19 เมษายน 2564

ลักษณะแผ่นดินของพระเจ้าที่ “กลับตาลปัตร” กับความคาดหวังของประชาชนคนยิว (และเราด้วย?)

ข้อเขียนนี้ยาวมาก... แต่สำคัญมากเช่นกันครับ... และนี่คือ “มุมมอง” ของพระเยซูคริสต์ ที่พระองค์ประสงค์ให้เป็น “แว่นตาชีวิต” ของเราแต่ละคนในแต่ละวันครับ

ประชาชนคนชนชาติยิวที่กลับจากการเป็นเชลยศึกในบาบิโลน ตั้งหน้าตั้งตารอคอยการพลิกฟื้นอาณาจักรอิสราเอลขึ้นใหม่ พวกเขาคาดหวังที่จะเป็นอาณาจักรมหาอำนาจของโลก ปกครองโดยผู้นำที่สืบเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิด โดยมีกรุงเยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลางในการบริหารอำนาจและการปกครอง แต่ผ่านไปแล้วหลายศตวรรษ พวกเขายังตกอยู่ใต้การปกครองของอำนาจจักรวรรดิแห่งโลกนี้ จากมหาอำนาจหนึ่งเปลี่ยนไปยังอีกมหาอำนาจหนึ่ง จนหลายต่อหลายคนเกิดความสงสัยในใจว่า แผ่นดินของพระเจ้าที่ทรงสัญญายังจะมาอยู่หรือไม่?

แล้วการมาประกาศเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าที่กำลังมาในโลกนี้ ที่ให้ความหวังสำหรับผู้คนชนยิวทั้งหลาย เป็นอาณาจักรที่พวกยิวมุ่งมองหาอาณาจักรที่พวกเขาโหยหาให้เกิดขึ้นเป็นจริงหรือไม่? พระเยซูจะนำกองกำลังกบฏ หรือ จะเรียกว่ากองกำลังปฏิวัติเพื่อคว่ำล้มอำนาจทรราชโรมันแล้วสร้างอาณาจักของพวกยิวขึ้นใหม่หรือไม่?

แน่นอนเลยว่า ที่พระเยซูเข้ามาในโลกนี้ก็เพื่อที่จะนำอาณาจักรแห่งพระสัญญาเข้ามาในโลกนี้  และเสริมสร้างความหวังแก่ผู้คนมากมายหลากหลาย แต่กลับไม่เป็นอาณาจักรที่พวกยิวคาดหวังกัน ซึ่งมีเรื่องราว เนื้อหามากมายที่จะสามารถพรรณนาถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าที่พระเยซูคริสต์นำมาในโลกนี้  

แต่ข้อเขียนนี้มุ่งเน้นแสวงหาประเด็นที่เฉพาะเจาะจงคือ ประเด็นมุมมองเกี่ยวกับแผ่นดินของพระเจ้าที่พระเยซูคริสต์นำมาที่มีลักษณะ “กลับตาลปัตร” กับแผ่นดินของพระเจ้าที่พวกยิวคาดหวังกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษหลายชั่วอายุคน

ลักษณะแผ่นดินของพระเจ้าที่ “กลับตาลปัตร” (กลับหัวกลับหาง) ที่พระเยซูคริสต์นำมามีดังนี้...

(1)  ผู้นำที่เป็น...ผู้รับใช้ที่ต้องทนทุกข์

แห่งแรกที่กล่าวถึงความแตกต่างเกี่ยวกับแผ่นดินของพระเจ้าที่พระเจ้าจะนำเข้ามาในโลกเป็นบทเพลงของอิสยาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเพลงเรื่องผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ (อิสยาห์ 52:13-53:12) ในบทเพลงนี้กล่าวถึง ผู้รับใช้ที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ถูกปฏิเสธ ถูกกดขี่ ถูกโบยตี  ได้รับความเจ็บปวด และถูกประหารเพราะความบาปผิดของประชากรของพระองค์ ผู้รับใช้คนนี้ได้ถวายบูชาชีวิตของตนเองเพื่อเข้ารองรับเอาการลงโทษทัณฑ์ที่ประชาชนควรได้รับด้วยชีวิตของผู้รับใช้เอง

ตอนช่วงท้ายของบทเพลงผู้รับใช้บทนี้ พระเจ้าได้กล่าวถึงผลที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้รับใช้คนนี้ ว่า...

“ด้วยเหตุนี้เราจะให้เขามีส่วนแบ่งแก่คนมากมาย (หรือในหมู่ผู้ยิ่งใหญ่)
        และเขาจะแบ่งรางวัลกับคนจำนวนมาก (หรือผู้แข็งแกร่ง)
        เนื่องจากเขายอมพลีชีวิต
        และถูกนับเป็นพวกเดียวกับคนที่ล่วงละเมิด
        เพราะเขาแบกรับบาปของคนเป็นอันมาก
        และทูลวิงวอนเพื่อคนที่ล่วงละเมิด”  (อิสยาห์ 53:12 สมช.)

ผู้รับใช้ตามบทเพลงดังกล่าว เราเข้าใจว่าคือองค์พระเยซูคริสต์เจ้า เพราะพระองค์ยอมถวายชีวิตของตนเป็นเครื่องบูชาเพื่อลบล้างความบาปผิดของผู้คน พระองค์แบ่งส่วนแบ่งของประทาน (การลบล้างความผิดบาป) ที่ผู้รับใช้ท่านนี้ได้รับจากพระเจ้า แล้วแบ่งปันแก่ผู้คนมากมาย   เพราะท่านเป็นผู้ที่ยอมมอบชีวิตทั้งสิ้นของตนรับใช้ และยอมพลีชีวิต เสียสละถวายชีวิตเป็นเครื่องบูชาเพื่อคนอื่นมากมาย ดังนั้น พระเจ้าจึงทรงยกย่องให้ผู้รับใช้คนนี้เป็นผู้ใหญ่ยิ่งสำคัญในแผ่นดินของพระเจ้า

(2)  ชนะด้วยการยอมตาย

“ท่านซึ่งตายแล้วเนื่องด้วยการละเมิดทั้งหลาย และเนื่องด้วยการไม่ได้เข้าสุหนัตในเนื้อหนังของพวกท่าน พระองค์ทรงทำให้พวกท่านมีชีวิตร่วมกับพระคริสต์ และทรงให้อภัยการละเมิดทั้งหลายของเรา พระองค์ทรงฉีกเอกสารหนี้ที่มีคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งต่อสู้และขัดขวางเรา และทรงขจัดไปเสียโดยตรึงไว้ที่กางเขน พระองค์ทรงปลดเทพผู้ทรงเดชานุภาพและเทพผู้ทรงอำนาจต่าง ๆ ลง พระองค์ได้ทรงประจานและพิชิตพวกนี้โดยกางเขนนั้น” (โคโลสี 2:13-15 สมช.)

พระเยซูคริสต์ได้ทุ่มและเทชีวิตของพระองค์จนยอมสิ้นชีวิตเพื่อแบกรับความบาปผิดของเรา อันเป็นผลจากการที่เราถูกพลังความบอดมืดแห่งโลกนี้ที่ทำให้เราหลงทางและตกไปเป็นทาสของอำนาจบาปชั่วเหล่านั้น เพื่อทดแทนชดใช้ความบาปผิดที่เราควรจะได้รับ เพื่อปกป้องรักษาชีวิตของเราไว้ด้วยการที่พระองค์ยอมถูกตรึงสิ้นชีวิตบนกางเขา พระองค์ยอมที่จะเป็นผู้รับความพ่ายแพ้อดสูรับเอาความบาปผิดของเรา ทำให้พระองค์ต้องพบกับความอัปยศอดสูจากอำนาจชั่ว  

เพราะการที่พระเยซูคริสต์ยอมให้ชีวิตของพระองค์เอง พระองค์จึงได้รับชัยชนะ และสิ่งนี้ก็เป็นความจริงสำหรับเราทุกคนด้วย ในกาลาเทีย 2:20 เปาโลกล่าวว่า ท่านได้ถูกตรึงไว้กับพระคริสต์แล้ว และขณะนี้ท่านจึงมีชีวิตเป็นขึ้นมาใหม่กับพระคริสต์โดยความเชื่อ ใน กาลาเทีย 5:24 เปาโลกล่าวว่า “ผู้ที่อยู่ฝ่ายพระเยซูคริสต์ได้ตรึงเนื้อหนังไว้ที่กางเขน (หรือ ทำลายความต้องการของเนื้อหนัง) พร้อมกับราคะและตัณหาแล้ว” (สมช.) เราจึงมีชีวิตในพระคริสต์ และทำให้ชีวิตของเราได้รับชัยชนะได้

(3)  ฐานเชื่อ มุมมองใหม่เกี่ยวกับชีวิตและความสัมพันธ์

สิ่งที่แสดงถึงการกลับตาลปัตรถึงแผ่นดินของพระเจ้าที่พระเยซูคริสต์นำมาปรากฏในคำสอนแรก ๆ หรือที่เรารู้จักกันคือ ชุดคำสอนที่เนินเขา  ในมัทธิว บทที่ 5-7 ในชุดคำสอนมหาพร พระองค์ได้สอนถึงพระพรในลักษณะต่าง ๆ ที่ประชาชนจะได้รับ หรือ เป็นชุดคำสอนที่ว่าด้วยเรื่องความสุขในชีวิต เป็นพระพร หรือ ความสุขของผู้ที่ ยากจนในจิตวิญญาณ คนที่โศกเศร้า ถ่อมสุภาพ ผู้หิวกระหายความชอบธรรม มีใจเมตตา ใจบริสุทธิ์ และ ผู้สร้างสันติ

คนทั่วไปในโลกนี้ จะมองคนที่พระเยซูสอนว่าจะมีความสุขว่า เป็นคนที่ไม่มีความสำคัญ หรือ เป็นคนที่เขาไม่พึงปรารถนา แต่พระเยซูกลับสอนว่าคนประเภทเหล่านี้คือประชากรในแผ่นดินของพระเจ้า เป็นผู้ที่จะรับมรดกแห่งแผ่นดินโลก และ เป็นพระบุตรของพระเจ้า มุมมองที่กระแสสังคมโลกใช้มองคนไม่เหมือนกับมุมมองที่พระเจ้ามอง คนประเภทที่สังคมโลกดูหมิ่นดูถูกกลับกลายเป็นคนที่มีคุณค่าในแผ่นดินของพระเจ้า

เมื่อใครก็ตามที่อ่านคำเทศนาบนเนินเขาของพระเยซูคริสต์ ก็จะเห็นชัดเจนว่า คำสอนของพระองค์สวนกระแสคำสอนของสังคมโลก หรือแม้กระทั่งขัดแย้งแตกต่างจากคำสอนของพวกยิวด้วยกัน ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราจะอ่านพบคำกล่าวของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้...  แต่เราบอกพวกท่านว่า...” (ตัวอย่างเช่น มัทธิว 5:21-22)

ผู้คนในโลกนี้นิยมที่จะทำให้คนที่เห็นตน ยอมรับและนิยมชมชอบตนเอง แต่ในแผ่นดินของพระเจ้าเราจะกระทำการดีต่าง ๆ อย่างเป็นการลับ เพราะเราจะได้ความชื่นชมหรือบำเหน็จจากพระเจ้าพระบิดา เราจะช่วยเหลือคนยากจนขัดสน เราจะช่วยอย่างเป็นการลับ มิใช่เพื่อให้คนอื่นได้เห็น การที่คนในแผ่นดินของพระเจ้าจะช่วยเหลือคนอื่นเป็นการลับเพราะเชื่อว่าพระเจ้าทรงเห็นแล้ว

คนในแผ่นดินของพระเจ้าจะไม่ดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความห่วงกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิต อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม อย่างที่คนในสังคมโลกเป็นกัน แต่คนในแผ่นดินของพระเจ้าจะไว้วางใจในพระเจ้า พระองค์ทรงรอบรู้ลึกซึ้งถึงความจำเป็นต้องการของเราแต่ละคนแต่ละชีวิต และพระองค์จะใส่ใจต่อความจำเป็นต้องการเหล่านั้น

ในแผ่นดินของพระเจ้าสังคมจะไม่ตีตราว่าร้ายตัดสินชีวิตของคนอื่น แต่กลับมุ่งเน้นให้ใส่ใจความบาปผิดที่ตนเองอาจจะพลั้งพลาดหรือตั้งใจกระทำลงไป วิถีการดำเนินชีวิตของคนในแผ่นดินของพระเจ้าเป็นวิถีทางที่คับและแคบ ที่มักประสบกับความยากลำบาก ที่กระตุ้นเตือนให้ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง จนบางครั้งดูเชื่องช้า  มิใช่วิถีทางที่กว้างขวางสะดวกสบาย ที่เอื้อให้ชีวิตของผู้คนบนเส้นทางนี้ดำเนินไปอย่างเร่งรีบ

(4)  ผู้เล็กน้อยคือผู้ยิ่งใหญ่

พระเยซูคริสต์สอนว่า“คนที่เป็นใหญ่ในพวกท่านย่อมต้องปรนนิบัติท่าน ใครยกตัวขึ้นจะต้องถูกทำให้ต่ำลง ใครถ่อมตัวลง จะได้รับการยกขึ้น” (มัทธิว 23:11-12 มตฐ.) และนี่ก็เป็นระบบคุณค่าที่กลับตาลปัตรกับระบบคุณค่าของสังคมในเวลานั้นและในเวลานี้ด้วยเช่นกัน เรามักมีมุมมองว่าคนที่มั่งคั่งและมีอำนาจคือคนที่มีอิทธิพลในสังคมมากที่สุด เราจะเรียกคนพวกนี้ว่าเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่” แต่ในแผ่นดินของพระเจ้ามีระบบคุณค่าที่สวนกระแส ที่ตรงกันข้าม ที่กลับตาลปัตรกับกระแสอิทธิพลแห่งสังคมโลกนี้

พระเยซูคริสต์มิเพียงแต่สอนที่กลับตาลปัตรเท่านั้น แต่พระองค์ปฏิบัติเป็นรูปธรรมแก่สาวกของพระองค์ด้วยการล้างเท้าของสาวกที่สกปรก (ยอห์น 13:1-17) พระคริสต์กระทำบทบาทของการเป็นคนใช้ของสาวก แล้วพระองค์บอกกับสาวกว่า สาวกต้องทำตามแบบอย่างที่พระองค์ได้วางไว้

แต่แบบอย่างที่เป็นรูปธรรมที่พระเยซูคริสต์ได้กระทำให้เห็นที่ยิ่งใหญ่ คือการสำแดงแบบอย่างรูปธรรมบนกางเขน ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสากลโลกจักรวาล ยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่งยกเว้นพระบิดา ได้เข้ามาในสังคมโลกนี้ด้วยการให้ชีวิตของตนแก่สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง แทนที่จะมาในสังคมโลกด้วยการเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างที่คนทั้งหลายคาดหวังกัน แต่พระองค์ต้องการให้คนชาวโลกเข้าใจใหม่ให้ถูกต้องว่า พระองค์เข้ามาในสังคมโลกในฐานคนรับใช้ที่ทนทุกข์อย่างที่เผยล่วงหน้าใน อิสยาห์ บทที่ 53 ซึ่งจะไม่มีใครที่จะจินตนาการว่าผู้สร้างสรรพสิ่งในสากลโลกจักรวาลต้องมาตายด้วยกางเขนประหารอาชญากร แต่นั่นคือสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้กระทำ

(5)  ทรงเลือกคนโง่ที่จะทำให้คนฉลาดได้อาย

องค์กร องค์การต่าง ๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศชาติ หรือ บริษัททั้งหลาย ต่างแสวงหาคนที่เข้มแข็ง ฉลาดปราดเปรื่อง มาดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจ เราต้องการคนที่มีประสิทธิภาพ  สมรรถนะ และ ที่สามารถนำความสำเร็จมาสู่องค์กรเป็นผู้นำของเรา เพราะผู้ที่ว่านี้จะเป็นผู้ที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จสูงสุดและความมั่งคั่งมั่นคง

แต่ในแผ่นดินของพระเจ้ามีมุมมองกระบวนคิดที่แตกต่างจากที่ว่านี้อย่างสิ้นเชิง ใน 1โครินธ์ 1:18-31 เปาโลได้กล่าวถึงลักษณะคนที่พระเจ้าทรงเลือกให้เป็นคนหนึ่งในแผ่นดินของพระองค์   ซึ่งเราส่วนใหญ่จะไม่เลือกอย่างที่พระเจ้าทรงเลือก เปาโลบอกเราว่า “พระเจ้าได้ทรงเลือกพวกที่โลกถือว่าโง่ เพื่อทำให้พวกมีปัญญาอับอาย และได้ทรงเลือกพวกที่โลกถือว่าอ่อนแอ เพื่อทำให้พวกที่แข็งแรงอับอาย พระเจ้าได้ทรงเลือกพวกที่โลกถือว่าต่ำต้อยและดูหมิ่น และเห็นว่าไม่สำคัญ เพื่อทำลายสิ่งซึ่งโลกเห็นว่าสำคัญ  เพื่อไม่ให้มนุษย์สักคนหนึ่งโอ้อวดเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าได้” (ข้อ 27-28 มตฐ.)

พระเจ้ามิได้เลือกคนที่โลกเห็นว่าฉลาดปราดเปรื่องและคนที่เข้มแข็ง แต่พระองค์กลับเลือกคนที่คนทั้งหลายเห็นว่าอ่อนแอและโง่ และคนที่ต่ำต้อย สิ่งที่สำคัญในแผ่นดินของพระเจ้ามิใช่ความก้าวหน้าสำเร็จของมนุษย์ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งคือพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในชีวิตของผู้คนแต่ละคน พระเจ้าทรงเป็นแก่นกลาง เสาหลัก หรือ หัวใจแห่งแผ่นดินของพระองค์   ไม่ใช่มนุษย์และความสำเร็จของมนุษย์

(6)  ฤทธานุภาพของพระเจ้าชัดแจ้ง (สมบูรณ์) ในความอ่อนแอ (ของมนุษย์)

ใน ฟีลิปปี 3:4-6 เปาโลพรรณนาถึงสิ่งดีเด่นที่ตนมีอยู่เมื่อเปรียบกับคนดีคนเด่นในสังคมของเขา   แต่เขากลับเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไร้คุณค่า สิ่งที่มีคุณค่าสุดคือ การที่เขาได้รู้จักพระคริสต์ (ข้อ 7-8)   นอกจากนี้เปาโลยังได้รับความทุกข์ทรมานจากความบาดเจ็บทางกายที่บั่นทอนในการปฏิบัติงานของเขาที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้า และเปาโลเองก็ได้อธิษฐานขอพระเจ้ายกเอาความอ่อนแอทางสุขภาพของเขาออกไป เพื่อเขาจะทำงานให้เกิดผลมากกว่านี้ แต่พระเจ้าบอกเปาโลว่า“เพราะว่าความอ่อนแอมีที่ไหน ฤทธานุภาพของเราก็ปรากฏเต็มที่ที่นั่น” (2โครินธ์ 12:7-10)

ในโลกนี้เราชื่นชมกับความสำเร็จของมนุษย์ เรายกย่องคนที่สามารถปีนขึ้นสู่ยอดเขาแห่งความสำเร็จในชีวิต คนที่ชนะในการแข่งขัน คนที่สามารถทำเงินได้เป็นหลาย ๆ ล้าน และความสำเร็จที่น่าติดตามอื่น ๆ คนประเภทเหล่านี้ที่คนเราในโลกมุ่งมองแสวงหา แต่ไม่ใช่วิถีชีวิตของคนที่อยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า

สำหรับสิ่งที่สำคัญยิ่งในแผ่นดินของพระเจ้าคือ พระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในชีวิตของมนุษย์ที่ยอมตนต่อพระองค์ อย่างที่เปาโลเคยกล่าวไว้ว่า ที่เขามีชีวิตเช่นนี้ได้ก็เพราะพระเจ้าที่ทรงกระทำให้เขาเป็นคนอย่างที่เขาเป็น

(7)  กลับหัวกลับหาง  กลับตาลปัตร

ความคิดที่ท้าทาย และ น่าชื่นชมที่สุดเกี่ยวกับสังคมแห่งแผ่นดินของพระเจ้ามักจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเล็กน้อยในสายตาแห่งสังคมโลกนี้ ในทางกลับกัน สิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งใหญ่ในมุมมองของสังคมโลกนี้ก็มีคุณค่าเพียงน้อยนิดในแผ่นดินของพระเจ้า ดั่งคำสอนบนเนินเขาของพระเยซูคริสต์ที่ฟังขัดแย้งกับภูมิปัญญาของมนุษย์ส่วนใหญ่ พระเจ้าสถาปนาแผ่นดินของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกนี้ด้วยชีวิตและความตายของพระเยซูคริสต์ มิใช่ด้วยภูมิปัญญาของมนุษย์ที่มักเป็นหินสะดุดในโลกนี้ ในแผ่นดินของพระเจ้า ได้ยกชูเอาความอ่อนแอและความโง่เขลา  และพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำให้ชีวิตของแต่ละคนเกิดคุณค่าในชีวิตมนุษย์และระบบสังคม

ลักษณะเฉพาะสังคมแห่งแผ่นดินของพระเจ้าแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสังคมโลกนี้ ระบบคุณค่าของสังคมแห่งโลกนี้มีคุณค่าเพียงเล็กน้อยในแผ่นดินของพระเจ้า และระบบคุณค่าในแผ่นดินของพระเจ้ามักด้อยค่าในสังคมแห่งโลกนี้ เราไม่สามารถที่จะรู้ถึงระบบคุณค่าแห่งแผ่นดินของพระเจ้า หรือ เข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้าด้วยตัวของเราเองได้ แต่ด้วยพระเมตตาคุณของพระเจ้าเราถึงจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในแผ่นดินของพระองค์ได้



1 ความคิดเห็น:

  1. ก็เป็นสิ่งที่ ทอม ไรท์ พยายามสื่อเกี่ยวกับคำฮิตที่คนขอบใช้ช่วงโควิด เช่น พระเจ้าควบคุมอยู่ พระเจ้ามีอำนาจเหนือทุกสิ่ง ในแง่ที่กลับตาลปัตรกับที่คนคิดและใช้ในทุกโอกาส แต่เสียงน้อย ๆ แบบลาบาลาอัม ก็คงไม่มีคนฟังเท่าเสียงที่ดูดีอย่าง "ทูตสวรรค์"
    เมื่อกี้ ได้แสดงความคิดเห็นในหัวข้อของคุณเรื่อง "กับดัก" ด้วยคะ ขอบคุณพระเจ้า ขอพระองค์ยังให้โอกาสกับคต. ไทย

    ตอบลบ