15 เมษายน 2556

เมื่อต้องไล่ล่าตามสถานการณ์...



ในช่วงหนึ่งหนังสือของ สตีเฟน โควี่ เป็นที่สนใจของผู้อ่าน   ประเด็นหนึ่งที่เขาเสนอให้กับผู้อ่านคือ  เราต้องเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ชีวิตของเรา   แทนที่เราต้องตกเป็นเบี้ยล่างของสถานการณ์  หรือต้องไล่ล่าตามสถานการณ์ที่บีบบังคับ   เขาเปรียบการมีชีวิตที่สามารถควบคุมสถานการณ์ เช่นเดียวกับผู้ชมโทรทัศน์มีรีโมตคอนโทรลอยู่ในมือ  สามารถสั่งเลือกช่องที่จะชมได้ตามใจ   เป็นความจริงด้วยว่า...

ตราบใดที่เราต้องไล่ตามสถานการณ์  เมื่อนั้นเราก็ยังไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ชีวิต

เมื่อใดที่เรายังโลดแล่นไปตามสถานการณ์บังคับ   เมื่อนั้นเรายังไม่หลุดจากกับดักที่มีผู้ควบคุมกำกับอยู่

แต่ในความจริงอีกด้านหนึ่ง   สถานการณ์แต่ละสถานการณ์ที่เกิดกับชีวิตของเรา   มันไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดดๆ ด้วยตัวของมันเองเท่านั้น   แต่เป็นสถานการณ์ที่เป็นปฏิกิริยาที่ตอบสนองเหตุการณ์อื่น  บุคคลอื่น หรือ สิ่งอื่นมาแล้ว   และนี่จึงเป็นความซับซ้อนที่บ่อยครั้งเป็นการยากยิ่งที่เราพยายามจะเข้าไปควบคุม  เข้าไปจับบังเหียนสถานการณ์นั้นไว้ให้อยู่ภายใต้การกำกับจัดการด้วยกำลังอำนาจของเรา

เราต้องรู้เท่าทันสถานการณ์แวดล้อมที่เราเข้าไปเผชิญหน้านั้นว่า   สถานการณ์นั้นๆ เป็นสถานการณ์ที่เราสามารถเข้าไปควบคุมได้หรือไม่   หรือ ถามตรงว่า  เหตุการณ์นี้อยู่ในการควบคุมจัดการของเราหรือไม่?

ถ้าเป็นเหตุการณ์สถานการณ์ที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมจัดการของเรา   เราคงต้องถามตนเองว่า แล้วเราจะจัดการกับตนเองในเรื่องนี้อย่างไร?   เพราะถ้าเรายังดื้อดึงไปจัดการในสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมจัดการของเราแล้ว   สิ่งที่ได้รับคือ  ความเครียด  ความผิดหวัง  ความสิ้นหวัง

ถึงแม้เรารู้เท่าทัน ไม่ถลำตัวเข้าไปไล่ล่าจัดการหรือควบคุมสถานการณ์นั้นๆ   แต่เราไม่ได้จัดการกับตนเองที่ต้องอยู่ท่ามกลางสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถเข้าไปควบคุมแล้ว   สิ่งที่ตามมารังควานคือ  ความสับสนในตนเอง  ไม่รู้ว่าชีวิตจะไปทางไหนดี   หนักกว่านั้นอาจนำไปสู่ความรู้สึกท้อแท้  สิ้นหวัง  หมดกำลัง  แล้วก็หมดไฟในที่สุด

ในสถานการณ์ความจริงที่เกิดขึ้นแก่เราคือ   เมื่อมีเหตุการณ์ที่ประดังประเดเข้ามาในชีวิตของเรา   โดยธรรมชาติเราจะพยายามตอบสนองต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้นๆ ทันที   ตอบสนองตามประสบการณ์เดิมๆ ที่เคยมีเคยได้รับ   ตามสัญชาติญาณ  ความจริงที่เราประสบมาตลอดคือ การตอบสนองสถานการณ์ด้วยกระบวนการแบบนี้มันดูดดึงเอาพลังในชีวิตทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ และจิตวิญญาณของเราไปอย่างมาก

ให้พระเจ้าควบคุมสถานการณ์ชีวิต...

ความจริงแท้ก็คือ ผมไม่เคยสามารถเข้าไปควบคุมสถานการณ์ใดเลยในชีวิตนี้   แต่เมื่อใดที่ผมเลือกที่จะเป็น “ผู้ไล่ล่าตอบสนอง” ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น   ผมกำลังแย่ง “สายบังเหียน” การควบคุมสถานการณ์ชีวิตจากพระหัตถ์ของพระเจ้า   สิ่งที่ผมได้รับคือชีวิตพบแต่ความอ่อนเปลี้ยเพลียแรง  และสิ้นแรงหมดไฟในที่สุด

ดังนั้น   ในฐานะคริสตชน ผมคงไม่ยอมตนให้เป็นผู้ไล่ล่าตามติด สนองตอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น   แต่ผมจะต้องเข้าไปสู่การควบคุมสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้น   แต่เป็นการควบคุมจัดการชีวิตที่ผม “ยอมมอบสายบังเหียนชีวิต” กลับให้พระเจ้าทรงเป็นผู้ควบคุม   เพราะพระเจ้าคือผู้ควบคุมจัดการตัวจริงในชีวิตของเราแต่ละคนและชุมชน   แต่ในกระบวนการคืนบังเหียนชีวิตให้พระเจ้าทรงควบคุมกำกับนั้น  เราต้องตระหนักชัดว่า ยังมีส่วนที่เราแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบบางอย่างในกระบวนการควบคุมกำกับของพระเจ้านั้นด้วย

ผมขอให้กำลังใจว่า  เราควรกำหนดเวลาที่จะใคร่ครวญ เรียนรู้ และมีแผนการการขับเคลื่อนชีวิตและการงานของเรา   ด้วยการตระหนักชัดและยอมมอบการควบคุมสายบังเหียนชีวิตและการงานของตนคืนสู่พระหัตถ์ของพระเจ้า   แล้วมีกำลังที่จะกระทำในส่วนความรับผิดชอบของตนเองในกระบวนการการทำพระราชกิจของพระเจ้า

1. ให้เรายอมรับความจริงต่อพระเจ้าว่า “เราพร่องขาด”  “เราไม่สมบูรณ์”   ในบางครั้งเราดันทุรังขับเคลื่อนชีวิตและการงานของเราไปด้วยการหลีกเลี่ยง การยอมรับรู้ว่า  เรากำลังตกอยู่ในภาวะความกลัว  กลัวว่าเราจะสะดุดล้มลง  เราจะล้มเหลว  เราจะไม่สำเร็จในชีวิต   ทั้งท่านและผมต่างรู้ว่า การที่เราจะออกจากภาวะเช่นนี้ได้  ก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลงคือ  เราต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตของเรา

2. อธิษฐานต่อพระเจ้า  เพื่อรับการทรงรักษา  เติมเต็ม  และเสริมสร้างเราขึ้นใหม่

3. วางแผนสำหรับสัปดาห์ข้างหน้า โดยให้กำหนดสิ่งที่สำคัญที่สุดไว้เป็นสิ่งแรกที่จะดำเนินการและจัดการ

4. รับประทานอาหารที่เสริมสร้างสุขภาพ   เวลาใดที่ชีวิตของเราตกลงในฐานะผู้ไล่ล่าสนองตอบต่อสถานการณ์แวดล้อม   ชีวิตเรารีบเร่ง รีบร้อน เครียด และสับสน   เราคว้าทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัวที่กินได้ใส่ปากของตนเอง   ซึ่งบ่อยครั้งเป็นอาหารที่ไม่เสริมสร้างสุขภาพของเรา

5. นอนหลับให้เพียงพอ เราสามารถเข้านอนและหลับได้  เราน่าจะได้นอนหลับ 8-10 ชั่วโมง   เพื่อเราจะสามารถกลับไปรับผิดชอบการงานของเราอย่างเต็มตื่นเต็มกำลัง

6. เรียนรู้และกล้าที่จะปฏิเสธ “งานแทรกซ้อน” ในแผนงานสัปดาห์ที่วางไว้แล้ว   ให้เรามุ่งเน้นไปยังงานที่สำคัญที่สุดที่เราวางแผนไว้ให้มุ่งไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้แล้วในสัปดาห์นี้   ถ้ายากที่จะปฏิเสธได้  ให้ต่อรองขอเลื่อน  ให้กลับมาปรึกษางานแทรกซ้อนนี้ในสัปดาห์หน้า   เพื่อเราจะมีความชัดเจนที่เป็นจริงสำหรับงานที่แทรกซ้อนเข้ามานั้น

7. ขจัดสิ่งที่ทำให้เราไขว้เขวออกไป   ให้เราขจัดตัดการงานที่ไม่ใช่เป้าหมายในสัปดาห์นี้ออกไปก่อน   เพราะสิ่งนี้ที่จะแย่งเวลาของเราไป   เพื่อเราจะมีเวลามากขึ้นและมากพอที่จะลงมือทำงานที่สำคัญของสัปดาห์นี้   และการทำเช่นนี้ก็จะช่วยให้เรามีเวลาเพิ่มมากขึ้นในตารางงานและชีวิตของเราด้วย

8. อย่าปล่อยให้งานที่ทำค้างเติ่ง   บ่อยครั้ง เราชอบทำอะไร “ตามใจฉัน”  ไม่ต้องการมีรูปแบบมาบังคับกำกับชีวิตเรา   บ่อยครั้งเราอ้างว่า การทำงานของเรามุ่งความสำคัญที่คน   เราไม่ชอบมุ่งการทำงานอย่างมีระบบระเบียบ   แต่เมื่อเรามุ่งทำงานกับคน  บางครั้งเราก็มักจะถูก “งานแทรกซ้อน” ที่ยากจะปฏิเสธได้  

แท้จริงแล้วระบบระเบียบในการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญมากแม้เราบางท่านอาจจะไม่คุ้นชินกันมันเท่าใดนัก   ถ้ามีงานใดในสัปดาห์นี้ที่เราวางแผนไว้แล้วพบว่าท่านไม่สามารถที่จะทุ่มเทกับมันได้   ให้เราเอางานนั้นออกจากแผนงานนั้นก่อน   จนกว่าถึงเวลาที่จะดำเนินการงานนั้นได้   และถ้ามีงานใดที่ทีมงานไม่มั่นใจว่าจะทำได้ในสัปดาห์นี้ให้เอางานนี้ออกไปจากแผนในสัปดาห์นี้เป็นการชั่วคราว  เพราะการที่เรายังให้งานที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ค้างเติ่งในแผนงานสัปดาห์นี้   มันจะกลายเป็นตัวดูดดึงเอากำลัง ความตั้งใจ และเวลาในการทำงานของทีมไปจากงานที่สำคัญที่สุดของสัปดาห์นี้ได้

9. ยอมให้สิ่งต่างๆ ก้าวช้าลงบ้าง   ให้เราขับเคลื่อนชีวิตและกิจการงานของเราด้วยท่าทีที่สุขุม รอบคอบ สงบ เยือกเย็น   มิใช่เร่งรีบ ร้อนแรง ตามกระแสวัฒนธรรมในปัจจุบันนี้   จงยอมที่จะช้าลงนิด  และเรียนรู้ที่จะมีเวลาที่จะอยู่กับตนเอง  ที่จะอยู่กับพระเจ้า  ให้สบายใจกับการที่เราได้พักผ่อนอย่างมีเป้าหมายในชีวิต   มีเวลาใช้ชีวิตแบบง่ายๆ ธรรมดาๆ มีเวลาที่ชีวิตอยู่ “ในมุมสงบ” แบบของเราเอง

10. อธิษฐาน (อีกครั้งหนึ่ง) ให้ตลอดทั้งวันในชีวิตและการงานแต่ละวันของเราอยู่กับพระเจ้า   ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์โปรดเตือนเมื่อเรามุ่งแต่งานมากเกินไป  ทุ่มเทมากเกินไป   ทูลขอให้เรารู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตและการงานของเรา  และโปรดนำทุกอย่างที่เราทำ

โปรดสังเกตว่ากระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยการอธิษฐาน และ จบลงด้วยการทูลขอต่อพระเจ้า
ทำไมต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ?
ใช่  ต้องเป็นเช่นนั้น   แม้บ่อยครั้งในพฤติกรรมของเราจะไม่ค่อยยอมรับเช่นนั้นก็ตามเถิด
เพราะการกำกับควบคุมเป็นของพระเจ้า  ไม่ใช่ตัวเราเอง  
เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้เยียวยารักษา  ทรงเป็นผู้เหนี่ยวนำ  และทรงเป็นแหล่งพลังแห่งชีวิตของเรา

จากประสบการณ์ของผม  บางครั้งสิ่งที่ไม่คาดฝัน  สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในแผน  สิ่งที่เราไม่ปรารถนามันถาโถมจู่โจมเข้ามาในชีวิตของเราในวันนั้นอย่างรุนแรง

ประสบการณ์สอนผมว่า   ในสถานการณ์เช่นนั้นบางครั้งผมเองก็ “ลืมที่จะติดเบรก(ห้ามล้อ)”  ชีวิตของตน   เพื่อที่จะมุ่งมองไปที่พระเจ้าในเวลาเช่นนั้น   แล้วก็ “เสียบปลั๊ก” รับพลังชีวิตจากพระองค์   เพื่อที่จะรู้ว่าทิศทางไหนที่ผมควรจะเดินต่อไป

นี่คือทางลัดที่เราสามารถกลับสู่ภายใต้การกำกับควบคุมด้วยความเมตตาและพระคุณของพระองค์

แต่ให้เราขอบพระคุณพระเจ้า   ด้วยพระคุณและพระเมตตาของพระองค์  แม้ว่าเราจะดื้อดึงหลีกลี้หนีจากพระองค์   พระองค์จะทรงเตรียมที่ที่สำหรับเรา  ทำให้จิตใจและชีวิตของเราสงบ เยือกเย็นลง  และกลับมาติดต่อสัมผัสและสัมพันธ์กับพระองค์    กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมและครอบครองของพระองค์   เพื่อที่เราจะอยู่ในสภาพการณ์ที่สามารถควบคุมและจัดการสถานการณ์วิกฤตินั้นได้อีกครั้งนี้

ดังนั้น
จงมอบชีวิตและเส้นทางที่จะมุ่งไปไว้กับพระเจ้า
ให้การขับเคลื่อนชีวิตและการงานของเราเข้าสู่ระบบระเบียบตามแผนการของพระองค์
ยอมรับพระคุณของพระเจ้าและพระเมตตาของพระองค์ที่ให้เวลาสำหรับเราในการผ่อนพัก
จงอธิษฐาน  ขอบพระคุณ  และติดตามพระองค์
ขอให้สัปดาห์นี้ของเรา เป็นสัปดาห์ที่สงบศานติ  เกิดผล  และเปี่ยมด้วยความมุ่งหมาย
อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น