15 กุมภาพันธ์ 2556

Lent 2: การให้อภัย


อ่าน  มัทธิว 18:21-35

...เปโตรมาทูลพระองค์ว่า  
“องค์พระผู้เป็นเจ้า  ข้าพระองค์ควรยกโทษให้พี่น้องที่ทำผิดต่อข้าพระองค์สักกี่ครั้ง?   ถึงเจ็ดครั้งเชียวหรือ?
พระเยซูตรัสตอบเขาว่า  “เราไม่ได้บอกท่านว่าเจ็ดครั้ง  แต่เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด”
(ข้อ 21-22 ฉบับมาตรฐาน)

การให้อภัย หรือ การยกโทษ มิใช่ปมประเด็นปัญหาของสังคมปัจจุบันเท่านั้น   ในสมัยของพระเยซูคริสต์การให้อภัยก็เป็นประเด็นปัญหาด้วยเช่นกัน

เมื่อพระเยซูกล่าวถึงเรื่องการให้อภัย หรือ การยกโทษแก่พี่น้องที่กระทำผิดต่อเรา   เปโตรมีคำถามขึ้นมาทันทีว่า   แล้วเราจะต้องยกโทษให้พี่น้องที่กระทำผิดต่อเรากี่ครั้ง   ตามคำสอนของพวกธรรมาจารย์สอนพวกยิวไว้ว่า ควรยกโทษแก่พี่น้องสามครั้ง   ในพระธรรมตอนนี้เปโตรจึงถามพระเยซูว่า   ถ้ามิใช่สามครั้งต้องถึงเจ็ดครั้งเชียวหรือ?   เปโตรคงคาดในใจว่า  พระเยซูจะยืนยันคำตอบของตนว่าถูกต้อง   เพราะอย่างน้อยพวกยิวก็ถือว่าเลขเจ็ดเป็นเลขที่เล็งถึงความสมบูรณ์

ผิดคาดเต็มเปา   พระเยซูกลับตอบเปโตรว่า   “เราไม่ได้บอกท่านว่าเจ็ดครั้ง(นะ)   แต่เจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด”   สำนวนแปลในอมตธรรมแปลว่า “...เจ็ดสิบเจ็ดครั้ง”   จุดมุ่งหมายของพระเยซูในการกล่าวตอบนี้มิได้ต้องการบอกเจาะจงลงไปว่ากี่ครั้ง   แต่พระองค์ทรงมีมุมมองว่า   การให้อภัยไม่มีเงื่อนไขที่จำนวนครั้ง   แต่การอภัยเป็นประเด็นของจิตวิญญาณ   เป็นน้ำใจแบบพระคริสต์   เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า   และที่สำคัญคือการให้อภัยเป็นพระราชกิจที่สำคัญยิ่งที่พระองค์ทรงกระทำสำหรับมนุษย์ที่พระองค์ทรงรัก

การให้อภัยเป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำเพื่อเรา  และพระองค์ประสงค์และทรงเรียกให้คริสตชนสานต่อพระราชกิจประเด็นนี้ของพระองค์ในสังคมโลกปัจจุบัน

เมื่อพระเยซูคริสต์สอนสาวกให้อธิษฐาน  ในตอนหนึ่งพระองค์สอนว่า  “ขอทรงยกบาปผิดของพวกข้าพระองค์   เหมือนพวกข้าพระองค์ยกโทษบรรดาคนที่ทำผิดต่อข้าพระองค์” (มัทธิว 6:12)   และพระองค์อธิบายต่อไปในข้อที่ 14-15 ว่า  “เพราะว่าถ้าพวกท่านให้อภัยการล่วงละเมิดของเพื่อนมนุษย์   พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะทรงให้อภัยการล่วงละเมิดของพวกท่านด้วย   แต่ถ้าพวกท่านไม่ให้อภัยการล่วงละเมิดของเพื่อนมนุษย์   พระบิดาของท่านจะไม่ทรงให้อภัยการล่วงละเมิดของพวกท่านเหมือนกัน” (ฉบับมาตรฐาน)

การให้อภัยเป็นคุณภาพและวินัยชีวิตประการหนึ่งในแผ่นดินของพระเจ้า 

พระเยซูคริสต์ทรงเริ่มคำอุปมาของพระองค์ว่า  “แผ่นดินสวรรค์ก็เปรียบเหมือนเจ้าองค์หนึ่ง...”   จากนั้น พระองค์เล่าว่า คนใช้หรือทาสของของเจ้านายองค์นี้เป็นหนี้เจ้านายมากมายถึง หนึ่งหมื่นตะลันต์ (ถ้าในปัจจุบันคิดเป็นหลายล้านบาท)   แต่เขาไม่สามารถใช้หนี้ได้   ตามการปฏิบัติในสมัยนั้น   เขาต้องขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มีเพื่อมาใช้หนี้  และถ้ายังไม่พอก็ต้องขายลูกขายเมียมาใช้หนี้  หรือไม่ก็ต้องถูกจำจองจนกว่าจะใช้หนี้หมด    แต่เมื่อเจ้านายรู้ว่า  ทาสไม่มีทางจะใช้หนี้ได้  ด้วยความเมตตาสงสาร   เจ้านายจึงยกหนี้ให้ทั้งหมด...   แต่ทาสคนนี้กลับไปรีดนาทาเร้นเพื่อนทาสด้วยกันที่เป็นหนี้เขาเพียงร้อยเดนาริอัน   และจับเพื่อนทาสเข้าคุก   เมื่อเจ้านายรู้เรื่องทาสผู้ไม่ยอมให้อภัย   แม้เจ้านายได้ยกโทษไปแล้ว   แต่ให้คนไปจับทาสของตนคนนั้นเข้าคุกจนกว่าจะใช้หนี้หมด   และพระเยซูคริสต์ลงท้ายคำอุปมาด้วยคำกล่าวที่ว่า  “พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ก็จะทรงกระทำต่อพวกท่านอย่างนั้น   ถ้าพวกท่านแต่ละคนไม่ยอมยกโทษให้พี่น้องจากใจของท่าน” (ข้อ 35)

พระเยซูคริสต์มีมุมมองว่า   การให้อภัยพี่น้องเป็นสิ่งที่ต้องกระทำก่อนการถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการให้อภัยแก่พี่น้องจากใจของเราสำคัญกว่าการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  มัทธิว 5:23-24 พระเยซูคริสต์ตรัสสอนว่า  “เพราะฉะนั้น  ถ้าท่านนำเครื่องบูชามาถึงแท่นบูชาแล้ว   และระลึกขึ้นได้ว่า   พี่น้องมีเหตุขัดเคืองข้อหนึ่งข้อใดกับท่าน   จงวางเครื่องบูชาไว้ที่หน้าแท่นบูชา   และกลับไปคืนดี (การให้อภัยแก่กันและกัน)กับพี่น้องผู้นั้นเสียก่อน   แล้วจึงค่อยมาถวายเครื่องบูชาของท่าน” (ฉบับมาตรฐาน)

การให้อภัยเป็นเรื่องที่เราพอจะเข้าใจได้   แต่เป็นการยากที่เราจะปฏิบัติจากใจ   แต่จากอุปมาเรื่องนี้พระเยซูคริสต์ต้องการให้เราอภัยแก่พี่น้องของเรา  เฉกเช่นพระองค์ทรงให้อภัยแก่เราด้วยความรักเมตตาจากพระทัยของพระองค์   และทรงกอบกู้ไถ่ถอนเราให้ออกจากอำนาจของความผิดบาป  ด้วยบาดแผล  ความเจ็บปวด  และชีวิตของพระองค์บนกางเขน   พระเยซูคริสต์ทรงคาดหวังว่า   เมื่อเราได้รับการอภัยโทษบาปจากพระองค์แล้ว   เราควรจะมีใจรักและเมตตาอภัยการกระทำผิดของพี่น้องที่กระทำต่อเราด้วย

วันนี้  พระคริสต์ทรงเรียกเราในฐานะสาวกของพระองค์ให้อภัยความผิดของพี่น้องที่กระทำลงไป   แม้เราเคยให้อภัยครั้งแล้วครั้งเล่า(เรื่องเก่าซ้ำซาก)ก็ตาม   โดยให้เราระลึกถึงความรักเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระคริสต์ที่มีในชีวิตเรา   พระองค์ก็ทรงรักเมตตากรุณาชีวิตของพี่น้องของเราด้วย

วันนี้  พระคริสต์ทรงเรียกให้เราสานต่อพระราชกิจแห่งการให้อภัยต่อจากพระองค์   ผ่านการดำเนินชีวิตของเราทั้งในครอบครัว  ที่ทำงาน  คริสตจักร  และสังคมชุมชนโลก

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. อะไรที่เป็นอุปสรรคของท่านต่อการรับการให้อภัยโทษบาปด้วยใจรักของพระคริสต์?
2. ความคิด   การกระทำ   และ ความรู้สึกมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไรบ้างในการรับการอภัย และ ในการให้อภัย?
3. ขอท่านช่วยอธิบายถึง ประสบการณ์ในชีวิตของท่านที่ได้รับการอภัยจากบางคนอย่างไม่คาดฝัน   ขอช่วยเล่าว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นช่วยให้ท่านได้เรียนรู้ที่จะให้อภัยแก่ผู้อื่นอย่างไรบ้าง?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเจ้าที่รัก   ข้าพระองค์ขอบพระคุณพระองค์สำหรับการทรงอภัยโทษบาปที่ยิ่งใหญ่ที่ทรงสำแดงผ่านทางความรักเมตตาในชีวิตของพระเยซูคริสต์    ขอโปรดเมตตาอภัยแก่ข้าพระองค์ที่หลายครั้งได้ล้มเหลวในการที่จะอภัยแก่ผู้อื่น   ขอทรงโปรดเพิ่มพูนหนุนเสริมพลังชีวิตแก่ข้าพระองค์ทางพระวิญญาณบริสุทธิ์   เพื่อให้ข้าพระองค์ดำเนินชีวิตบนวิถีตามน้ำพระทัยของพระองค์ที่จะให้อภัยแก่ผู้คนรอบข้างในวันนี้  ด้วยความรักเมตตาแบบพระคริสต์   ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น