02 กันยายน 2556

จงเคาะ..เคาะแล้วเคาะอีก

15 หาก​พี่​น้อง​ของ​ท่าน​คน​หนึ่ง​ทำ​ผิด​​ต่อ​ท่าน 
    จง​ไป​หา​และ​ชี้​ความ​ผิด​ต่อ​เขา​สอง​ต่อ​สอง​เท่า​นั้น ถ้า​เขา​ฟัง​ท่าน ท่าน​จะ​ได้​พี่น้อง​คืน​มา...” (มัทธิว 18:15 มตฐ)

ถ้าเราจะทำตามพระคัมภีร์ข้อนี้   ทำใจนะครับว่า  ไปพบเพียงครั้งเดียวอาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ   เพราะคู่กรณีจะต้องสงสัยในความจริงใจของเราว่า   ที่เราไปหานั้นมีแผนอะไรซ่อนอยู่ข้างหลังหรือไม่   หรือเขาคนนั้นอาจจะไมคุ้นชินกับการแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมาด้วยความจริงใจเช่นนี้ก็ได้   ในการที่เราตั้งใจและริเริ่มสร้างการคืนดีคงเป็นเหมือนการที่เราหวังผลจากพืชที่เราปลูก   การเริ่มต้นครั้งแรกของการคืนดีนั้นเป็นเหมือนการหว่านเมล็ดลงดินก่อน   เพราะถ้าไม่หว่านเมล็ดก็จะไม่มีการงอก  ไม่มีต้น ใบ ดอก  และก็ไม่เกิดผลอะไรเลยแน่   การเริ่มต้นครั้งแรกของการสร้างการคืนดีเป็นการหว่านเมล็ดแห่งความสัมพันธ์ใหม่   แต่เราจะต้องให้เวลาแก่ตนไม้แห่งการคืนดีนั้น ในการเติบโตและเกิดผลก่อน   เราถึงจะได้เก็บเกี่ยวผลแห่งการคืนดีในที่สุด

โปรดสังเกตว่า   รากศัพท์ภาษากรีกของคำว่า “จงไป” ในพระคัมภีร์ตอนนี้เป็นกริยาที่บอกให้ทำอย่างต่อเนื่อง (คือจงไปอย่างต่อเนื่อง)   ในที่นี้มิได้หมายความว่าไปสร้างการคืนดีเพียงครั้งเดียว   แต่หมายความว่าไปแล้วไปอีกอย่างไม่หยุดหย่อนท้อถอย   แต่เมื่ออ่านพระคัมภีร์ตอนนี้ในภาษาไทยแล้วมักเข้าใจกันว่า  ไปเพียงครั้งเดียว   ถ้าคู่กรณีไม่ยอมฟังหรือยอมคืนดี   เราก็จะดำเนินขั้นตอนต่อไปอย่างที่พระคัมภีร์แนะนำ

ดังนั้น  บ่อยครั้งนักที่เราไปเพียงครั้งเดียว   แล้วล้มเลิกที่จะอดทนสร้างการคืนดีอย่างต่อเนื่อง

หญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง   ได้อยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลคริสเตียนแห่งหนึ่งเกือบเดือนแล้ว   อนุศาสกในโรงพยาบาลแห่งนั้น ได้เคาะประตูห้องขออนุญาตเข้าเยี่ยมเธอ   เขาทักทายเธอด้วยความอบอุ่น   แต่อย่างไรก็ตามอุณหภูมิของอารมณ์ที่เธอตอบสนองกลับเย็นชา   อนุศาสกพยายามที่จะลงลึกถึงจิตวิญญาณ   แล้วใช้การสนทนาเพื่อสร้างการเยียวยาบาดแผลในจิตใจเพื่อให้เกิดการคืนดีและมีสันติสุข   แต่เธอเฉยเมยไม่ตอบสนอง   แม้อนุศาสกจะพยายามที่จะสบตาของเธอ   แต่ก็ดูเหมือนว่าการสนทนาไม่เคลื่อนไปไหน   หลังจากที่มีแต่คำถามทางเดียวจากอนุศาสก   เขาก็บอกกับเธอว่า  พรุ่งนี้เขาจะกลับมาเยี่ยมเธออีก   เธอบอกอนุศาสกว่า  “พรุ่งนี้ฉันอาจจะกลับบ้านแล้ว”

เหตุการณ์ปรากฏว่า  อนุศาสกมาเยี่ยมเธออีกจริง  แล้วก็บอกกับเธอว่าจะมาเยี่ยมเธออีก   และเขาก็มาเยี่ยมอีก   มาเยี่ยมเธออีกครั้งหนึ่ง   อีกครั้งหนึ่ง   อีกครั้งหนึ่ง  และอีกครั้งหนึ่ง  

อนุศาสกเคาะประตูครั้งแล้วครั้งเล่า   จนครั้งหนึ่งเมื่อเขาเคาะที่ประตูห้องของเธอ   มีเสียงจากภายในห้องดังออกมาว่า   “นั่นเป็นอาจารย์อนุศาสกใช่ไหม...เชิญเข้ามาในห้องค่ะ!”   สิ่งที่อนุศาสกพบแทนที่จะเป็นหน้าตาที่เย็นชาเฉยเมยอย่างทุกครั้ง  แต่ครั้งนี้กลับพบหน้ายิ้มแย้มอ่อนโยน   พร้อมกับน้ำตาที่ไหลออกมา

เธอสนทนากับอนุศาสกพร้อมด้วยน้ำตา   การเยี่ยมครั้งสุดท้ายนี้ใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมง   เมื่ออนุศาสกเดินออกจากห้องเธอไป เธอดูมีสันติสุขในชีวิต  ตลอดเวลาเวลาเกือบสามเดือนที่เธอพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งนี้   อนุศาสกมาเยี่ยมเธอครั้งแล้วครั้งเล่า   บางครั้งมาเพียงทักทายและชวนเธออธิษฐาน   บางครั้งใช้เวลาเล่นเกมกับเธอ    บทเรียนที่อนุศาสกได้เรียนรู้ครั้งนี้คือคุณค่าของการที่เขาจาริกไปกับความเจ็บป่วยของเธอ

ครั้งแรกที่ท่านเริ่มการสร้างการเยียวยาบาดแผลและการคืนดีในชีวิตของเธอ  ดูเหมือนว่าไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น   แต่นั่นเป็นการหว่านเมล็ดแห่งการเยียวยาและการคืนดี   โดยหวังการเก็บเกี่ยวผลในวันข้างหน้า

ในการเยียวยา และ เสริมสร้างการคืนดีและเกิดสันติสุขในชีวิตของคนนั้น   ไม่ได้จำกัดกับจำนวนครั้งที่ท่านจะต้อง “เคาะ” ที่ประตูใจแห่งชีวิตของคน   บางคนว่าสามครั้ง   บางคนว่าเจ็ดครั้ง   แต่ผมว่า “เคาะ” ครั้งแล้วครั้งเล่า   และเคาะครั้งต่อไป  ครั้งต่อไป  ครั้งต่อไป   ไม่หยุดหย่อนครับ   อย่างที่พระคริสต์ทรงยืนนอกประตูเคาะครั้งแล้วครั้งเล่า   รอเรา  จนกว่าเราจะเปิดประตูใจแห่งชีวิตของเรา  เราก็ควรที่จะทำตามแบบพระคริสต์ที่อดทน เคาะครั้งแล้วครั้งเล่า   จนกว่าประตูแห่งการเยียวยารักษา และ การคืนดีจะเปิดออก

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น