03 กันยายน 2555

ร่ายรำกลางพายุร้าย


บางท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า  “ชีวิตมิได้มีไว้รอให้พายุร้ายพัดผ่านไป  แต่ชีวิตคือการเรียนรู้ที่จะร่ายรำท่ามกลางวิกฤติเลวร้ายที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต”   ที่ว่า “ร่ายรำ” ในที่นี้ผู้กล่าวประโยคนี้หมายถึงอะไรกันแน่ผมไม่รู้ครับ   แต่คงไม่ใช่เราพยายามบอกตนเองให้สุขใจ  หรือ แกล้งทำเป็นสุขใจ  เมื่อวิกฤติโหมกระหน่ำเข้ามาในชีวิต  และตั้งหน้าตั้งตาคอยรุ่งอรุณแห่งขอบฟ้าใหม่หลังพายุร้าย   ผมเองคงยอมรับความคิดแบบนี้ไม่ได้

แต่ถ้าการ “ร่ายรำ” ในที่นี้หมายถึง  เวลาหรือโอกาสที่เราจะได้ติดสนิทกับพระเจ้า  ชีวิตสัมผัสกับพระองค์   ความเข้าใจเช่นนี้ใจผมเห็นด้วยเกินร้อยครับ
บรรทัดสุดท้ายของเพลง ‘Underneath the Door’ ของ Michael Card มีเนื้อความว่า
“ความเจ็บปวดคือปากกาที่จรดเขียนบทเพลงและเชิญชวนให้เราเข้าไปร่ายรำในบทเพลงนั้น”  
Card เรียกพวกเราให้ร่ายรำตามบทเพลงที่ความเจ็บปวดได้เขียนขึ้นเพื่อเรา   เพลงนี้เขียนในทำนองที่เศร้า  หลายตอนไม่มีความ “สวยงาม” เหลืออยู่   แท้จริงแล้วมันเป็นบทเพลงที่ หยาบ ห้าว เกรี้ยวกราด  แต่เมื่อบทเพลงนี้จบสิ้นลงกลับพบผลงานชีวิตที่สำคัญเยี่ยมยอด  เป็นงานชิ้นเอกทีเดียว

เรียนรู้ที่จะคร่ำครวญอย่างใคร่ครวญ

เราจะร่ายรำในบทเพลงชีวิตที่ความเจ็บปวดประพันธ์ขึ้นได้อย่างไร?  ก็ด้วยการมีชีวิตที่เป็นจริงกับพระเจ้า   และการร่ายรำในบทเพลงชีวิตแห่งความทุกข์ยากลำบากนี้เป็นการนมัสการพระองค์   การมีชีวิตที่เป็นจริงกับพระเจ้า   มิใช่เพียงการแสดงออกถึงการ “ขอบพระคุณพระเจ้า”  “ข้าพระองค์รักพระองค์” เท่านั้น   แต่รวมไปถึงความรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจพระเจ้า  ความรู้สึกว้าวุ่นในจิตใจ  ความกลัว  ความสับสน  ความสงสัย  และความจริงในชีวิตอื่นๆ อีก   แสดงออกต่อพระองค์อย่างหมดเปลือกด้วยจริงใจ  นั่นคือการมีชีวิตที่เป็นจริงกับพระเจ้า   เราจะไม่ซุกซ่อนส่วนหนึ่งส่วนใดในความจริงของชีวิตของเราจากพระองค์   ถ้าทำเช่นนั้นเท่ากับเราไม่จริงใจต่อพระเจ้า  เรากำลังปั้นแต่งโกหกพระองค์   และเราจะไม่สามารถนมัสการพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจของเราอย่างแน่นอน

เส้นทางที่เราจะมีชีวิตที่ใกล้ชิดสนิทแนบกับพระองค์ผ่านการคร่ำครวญอย่างใคร่ครวญนั้น  นี่มากกว่าความรู้สึกโศกเศร้าเท่านั้น   คริสเตียนมักไม่คุ้นชินกับความคิดในชีวิตที่ “คร่ำครวญอย่างใคร่ครวญ”  และมักจะมีความรู้สึกเชิงลบกับเรื่องนี้   แต่ความจริงที่เราพบในพระธรรมสดุดีกว่าเศษหนึ่งส่วนสามที่เป็นการคร่ำครวญอย่างใคร่ครวญ   ยิ่งกว่านั้นยังมีพระธรรมเล่มหนึ่งในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่ชื่อว่า “บทเพลงคร่ำครวญ” 

เมื่อพระเยซูคริสต์ถูกตรึงบนกางเขนสร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสในชีวิต  พระองค์คร่ำครวญจากบทเพลงสดุดีบทที่ 22 ด้วยการคร่ำครวญจากประโยคแรก ข้อแรกของพระธรรมบทนี้ว่า
“พระเจ้าข้า  พระเจ้าข้า  ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย?” (ข้อที่ 1 ฉบับมาตรฐาน)
เป็นการคร่ำครวญและถามพระเจ้าอย่างจริงใจว่า  ในวิกฤติความเป็นความตายของชีวิต  พระเยซูรู้สึกว่าพระเจ้าทรงทอดทิ้งพระองค์   และพระเยซูคริสต์ร้องถามพระเจ้าตามความรู้สึกที่เป็นจริงของพระองค์   มิได้แสแสร้งแกล้งทูลเป็นอย่างอื่น   แต่ที่น่าสังเกตคือ  การที่ผู้เขียนสดุดีบทที่ 22 ทูลต่อพระเจ้าเช่นนี้   มิได้หมายความว่าเขาไม่เชื่อไม่ศรัทธาในพระเจ้าแล้ว  อย่างที่คริสเตียนหลายท่านเป็นกันในปัจจุบัน   แต่ด้วยการคร่ำครวญอย่างใคร่ครวญนี้เอง   ในคำคร่ำครวญของเขากลับยืนยันความเชื่อศรัทธาของเขาต่อพระเจ้าอย่างมั่นคง  ตัวอย่างเช่น
“...เขาทั้งหลายวางใจ  และพระองค์ทรงช่วยเขาให้พ้นภัย
 พวกเขาร้องทูล   พระองค์ก็ทรงช่วยเขาให้รอด   เขาวางใจในพระองค์ เขาจึงไม่อับอาย” (ข้อ 4,5)
“...ใจของข้าพระองค์ก็เป็นเหมือนขี้ผึ้ง  ละลายภายในอก
 กำลังของข้าพระองค์เหือดแห้งไปเหมือนเศษหม้อดิน...” (ข้อ 14,15)

และผู้เขียนสดุดีใคร่ครวญถึงความเชื่อ ความศรัทธา และความไว้วางใจในพระเจ้าว่า
“ท่านผู้ยำเกรงพระยาเวห์   จงสรรเสริญพระองค์
 ท่านผู้เป็นพงศ์พันธุ์ของยาโคบเอ๋ย   จงถวายพระเกียรติแด่พระองค์
 ท่านผู้เป็นพงศ์พันธุ์ของอิสราเอลเอ๋ย   จงเกรงกลัวพระองค์
 เพราะพระองค์มิได้ทรงดูถูกหรือสะอิดสะเอียนต่อความทุกข์ยากของผู้ทุกข์ใจ
 และมิได้ซ่อนพระพักตร์จากเขา
 เมื่อเขาทูลขอความช่วยเหลือ  พระองค์ทรงฟัง” (ข้อ 23, 24)

ครั้งเมื่อพระเยซูคริสต์อธิษฐานในสวนเกทเสมนี ก่อนที่จะถูกจับและนำไปตรึงที่กางเขน   พระองค์คร่ำครวญอย่างใคร่ครวญต่อพระเจ้าว่า
“ข้าแต่พระบิดา   ถ้าพระองค์พอพระทัยขอให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์
 แต่อย่างไรก็ดี  อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์
 แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์”   และพระคัมภีร์บันทึกต่อไปว่า 
“เมื่อพระองค์ทรงเป็นทุกข์  พระองค์ก็ยิ่งทรงอธิษฐานอย่างจริงจัง
 เหงื่อของพระองค์เป็นเหมือนโลหิตเม็ดใหญ่ไหลหยดลงถึงดิน” (ลูกา 22:39-44 อมตธรรม)

การคร่ำครวญอย่างใคร่ครวญหลายครั้งที่สะเทือนอารมณ์ อย่างเช่น คำคร่ำครวญของดาวิดถึงโยนาธานเพื่อนรักที่สนิทมาก (2ซามูลเอล 1:19-27)   แต่บางครั้งที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว (สดุดี 55:5)  บางครั้งที่เป็นการคร่ำครวญอย่างสับสน (สดุดี บทที่ 13)  บางครั้งก็ด้วยความรังเกียจ ชิงชัง (สดุดี 109)

เปาโลเขียนใน ฟีลิปปี 3:10 ว่า “ข้าพระองค์ต้องการรู้จักพระองค์  คือรู้จักฤทธิ์เดชแห่งการคืนพระชนม์ของพระองค์  และรู้จักการมีส่วนร่วมในความทุกข์ของพระองค์  และเป็นเหมือนกับพระองค์ในความตายนั้น”   การคร่ำครวญอย่างใคร่ครวญเป็นหนทางหนึ่งที่เราจะรู้จักพระคริสต์ด้วยการมีส่วนร่วมในความทุกข์ยากของพระองค์

ดังนั้น  ถ้าเราจะมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์สนิทแนบกับพระคริสต์และเติบโตขึ้นในความสัมพันธ์กับพระองค์   เราจะต้องเปลี่ยนมุมมอง   เราต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ต่อการมอง “ความทุกข์ยากลำบากในชีวิต”  เราจะไม่มองความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราในแง่ลบ  ไม่มองว่าเป็นส่วนที่ทำให้เราไม่สะดวกสบายในชีวิต  ไม่มองว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องหลีกลี้หนีให้ไกล   หรือไม่มองว่าเราจะต้องเอาชนะความทุกข์ยากลำบาก   แต่เราต้องเปลี่ยนมุมมองต่อความทุกข์ในชีวิตที่เกิดขึ้นตามมุมมองหรือทัศนะแบบ ฟีลิปปี 3:10   คือการที่แสวงการเข้าไปมีส่วนร่วมในความทุกข์ยากของพระคริสต์   เมื่อใดก็ตามที่เรายอมที่จะให้ชีวิตเข้าส่วนและรับรู้ถึงความฉีกขาดในชีวิต และ ความโดดเดี่ยวที่ถูกทอดทิ้งของพระคริสต์   เมื่อนั้นเราจะเริ่มรับรู้และเข้าใจถึงการที่พระคริสต์ยอมเสียสละชีวิตเพื่อเราบนกางเขนนั้น   ความทุกข์ยากโศกเศร้านำเราเข้าไปใกล้พระเจ้าที่ไม่มีหนทางอื่นใดที่จะทำเช่นนั้นได้

ประการหนึ่งที่คริสเตียนปัจจุบันอาจจะมีความเข้าใจที่ผสมปนเประหว่าง การบ่นต่อว่าพระเจ้า กับ การคร่ำครวญอย่างใคร่ครวญ  เราสามารถทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของสองประการดังกล่าวได้จากเรื่องราวของอิสราเอลครั้งเมื่อต้องพเนจรในทะเลทรายเพื่อเดินทางสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา

พระเจ้าทรงสถิตและนำอิสราเอลด้วยเสาเมฆในเวลากลางวัน และ เสาไฟในเวลากลางคืน   แต่พวกอิสราเอลก็ยังบ่นว่าต่อพระเจ้าผ่านโมเสสไม่หยุดถึงเรื่องการกินการดื่มของพวกเขา   แล้วยังพูดว่าพวกเขาน่าจะกลับไปเป็นทาสในอียิปต์จะดีกว่า   พวกอิสราเอลมิได้เรียนรู้เลยว่า  การที่พระเจ้าสถิตอยู่กับเขาทั้งกลางวันกลางคืนนั้นพวกเขามีทุกสิ่งที่เพียงพอ   แต่เพราะพวกเขามิได้ไว้วางใจในพระเจ้า  แต่กลับมุ่งมองไปที่ความต้องการด้านร่างกาย อาหารการกิน  และความสะดวกสบายของตนเอง   จึงทำให้พวกอิสราเอล “บ่นว่า” ต่อพระเจ้า   ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการคร่ำครวญอย่างใคร่ครวญ   เพราะคร่ำครวญอย่างใคร่ครวญนั้น   เป็นการที่เสนอถึงความทุกข์ยากที่ตนต้องเผชิญที่นำให้เราเข้าใกล้ชิดกับพระเจ้า  ด้วยความไว้วางใจ และ เชื่อศรัทธาในพระองค์   เพื่อเราจะเรียนรู้จักพระคริสต์และพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรามากและชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อเราบ่นต่อพระเจ้า   เรามุ่งมองสนใจที่ตัวเราเองและมองแต่ความจำเป็นต้องการของฝ่ายร่างกาย   เราไม่สนใจการสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้า   การคร่ำครวญอย่างใคร่ครวญในชีวิตตามความเป็นจริงกับพระเจ้า   เราเปิดเผยต่อพระองค์ตามความเป็นจริงในชีวิตทุกมิติ  ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความสุข  ความเศร้า    ความโกรธ  ทั้งสิ้นในชีวิตของเรา   สิ่งที่เราปรารถนาในยามนี้คือ การสถิตอยู่ของพระเจ้า และการที่เราได้ใกล้ชิดสนิทแนบกับพระองค์

ในวันนี้เรามีสิทธิที่จะเลือกครับ   เราจะเลือกบ่นว่าต่อพระเจ้า   เราสามารถเลือกที่จะแกล้งทำเป็นมีความสุข  หรือสวมหน้ากากเข้าหาพระเจ้า   หรือมีสิทธิที่จะเลือกการมีชีวิตที่ใกล้ชิดพระเจ้าตามความเป็นจริงในชีวิตของเรา  แล้วมีชีวิตที่ร่ายรำไปในบทเพลงที่ความเจ็บปวดเขียนขึ้นสำหรับชีวิตของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น