07 ธันวาคม 2555

ช่วงเวลาใคร่ครวญชีวิตคริสตชน (1): พระราชกิจแห่งการกอบกู้และพลิกฟื้นชีวิตใหม่


อ่านสดุดี 80:1-19

สี่สัปดาห์ก่อนคริสตสมภพ

ในช่วงสี่สัปดาห์ก่อนวันคริสตสมภพ สากลคริสตจักรมีธรรมเนียมปฏิบัติใช้ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสแห่งการใคร่ครวญถึงชีวิตของตนกับพระประสงค์ของพระเจ้า   ที่ผ่านมา คริสตจักรเชิญชวนให้คริสตชนใช้ช่วงเวลานี้ในการ “เตรียมรับเสด็จ”   ในภาษาอังกฤษเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นเทศกาล “Advent”  ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาละตินที่มีความหมายว่า “กำลังเสด็จมา”  หรือ  “การมาเยี่ยม”    ซึ่งมีรากฐานความคิดความเชื่อของชาวยิวที่รอคอยการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ด้วยความหวังตามพระสัญญาของพระเจ้า   ซึ่งพี่น้องชาวยิวก็ยังรอคอยพระเมสสิยาห์ของตนอยู่   เพราะเขามิได้ยอมรับว่าพระเยซูคริสต์คือพระเมสสิยาห์ของพระเจ้าที่เสด็จมาตามพระสัญญาแล้ว  

สำหรับคริสตชนในปัจจุบันเราเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่เสด็จมาเพื่อกระทำพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงสัญญาไว้แล้ว   พระเยซูคริสต์เสด็จมาเพื่อกอบกู้ชีวิตของมนุษย์ให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่วร้ายที่สำแดงผลออกมาในรูปแบบต่างๆ   และพระองค์ได้ทรงเริ่มพลิกฟื้นและเสริมสร้างชีวิตคนเหล่านั้นที่ตัดสินใจยอมตนติดตามเป็นสาวกของพระคริสต์  ให้เป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้การครอบครองของพระเจ้า   มีชีวิตในสังคมแห่งแผ่นดินของพระเจ้า   พระราชกิจแห่งการทรงช่วยกู้และพลิกฟื้นชีวิตใหม่ของพระคริสต์ได้เริ่มต้นแล้ว   และกำลังดำเนินต่อไปสู่ความสำเร็จสมบูรณ์ในอนาคต   โดยการทรงเรียกให้คริสตจักรเข้าร่วมสานต่อพระราชกิจนี้ของพระคริสต์   ด้วยการหนุนเสริมผ่านการทรงทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์

สี่สัปดาห์ก่อนวันคริสตสมภพ  จึงเป็นช่วงเวลาที่คริสตจักรจัดไว้สำหรับคริสตชนที่จะใคร่ครวญถึงชีวิตและสัมพันธภาพของตนที่มีกับพระเจ้า   เป็นเวลาที่คริสตชนจะหันกลับมองย้อนหลังถึงชีวิตของตนกับพระเจ้า   และเป็นเวลาที่จะแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราสำหรับวันนี้   เพื่อเราจะมองไปข้างหน้าถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรา  แล้วก้าวเดินตามพระประสงค์ของพระเจ้าสู่ความสำเร็จสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในอนาคตตามแผนการของพระองค์ 

ดังนั้น   สี่สัปดาห์ก่อนวันคริสตสมภพปีนี้   ผมขอเชิญชวนท่านและคริสตชนในประเทศไทย   ให้ใช้ช่วงเวลานี้ในการใคร่ครวญถึงความสัมพันธ์สนิทของท่านกับพระเจ้าอย่างจริงจังและทุ่มเทในการแสวงหาน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของตน  ครอบครัวของตน  คริสตจักรของตน  องค์กรของตน  และชุมชนสังคมประเทศไทย   ให้ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่เราจะเปิดพื้นที่ชีวิตน้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้าเข้ามาเป็นเป้าหมายปลายทางแห่งชีวิตของเรา   เป็นเวลาที่เราจะเปิดจิตใจและจิตวิญญาณของเราให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา   และเป็นเวลาที่เราจะตัดสินใจน้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้าและทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจและจิตวิญญาณรับใช้สานต่อพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา   และบนเส้นทางนี้ผมเชื่ออย่างมั่นคงว่า  เป็นเส้นทางที่พระเมสสิยาห์จะเสด็จมาในครั้งที่สองและเราจะได้ต้อนรับพระองค์ด้วยความชื่นชมยินดี

ทรงกอบกู้และพลิกฟื้นชีวิตใหม่

“ข้าแต่พระผู้เลี้ยงของอิสราเอล   ขอทรงสดับฟัง
 พระองค์ผู้ทรงนำโยเซฟอย่างนำฝูงแกะ
 พระองค์ผู้ทรงประทับเหนือเครูบ
 ขอทรงสำแดงพระเกียรติสิริของพระองค์  ต่อหน้าเอฟราอิม เบนยามิน  และมนัสเสห์
 ขอทรงสำแดงพระเดชานุภาพมาช่วยข้าพระองค์ทั้งหลาย”  (สดุดี 80:1-2 อมตธรรม)

สดุดีบทที่ 80 เป็นเสียงร้องขอการทรงช่วยกอบกู้   ผู้เขียนสดุดีบทนี้ใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบให้เห็นว่า  พระเจ้าทรงเป็น “พระผู้เลี้ยง” ของอิสราเอล(ข้อ 1)  และอีกภาพพจน์หนึ่งคือ  พระเจ้าทรงเป็น “ผู้ทรงปลูกและเลี้ยงดู” เถาองุ่น  คืออิสราเอลไว้ในแผ่นดินแห่งพระสัญญา (ข้อ 8-11)  ทั้งสองภาพนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าที่อิสราเอลมีชีวิตอยู่นี้เพราะการทรงปกป้องดูแลและเอาใจใส่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

แต่บทเพลงสดุดีบทนี้เป็นการคร่ำครวญถึงสภาพชีวิตและสังคมของอิสราเอลกำลังตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม  กำลังประสบกับอันตรายด้วยสองปัจจัยใหญ่คือ   ประการแรก  อิสราเอลกำลังอยู่ในสภาพที่ได้กระทำผิดและไม่เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า  “พระพิโรธ...คุกรุ่น”  ต่อคำอธิษฐานของประชาอิสราเอล (ข้อ 4)   ประการที่สองอิสราเอลกำลังถูกโจมตีและทำร้ายจากประเทศรอบข้างตนเองและต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์ระทม อิสราเอลต้อง “กินน้ำตาต่างอาหาร” (ข้อ 5)   อิสราเอลเป็นที่ “ดูหมิ่นของเพื่อนบ้าน”  และ  “ถูกศัตรูเย้ยหยัน” (ข้อ 6)   สภาพชีวิตของประชาอิสราเอลตกในสภาพที่ไร้สวัสดิภาพและความปลอดภัย   เป็นเหมือนบ้านที่ถูกพังทลายกำแพงลง (ข้อ 12)   เป็นเหมือนองุ่นที่ถูก “รุมทึ้ง”  “ถูกสัตว์ป่ากัดกิน” (ข้อ 13)   อิสราเอล “ถูกโค่น” และ “ถูกเผาอย่างวอดวาย” (ข้อ 16)  

ในเวลาเดียวกัน  สดุดีบทนี้เป็นการคร่ำครวญด้วยความหวัง   เราจะพบว่าผู้ประพันธ์สดุดีบทที่ 80 ได้เน้นประเด็นหลักคือ  เขาทูลขอพระเจ้าทรงทำให้ประชาอิสราเอล  “คืนสู่สภาพเดิม”  สามครั้งด้วยกันในสามข้อ  ซึ่งเป็นเหมือนข้อร้องรับ (ข้อ 3,  7, และ 19)   กล่าวได้ว่า  หัวใจของสดุดีบทนี้คือ  เสียงคร่ำครวญต่อพระเจ้าด้วยความหวังรับการฟื้นฟู  สร้างใหม่  ให้กลับมีสัมพันธ์ดังเดิมกับพระเจ้า   มีพระเจ้าทรงเป็นแสงสว่างและเป็นใหญ่ในชีวิต   และที่สำคัญคือเพื่อได้รับการทรงปลดปล่อยให้อยู่รอดปลอดภัยด้วยการทรงช่วยกู้จากพระเจ้า

ประการสำคัญในสดุดีบทนี้คือ  สัมพันธภาพระหว่างประชากรกับพระเจ้าที่แตกหักฉีกขาดจะคืนสู่สภาพดี   พระเจ้าทรงพร้อมที่จะช่วยกู้ประชากรของพระองค์ให้รอด   แต่ประชากรของพระองค์ต้องตระหนักชัดว่า “จะไม่หันหนีพระองค์อีก” (ข้อ 18)   ต้องกลับมาหาพระองค์ด้วยจริงใจ  ต้องรักพระองค์ด้วยสุดจิตสุดใจ   การหันกลับมาหาพระเจ้าจะได้รับการทรง “ฟื้นฟู” ทั้งชีวิตและสังคมขึ้นใหม่ (ข้อ 18)   และพระเจ้าจะเป็นผู้สูงสุดในชีวิตของประชากรของพระองค์   นั่นหมายความว่า  ประชากรที่หันกลับมาหาพระเจ้าพร้อมที่จะรับเอาพระประสงค์เป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตประจำวันของตน   และพร้อมที่จะขับเคลื่อนชีวิตเพื่อสานต่อพระราชกิจของพระเจ้าด้วยการหนุนเสริมพระกำลังจากพระเจ้าผ่านการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ดำเนินเคียงข้างไปกับชีวิตของเรา

ในช่วงเวลาของการใคร่ครวญถึงชีวิตที่ได้รับการทรงกอบกู้และการทรงพลิกฟื้นจากพระเจ้าในปีนี้  บางท่านต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้าในเรื่องสำคัญยิ่งในชีวิต   บางท่านต้องการที่จะทูลขอพระเจ้าให้ทรงช่วยกอบกู้ชีวิตของตนขึ้นใหม่   และสำหรับคริสตชนอีกหลายๆ ท่านที่ได้รับการทรงช่วยกู้ให้ชีวิตหลุดรอดออกจากอำนาจบาปชั่วทั้งหลายแล้ว   ต้องการที่จะรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจมากยิ่งขึ้น   ต้องการอุทิศถวายตัวเพื่อร่วมสานต่อในพระราชกิจของพระเจ้ามากยิ่ง   ก็เป็นโอกาสที่จะใคร่ครวญถึงน้ำพระทัยของพระเจ้าว่ามีพระประสงค์อะไรในชีวิตของตน   ที่จะนำการเปลี่ยนแปลง (คืนสู่สภาพดี) มาสู่ชีวิตของตนและเพื่อนบ้านรอบข้าง  เช่น  พระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงช่วยผู้คนให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งเหล้าสุรา  ยาเสพติด  เรื่องเพศ  การตกเป็นทาสของเงินทอง  หรือ  พระประสงค์แห่งพระราชกิจของการเป็นผู้เลี้ยงที่ช่วย “เย็บชุนจิตใจที่ฉีกขาด”   หรือการบูรณะสัมพันธภาพใหม่ในครอบครัวที่แตกแยก เจ็บปวด  หรือ  พระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้เราเอาใจใส่ช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพชีวิตของคนที่อดอยาก ทุกข์ทน ที่เห็นมากมายรอบข้างชีวิตของเรา   หรือการให้ความใส่ใจต่อผู้คนที่ตกลงในสภาพชีวิตที่ถูกเหยียบย่ำ  ทำร้าย  ทำลาย  และผู้ถูกกระทำอย่างอยุติธรรม   รวมไปถึงการใส่ใจและมอบความรักเมตตาแก่ผู้ที่ว้าเหว่  ถูกทอดทิ้ง  คนที่ถูกตราบาปจากสังคม  เฉกเช่นที่พระคริสต์ได้กระทำให้เราเห็นแล้ว

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ในช่วงเวลานี้ท่านประสงค์ให้พระเยซูคริสต์กอบกู้ ฉุดช่วยท่านออกจากอำนาจชั่วร้ายในเรื่องอะไรในชีวิตทุกวันนี้?    ท่านมีโอกาสทูลขอต่อพระเจ้าในเรื่องนี้แล้วหรือยัง?

2. เมื่อพูดถึงพระเจ้าว่าเป็น “ผู้เลี้ยงที่ดี”  ท่านมีประสบการณ์อะไรบ้างที่พบถึงการที่พระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดีในชีวิตของท่าน?   ในช่วงเวลาสี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ท่านมีความประสงค์ให้พระเจ้าทรง “ฟื้นฟู และ พลิกฟื้น”  ชีวิตด้านไหน  ในเรื่องอะไรบ้าง “ให้คืนสู่สภาพดี” ?

3. ขอท่านอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้าโปรดทรงนำและชี้แนะว่า   ในช่วงเวลาก่อนคริสตสมภพปีนี้   พระองค์มีพระประสงค์อะไรในชีวิตของท่านที่จะให้ท่านสานต่อพระพระราชกิจของพระองค์ในการ “ฟื้นฟู และ พลิกฟื้น” ชีวิตของเพื่อนบ้านรอบข้างของท่าน   เพื่อบุคคลนั้น หรือ ครอบครัวนั้น จะเป็นเป้าหมายของท่านในการสานต่อพระราชกิจของพระเจ้าในช่วงเวลาคริสตสมภพปีนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น