24 กันยายน 2555

อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องที่ใหญ่


อ่าน 2 ทิโมธี 2:23-26                       

อย่ายุ่งเกี่ยวกับการทุ่มเถียงที่โง่เขลา และ ไม่เป็นสาระ
ท่านก็รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้เกิดการทะเลาะกัน
(2 ทิโมธี 2:23)

ในคริสตจักร หรือ ในที่ทำงานของเรา  ต่างเป็นที่ที่คนมาชุมนุม มาพบกัน และมาทำงาน ทำกิจกรรมร่วมกัน   และเราต่างทราบแล้วว่า  แต่ละคนที่มาพบกันนี้ต่างมาจากภูมิหลังชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย   แต่ต้องมามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน   มีทั้งเกษตรกร  ครู  พยาบาล  แพทย์  ช่างซ่อมรถยนต์  นักคอมพิวเตอร์  แม่บ้าน พ่อบ้าน  นักเรียน  นักศึกษา  นักกฎหมาย  นักศิลปะ  นักดนตรี  สถาปนิก  ช่างกลึง  แม่ค้าในตลาด   คนที่มีความสามารถ อีกทั้งคนเหล่านี้มีความคิดเห็น ความเข้าใจชีวิต  และมีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน   แต่คนเหล่านี้มาร่วมกันในจุดเดียวกันคือ  ที่ทำงาน หรือ ในคริสตจักร

นั่นหมายความว่า  เมื่อคนที่มีชีวิตที่ถูกบ่มเพาะมาที่ไม่เหมือนกัน  จึงมีภูมิหลังความคิดที่แตกต่างกัน   แต่เมื่อมาอยู่ด้วยการ  ต่างมีเสรีในการที่จะแสดงความคิด ความเห็นของตน   แต่เมื่อเกิดการแสดงความคิดความเห็นที่ไม่เหมือนกัน  แตกต่างกัน ในที่ทำงาน หรือ ในคริสตจักร  ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยและธรรมดา  แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม  ที่ความคิดความเห็นที่ไม่เหมือนและแตกต่างกันทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็น “ความคิดความเห็นที่ขัดแย้งกัน”  ไม่เห็นด้วยกัน   ย่อมก่อให้เกิดการถกเถียง   เกิดการพิสูจน์ว่าความคิดใดถูกและความเห็นใครผิด เมื่อนั้น  ความคิดความเห็นที่หลากหลาย  พัฒนาสู่การชี้ความแตกต่าง   และเป็นเครื่องล่อให้นำไปสู่การชี้ว่าความคิดความเห็นของใครผิดและใครถูก   ในระดับนี้ความคิดความเห็นของบุคคลก่อเกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในสังคมนั้นๆ  ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน หรือ ในคริสตจักรก็ตาม

ในฐานะคริสตชน และ ชุมชนคริสตจักร   ความแตกต่างหลากหลาย และ ความไม่เหมือนกันในเรื่องความคิดความเห็น   ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะอยู่ด้วยกันไม่ได้    แต่ที่ผ่านมาเรามีแนวโน้มที่จะกระตุ้นหนุนเสริมให้ความแตกต่างทางความคิดความเห็นส่วนบุคคล   กลับกลายพัฒนาสู่ความคิดเห็นที่แตกต่าง   และมักกระตุ้นให้เป็นความคิดเห็นที่ขัดแย้ง   แท้จริงแล้วมิใช่ความคิดเห็นที่ขัดแย้งหรอก   แต่เป็นความรู้สึก และความในใจที่ขัดแย้งกันมากกว่า   นั่นก็คือแท้จริงเรื่องเล็กถูกกระตุ้นให้เป็นเรื่องใหญ่เพราะมีความพยายามทำให้ความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกันเกิดการแบ่งแตกความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน   และที่สำคัญคือการสร้างความแตกต่างจนขัดแย้งเพื่อเสริมสร้างคุณค่าในตนเองให้เด่นชัดเหนือกว่าคนอื่น  กล่าวคือ  “ฉันถูกเธอผิด”

แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า  เราต้องละทิ้งจุดยืนบนรากฐานความเชื่อความคิดของเรา   แล้วปล่อยให้โอนเอนไปตามลมปาก หรือ สภาพแวดล้อมเหมือน “ไม้หลักปักขี้ควาย”   ในความเป็นคริสตชน  และในความเป็นชุมชนคริสตจักร   ผู้เชื่อต้องยืนมั่นคงบนรากฐานความเชื่อความศรัทธาของเราที่หยั่งรากลึกลงในพระวจนะของพระเจ้า   และเมื่อเกิดความคิดเห็นที่ต่างกัน  หรือถูกผลักดันให้เกิดความขัดแย้งในความคิดเห็นกัน   คริสตชนจะพยายามที่จะไม่ใช้การ “โต้แย้ง โต้เถียง” กันที่ลึกๆ คือต้องการที่จะเอาแพ้เอาชนะกัน  ต้องการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นผู้ถูกต้อง   ในที่นี้คงต้องบอกว่า  ชุมชนคริสตจักร และ คริสตชนไม่ควรใช้กระบวนการรูปแบบที่ใช้กันใน “รัฐสภาฯ”  มาเป็นรูปแบบในชุมชนคริสตจักรของเรา

เปาโลบอกกับทิโมธีให้ตักเตือนสมาชิกในคริสตจักรว่า  “จงให้พวกเขาทั้งหลายระลึกถึงข้อนี้  และกำชับเขาเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า   ไม่ให้โต้แย้งเรื่องถ้อยคำซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย” (2 ทิโมธี 2:14 ฉบับมาตรฐาน)  เพราะเช่นนั้นแล้ว   การโต้เถียงของคริสตชน และ ชุมชนคริสตจักร   จะนำมาซึ่งการทำให้พระเจ้าเสื่อมพระเกียรติ์   ในสถานการณ์ที่มีแนวโน้มนำให้เราต้องโต้เถียงขัดแย้งกันในชุมชน   เราควรสงบและทูลถามพระเจ้าว่า   ในสถานการณ์นี้พระองค์มีพระประสงค์ให้เราทำอย่างไร  ให้เราพูดอะไร  หรือไม่ให้เราพูดอะไร   กล่าวคือเราเลือกที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้ามากกว่าเลือกที่จะทำตามใจปรารถนาของเราเอง

“ส่วนผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะต้องเป็นคนที่ไม่ชอบทะเลาะ  
แต่ต้องมีใจเมตตาต่อทุกคน   เป็นอาจารย์ที่เหมาะสมและมีความอดทน   
แก้ไขความคิดเห็นของฝ่ายตรงกันข้ามด้วยความสุภาพอ่อนโยน  
เพราะพระเจ้าอาจโปรดให้เขากลับใจและมาถึงความรู้ในความจริง  
และหลุดพ้นจากบ่วงของมาร ผู้ซึ่งดักจับพวกเขาไว้ให้ทำตามความประสงค์ของมัน”
(2 ทิโมธี 2:24-26)

เปาโลกล่าวถึงการที่คนในคริสตจักรที่เกิดการขัดแย้งถึงขนาดที่ต้องเป็นคดีความกัน  ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล  เปาโลได้แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามที่เราคริสเตียนต้องตอบว่า
“อันที่จริงที่ท่านเป็นคดีความกันในหมู่พวกท่านก็หมายความว่าท่านได้พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงแล้ว   ทำไม(ท่าน)ไม่(ยอม)เป็นฝ่ายถูกรังแก   ทำไม(ท่าน)ไม่ยอมเป็นฝ่ายถูกโกง” (1โครินธ์ 6:7 อมตธรรม  คำในวงเล็บเพิ่มโดยผู้เขียนเมื่อเทียบกับฉบับมาตรฐาน)

นี่คือจุดยืน หลักการ และแนวทางของคริสตชนเมื่อเกิดการโต้เถียงขัดแย้งขึ้นในชุมชนคริสตจักร หรือในที่ทำงานที่คริสตชนทำงานร่วมกับคนอื่น 

หลักการในเรื่องนี้คือ  ไม่ยอมเข้าไปมีส่วนร่วมในการทะเลาะ

จุดยืน หรือ รากฐานในเรื่องนี้คือ  มีใจเมตตา และ อดทนต่อทุกคน

แนวทางการจัดการในเรื่องนี้คือ แก้ไขสิ่งที่ความแตกต่างขัดแย้งด้วยความสุภาพอ่อนโยน

และที่สำคัญคือ   การบริหารจัดการอย่างเกิดผลในเรื่องนี้มิใช่ความสามารถเก่งกาจของเราเองครับ   แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าจะทรงกระทำกิจของพระองค์ตามพระประสงค์   ซึ่งมากกว่าการป้องกัน หรือ แก้ไขความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้นครับ   แต่พระองค์จะทรงช่วยคนในชุมชนคริสตจักร  ตัวของเรา  และเพื่อนของเรา “หลุดรอดพ้นจากบ่วงของมาร” (กับดักของอำนาจชั่ว)   แต่เกิดการเรียนรู้ถึงความรู้ในความจริงขององค์พระผู้เป็นเจ้าร่วมกันครับ

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ท่านเคยมีประสบการณ์ในการโต้เถียงเรื่องหลักคิดหลักเชื่อที่แตกต่างกันหรือไม่?   โต้เถียงกันในเรื่องอะไร?   เกิดผลอะไรบ้างจากการโต้เถียงกัน?

2. ถ้าวันนี้เกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน  มีแนวโน้มที่จะต้องโต้เถียง  หรือพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูก   ท่านจะมีแนวทางขั้นตอนในการจัดการเรื่องนี้อย่างไร ในฐานะคริสตชน?

3. มีใครบ้างไหมที่ท่านเคยโต้เถียงในหลักคิดหลักเชื่อที่แตกต่างกัน  จนมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์   ถ้ามีให้ท่านอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้า   โปรดเปิดเผยทางหรือโอกาสที่ท่านจะกลับไปขอโทษ และ สร้างการคืนดีกัน   ตามหลักการ จุดยืน และแนวทางข้างต้น   หรือ  ท่านอาจจะทูลถามพระเจ้าว่าพระองค์ประสงค์ให้ท่านทำเช่นไรในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น