02 สิงหาคม 2556

เริ่มต้นที่ใจคุณ

จง​ระ​แวด​ระ​วัง​ใจ​ของ​เจ้า​ยิ่งกว่า​สิ่ง​อื่น​ใด
เพราะ​ทุก​สิ่ง​ที่​เจ้า​ทำ​ออก​มา​จาก​ใจ
(สุภาษิต 4:23 มตฐ)

ทุกวันนี้ประเทศไทยของเราต้องใช้งบประมาณมากมายเพื่อเป็นค่าจ้างตำรวจทั่วประเทศในการเสริมสร้างความปลอดภัยในสังคมไทย   และใช้จ่ายงบประมาณในการป้องกันความปลอดภัยมั่นคงของประเทศอีกจำนวนมหาศาล   ประเทศอื่นๆ ก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน  ชี้ชัดว่าประเทศต่างๆ ในสังคมโลกนี้ใช้เงินทองและผู้คนจำนวนมากเพื่อที่จะปกป้องประเทศของตนเองให้อยู่อย่างปลอดภัย  มั่นคง  และสงบสุข

เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข   ไม่รุกรานทำลายทำร้ายกัน   เราตรากฎหมายและข้อบังคับปฏิบัติต่างๆ เพื่อปกป้องรักษาสิทธิส่วนบุคคล   ป้องกันความเลวร้ายที่อาจจะกระทบการดำรงชีวิตของเราจากสังคมรอบด้าน   ยิ่งกว่านั้นในปัจจุบันนี้เรายังห่วงกังวลต่อสภาวะอากาศและอุณหภูมิโลกที่กำลังเสื่อมแย่ลง    ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของใช้ส่วนรวมกำลังถูกคนบางกลุ่มนำไปใช้อย่างไม่รับผิดชอบ  และกำลังลดน้อยลงในปัจจุบัน   จึงกำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้นเพื่อปกป้องสิ่งดังกล่าวข้างต้น

แม้แต่ในวงการศาสนาก็ได้ตกลงกันตราหรือกำหนด ระเบียบ  ข้อบังคับ  ข้อปฏิบัติ  จนกระทั่งธรรมนูญมูลนิธิขององค์กรศาสนานั้นๆ ขึ้น    เพื่อเป็นข้อตกลงว่าทุกคนในองค์กรจะยึดถือและปฏิบัติตามข้อตกลง    ทั้งนี้เพื่อปกป้องรักษาให้องค์กรสามารถดำเนินการอยู่รอดและตั้งอยู่อย่างปลอดภัยไม่ล่มจม วุ่นวายสับสน   และในตัวของศาสนาเองก็มี “พระบัญญัติ 10 ประการ”  “ศีลธรรม จริยธรรม”  และ  คำสอนต่างๆ ของศาสดาที่ให้ยึดเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อปกป้องความอยู่รอดปลอดภัยของศาสนิก และ ชุมชนผู้เชื่อศรัทธาในศาสนานั้นๆ  แต่ทั้งสิ้นเกิดคำถามว่า  แล้วสิ่งที่มนุษย์/สังคมช่วยกันกำหนด ตราขึ้น ประกาศใช้สามารถปกป้องรักษาผู้คนและสังคมได้สมบูรณ์หรือไม่?   มันเป็นการปกป้องในสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่าสูงสุดหรือไม่?

คำตอบคงบอกได้ว่า   เป็นการปกป้องรักษาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น   ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น?   เพราะเรายังพบมากมายและแจ้งชัดว่า   คนส่วนหนึ่งยังพยายามหาช่องโหว่ ช่องว่าง และคำภาษาที่ใช้ในระเบียบ ข้อปฏิบัติ กฎหมาย  ข้อบังคับ  แม้แต่คำสอน   ที่คนกลุ่มนี้จะใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และผลประโยชน์ส่วนตนส่วนพวก   ซึ่งการกระทำเช่นนั้นเป็นภัยคุกคามความสงบสุข  ความปลอดภัย  และความมั่นคงสมบูรณ์ในชีวิตของผู้คน และ ชีวิตของชุมชนองค์กรนั้นๆ  คนที่เป็นภัยกลุ่มนี้มักใช้ “ตรรกะเหตุผล”(ความคิด),  ความรู้เท่าทัน,  และความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์บ่อนเซาะความมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่นและองค์กร

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า   การปกป้องคุ้มครองเพื่อก่อเกิดความอยู่รอดปลอดภัยที่สังคม/องค์กรกำหนดขึ้นนั้นเป็นการปกป้องรักษาคุ้มครองสภาพภายนอกรอบด้านของชีวิตและสังคมความสัมพันธ์ในระดับหนึ่งเท่านั้น

แต่มิได้มีอิทธิพลและพลังที่จะปกป้อง คุ้มครอง “จิตใจ” ภายในแต่ละคนในชุมชนหรือชีวิตองค์กรได้!

ในพระธรรมสุภาษิต 4:23  กล่าวชัดเจนว่า   การปกป้องรักษาความอยู่รอดปลอดภัยในชีวิตของผู้คน  องค์กร และสังคม   พระธรรมตอนนี้เน้นว่า  ที่สำคัญที่สุด “ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด”  จะต้อง “ระแวดระวังใจของคน”   เพราะการเริ่มต้นที่การปกป้องจิตใจของคนเป็นการเริ่มต้นปกป้องที่รากฐาน   จิตใจของแต่ละคนย่อมมีอิทธิพลต่อเจตนาของคนๆ นั้นในแต่ละเรื่อง   แล้วเกิดผลกระทบต่อการคิด(ตรรกะเหตุผลที่ใช้)   และมุมมองที่กลั่นกรองการรับรู้ในเรื่องต่างๆ  กลายเป็นข้อมูลความรู้ในเรื่องนั้นของคนๆ นั้น/คนกลุ่มนั้น    เป็นอิทธิพลต่อการตัดสินใจในครั้งนั้น  แล้วกำหนดท่าทีความสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้างในเรื่องนั้น   แน่นอนครับมีอิทธิพลและเป็นพลังขับเคลื่อนเรื่องนั้นด้วยในที่สุด  

ผู้เขียนสุภาษิตตอนนี้ได้สรุปกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการที่ปกป้องหรือไม่ปกป้องที่จิตใจว่า “เพราะทุกสิ่งที่เจ้าทำออกมาจากใจ”   และพระเยซูคริสต์ได้ตรัสสอนเรื่องนี้อย่างชัดเจนและเห็นภาพพจน์เลยว่า

18 แต่​สิ่ง​ที่​ออก​จาก​ปาก​ก็​ออก​มา​จาก​ใจ สิ่ง​นั้น​แหละ​ทำ​ให้​มนุษย์​เป็น​มล​ทิน
19 ความ​คิด​ชั่ว​ร้าย การ​ฆ่า​คน การ​เป็น​ชู้ การ​ล่วง​ประเวณี  การ​ลัก​ขโมย การ​เป็น​พยาน​เท็จ การ​ใส่​ร้าย ก็​ล้วน​ออก​มา​จาก​ใจ  (มัทธิว 15:18-19 มตฐ)

คำว่า “ระแวดระวัง” ที่ใช้ในภาษาฮีบรูของพระธรรมสุภาษิตตอนนี้  มีความหมายเดียวกับการทำหน้าที่ของทหารยามที่เฝ้าปกป้องระวังระไวที่ประตูเมือง    และผู้เขียนสุภาษิตใช้ศัพท์คำนี้เพื่อแสดงถึง  การปกป้อง รักษา ระแวดระวังจิตใจของคนเรา   การระแวดระวังจิตใจของเราในที่นี้คือการที่เราต้องตื่นอยู่  ตรวจตราทั้งคนและสิ่งที่จะนำเข้าเมือง หรือ ออกเมือง เพราะระมัดระวังป้องกันสถานการณ์อันเลวร้ายอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น   และถ้ามีเหตุร้ายก็จะต้องแจ้งเตือนภัยให้กองกำลังของเราทราบ  หรือทุกคนในเมืองได้รับรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

การระแวดระวังใจของเราคือ  การที่เราตรวจสอบ ถามตนเองและตอบด้วยความจริงใจว่า   ขณะนี้เราเปิดประตูเมืองแห่งชีวิตของเราอย่างอ้ากว้างไม่มีอะไรขวางกั้นหรือไม่?    เราปล่อยให้อิทธิพลและกระแสสังคมปัจจุบันเข้ามาครอบงำจิตใจ  ความคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของเราหรือเปล่า?   เราเปิดกว้างสนองรับผลประโยชน์และอำนาจที่มีผู้มาเสนอหรือไม่?    เรายอมปล่อยให้คำพูด  ท่าที  และการกระทำของคนบางคนบางกลุ่มเข้ามาทำลายคุณค่าในชีวิตของเรา   ความรู้สึก   และกำลังความมั่นคงในชีวิตจิตใจหรือไม่?

ที่เราต้องระแวดระวังจิตใจของเราเพราะ   จิตใจของเรา  ความเชื่อศรัทธาของเรา  คือแหล่งที่ตั้งของ “น้ำพุแห่งชีวิต”  จากเบื้องบน   เป็นต้นกำเนิดแห่งพลังใจพลังชีวิต   ความเข้มแข็งของจิตวิญญาณ   เราจะยอมปล่อยให้อิทธิพลภายนอกมามีอำนาจและพลังเหนือจิตใจของเรา   จนในที่สุดเกิดความท้อแท้อ่อนใจ   จนกระทั่งถึงกับพลิกผันเปลี่ยนใจละทิ้งรากฐานน้ำพุแห่งชีวิตคือองค์พระผู้เป็นเจ้า   เพื่อแสวงหาตามใจปรารถนาของตนเองหรือไม่?    และเราจะรู้ว่าจิตใจจิตวิญญาณและรากฐานชีวิตของเราเป็นอย่างไรก็สามารถดูได้จากอาการชีวิตที่แสดงออกในชีวิตประจำวันของเรา   เฉกเช่น เมื่อร่างกายของเราแสดงอาการตัวร้อน  ปวดศีรษะ  น้ำมูกไหล   ย่อมเป็นอาการบ่งบอกถึงการผิดปกติภายในร่างกายของเรา  

พระเยซูคริสต์ตรัสว่า
45 คน​ดี​ย่อม​เอา​สิ่ง​ดี​ออก​จาก​คลัง​ดี​ใน​จิตใจ​ของ​ตน และ​คน​ชั่ว​ย่อม​เอา​สิ่ง​ชั่ว​ออก​จาก​คลัง​ชั่ว​ใน​จิตใจ​ของ​ตน เพราะ​ว่า​ปาก​ย่อม​พูด​สิ่ง​ที่​เต็ม​ล้น​อยู่​ใน​จิตใจ (ลูกา 6:45 มตฐ)

ทั้งสิ้นนี้เริ่มที่ใจของเราแต่ละคนครับ   ด้วยเหตุนี้ที่เราต้อง “...ระแวดระวังใจของเรายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น