สำหรับแผ่นดินของพระเจ้าแล้ว   การงานความรับผิดชอบอาจจะแตกต่างกันไป   แต่ผลตอบแทนจากแรงงานต่างได้รับความเมตตาจากเจ้าของสวนหรือพระเจ้า   ซึ่งสวนกระแสคิดกับสังคมทั่วไปที่   ความแตกต่างของงานที่ทำ  เป็นตัวกำหนดค่าตอบแทน รายได้ แรงงานที่ได้รับ   และที่สำคัญคือกระแสสังคมมีมุมมองว่า “ทำงานเพื่อทำเงิน”   จนตกหลุมพรางว่า “คุณค่าชีวิตอยู่ที่เงินค่าแรงที่ได้รับ”   งานใด ตำแหน่งใดที่ได้เงินค่าจ้างหรือค่าตอบแทนน้อย  ทำให้ผู้ทำงานคนนั้นรู้สึกว่างานที่ทำ และ ตนเองด้อยคุณค่ากว่าคนที่ทำงานแล้วได้รับค่าตอบแทนแรงงานมากกว่าตน

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ตามระบบคุณค่าในแผ่นดินของพระเจ้า  ตำแหน่ง  ความชำนาญ  หน้าที่การงาน  และความรับผิดชอบ  มิใช่ตัวกำหนดความแตกต่างค่าจ้างแรงงาน   และในเวลาเดียวกันอัตราหรือจำนวนของค่าจ้างแรงงานมิใช่ตัวบ่งชี้ถึงความสามารถ  และความสำคัญของงานที่ทำ  หรือความแตกต่างในคุณค่าของคนทำงาน

แต่การทำงาน และ การได้ค่าตอบแทนจากการทำงานในแผ่นดินของพระเจ้าเป็นพระคุณของพระเจ้า   เพราะการทำงานเกิดจากการทรงเรียกของพระเจ้า   การทำงานคือการที่เราเข้ามาร่วมพระราชกิจของพระองค์   “ในสวนองุ่น” ของพระองค์    สำหรับค่าแรงงานที่ได้รับนั้นแท้จริงเป็นพระคุณของพระเจ้าที่ทรงประทานแก่เราให้สามารถมีอยู่มีกินมีชีวิตรอดได้   และทุกชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้าในสวนองุ่นของพระองค์ต่างมีคุณค่าความหมายทั้งสิ้น  

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ทุกวันนี้ท่านมีมุมมองต่องานที่ท่านทำและรับผิดชอบอย่างไรบ้าง?

2. ถ้าในคำอุปมาของพระเยซูที่เราศึกษาใคร่ครวญในวันนี้   พระเจ้าทรงเป็นเจ้าของสวนองุ่น  เรื่องราวอุปมาเรื่องนี้สอนถึงระบบเศรษฐกิจแห่งพระคุณอย่างไรบ้าง?

3. ท่านคือใครในอุปมาเรื่องนี้?   ท่านเป็นคนงานที่มาทำงานในสวนองุ่นตั้งแต่เช้า  และรู้สึกไม่พอใจกับค่าแรงที่ได้รับ หรือ ท่านเป็นแรงงานที่มาทำงานในช่วงบ่าย   ทำงานเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ได้แรงงานเต็มวัน?   ทำไมท่านถึงคิดว่าท่านเป็นคนทำงานในกลุ่มดังกล่าว?   และมีความรู้สึกเช่นใดบ้าง?

4. ท่านได้เรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากวิธีคิดของเจ้าของสวนองุ่น?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   น้ำพระทัยอันกว้างขวางของพระองค์เหนือที่ข้าพระองค์จะเข้าใจได้   ความคิดเรื่องความยุติธรรมของพระองค์ก็แตกต่างจากวิธีคิดของข้าพระองค์   โปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะใส่ใจอย่างละเอียดถ้วนถี่ในวิถีการทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์   ขอบพระคุณพระองค์สำหรับพระเมตตากรุณาอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระองค์ 

ในวันนี้เมื่อข้าพระองค์ทำงานใดๆ โปรดกระตุ้นเตือนให้ข้าพระองค์สำนึกว่า  พระองค์ทรงเรียกให้ข้าพระองค์มาร่วมกระทำในพระราชกิจของพระองค์ในงานนั้นๆ   และโปรดช่วยให้ข้าพระองค์กระทำงานนั้นด้วยจิตใจที่ขอบพระคุณพระองค์   ด้วยความมุ่งมั่นสนองตอบพระประสงค์ของพระองค์   และขอบพระคุณพระองค์สำหรับพระคุณของพระองค์ที่ประทานผ่านมาทางน้ำพักน้ำแรงของการทำงาน    อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น