03 ธันวาคม 2555

เต้นไปตามจังหวะ ‘ปี่กลองการเมือง’?


คริสตชนจะเข้ามีส่วนร่วมใน “การเมือง” ที่ก่อเกิดการยกย่องสรรเสริญพระเจ้าได้อย่างไร?

คำถามที่เรามักได้ยินได้ฟังจากสมาชิกคริสตจักรคือ 

“แล้วคริสตชนจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมืองได้หรือไม่ อย่างไร?

ยิ่งกว่านั้น   หลายคนวิพากษ์ว่า   ไม่ต้องถามว่าคริสตชนจะยุ่งการเมืองได้หรือไม่?   เพราะทุกวันนี้สององค์กรใหญ่ที่เป็นองค์กรพี่เบิ้มคริสต์ศาสนาในประเทศไทยต่างถูกผู้นำองค์กรเอาระบบ “การเมืองแบบน้ำเน่า” ในสังคมไทยมาใช้ในการบริหารจัดการเลือกตั้งเพื่อดูว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารองค์กรมาใช้   โดยไม่ได้ปรึกษาและขออนุญาตจากสมาชิกส่วนใหญ่ในองค์กรเลย

ที่ผู้นำองค์กรเหล่านี้ต้องถามตนเอง จิตสำนึกของตนเอง และสมาชิกส่วนใหญ่ขององค์กรก่อนคือ   กระบวนการการเมืองน้ำเน่าดังกล่าวเป็นการกระทำที่สอดคล้องและตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระเจ้าตามพระวจนะของพระองค์หรือไม่?   นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นประเด็นว่า คริสตชนจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว “การเมืองในองค์กร” หรือไม่?  อย่างไร?

อีกประเด็นคำถามหนึ่งก็คือ   คริสตชนควรเข้าไป “ยุ่งเกี่ยว” หรือ “มีส่วนร่วม” หรือ “มีความรับผิดชอบ”  ในด้านการเมืองของประเทศได้หรือไม่อย่างไร? (ทั้งระดับท้องถิ่น และ ระดับชาติ)   ตั้งแต่คำถามที่ว่า   คริสตชนจะเป็นสีอะไร  จะเป็นสี แดง, เหลือง, ฟ้า, ชมพู, ขาว หรือ หลากสี?   จะสนับสนุนพรรคไหน?  จะลงคะแนนเสียงให้กับใคร?   คริสตชนใช้หลักเกณฑ์อะไรในการตัดสินใจเรื่องข้างต้นนี้?   คริสตชนมีหลักคิดและความเชื่อศรัทธาที่ใช้ในการตัดสินเรื่องเหล่านี้อะไรหรือไม่?    

คริสตชนแต่ละคนมองการเมืองอย่างไร?

การที่คริสตชนจะมองว่า  คริสตชนควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือ มีส่วนร่วม หรือ มีความรับผิดชอบต่อ “การเมือง” หรือไม่อย่างไรขึ้นอยู่กับมุมองหรือทัศนคติทางการเมืองของคริสตชนคนนั้นหรือกลุ่มนั้น  เช่น  ถ้ามองว่าการเมืองเป็นเรื่องของกิจกรรมที่ “สกปรก”   เป็นการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น  ช่วงชิงอำนาจ  หรือ  การแย่งชิงผลประโยชน์   ก็ทำให้คนกลุ่มหนึ่ง “อยากเล่นการเมือง”   อีกส่วนหนึ่งไม่ต้องการเข้าไปเกลือกกลั้วตัวเองให้ต้องเปื้อนเปรอะทางการเมือง   แต่ถ้ามองว่าการเมืองเป็นเรื่องของการสร้างความขัดแย้ง แบ่งสีแบ่งพวก   มีแต่เรื่องโต้เถียง สาดโคลน  คนกลุ่มนี้ก็มักจะไม่เข้ามา ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

เราอยู่ในเมืองไทย  เราดูเรื่องคริสตชนกับการเมืองในสหรัฐอเมริกา  เรามักมีภาพรวมใหญ่ๆ ว่า  พวกอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่จะเลือกพรรครีพับพลิกั้น  ส่วนพวกหัวก้าวหน้าส่วนใหญ่จะเลือกเดโมแครต  และที่แบ่งขั้วเลือกตั้งนี้ก็ยังมีมุมมองที่แตกต่างกันในพวกเดียวกันเช่น   พวกหนึ่งเป็น “พรรคนิยม” เลือกเพราะเป็นสมาชิกของพรรคนี้   อีกพวกหนึ่งเลือกเพราะคนที่ตนเลือกมีวิธีคิดวิธีเชื่อใกล้เคียงกับที่ตนคิดตนเชื่อ เป็นต้น

รากฐานบางประการของคริสตชนที่เข้าไปมีส่วนในทางการเมือง

รากฐานหรือจุดยืนที่สำคัญของคริสตชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองทั้งในระดับองค์กร  การเมืองระดับท้องถิ่น  และการเมืองระดับชาติคือ   พระมหาบัญญัติของพระเยซูคริสต์   เรามีส่วนในด้านการเมืองด้วยการยืนหยัดการเข้าไปมีส่วนร่วมการเมืองด้วย การรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจและสิ้นสุดความคิดของเราเป็นรากฐานประการหลัก   การคิด การตัดสินใจ  และการทุ่มชีวิตของเราเข้าไปมีส่วนในการเมืองเพราะ “เรารักพระเจ้า”   สิ่งนี้ไม่มีใครรู้ชัดถึงน้ำใสใจจริงในเรื่องนี้ของเราได้เท่ากับพระเจ้า และ ตัวเราเอง   เราโกหกคนอื่นได้  เราหลอกลวงตนเองได้  แต่เราปิดบังพระเจ้าไม่ได้!

กล่าวคือเราได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าให้มีส่วนในงานการเมืองระดับต่างๆ ในฐานะหน้าที่ที่แตกต่างกันไป   แต่ที่สำคัญคือ  ต้องถามตนเองเสมอว่า ในสถานการณ์เช่นนี้พระเจ้าทรงประสงค์ให้เรามีส่วนร่วมในด้านการเมืองขององค์กรนั้น ท้องถิ่นนี้ หรือ ประเทศนี้อย่างไร?  

กล่าวคือ...เราเข้าไปมีส่วนร่วมงานการเมืองตามพระประสงค์ของพระเจ้า

เรามิได้เข้าไปมีส่วนร่วมเพราะ คนๆ นั้น  พรรคการเมืองโน้น  สัญญาจะให้จะแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์อะไรบ้างแก่ส่วนตัวของเรา  คริสตจักรของเรา  ครอบครัวของเรา   เรามิได้เข้าไปมีส่วนทางการเมืองเพราะ “ผลประโยชน์” ทั้งส่วนตน  ส่วนพวก   แต่เราอุทิศตนทำงานการเมืองเพื่อตอบสนองต่อพระมหาบัญญัติของพระคริสต์

รากฐานในพระมหาบัญญัติประการที่สองคือ  รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง   เราเข้าไปมีส่วนในงานการเมืองครั้งนั้นๆ เพื่อ “เพื่อนบ้าน”  คนในชุมชนรอบข้าง  คนในคริสตจักร  คนในชุมชน  คนในประเทศจะได้รับพระพรชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นจากการบริหารจัดการทางการเมืองบนรากฐานพระมหาบัญญัตินี้

การที่คริสตชนเข้าไปมีส่วนการเมืองระดับต่างๆ ก็เพื่อที่จะให้พระประสงค์ของพระคริสต์ตามพระมหาบัญญัติของพระองค์สำเร็จเกิดผลเป็นรูปธรรมในชีวิตทุกด้านในคริสตจักร ชุมชน และประเทศ   เพื่อคนทั้งหลายเห็นถึงการทุ่มเททำงานการเมืองบนรากฐานพระประสงค์ของพระคริสต์   แล้วทำให้คนที่พบเห็นและสัมผัสเกิดการสรรเสริญยกย่องพระเจ้าของคริสตชน

ศิษยาภิบาลควรวางตัวอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการเมือง

ศาสนาจารย์  ศิษยาภิบาลที่วางตัวเหมาะสมไม่ควร “เลือกข้างเลือกฝ่าย”   แต่ที่ผ่านมามีศิษยาภิบาล ศาสนาจารย์ส่วนหนึ่งเป็นตัวกลางชักนำเอาพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เข้ามาแสดงจุดยืนในคริสตจักร หรือ ในองค์กรของตนเอง โดยเป็นการสนับสนุนหรือเปิดโอกาสให้บางพรรคบางพวกเข้ามาหาเสียง  กีดกันบางพรรคบางพวกไม่ให้เข้ามาแนะนำตนเองและหาเสียง  หรือชักนำ “นักเล่นการเมือง” เข้ามาเสนอผลประโยชน์ที่สัญญาว่าจะให้แก่คริสตจักร    แต่ในที่นี้ผมไม่ได้หมายความว่า ศิษยาภิบาล หรือ ศาสนาจารย์ไม่ให้พูดหรือทำงานเรื่องการเมือง   แต่ศิษยาภิบาล หรือ ศาสนาจารย์ต้องวางตัวอยู่เหนือ “การเลือกข้าง”   แต่หนุนเสริมให้สมาชิกคริสตจักรของตนมี “พระมหาบัญญัติของพระคริสต์” เป็นหลักคิดหลักเชื่อ และ จุดยืนการเมืองของคริสตชนในการคิดตัดสินใจในการมีส่วนในการเมืองระดับต่างๆ 

อีกประการหนึ่ง  ในฐานะศิษยาภิบาล หรือ ศาสนาจารย์  สามารถที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้สมาชิกในคริสตจักร หรือ องค์กรของตนเองเกิดการเปิดใจกว้างรับฟังกันและกัน   ยอมรับฟังความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละคน   และมีประเด็นกระตุ้นคิดสมาชิกคริสตจักรหรือองค์กรให้คิดลึกในหลักคิดหลักเชื่อของคริสต์ชน เช่น   ถ้าเราเลือกกลุ่มนั้นพรรคนี้หรือคนนั้นแล้วจะสร้างผลกระทบอย่างไรต่อผู้คนเพื่อนบ้านของเรา  คนในชุมชนของเรา?   จะสร้างผลกระทบต่อประเทศชาติของเราอย่างไรบ้าง?   หน้าที่หนึ่งของศิษยาภิบาลคือช่วยให้ผู้คนใช้สิทธิและโอกาสทางการเมืองของตนอย่างมีเป้าหมายและมีจุดยืนบนพระมหาบัญญัติของพระคริสต์ที่ชัดเจน

ประการต่อมาคือ   การใช้พระคัมภีร์เป็นเกณฑ์ในการตัดสินด้านการเมือง   เราจะไม่บอกว่าพระคัมภีร์ข้อนั้นข้อนี้สนับสนุนกลุ่มนั้นพรรคนี้หรือคนใดคนหนึ่ง   แต่เราจะเน้นว่า  พระคัมภีร์ข้อนั้นตอนนี้ได้สอนอะไร บ่งชี้อะไรถึงพระประสงค์ของพระเจ้า  หรือได้สำแดงให้เห็นว่าในสถานการณ์เช่นนี้พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจอะไร และ อย่างไร   และเราในฐานะคริสตชนจะมีส่วนร่วมสานต่อพระราชกิจของพระองค์ในเรื่องนั้นอย่างไรบ้าง   พระวจนะของพระเจ้าได้แสดงให้เราเห็นว่า  เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระองค์อย่างไรบ้าง   ศิษยาภิบาลหรือศาสนาจารย์มีบทบาทหน้าที่หนุนเสริมเพิ่มพลังความเข้าใจพระวจนะของพระเจ้าแก่สมาชิกของตน  เสริมสร้างสมาชิกของตนให้เข้าใจถึงพระวจนะในสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตว่า พระเจ้าทรงกระทำอะไร  และประสงค์ให้ประชากรของพระองค์มีส่วนร่วมในพระราชกิจดังกล่าวอย่างไรด้วย

การเมืองคริสตชนคือการที่มุ่งนำเพื่อนบ้านให้มีประสบการณ์ชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า   เพื่อคนเหล่านั้นจะได้สัมผัสและสัมพันธ์กับพระคริสต์ที่จะครอบครองปกป้องชีวิตของเขา   เพื่อแผ่นดินของพระเจ้ามาตั้งอยู่  น้ำพระทัยขอพระองค์เป็นอย่างไรในสวรรค์   จะได้เป็นจริงเช่นนั้นในแผ่นดินโลก

นี่คือบทบาททางการเมืองของคริสตชนในโลกนี้ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น