30 สิงหาคม 2556

คนเก็บตัว(Introvert)ก็มีคุณค่านะ

ในสังคมปัจจุบัน   ทั้งในวงสังคมหรือในวงคริสตจักร  เมื่อพูดถึงคนเก็บตัว (Introvert) เรามักจะตีความเข้าใจเอาว่า   “คนเก็บตัว” เป็นคนที่แยกตน  ไม่ค่อยสุงสิงเกี่ยวข้องกับคนอื่น  ดูเป็นคนที่ไม่ค่อยกระตือรือร้น  ดูเหมือนไม่ชอบที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวอาสางานในคริสตจักร/สังคม   และเราก็มักรู้สึกเป็นธรรมดาว่า   งานพันธกิจในคริสตจักรไม่มีพื้นที่สำหรับคนเก็บตัว (Introvert) กลุ่มนี้  

เมื่อคริสตจักรจะคัดสรรผู้คนมารับผิดชอบงานพันธกิจด้านต่างๆ ในคริสจักร   คนที่มีของประทานเป็นพวกที่ “คนเปิดเผย” (Extrovert) ทำให้ตัวเป็นที่รู้จักในที่สาธารณะมักจะได้รับเลือกให้เป็นคนรับผิดชอบในงานพันธกิจเหล่านั้น   และยังถูกผู้คนทั่วไปมองว่า  เป็นคนที่เปี่ยมไปด้วยพลังในชีวิต   เป็นคนของประชาชน  เป็นคนที่แสดงออก   แท้จริงแล้วสังคมและคริสตจักรในปัจจุบันเรานิยมชมชอบคนที่ “คิดเร็ว”  สื่อสารได้คล่องแคล่วทันใจ   ถึงลูกถึงคน   มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นยอดเยี่ยม   เป็นคนที่ก้าวเข้าหาคนอื่น   จึงไม่น่าสงสัยเลยใช่ไหมครับที่ผู้คนเลือกคนที่เปิดเผย หรือ เอ็กซ์โทรเวิร์ท ให้มารับผิดชอบในงานพันธกิจต่างๆ   แล้วก็ตัดสินตีตราลงไปว่าสำหรับคนเก็บตัว หรือ อินโทรเวิร์ท นั้นเหมาะสำหรับการทำหน้าที่หลังฉากหลังเวที   ที่ต้องพบปะเกี่ยวข้องผู้คนเพียงเล็กน้อย   แล้วมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์เพียงน้อยนิดหรือไม่ต้องเกี่ยวเลย   และนี่เป็นการแสดงบ่งชัดเจนว่าเป็นการเข้าใจคน “เก็บตัว” ผิดอย่างยิ่ง   และขาดความเข้าใจที่ถูกต้องถ่องแท้ถึงการนำเอาของประทานที่มีในคนเก็บตัว หรือ อินโทรเวิร์ทมาใช้ในงานพันธกิจคริสตจักร

Susan Cain เจ้าของหนังสือชื่อ Quiet: The Power of Introverts in a World that Can’t Stop Talking (ขออนุญาตลองแปลว่า  “ความเงียบ: พลังอำนาจของคนอินโทรเวิร์ทในโลกของการพูดพร่ำที่ไม่รู้จักหยุด) มีตอนหนึ่งที่ ซูซานได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “กลุ่มต่างๆ ในคริสตจักรมักติดตามคนที่มีลักษณะที่ใช้อำนาจครอบงำในการนำด้วยการพูดเก่ง   แต่หารู้ไม่ว่าบางครั้งการพูดเก่งก็ไม่ได้หมายความว่าคนพูดนั้นจะมีความคิดที่ดี   แต่คนก็มักเลือกตามคนพวกนี้”  และนี่เป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ 

เรามักเผลอลืมไปว่า  งานพันธกิจด้านต่างๆ ในคริสตจักรที่ขาดพลังหนุนเสริมจากกลุ่มคนที่มีของประทานของคน “เก็บตัว”  มักขาดความลุ่มลึก  ปัญญาที่แหลมคม  ที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการกระทำ

เข้าใจคนเก็บตัว

ในสังคมวัฒนธรรมปัจจุบัน  ทั้งคนเก็บตัว หรือ อินโทรเวิร์ท และ คนเปิดเผย หรือ เอ็กซ์โทรเวิร์ท ต่างเข้าใจความเป็นคนที่มีของประทานของคนเก็บตัวผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป   คนที่เก็บตัว ไม่ได้หมายความเป็นคนที่อ่อนแอ หรือ อ่อนด้อย  และก็ไม่ใช่คนพวกที่มีความบกพร่อง   แล้วก็ไม่ใช่คนที่มีความคิดหรือพฤติกรรมที่ต่อต้านแข็งขืนสังคม    จากการสำรวจในสังคมโลกยุค ค.ศ. 2000 พบว่า   คนในสังคมไม่น้อยกว่า 50% ที่มีของประทานเป็นคนเก็บตัว หรือ อินโทรเวิร์ท

บุคลิกลักษณะของคน “เก็บตัว”  เป็นคนที่ชอบหรือมักมุ่งเน้นการใคร่ครวญ  ไตร่ตรอง  เป็นการกระตุ้นค้นหาภายในชีวิตของคนๆ นั้น    ในความเป็นจริงแล้ว   คนลักษณะ “เก็บตัว” มิใช่คนที่ตรงกันข้ามกับคน “เปิดเผยตัว”   แต่ทั้งสองบุคลิกนั้นไปเคียงคู่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน   แม้แต่คน “เก็บตัว” สองคนก็ยังมีความแตกต่างกันในความเป็นคนเก็บตัวของเขา

นักจิตวิทยา Laurie Helgoe บอกกับเราว่า  “คนเก็บตัวคือ  คนที่เลือกมองชีวิตจากภายในออกสู่ภายนอก   คนกลุ่มนี้จะได้รับพลังอำนาจชีวิตจากการที่พวกเขาสะท้อนใคร่ครวญภายในชีวิตของเขา  และเกิดความตื่นเต้นจากความคิดที่เขาได้มากกว่าการทำกิจกรรมภายนอกสำเร็จ   เขาเป็นคนที่ฟังอย่างตั้งใจและคาดหวังว่าคนอื่นจะฟังตนอย่างใส่ใจด้วย   เขาเป็นคนที่คิดก่อนแล้วค่อยพูด    มักเป็นคนที่ชอบเขียนสิ่งที่ตนคิดออกมา   เพื่อตนจะสามารถอธิบายอย่างเป็นระบบชัดเจน   และเขาคาดหวังที่จะมีกระบวนการสื่อสารสื่อความเช่นนี้”

Marti Olsen Laney อธิบายความหมายคนเก็บตัวว่า   “คนเก็บตัวได้รับพลังชีวิตจากภายในโลกแห่งความคิด  อารมณ์  และสิ่งประทับใจของเขา   และเขาสามารถเก็บกักรักษาพลังนั้นไว้ในชีวิตของเขา   เขาจะเกิดความรู้สึกว่าโลกภายนอกตัวเขานี้วุ่นวายสับสน   รู้สึกไม่สบายใจกับมัน   และรู้สึกว่าเป็นสภาพสังคมที่วุ่นวายมากเกินไป”

Olsen Laney  ได้บ่งบอกถึงความแตกต่างของคนเก็บตัว กับ คนที่เปิดเผยตนนั้นมี 3 สิ่งด้วยกันคือ  พลังชีวิตที่เขาได้รับ,  แรงกระตุ้นในชีวิต,  และความลึกซึ้ง   “พลังของคนเก็บตัวเป็นเหมือนแบตเตอรี่(รถยนต์)  ที่เป็นแหล่งพลังไฟที่สตาร์ทเครื่อง   แต่เมื่อเครื่องติดแล้วก็สามารถชาร์ตไฟกลับเข้ามาเก็บที่แบตเตอรี่ได้  เป็นกระบวนการใช้และสร้างพลังงานในตัวของมันเองอย่างเป็นธรรมชาติ   ในขณะที่คนเปิดเผยตน หรือ เอ็กซ์โทรเวิร์ทเป็นเหมือนแผงโซลาเซลที่จะแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้า  แล้วนำประจุไฟไปเก็บรักษาในแบตเตอรี่เพื่อนำไปใช้ตามต้องการ   แต่เมื่อใช้แล้วก็จะหมดไป   และต้องรอดวงอาทิตย์ขึ้นเพื่อแผงโซลาเซลจะแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟอีกครั้งหนึ่ง”

นอกจากความแตกต่างของการได้มาซึ่งพลังชีวิตของคนเก็บตัว กับ คนเปิดเผยตนแล้ว   คนที่เก็บตัวเป็นคนที่มีความรู้สึกไวมากกว่าเพื่อนที่เป็นคนเปิดเผยตน   และคนที่เก็บตัวมักชอบที่จะเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ลุ่มลึกกับผู้คน  แทนที่การมีความสัมพันธ์อย่างผิวเผินกว้างขวาง 

ทุกอย่างอยู่ในหัวของเรา

จากการศึกษาการทำงานของสมองในคนที่เก็บตัว กับ คนที่เปิดเผยตน พบว่า  การไหลเวียนของโลหิตในสมองของคนเก็บตัวมีสูงกว่าคนเปิดเผยตน   ชี้ให้เห็นว่ามีการกระตุ้นภายในสมองของคนเก็บตัวสูงกว่าคนเปิดเผยตนเอง    และการศึกษายังพบอีกว่าเส้นทางการไหลเวียนของโลหิตในสมองของคนเก็บตัวไหลเวียนเป็นระยะทางที่ยาวกว่าคนที่เปิดเผยตน  และมีการไหลเวียนมีความซับซ้อนกว่ากันอีกด้วย   และโลหิตที่ไหลเวียนของคนเก็บตัวจะไหลเวียนในส่วนสมองที่เกี่ยวกับการทำงานภายในชีวิต เช่น เรื่องความจำ  การแก้ปัญหา  การวางแผน   สำหรับคนที่เปิดเผยตนการไหลเวียนของโลหิตจะไหลเวียนเร็วกว่า  ในระยะทางที่สั้นกว่า  และซับซ้อนน้อยกว่า   และเป็นการไหลเวียนในส่วนของเนื้อสมองที่เกี่ยวกับการรู้สึกสัมผัส   ดังนั้น จึงมีผลให้คนที่เก็บตัวสนใจกับพลังกระตุ้นภายใน  ในขณะที่คนเปิดเผยตนจะสนใจแรงกระตุ้นจากภายนอก

แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเก็บตัวจะไม่สัมผัสสัมพันธ์กับโลกภายนอกตัวเขา  พวกเขายังข้องเกี่ยวสัมพันธ์กับผู้คน   เพียงแต่จำกัดความสัมพันธ์จำนวนคนเท่าที่เขาจะสามารถรับมือได้ในแต่ละครั้งเท่านั้น

เพราะการไหลเวียนของโลหิตในเนื้อสมองของคนเก็บตัวไหลเวียนด้วยระยะทางที่ยาวกว่าและซับซ้อนกว่าจึงทำให้สามารถอธิบายได้ว่า  ทำไมพวกเก็บตัวถึง “คิดช้า” “ตอบสนองช้า”   เมื่อคนเก็บตัวถูกตั้งคำถาม   เขาต้องการเวลาที่จะคิดใคร่ครวญให้รอบคอบ   จึงดูเหมือนว่าเขาคิดไม่ออก บอกไม่ถูก  ชักช้า  หรือต้องการเวลาที่จะคิด   แต่เมื่อเราได้รับคำตอบจากคนกลุ่มนี้  เราก็จะรู้สึกชื่นชมในความลุ่มลึก ในความคิด  กอปรด้วยปัญญา  และความคิดที่แหลมคม   ถ้าเราพบว่าบางคนที่ตอบชักช้าเรามักตีความว่าเขาไม่มีคำตอบ เขาไม่มีอะไรในหัวของเขา   แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย   เพราะกระบวนเส้นทางการคิดของคนเก็บตัวต้องใช้เวลาจึงไม่สามารถตอบได้ทันทีทันควัน   คำตอบจากคนเก็บตัวต้องใช้เวลาในการทำงานในสมอง  และตรวจสอบความถูกต้อง   ดังนั้น  เราต้องให้เวลาแก่คนเก็บตัวในการคิด

คนเก็บตัวมิใช่ผู้ที่ไม่สุงสิงเกี่ยวข้องกับคนอื่นรอบตัวเขา  พวกเขามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนอื่น   แต่จำนวนคนที่จำกัดในแต่ละครั้ง   โดยทั่วไปสมองของคนเก็บตัวทำงานอย่างกระฉับกระเฉง   แต่เมื่อสภาพแวดล้อมภายนอกถาโถมใส่เขา   ในเวลาเช่นนั้นเขาจะต้องเก็บตัวชาร์ตพลังแก่ตนเอง   เขาไม่ต้องเอาพลังเสริมจากภายนอก   เพียงแต่เขาต้องการที่ที่สำหรับตนเองและเวลาเงียบเพื่อเขาจะเรียกรวมพลังจากภายใน

การเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนเก็บตัว (Introvert)

ความผิดแผกแตกต่างระหว่างคนเก็บตัวกับคนเปิดเผยตนนั้น   มิใช่อยู่ที่คนเก็บตัวเป็นมนุษย์ที่มีความบกพร่อง หรือ ไม่ครบสมบูรณ์  หรือ เป็นคนที่ต้องได้รับการแก้ไขรักษา   แท้จริงแล้วบุคลิกภาพของคนที่เก็บตัวเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้งานสามารถขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ   ถ้าเอาของประทานของทั้งคนที่เก็บตัวและคนเปิดเผยตน มาหนุนเสริมกันและกันแล้ว   งานนั้นก็จะสามารถขับเคลื่อนไปอย่างดีและยังสะท้อนถึงพระลักษณะ(ฉายา)ของพระเจ้า   และคงมิใช่การที่เราจะไปพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางอารมณ์  วิธีการคิดและตัดสินใจของคนเก็บตัวให้เร็วขึ้น   หรือไปเร่งรัดให้เขารีบตอบรีบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก   หรือต้องการให้เขาตอบทันทีเมื่อเราถาม    แทนที่เราจะมีท่าทีคิดจะไปแก้  บีบคั้น  เร่งรัด ให้เขาเป็นอย่างที่เราคาดหวัง   แต่ให้เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนเก็บตัวอย่างชาญฉลาดและสร้างสรรค์   ด้วยทัศนะมุมมองที่รู้เท่าทันความเป็นคนเก็บตัวว่า   นั่นเป็นของประทานหนึ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้กับบางคน   เพื่อใช้สร้างสรรค์เสริมหนุนกันในโลกนี้

เมื่อเราทำงานกับคนที่เก็บตัว   ลักษณะพิเศษที่สร้างสรรค์ในของประทาน(พรสวรรค์)ของคนเก็บตัวที่เราต้องรู้เท่าทันคือ

คิดอย่างลุ่มลึก:   กระบวนการการทำงานของระบบประสาทในสมองที่มีการไหลเวียนของโลกหิตและเส้นทางที่ยาวและซับซ้อนของคนเก็บตัวจะต้องใช้เวลาในการคิด   ดังนั้น เราต้องให้เวลาแก่คนที่เก็บตัวได้คิด   เพื่อเขาจะมีเวลาในการพิจารณา  ชั่งน้ำหนักเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ และแผนการกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนในงานพันธกิจ นั้นๆ

สัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง:   ในประเด็นนี้เราต้องรู้เท่าทันว่า  สิ่งใดๆ ที่มีจำนวนมากมิได้เป็นสิ่งดีเสมอไป   เราควรให้กำลังใจแก่คนที่เก็บตัว  ในเขาทำงานแบบให้ความสัมพันธ์  ความสนใจ และความสำคัญทีละคน หรือ ในกลุ่มเล็ก   มากกว่าการไปบีบรัดให้เขาทำงานพันธกิจกับผู้คนครั้งละหลายๆ คนหรือในคนกลุ่มใหญ่   โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเป็นคนที่เปิดเผยตน (เอ็กซ์โทรเวิร์ท) ที่มักชอบติดต่อสัมพันธ์กับคนครั้งละมากคน   แต่เราก็ไม่สามารถที่จะมีความสัมพันธ์และเอาใจใส่คนเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง   และเมื่อมีกลุ่มคนที่ท่านต้องให้ความสัมพันธ์เอาใจใส่ที่ลุ่มลึกเฉพาะท่านควรแสวงหาคนที่เก็บตัวเข้ามาหนุนเสริมท่านในการทำพันธกิจแก่คนกลุ่มดังกล่าว   เพื่อท่านจะไม่สร้างความตกใจกลัวที่คิดว่าเขาจะต้องทำพันธกิจกับคนกลุ่มใหญ่ ให้อธิบายให้คนเก็บตัวทราบว่า เขาจะทำงานกับ  กลุ่มเป้าหมายได้ครั้งละคน  หรือที่ละน้อยคน  หรือ ในกลุ่มคนเล็กๆ

ตรวจสอบเจตนาและความตั้งใจ:   ลักษณะพิเศษประการหนึ่งของคนเก็บตัวคือเขาจะเป็นคนที่คิดก่อนทำ   เขาจะตรวจสอบ ใคร่ครวญ พิจารณาถึงเจตนา  ความมุ่งมั่นตั้งใจก่อนที่เขาจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด    ดังนั้นในงานพันธกิจของคริสตจักรสามารถที่จะเชิญคนที่เก็บตัวบางท่านที่เหมาะสมให้เป็นผู้ที่จะพิจารณาโครงการแผนงานพันธกิจของคริสตจักร  แล้วขอให้เขาช่วยตั้งคำถามต่อคริสตจักร เช่น  ทำไมคริสตจักรของเราถึงจะทำพันธกิจต่างๆเหล่านี้   และรับฟังการตอบสนองจากเขาเมื่อเขาได้ฟังและกลับไปพิจารณาทบทวนแล้ว

พลังชีวิตภายใน:   ผู้นำที่เก็บตัวส่วนมากแล้วเป็นคนที่สนใจวินัยชีวิตด้านจิตวิญญาณ  พันธกิจในการอธิษฐาน   ให้การปรึกษาหารือ   ให้การบ่มเพาะเลี้ยงดูชีวิตสมาชิก   และเป็นคนที่มักจะมีวินัยในการเขียน   เราควรเชิญผู้นำเก็บตัวเข้ามารับผิดชอบในพันธกิจด้านต่างๆ เหล่านี้

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ:   ในวงการการแสดงเรามักเลือกสรรคนที่ชอบเปิดเผยตน  แสดงตน  ชอบความโดดเด่นบนเวที   แล้วเราก็ใช้คนเก็บตัวในการจัดการวางฉาก   ชักฉาก  คนบริการขนมและเครื่องดื่ม   แต่เราก็ไม่ควรลืมบทบาทสร้างสรรค์ที่สำคัญที่เราสามารถใช้ของประทานของคนเก็บตัวได้อย่างมีประโยชน์ เช่น   การพิจารณาและพัฒนาบท,   การวิจารณ์เสนอแนะในการฝึกซ้อม

เราต้องตระหนักเสมอว่าคนที่เก็บตัวไม่ต้องการแสดงตัวบนเวทีแก่ผู้คนจำนวนมากๆ   คนเก็บตัวส่วนมากเป็นคนที่มีความสุขกับการรับใช้ “หลังเวที” หรืออยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนพันธกิจแต่ละครั้ง   ให้เราเชิญเขาร่วมในงานที่มีความหมายที่คนเก็บตัวจะสามารถและมีโอกาสใช้ของประทานที่พระเจ้าให้แก่เขาในการรับใช้ในพันธกิจนั้นๆ   ช่วยให้คนทุกประเภทในคริสตจักรได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในพันธกิจของคริสตจักรด้วยกัน

นำข้างหน้าอย่างสบายใจ:   เราคงไม่ทึกทักเหมารวมว่าคนเก็บตัวจะไม่ยอมขึ้นไปนำข้างหน้า หรือ บนเวทีเลย   หลายคนมีความสุขเสียด้วยซ้ำ   แต่เราต้องให้เวลาแก่คนเก็บตัวในการคิดพิจารณา  ในการเตรียมอย่างพอเพียง   และเราต้องอดทนที่จะให้ความกระจ่างในงานที่เรามอบหมายให้เขาทำ   เขาอาจจะถามเราถึงรายละเอียด  เป้าหมาย  กลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ   แต่เมื่อเขามีเวลาเตรียมตัว  พิจารณาใคร่ครวญอย่างดีแล้ว   เขาก็ทำได้อย่างดีด้วย

น้ำใสใจจริง:   คนที่เก็บตัวเป็นคนที่ลุ่มลึกลงในชีวิตภายในของตนเอง   และถ้าเราร้องขอให้เขาช่วยแสดงความคิดเห็น  สะท้อนความรู้สึกที่มิใช่สิ่งภายในชีวิตหรือประสบการณ์ของเขา   เขาจะรู้สึกไม่สบายใจหรือปฏิเสธคำขอร้องของเรา   เขาให้คุณค่าในสิ่งที่เขารู้จริงหรือเป็นความจริงที่เขาพบสัมผัส   เขาต้องการแสดงออกให้ผู้คนรับรู้เฉพาะสิ่งที่เป็นจริงในจิตใจและความรู้สึกเท่านั้น    เช่น ในงานสังคม หรือ แม้แต่ในคริสตจักร   เขาจะรู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องจับมือเหมือนเป็นเพื่อนสนิทกับคนที่เขาไม่คุ้นชินมาก่อน   เขาไม่พร้อมที่จะแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมกับคนที่เขารู้จักเพียงผิวเผิน

ถ่อมในการนำ:   จากงานวิจัยฉบับหนึ่งได้แสดงผลการวิจัยว่า   ผู้นำที่เป็นคนเก็บตัวมักนำข้อเสนอของลูกน้องมาประยุกต์ใช้ในงาน   ส่วนใหญ่จะให้โอกาสแก่ลูกน้องทดลองทำในสิ่งใหม่ที่เสนอ   แล้วให้เวลารับฟังความคิดเห็นความรู้สึกของลูกน้องกลุ่มนั้น    และจากการศึกษายังพบอีกว่าผู้นำที่เก็บตัวมักสามารถฝึกฝนคนงานที่มีลักษณะเปิดเผยตนในการนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ผู้นำที่เก็บตัวจะขอใช้ผู้นำลูกน้องคนนั้นในการกระตุ้นและสร้างเสริมให้คนทำงานคนอื่นๆ  หรืออาสาสมัครที่ต้องการพี่เลี้ยงในการทำงานให้เกิดผลและก้าวหน้า

ช้าในการพูด:   Sam Rayburn กล่าวว่า “ไม่มีใครที่จะใช้ภาษาที่ออกคำสั่งได้ดีเท่ากับคนที่ไม่เปิดปาก”   นี่เป็นลักษณะปกติธรรมชาติของคนเก็บตัว   พวกเขาไม่ใช่คนที่เงียบไม่ยอมพูดตลอดเวลา   แต่พวกเขาต้องการที่จะคิดพิจารณาก่อนที่จะพูดออกมา   พวกเขาเรียนรู้ว่า คนพวกเปิดเผยตนมักเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความอดทนเพียงพอที่จะรอฟังความคิดของเขา  ดังนั้นเขาตัดสินใจเงียบดีกว่า   ทำให้เขามีเวลาที่จะคิด 

ให้เกียรติการสร้างสรรค์ของพระผู้สร้าง

คงไม่เป็นการพูดเกินเลยความจริงว่า  คนที่เก็บตัวก็เป็นคนที่สร้างความสำคัญและความก้าวหน้าเป็นอันมากให้กับสังคมโลก  ไม่ว่าจะเป็น Steve Wozniak ผู้ที่คิดค้นเกี่ยวกับแอปเปิลคอมพิวเตอร์  หรือ  J.K. Rowling ผู้ประพันธ์เรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ (Harry Potter)  ก็เป็นคนที่เก็บตัว   แต่มิใช่เพราะเขาเป็นคนเงียบ  แต่เพราะเขาเป็นอย่างที่เขาเป็นต่างหาก

ผู้ปกครองคริสตจักรท่านหนึ่งได้รับการทาบทามจากศิษยาภิบาลให้เข้าไปช่วยพันธกิจเกี่ยวกับคริสเตียนศึกษาสำหรับเด็ก   เบื้องแรกผู้ปกครองคิดว่าตนไม่น่าจะเหมาะสมในการที่จะทำงานกับเด็ก   มิใช่เพราะว่าเขาไม่รักเด็ก   แต่เขาคิดว่าการทำงานกับเด็กไม่น่าจะเป็นงานที่เหมาะสมสำหรับเขาที่เป็นคนเก็บตัว   แต่เมื่อเขาได้มีโอกาสพูดคุยและฟังคำอธิบายจากศิษยาภิบาลว่า   ต้องการให้ผู้ปกครองเป็นผู้ที่จะเอาใจใส่อภิบาลคุณครูที่สอน คริสเตียนศึกษาสำหรับเด็ก   ผู้ปกครองรู้สึกว่างานนี้เหมาะสมกับตนเองและตนเองก็ชอบ    เขาจะไปที่คริสตจักรแต่เช้าในทุกวันอาทิตย์   เพื่อรอพบกับคุณครูคริสเตียนศึกษาที่ต้องการพบ  ปรึกษา  และขอคำแนะนำจากผู้ปกครอง   ผู้ปกครองใช้เวลาในการฟังครูเหล่านั้นคนแล้วคนเล่า   มีเวลาที่จะอธิษฐานกับคุณครูที่เข้ามาปรึกษา   มีโอกาสวางมือครูที่มีความต้องการกำลังจากเบื้องบน   ท่านให้เวลาในการรับใช้คุณครูเหล่านั้นที่อุทิศถวายตัวเพื่อรับใช้งานคริสเตียนศึกษาสำหรับเด็ก   เขาทำงานรับใช้นี้อย่างมีความสุขและมีคุณค่าในชีวิตของตน   และในเวลาเดียวกันก็เสริมสร้างคุณค่าแก่คุณครูที่สอนคริสเตียนศึกษาสำหรับเด็กเหล่านั้นด้วย

คนทุกคนได้รับการทรงสร้างจากพระเจ้าตามพระลักษณะ(พระฉายา)ของพระองค์อย่างน่าอัศจรรย์   ทั้งคนที่เก็บตัวและคนที่เปิดเผยตน   ไม่ว่าเราจะเป็นคนที่เก็บตัวหรือคนที่เปิดเผยตนเองเราควรที่จะมีมุมมองความเป็นคนเก็บตัวในมุมมองใหม่   ถ้าเราคิดว่าคนที่เปิดเผยตนเท่านั้นที่สามารถทำพันธกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผล   แล้วคนที่เปิดเผยตนคิดว่าคนเก็บตัวจะต้องเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนามาเป็นเหมือนตนมากขึ้นนั้น   เราต้องระวังที่จะคิดและจะมองเช่นนี้   เพราะการมองเช่นนี้เป็นการมองตามกระแสสังคมวัฒนธรรมตามยุคปัจจุบัน   มิใช่การมีมุมมองที่ถวายพระเกียรติแด่พระราชกิจแห่งการทรงสร้างที่สร้างสรรค์ของพระเจ้า   แท้จริงแล้ว  โลกเราปัจจุบันนี้มิใช่ต้องการคนที่เปิดเผยตนจำนวนมากขึ้น   แต่เราต้องการปัญญามากขึ้น  คนที่จริงใจมากขึ้น   เราต้องการคนที่ “ไวในการฟังและช้าในการพูด” (ยากอบ 1:19)   เราต้องการคนที่เก็บตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการนำและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่คริสตจักรและสังคมในปัจจุบัน

ข้อเสนอบางประการในการชวนคนเก็บตัวเข้ามาร่วมงานเมื่อมีโอกาส
  • คนที่เก็บตัวมักจะระมัดระวังตนก่อนที่จะทุ่มตัวเข้าผูกพันงานใดงานหนึ่ง   เขาต้องการที่จะคิดหน้าคิดหลังคิดให้ตลอดรอดฝั่ง   และอาจจะห่วงใยเกี่ยวกับระดับพลังที่มีในตนเอง   แทนที่จะให้เขาตกปากตกคำให้คำมั่นสัญญาทันทีทันใด  อาจจะให้โอกาสแก่เขาที่จะลองมาร่วมในงานนั้นก่อนสักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ
  • ในการเชิญชวนอาจจะเริ่มจากการชวนให้เขาสำรวจความรู้สึกชีวิตภายในเกี่ยวกับงานนั้นก่อนแล้วค่อยโยงเข้ากับโอกาสที่เปิด   ใช้เวลาในการชวนเขาสนทนาถึงพรสวรรค์ หรือ ของประทานพระเจ้าในตัวของเขา   และขอเขาช่วยเล่าถึงประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาก   คอยมองว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เขาแสดงดวงตาที่เป็นวาวตื่นเต้นสนใจ   จากนั้นอาจจะเสนอบทบาทที่สอดคล้องกับชีวิตของเขาที่เขาจะได้แสดงออกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำภายในชีวิตของเขา
  • ให้เสนอเชิญชวนงานที่ทำแบบ“คนต่อคน” หรือ ทำในคนกลุ่มเล็ก
  • ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงจากงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปเกี่ยวพันกับพันธกิจหลักของคริสตจักรอย่างไร   แล้วชี้ให้เขาเห็นว่าเขาเหมาะกับงานส่วนนั้นอย่างไร   ถ้าคนเก็บตัวไม่สามารถเห็นถึงความเชื่อมโยงและความสำคัญในงานที่เราชวน   เขาอาจจะไม่สนใจเข้าร่วมในงานนั้นก็ได้
  • ให้รายละเอียดงาน  รายละเอียดความรับผิดชอบ  และความคาดหวัง   เพื่อไม่ทำให้คนที่เก็บตัวต้องตกใจที่จะต้องคิดแบบรีบด่วนและความต้องการของเราที่ไม่ได้บอกชัดเจน   ควรบอกถึงภาระงาน  และความรับผิดชอบที่เขาจะต้องมีต่อใครบ้างอย่างเจาะจง   เพื่อเขาจะรู้ชัดเจนว่าเขาจะต้องทำงานอะไร  ทำอย่างไร  และทำกับใคร
  • ในงานที่จะต้องมีผู้คนมากพบปะกัน   ให้มอบหมายงานแก่คนเก็บตัวทีละชิ้นงาน   บางครั้งบางงานเขาอาจจะต้องการถอยหลังตั้งตัวสักนิดหนึ่งเราพึงเปิดโอกาสแก่เขา   เพื่อให้เกิดอาการเคอะเขินน้อยที่สุดหรือต้องพูดคุยน้อยที่สุด   แต่ยังให้เขาพบปะสัมพันธ์กับผู้คน  


ข้อเขียนนี้เรียบเรียงจากการอ่านบทความของ Amy Simpson
เรื่อง Confessions of a Ministry Introvert

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

3 ความคิดเห็น:

  1. ชอบบทความนี้มากเลยค่ะ ขอบคุณที่นำมาเผยแพร่นะคะ

    ตอบลบ
  2. เป็นบทความที่ตอบคำถามที่ค้างคาในใจที่มีมาโดยตลอด ขอบคุณพระเจ้าสำหรับผู้เขียนบทความนี้ค่ะ

    ตอบลบ