10 กันยายน 2555

ความแตกต่างที่สร้างความแตกแยก?


อ่าน พระธรรมโรม 14:1-9

ความแตกต่างไม่ได้สร้างความแตกแยกเสมอไป!  

แต่เป็นความแตกต่างในมุมมองทัศนคติของแต่ละคนในเรื่องเดียวกัน   แล้วต่างติดยึดและพยายามทำให้เห็นว่ากรอบคิดหรือมุมมองในเรื่องนั้นของตนต่างหากที่ถูกต้องที่สุด หรือ ต้องเป็นหลักเกณฑ์เดียวที่จะต้องยึดถือต่างหากที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องทำทุกวิถีทางที่จะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้   ความแตกต่างเช่นนี้แหละที่ทำให้เกิดความแตกแยก!

จักรวรรดิโรมันในคริสต์ศตวรรษแรกนั้นมีหนทางไปมาหาสู่กันสะดวกที่สุดในยุคนั้น   จึงมีผู้คนที่เดินทางจากทุกภูมิภาคในแถบเมดิเตอร์เรเนียนเคลื่อนย้าย เดินทาง มากมาย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหานครโรมจะมีผู้คนที่มีภูมิหลังชาติพันธุ์  วัฒนธรรม  ภาษา  และกรอบคิดมุมมองที่แตกต่างหลากหลายมาพบปะ  สัมพันธ์  ทำธุรกรรมด้านต่างๆกัน

คริสตจักรโรมก็ตั้งในบริบทดังกล่าว

แน่นอนครับในคริสตจักรโรมมีสมาชิก ผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม ภูมิหลัง  กรอบคิด ที่แตกต่างมากมาย   บางคนมาจากภูมิหลังที่ไม่กินหมูอย่างยิว   บางคนมาจากภูมิหลังที่เป็นมังสวิรัติ  ในขณะที่บางกลุ่มมาจากภูมิหลังที่เชื่อว่าทุกอย่างรับประทานได้

มีบางคนบางกลุ่มที่เชื่อว่ามีบางวันที่สำคัญกว่าวันอื่นๆ  ศักดิ์สิทธิ์กว่าทุกวัน   ในขณะที่มีอีกกลุ่มหนึ่งกลับเห็นว่ามีวันอื่นที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์กว่า   ในขณะที่บางคนเห็นว่าทุกวันมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เท่ากันหมด  

ด้วยความแตกต่างหลากหลายดังที่กล่าวนี้เอง   ที่อาจจะนำมาซึ่งความแตกแยก  แตกก๊ก  แตกพวก   เปาโลจึงเริ่มบทที่ 14 ด้วยข้อความว่า “จงต้อนรับคนที่มีความเชื่อน้อยอยู่(ความเชื่อที่แตกต่าง)   แต่ ไม่ใช่ให้โต้เถียงกัน ในเรื่องที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว” (ข้อ 1 ฉบับมาตรฐาน)   ใช่เลยครับ  ถ้าคนในคริสตจักรนำเอาความคิดเห็นส่วนตัวมาโต้เถียงกัน  หนีไม่พ้นจะต้องตัดสินว่าความคิดเห็นของใครผิด  ความคิดเห็นของใครถูก  แล้วคริสตจักรจะยึดความคิดเห็นของใครเป็นหลัก   ความคิดเห็นของฝ่ายที่ตกไป  ก็จะแยกตัวออกจากคริสตจักรไปตั้งคริสตจักรใหม่  ประเด็นหลังนี้เป็นประสบการณ์ของคริสตจักรไทยปัจจุบันครับ

เปาโลให้หลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการความแตกต่างดังนี้...
“จงยอมรับ ผู้ที่อ่อนแอในความเชื่อ  โดยไม่ตัดสินเขาในเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกัน...(ข้อ 1 อมตธรรม)
 คนที่ถือวันก็ถือเพื่อถวายพระเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า
 คนที่กินทุกอย่างก็กินเพื่อถวายพระเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า   เพราะเขาขอบพระคุณพระเจ้า
 คนที่ไม่กิน  ก็ไม่กินเพื่อถวายพระเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า   และยังขอบพระคุณพระเจ้า...”
(ข้อ 5-6 ฉบับมาตรฐาน)

เปาโลให้หลักการประการแรกที่จะไม่ให้กรอบคิด หรือ ความคิดเห็นส่วนตัวที่แตกต่างทำให้เกิดความแตกแยกในคริสตจักรคือ  “การยอมรับ”  และการไม่เปิดโอกาสให้  “โต้เถียงกัน”  ในเรื่องความคิดเห็นส่วนตัว   เพราะนั่นเป็นชนวนที่นำไปสู่ความแตกหัก  เพราะเปิดโอกาสให้เอาแพ้เอาชนะกัน   ซึ่งไม่ใช่วิถีชีวิต และ คุณธรรมคริสเตียน

ประการที่สอง  การมีกรอบคิด ความคิดเห็นส่วนตัว ทุกอย่างของแต่ละคนนั้นมีจุดประสงค์มุ่งไปสู่การนมัสการพระเจ้า   หรือนำไปสู่การถวายเกียรติแด่พระองค์   ในที่นี้รวมไปถึงว่าเมื่อเรายึดมั่นในความคิดส่วนตัวของเรา และ ปฏิบัติออกมาเช่นนั้นได้เป็นเหตุให้คนที่พบเห็นสรรเสริญ และ ถวายพระเกียรติด้วย   ดังนั้น  จึงมิได้ขึ้นอยู่กับว่ากรอบคิดและความคิดเห็นส่วนตัวของใครถูกของใครผิด   แต่เราพิจารณาด้วยใจที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าว่า  กรอบคิด และความคิดเห็นส่วนตัวที่เรายึดมั่นนั้นได้ทำให้เป็นเหตุเกิดการถวายเกียรติแด่พระเจ้าหรือไม่ต่างหาก!

ประการที่สาม   ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้   ถ้าเราตัดสินใจที่จะเป็นสาวกติดตามพระคริสต์แล้ว   เป้าหมายปลายทางในทุกมิติชีวิตของเราคือ  เรามีชีวิตอยู่เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า   ดั่งที่เปาโลกล่าวไว้ว่า  เมื่อตัดสินใจมาเป็นสาวกของพระคริสต์แล้ว
“ เราไม่ได้อยู่เพื่อตนเอง  และเราไม่ได้ตายเพื่อตนเอง
ถ้าเรามีชีวิตอยู่ก็เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า  และถ้าเราตายก็เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า
เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรามีชีวิตอยู่หรือตายไปก็ตาม   เราก็เป็นคนขององค์พระผู้เป็นเจ้า”
(ข้อ 7-8 อมตธรรม)
ก่อนที่เราจะโต้เถียงกันในความคิดเห็นส่วนตัว  หรือจะตัดสินความคิดเห็นใครว่าเป็นเช่นไร   จำเป็นที่เราจะต้องทบทวนตนเองก่อนว่า   ทุกวันนี้อะไรคือเป้าหมายในชีวิตของเรา   และเราเป็นคนของใคร?

ในปัจจุบันนี้   สิ่งที่คริสตจักรไทย “โต้เถียง” กัน  และ “ตีตราตัดสิน” กัน   มีหลายเรื่องที่แตกต่างจากสมัยคริสตจักรเริ่มแรกในกรุงโรม   เพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและบริบท วัฒนธรรม  กรอบคิด  แนวคิดแตกต่างกัน   แต่เรายังสามารถยึดหลักการความเชื่อที่เปาโลแนะนำคริสตจักรในกรุงโรมได้อย่างเกิดผล แม้ว่าในคริสตจักรของเราจะมีความคิดเห็นส่วนตัวที่หลากหลายแตกต่างกัน แต่เราจะไม่ใช้ความแตกต่างเหล่านั้นที่มีเป็นเครื่องมือในการเอาแพ้เอาชนะ  สร้างความเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเพื่อทำการห้ำหั่นเข่นฆ่าให้ตายไปข้างหนึ่งแล้ว ความแตกต่างดังกล่าวคงจะไม่สามารถสร้างความแตกแยกได้!

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. อะไรคือความคิดเห็น  มุมมอง  กรอบคิดที่แตกต่างกันในคริสตจักรของท่าน    ในสถาบัน  หน่วยงานคริสเตียน  หรือในที่ทำงานของท่านทุกวันนี้?
2. ที่ผ่านมาท่าน และ องค์กรของท่านมีมีวิธีการจัดการความแตกต่างทางกรอบคิด ความคิดเห็นส่วนตัวที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?   ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง?   ทำไมถึงเกิดผลเช่นนั้น?
3. ท่านเคย “เปิดพื้นที่” สำหรับคนที่มี “ความเชื่อที่อ่อนแอ”  หรือ  มีความคิดที่แตกต่างจากท่าน   เพื่อเขาจะมีที่ยืนที่รู้สึกปลอดภัย   และหนุนเสริมให้เขาได้มีความเชื่อเติบโตขึ้น หรือ มีวุฒิภาวะทางความเชื่อขึ้นในพระคริสต์หรือไม่?   เพราะเหตุใด?
4. ถ้าจะนำหลักการของเปาโลทั้ง 3 ประการไปประยุกต์ใช้ในคริสตจักรของท่านจะมีความเป็นไปได้หรือไม่?   เพราะเหตุใด?   และจะมีจุดเริ่มต้นอย่างไร?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   เมื่อใคร่ครวญถึงคริสตจักรไทยในวันนี้ พบว่าได้เกิดการแตกแยกฉีกขาดที่เพิ่มมากขึ้น   บางครั้งสาเหตุความแตกแยกนั้นเป็นเรื่องที่น่าหนักใจมาก   แต่บ่อยครั้งการแตกแยกเพราะการไม่เห็นด้วยกันในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง  และหลายครั้งสาวกของพระองค์ตั้งใจทำให้เกิดการแตกแยกเพื่อตนจะมีอำนาจมากขึ้น  ปกครองง่ายขึ้น   และการที่นำเอาระบบ “การเล่นการเมืองน้ำเน่า” เข้ามาใช้ในคริสตจักรบริสุทธิ์ของพระองค์   ข้าแต่พระเจ้าโปรดเมตตาและอภัยโทษข้าพระองค์ด้วยที่ข้าพระองค์ไม่ได้กระทำต่อพี่น้องของข้าพระองค์อย่างที่ควรกระทำ

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   โปรดช่วยให้คริสตจักรของพระองค์ในประเทศไทยได้เปิดใจยอมรับสิ่งที่มีความแตกต่างจากตน   ถึงแม้ตนจะไม่เห็นด้วยในหลักการบางประการ  แต่ให้ตนยอมรับกันดังที่พระคริสต์ทรงยอมรับคนบาปอย่างข้าพระองค์   โปรดช่วยให้ข้าพระองค์ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน   เพื่อนำมาซึ่งการสรรเสริญพระองค์   และเพื่อทั้งสองฝ่ายจะได้เติบโตขึ้น และ มีวุฒิภาวะในชีวิตคริสเตียนมากขึ้น

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   ท่ามกลางความแตกต่างอันเป็นชนวนนำสู่ความแตกแยก   ข้าพระองค์เลือกที่จะมีชีวิตในทุกสถานการณ์และบริบทที่มีชีวิตอยู่เพื่อพระคริสต์   และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต ขอมีชีวิตเพื่อพระคริสต์ และ เป็นคนของพระองค์ตลอดไป   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น