16 สิงหาคม 2556

ประสบการณ์ 10 ประการในการรับมือกับความขัดแย้ง

“ฉันนะรักมนุษย์...แต่ฉันทนไม่ได้กับมนุษย์...”

คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงว่า   ในทางทฤษฎีความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นเริ่มต้นจากสิ่งที่น่าชื่นชม  และในความเป็นจริงความสัมพันธ์อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากก็ได้   แต่ไม่มีสิ่งใดที่ให้ความสำเร็จในชีวิตได้มากเท่ากับการที่เราสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้

แต่ก็ไม่มีอะไรที่สร้างความลำบากยุ่งเหยิงยิ่งไปกว่าเมื่อความสัมพันธ์ต้องพบกับความขัดแย้ง   แต่ก็แน่นอนครับ   ในการเผชิญรับมือกับความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งมีทั้งวิธีการที่เสริมสร้าง และ แนวทางที่ทำลาย   มีแนวทาง 10 ประการที่ขอแบ่งปันในเรื่องนี้

1.  เชื่อในหลักการ 101%

หลักการ 101% คือ  ในความสัมพันธ์ที่ขัดแย้ง “ขอให้ท่านหาพบสิ่งที่ท่านเห็นด้วยกับคู่กรณีเพียง 1% แต่ให้กำลังความพยายามทุ่มเทของท่าน 100%

Cullen Hightowerเคยเขียนไว้ว่า  “มีเรื่องมากมายที่เราถกเถียงกัน   แต่มีน้อยเรื่องนักที่เราเห็นพ้องกัน”   สิ่งแรกที่เป็นการตอบสนองที่ดีที่สุดเมื่อความสัมพันธ์ของเรา เกิดความขัดแย้ง คือท่านทุ่มเทค้นหาในส่วนที่ต่างฝ่ายต่างเห็นด้วยกันก่อน   ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ความขัดแย้งสามารถมุ่งหน้าขับเคลื่อนไปสู่ข้อสรุป

2.   รักคนมากกว่ารักความคิดเห็น

ท่านเคยพบคนที่ทำตรงกันข้ามกับข้อความข้างต้นบ้างไหม?   แล้วเขาคนนั้นต้องพบกับความขัดแย้งในชีวิตมากน้อยแค่ไหน?   สำหรับผมเชื่อว่า ใครก็ตามที่รักความคิดเห็นของตนเองมากกว่าความคิดเห็นของเพื่อน เขาคนนั้นจะปกป้องความคิดเห็นของตนและทำลายมิตรภาพของเขา   ให้เราให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพมากกว่าและเหนือกว่าประเด็นที่เราถกเถียงขัดแย้ง   กล่าวคือเราจะไม่ปกป้องความคิดความเห็นของเราเป็นสิ่งที่ความสำคัญที่สุดแต่การปกป้องความคิดความเชื่อของเราเป็นการ “ย่ำยี” ความสัมพันธ์และ “หัวใจ” คนที่เราสัมพันธ์สื่อสารด้วย   แล้วท่านจะรักษาช่องทางที่เขาจะสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนของท่านไว้ได้อย่างไร?   และเมื่อช่องทางสื่อสารสัมพันธ์ถูกตัดหรืออุดตันความขัดแย้งก็จะรุนแรงขึ้น   ดังนั้น  ให้เรารักคนมากกว่ารักความคิดครับ

3.  ยกประโยชน์แก่คู่ขัดแย้งในเรื่องที่สงสัย

เมื่อเราจะต้องจัดการตนเองให้เราจัดการด้วย “หัว” หรือ “สมอง” ของเรา   แต่ถ้าเราจะต้องรับมือหรือจัดการผู้อื่นให้เรากระทำด้วย “หัวใจ” ของเรา   แต่โดยทั่วไปแล้วคนส่วนมากทำตรงกันข้ามตามที่กล่าว   ขอให้เราหลีกเลี่ยงกับดักดังกล่าวที่ไปคาดหวังความสมบูรณ์แบบในตัวคนอื่น   ให้เราคิดก่อนว่าคนที่เรามีความขัดแย้งด้วยมีความตั้งใจดี    การทำเช่นนี้จะช่วยลดความแรงจากอาการการปกป้องตนเอง   ทำให้ทั้งสองฝ่ายพยายามมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาที่มีอยู่ข้างหน้านั้น

4.  เรียนรู้ที่จะเป็นคนยืดหยุ่น

คำกล่าวที่รู้จักกันดีของ  Thomas Jefferson ว่า  “ในเรื่องของหลักการ  จงยืนมั่นคงดั่งศิลา   แต่ถ้าเป็นเรื่องของความพอใจ  จงปล่อยตัวไปตามกระแส”   ให้ถามตัวเราในคำถามที่สำคัญสองประการดังนี้  “สิ่งที่เรากำลังเอาเป็นเอาตายในความขัดแย้งจะสร้างความแตกต่างจากที่เป็นอยู่ปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน?”   และ   “เราจะต้องห่วงกังวลในเรื่องที่เราขัดแย้งกันในพรุ่งนี้หรือไม่?”   ถ้าคำตอบคือ “ไม่”  ให้เราประนีประนอมหรือออมชอมกันเถิด

5.   เปิดทางออกให้คู่ขัดแย้ง

ในการรับมือกับความโกรธของลูกค้าที่มารับบริการ   หลายบริษัทได้ให้หลักการสำคัญแก่ลูกน้องของตนเองว่า  “ต้องไม่ทำให้ลูกค้าเสียหน้า”   เพราะบ่อยครั้งคนให้บริการในบริษัทมุ่งเน้นที่จะเอาชนะด้วยการพิสูจน์ว่าตนไม่ได้ผิดแต่ลูกค้าเป็นฝ่ายผิด   เป็นเหมือนการต้อนให้ลูกค้าจนมุม   แต่หลักการของเขาคือ  ไม่ทำให้ลูกค้าต้องเสียหน้า   ในความขัดแย้งเราต้องเปิดทางออกให้คู่ขัดกรณี

6.   ตรวจสอบมุมมองทัศนคติของตนเอง

โดยปกติเรามักคิดเช่นนี้ว่า   จันทรามีปัญหากับประพันธ์  และจันทราก็มีปัญหากับเกษม  แล้ว จันทราก็มีปัญหากับเสมอใจ   ถ้าอย่างนี้จันทราคงเป็นตัวปัญหา  เมื่อเรามองเช่นนี้และบังเอิญเราต้องไปมีความขัดแย้งกับ จันทรา   และก็จะด่วนสรุปเหมารวมเอาว่า  จันทราเป็นตัวปัญหาในความขัดแย้งกับเราครั้งนี้    แต่เราน่าจะตรวจสอบตนเองว่า   ในความสัมพันธ์ของเราเองกับคนอื่นเกิดความขัดแย้งบ่อยครั้งหรือไม่?   อาจจะเป็นการดีที่เราจะตรวจสอบ  มองตนเองในกระจกว่า  เรามีทัศนคติหรือมุมมองอะไรหรือไม่ที่เป็นสาเหตุก่อเกิดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ

7.   อย่าทำเกินกว่าเหตุ (เวอร์)

เมื่อเกิดความขัดแย้ง  สำคัญมากที่เราจะรักษามุมมอง และ การตอบโต้ของเราต่อความขัดแย้งนั้นอย่างเหมาะสม   จริงๆ แล้วประเด็นความขัดแย้งนั้นใหญ่โตแค่ไหน?   ปฏิกิริยาหรือการตอบโต้ของท่านสอดคล้องเหมาะสมกับความรุนแรง และกับประเด็นความขัดแย้งนั้นหรือไม่?    ถ้าไม่  เราอาจจะต้องจัดการกับการตอบสนองของเราต่อความขัดแย้งนั้น หรือ ให้ทบทวนตรวจสอบถึงการตอบโต้ของเราในอดีตที่ผ่านมาด้วย   เพราะถ้าเราตอบโต้ด้วยความขัดแย้งรุนแรงเกินกว่าเหตุ   มันจะพาให้การตอบโต้ของเราคลาดเคลื่อนไปจากประเด็นความขัดแย้งที่เป็นจริงของเรา   สิ่งนี้เราจะต้องจัดการแก้ไขตนเอง

8.   อย่ามุ่งแต่เป็นคนที่ปกป้องตนเอง

ในทางกลับกัน  เรามักเกิดความรู้สึกว่า   ความขัดแย้งทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกันตนเองเลย   แทนที่ปัญหาความขัดแย้งจะได้รับการแก้ไขจากทั้งสองฝ่าย   เราจะเริ่มเล่นเกม “หาแพะ” รับบาป   เพื่อจะโยนความผิดไปให้คนอื่น    ให้เราหลีกเลี่ยงอาการเช่นนั้นเมื่อเกิดปัญหาและความขัดแย้ง   แล้วเราจะมีมุมมองโปร่งใสชัดเจนขึ้นที่จะรับมือกับปัญหาด้วยเหตุด้วยผลที่เหมาะสม

9.   อ้ามือรับความขัดแย้ง

ถึงแม้เราจะพยายามมากเพียงใดที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง   แต่เราก็ยังประสบพบเจอการขัดแย้งกับผู้คนอยู่   เพราะเขาไม่ได้เหมือนกับเรา   เขามีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างจากเรา  มีความเชื่อ  ความปรารถนาที่แตกต่างจากเรา   ดังนั้นเขาย่อมจะไม่เห็นด้วยกับเราได้และอาจจะเข้าใจผิดได้อีกด้วย   แทนที่เราจะวิ่งหนีจากความขัดแย้ง หรือ ตอบสนองต่อความขัดแย้งนั้นอย่างขยะแขยงกลัวลาน   แต่ให้เรามุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นด้วยกันและสร้างการเรียนรู้ชีวิตด้วยกัน    เราคงต้องเลือกว่า   เราจะให้ความขัดแย้งทำให้เราเป็นแผลในกระเพาะ หรือ ความเข้าใจชีวิตในมุมมองใหม่ๆ

10.   ยอมเสี่ยง

ส่วนนี้เป็นส่วนที่ยากที่สุด  เมื่อพบกับสถานการณ์ที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้ง  อาจจะทำให้เราคิดที่จะไม่ไปสุงสิงสัมพันธ์และไว้วางใจคู่กรณีความขัดแย้งต่อไป   ทั้งนี้ลึกๆ เราบอกกับตนเองว่าเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดที่เราจะได้รับ   แต่ความจริงก็คือว่า ทุกคนที่เข้าไปในความสัมพันธ์ต่างก็ได้รับความเจ็บปวดทั้งสิ้น   ให้เราตัดสินใจว่า    เรายอมที่จะเสี่ยงที่อาจจะได้รับความเจ็บปวดในชีวิตแทนที่จะแยกตัวออกห่างจากผู้คน   ดังนั้น  เราจึงเลือกที่จะเข้าพบปะสัมพันธ์กับผู้คนด้วยความเต็มใจ   และเชื่อในสิ่งดีที่สุดในตัวเขาคนนั้น  และไว้วางใจเขา

ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งที่เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ในชีวิต   สำหรับประสบการณ์ 10 ประการข้างต้นนี้ไม่สามารถกล่าวได้ว่าจะสามารถรับมือได้ทั้งหมด    แต่พอที่จะใช้เป็นแนวทางสำหรับการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสม   ที่นำไปสู่การร่วมกันหาทางออกด้วยกัน   ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับชัยชนะ

ในทุกความขัดแย้ง   พระคริสต์อยู่ร่วมที่นั่นด้วยครับ   ปรึกษาและคิดไตร่ตรองกับพระองค์สิครับ!


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น