02 เมษายน 2557

พระเจ้าแห่งการแก้แค้น?

ข้า​แต่​พระ​ยาห์​เวห์ พระ​เจ้า​แห่ง​การ​แก้​แค้น
พระ​เจ้า​แห่ง​การ​แก้​แค้น ขอ​ทรง​ทอ​แสง​เถิด
(สดุดี 94:1 มตฐ.)

เมื่ออ่านพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่กล่าวถึงพระเจ้าว่า  เป็นพระเจ้าแห่งการแก้แค้น ในครั้งแรกๆ นั้นผมยอมรับตรงๆ ว่า  รับไม่ได้   ทำไมพระเจ้าที่กอปรด้วยความรักเมตตา กรุณา และทรงให้อภัย   แล้วจะเป็นพระเจ้าแห่งการแก้แค้นได้อย่างไร   พระเจ้าในพันธสัญญาเดิมทำไมโหดเหี้ยม?   หรือเป็นพระเจ้าคนละองค์?   ถ้าไม่ใช่  แล้วที่พระคัมภีร์บอกว่า พระเจ้าทรงแก้แค้นนั้นหมายความว่าอะไรกันแน่?   ถ้าพระเจ้าเป็นพระเจ้าแห่งการแก้แค้น   แล้วคนที่เชื่อพระเจ้าองค์นี้จะไม่อ้างว่าที่เขาแก้แค้นเป็นการแก้แค้นในพระนามของพระเจ้าหรือ?   ถ้าเป็นเช่นนั้นวงจรอุบาทว์แห่งการแก้แค้นจะไม่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือ?

บ่อยครั้งเมื่อเราอ่านพระธรรมสดุดี หรือ พระคัมภีร์เดิมเรามักจะเข้าใจเรื่อง “การแก้แค้นของพระเจ้า” ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความจริงจากความเข้าใจพระเจ้าของผู้บันทึกพระคัมภีร์ในสมัยนั้น   อีกทั้งปัจจุบันมีคริสตชนบางคนเข้าใจว่า  พระเจ้าแห่งความรักเมตตา และ การให้อภัยย่อมไม่เกี่ยวข้องกับการแก้แค้นซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่คลาดจากความเป็นจริงด้วยเช่นกัน   ยิ่งกว่านั้น  ถ้าเราศึกษาสดุดี 94 อย่างระมัดระวัง  เราจะพบว่า   เราเข้าใจพระคัมภีร์ข้อแรกในบทนี้คลาดเคลื่อนเพราะผู้อ่านปัจจุบันเข้าใจคำว่า “แก้แค้น” ในพระธรรมสดุดี 94:1 ตามกรอบความคิดความเข้าใจของคนในปัจจุบัน   ที่แตกต่างจากกรอบคิดและความเข้าใจของคำว่า “การแก้แค้น” ในสมัยพระคัมภีร์ตอนนั้นๆ

กรอบคิดความเข้าใจ “การแก้แค้น” ในปัจจุบันของเราคือ   การแก้แค้นเป็นความเกลียดชังและความโหดร้ายรุนแรง   คนที่ต้องการแก้แค้นคือผู้ที่มีความรู้สึกโกรธยากจะหยุดยั้ง   และต้องการตอบสนองอีกฝ่ายหนึ่งให้เจ็บแสบ   ให้สาสมกับการกระทำที่ฝ่ายตรงข้ามกระทำต่อตน

ในพระคัมภีร์ภาษาเดิมใช้คำว่า neqama ที่เราแปลว่า แก้แค้น ในกรอบคิดที่แตกต่างจึงมีความหมายที่แตกต่างกัน   ในสดุดี 94:1 ผู้เขียนพระธรรมสดุดีเรียกพระนามพระเจ้าว่า “พระเจ้าแห่งการแก้แค้น” (มตฐ.)   และในข้อต่อมาของพระธรรมสดุดีบทนี้เรียกพระนามของพระเจ้าว่า “พระผู้ทรงพิพากษาโลก” (94:2 มตฐ.) และทูลขอพระเจ้าทรงสนองตอบต่อ “คนโอหัง”  ที่ “บดขยี้และข่มเหงรังแก” ประชากรของพระเจ้า (ข้อ 5 อมต.)   พวกเขาฆ่า “แม่ม่าย  คนต่างด้าว  และลูกกำพร้า”  โดยพวกเขากล่าวอ้างว่า พระเจ้าไม่รู้ไม่เห็น (ข้อ 6-7 มตฐ.)

ดังนั้นการแก้แค้นของพระเจ้าในพระคัมภีร์จึงมิใช่ความโกรธแค้นที่พวยพุ่งออกมา   แต่เป็นการที่พระเจ้าทรงปกป้องและสำแดงความยุติธรรมของพระองค์   พระเจ้าทรงตอบสนองต่อคนบาปตามที่เขาสมควรได้รับ   ดังนั้น  พระธรรมข้อสุดท้ายในพระธรรมบทนี้กล่าวไว้ว่า “พระองค์ทรงให้พวกเขารับโทษสาสมกับบาปของพวกเขา”   การแก้แค้นของพระเจ้าจึงเป็นการทรงสำแดงความชอบธรรมของพระเจ้าที่ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมของพระองค์

เมื่อเรากล่าวถึงความยุติธรรมของพระเจ้า หรือ การแก้แค้นของพระองค์  เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าพระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา   ใช่แล้ว  พระองค์ทรงพิพากษาเราตามความบาปผิดของเรา   แต่เพราะพระเจ้า “ทรงอุดมด้วยความรักเมตตา”    และความรักเมตตาของพระองค์ทรงมีชัยเหนือการพิพากษา (เอเฟซัส 2:4; ยากอบ 2:13)   ดังนั้น พระเจ้ามิได้มองข้ามหรือยกเลิกความบาปผิดของมนุษย์   ตรงกันข้ามพระบุตรของพระองค์เองกลับเข้ามารับเอาความบาปผิดของมนุษย์   รับเอาผลที่คนบาปอย่างเราควรได้รับ   “การแก้แค้น” หรือ การตอบสนองต่อการกระทำบาปที่มนุษย์กระทำได้รับการกระทำให้ยุติธรรมและชอบธรรมบนกางเขนนั้น  

ดังนั้น “พระเจ้าแห่งการแก้แค้น”  ในความหมายของพระคัมภีร์มีความหมายที่เชื่อมโยงกับ “พระเจ้าแห่งความยุติธรรม”   มิใช่เป็นพระเจ้าแห่งความรุนแรงโหดร้ายอย่างที่เราเห็นการแก้แค้นกันในปัจจุบัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

  1. ท่านเข้าใจข้อพระคัมภีร์ที่กล่าวถึง “พระเจ้าแห่งการแก้แค้น” อย่างไรบ้าง?
  2. เมื่อท่านคิดจะทำการแก้แค้นคนบางคนที่ทำให้ท่านได้รับความเจ็บปวดในชีวิต   ท่านจะทำอะไรและอย่างไร?
  3. เราจะกระทำความยุติธรรมในโลกนี้และยังเป็นผู้ที่มีความรักเมตตา” ได้อย่างไร?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น