12 กันยายน 2555

เมื่อผู้นำ “หน่อมแน้ม” สถาบันก็สั่นคลอน เมื่อผู้นำทำความเสียหาย ประเทศก็ไร้เสถียรภาพ


สุดสัปดาห์นี้  ผมได้มีโอกาสอ่านบทความผ่านเน็ท   ที่เขียนโดย John C. Maxwell เรื่อง Insecurity: The Leadership Flaw of American’s Worst President[1]  จึงขอนำเนื้อหาและข้อคิดบางส่วนมาสะท้อนคิดสู่กันอ่านในบทความนี้   อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเทียบเคียงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและคริสตจักรของเรา

ในทุกๆ 3-4 ปี  จะมีนักประวัติศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาจัดอันดับอดีตประธานาธิบดีจากระดับยอดเยี่ยมลงจนถึงระดับยอดแย่  ทั้งนี้การจัดอันดับแต่ละครั้งก็มิใช่ว่านักวิชาการจะเห็นพ้องต้องกันเสมอไปหรอกครับ   เพราะนักวิชาการส่วนหนึ่งที่สวมเสียบในขั้วการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่งก็มีไม่น้อยทีเดียว   โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่ทำตัวเป็น “กุนซือ” ของก๊กนั้นพรรคนี้ก็กระโดดออกมาปกป้อง “นาย” ของตนเองอย่างลืมตัว! แต่อย่างไรก็ตามส่วนมากแล้วเห็นว่าอดีตประธานาธิบดี Warren G. Harding ว่าเป็นประธานาธิบดีที่ยอดแย่ในการบริหารจัดการประเทศในสมัยของท่าน   นอกจากที่บริหารประเทศน้อยกว่าสามปีแล้ว   ในยุคของ Harding ยังอื้อฉาวคละคลุ้งไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการโกงกินประเทศและประชาชนจากพวกลิ่วล้อของเขาอย่างโจ๋งครึ่ม  สร้างความเศร้าสลดหดหู่ใจในหมู่ประชาชนถึงภาวะผู้นำที่ล้มเหลวและเกิดความรู้สึกไร้เสถียรภาพของประเทศ

แท้จริงแล้วเจ้าตัว Harding ก็รู้ถึงความไม่เหมาะสมของตนเอง ครั้งหนึ่งเจ้าตัวเคยกล่าวว่า “ผมไม่เหมาะกับงานการเป็นประธานาธิบดี  ผมไม่น่าจะมาทำในหน้าที่นี้เลย”   เขาสร้างการยอมรับจากประชาชนด้วยการสร้างสัมพันธภาพมากกว่าการเสริมสร้างความก้าวหน้าแก่ประเทศชาติ  

อะไรที่บ่อนเซาะทำลายความมั่นคงในภาวะผู้นำของประธานาธิบดี Harding

1. เลือกก๊กแบ่งพวก

แทนที่ประธานาธิบดี Harding จะสรรเลือกเอาคนที่มีสมรรถนะความสามารถในด้านต่างๆ เข้ามาช่วยการบริหารและพัฒนาประเทศ   แต่กลับปรากฏว่าคนที่ล้อมหน้าล้อมหลังท่านกลับกลายเป็นคนที่ “เชลียร์” เอาอกเอาใจป้อยอท่าน   แล้วท่านก็เอาคนสนิทของท่านเข้ามามีอำนาจในรัฐบาลที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าตลอดเวลาของการบริหารประเทศ  ตัวอย่างเบาะๆ เช่น
  •  Albert Fall เลขานุการกิจการภายในประเทศ เป็นรัฐมนตรีคนแรกในคณะของท่านที่เข้าคุกเพราะการรับสินบนจากบริษัทน้ำมัน   เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทได้เช่าที่ดินในราคาที่ต่ำกว่าราคามาตรฐาน
  • Edwin Denby เลขานุการฝ่ายกิจการทหารราชนาวี   ถูกถอดถอนต้องก้าวลงจากตำแหน่งเพราะความผิดด้านคอร์รัปชั่น
  • Harry Daugherty อธิบดีกรมอัยการ ถูกกดดันให้ต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะถูกกล่าวหาอย่างกว้างขวางจากสังคมถึงการโกงกินในกระทรวงยุติธรรม
  •  Jess Smith ผู้ช่วยอธิบดีกรมอัยการ   ได้ฆ่าตัวตายภายหลังที่ถูกสอบสวนถึงพฤติกรรมฉ้อโกงของเขา
  • Charles Forbes ผู้อำนวยการสำนักงานทหารผ่านศึก   ถูกตัดสินให้มีความผิดในการโกงกินในรัฐบาลและถูกจำคุก

ถึงแม้ว่าเจ้าตัวประธานาธิบดีไม่มีข่าวที่แสดงว่าได้โกงกินฉ้อฉล   แต่คนล้อมรอบเขาได้เป็นหนอนบ่อนไส้กัดกินฉ้อฉลประเทศชาติ   และนี่คือตัวบ่อเซาะทำลายความมั่นคงในภาวะผู้นำของเขา

2. หลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่รับผิดชอบ

แทนที่ Harding จะใช้สิทธิอำนาจในความเป็นประธานาธิบดีที่ตนมีอยู่เผชิญหน้ากับเพื่อนฝูงลูกน้องที่ฉ้อฉลโกงกินเหล่านั้น   แต่เขากลับทำตัวเป็นเหยื่อของการทำชั่วของเหล่าเพื่อนฝูงที่ห้อมล้อมเขาในเวลานั้น   และท่านยืนยันว่าเพื่อนฝูงเหล่านี้เป็นผู้ที่ช่วยท่านในเวลาที่ต้องเดินไปบนเส้นทางที่มืดมิด    ได้มีนักประวัติศาสตร์บางท่านได้อ้างว่า  การที่ Harding ได้เสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวที่ห้องทำงานนั้นเพราะความเครียดอันเกิดจากเรื่องอื้อฉาวของการโกงกินของเพื่อนฝูงที่ห้อมล้อมเขานั่นเอง

มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า  Harding เป็นคนประเภทที่หลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่รับผิดชอบ   และการที่เขาเป็นประธานาธิบดีแบบที่กล่าวข้างต้นก็มิใช่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจนักของคนหลายๆ คน   เพราะเขาเป็นคนที่หลีกเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญๆ   มีผู้ยกตัวอย่างเช่น   ครั้งเมื่อ Harding เป็นสมาชิกสภาผู้แทน   ถ้าเวลาใดที่สภาจะต้องลงคะแนนเสียงเพื่อจะผ่าน/ไม่ผ่านกฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่สำคัญๆ   Harding จะออกจากวอชิงตัน  เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกด้านใดด้านหนึ่ง   แทนที่เขาจะทำงานศึกษาอย่างทุ่มเทและมีความกล้าหาญในทางจริยธรรมที่จะต้องตัดสินใจยืนเคียงข้างในสิ่งที่ถูกต้อง  Harding เลือกหลีกลี้หนีการตัดสินใจที่รับผิดชอบต่อสิ่งสำคัญเหล่านั้น   และในครั้งเมื่อการหาเสียงของ Harding เขาเดินตามแผนการหาเสียงของพรรคที่กำหนดไว้   แล้วก็ใช้นโยบายที่คนอื่นในพรรควางไว้   เขามิได้พยายามปล้ำสู้หาวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของเขาเพื่อชีวิตของประเทศชาติ   แต่เขากลับเอานโยบายที่คนอื่นคิดไปท่องบ่นหาเสียงบนวิสัยทัศน์ของคนอื่น

3. สร้างบรรยากาศที่ระแวงสงสัย

อย่างไรก็ตาม  แทนที่การนำของ Harding จะเป็นการสร้างความนิยมชมชอบในหมู่ประชาชน   แต่กลับสร้างบรรยากาศแห่งความระแวงสงสัยในหมู่ประชาชน   ผู้คนกำลังไม่แน่ใจในการนำประเทศของเขา   และที่ชัดเจนแน่นอนคือประชาชนไม่สามารถพึ่งพิงในการจัดการการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลของ Harding  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงของบรรดาเพื่อนฝูงนักการเมืองคนสนิทของ Harding  ตราบใดที่ข้าราชการ หรือ นักการเมืองคนนั้นเป็นเพื่อนสนิทของ Harding   เพื่อนคนนั้นก็จะทำอะไรก็ได้อย่างใจปรารถนา   เมื่อข่าวการคอร์รัปชั่นแพร่สะพัดออกไปทั่วสังคม   ย่อมสร้างแต่ความระแวงสงสัยไปในระดับชาติ   สร้างความไม่ไว้วางใจต่อผู้นำที่ประชาชนได้เลือกมานั้น

ความรู้สึกไม่มั่นคงในความเป็นประธานาธิบดีของ Harding ได้แผ่ขยายครอบงำแม้แต่ภรรยาของเขา  สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ   Florence ภรรยาของเขามีสมุดโน้ตเล่มเล็กสีแดงเล่มหนึ่ง   ในสมุดนั้นนางจะเขียนชื่อของทุกคนที่ต่อต้าน ขัดแย้งสามีของนาง   หลายชื่อที่ถูกทำเครื่องหมายไว้ข้างๆ   ถ้านางเห็นว่าคนๆ นั้นแสดงการเคารพต้อนรับสามีเธอที่ไม่เหมาะสม   หรือมองสามีของนางไปในเชิงลบ   แล้วเธอก็มองว่าคนเหล่านี้คือ “ศัตรูทางการเมือง” ของสามีและนาง

คำถามเพื่อการใคร่ครวญพิจารณา

จากความล้มเหลวในภาวะผู้นำของ Warren G. Harding ได้ให้บทเรียนสำคัญแก่เราบางประการดังนี้

1. ท่านจะไม่ประสบความสำเร็จในการนำทีมงานของท่าน  ถ้าท่านมัวแต่ต้องการให้คนในทีมยอมรับตัวท่านนิยมในตัวท่านเท่านั้น
2. แน่นอนว่าใครก็ต้องการเป็นคนที่ “น่ารัก น่าคบ” (ประชานิยม)  มากกว่าการเป็นผู้นำที่คนเขาไม่อยากคบค้าด้วย   แต่ในเวลาเดียวกันผู้นำก็ต้องติดตามและเท่าทันว่า  การทำให้เพื่อนฝูง และ ประชานิยมนั้นได้สร้างความเสียหายล่มจมอะไรบ้างในการบริหารงาน?
3. มีสัญญาณเตือนภัยอะไรบ้างไหมที่บ่งชี้ให้เห็นว่า  ผู้นำเน้นเรื่องการสร้าง “ความนิยม” มากเกินไป?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น