22 เมษายน 2556

ภาวะผู้นำปรากฏชัดเมื่อใด?


ท่านรู้ตัวว่าท่านเป็นผู้นำครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่?

สำหรับผมรู้ตัวว่าเป็นผู้นำครั้งแรกเมื่อสมัยที่ผมเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา   ในสมัยนั้นประถมศึกษาในประเทศไทยมีถึง ป.7  ในช่วงนั้นผมกำลังเรียนในชั้นประถมปีที่ 5   และโรงเรียนที่ผมเรียนในขณะนั้นก็มีชั้นสูงสุดก็แค่ ป.7  ทางโรงเรียนให้มีการสมัครเพื่อรับการเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียนขึ้นในโรงเรียน  ชั้นเรียนที่ผมเรียนโหวตให้ผมเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันรับเลือกเป็นประธานนักเรียน   ผลปรากฏว่า ผมได้รับเลือกเป็นประธานในปีนั้น   ในเวลานั้นเองผมถามตัวเองว่า  นี่เราเป็นผู้นำของนักเรียนทั้งโรงเรียนหรือนี่?   ผมคิดว่ารุ่นพี่ ป.7 น่าจะได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน   เพราะอยู่ชั้นสูงสุด

ในสถานการณ์นั้น  ผมถามตนเองว่า เราเป็นผู้นำนักเรียนทั้งโรงเรียนแล้วจริงๆ หรือ?    คนอื่นมองผมและยกให้ผมเป็นผู้นำ   แต่แค่ได้รับการเลือกตั้งมี “ตำแหน่งประธานนักเรียน” นั้นไม่ใช่ตัวบ่งบอกที่แท้จริงว่าผมเป็นผู้นำ!   แต่ผมเป็นประธานนักเรียนแบบไหนต่างหากที่จะบ่งบอกว่าผมมีภาวะผู้นำหรือไม่

จอห์น ซี แมกซ์แวลล์ (John C. Maxwell) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่สร้างและตัวบ่งชี้ถึงภาวะผู้นำที่เกิดขึ้นไว้  4  ประการที่น่าสนใจในบทความหนึ่งของท่านว่า

1.  ช่วงเวลาวิกฤติท้าทายความเป็นผู้นำ

เมื่อคนๆ นั้นต้องเผชิญกับวิกฤติที่ท้าทายเป็นเวลาที่ตนเองและผู้คนรอบข้างจะมองเห็นว่าศักยภาพภายในของคนๆ นั้นสามารถแปรเปลี่ยนเป็นสมรรถนะและความสามารถที่ใช้จัดการกับวิกฤติที่ท้าทายอย่างสร้างสรรค์ได้มากน้อยแค่ไหน (มีกึ๋นภาวะผู้นำหรือไม่ แค่ไหน?)

แมกซ์แวลล์  เล่าประสบการณ์ของท่านเองว่า   ตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำของท่านครั้งแรกในชีวิตคือในเวลาที่ท่านสมัครเป็นศิษยาภิบาลในคริสตจักรแห่งหนึ่ง  ขณะนั้นท่านอายุ 25 ปี    ในคริสตจักรแห่งนี้เป็นที่รู้กันว่ามี “เจ้าพ่อ” ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนชีวิตคริสตจักรแห่งนี้   ศิษยาภิบาลก่อนหน้านี้ต้องออกจากคริสตจักรไปเพราะไปขัดแข้งขัดขากับ “เจ้าพ่อ” ของคริสตจักร   ยิ่งกว่านั้น แมกซ์แวลล์  ยังได้เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า   ศิษยาภิบาลอีกสองท่านก่อนหน้านี้ก็ออกจากคริสตจักรแห่งนี้ไปด้วยอาการเดียวกันกับศิษยาภิบาลที่เพิ่งลาออกไป

แมกซ์แวลล์  เริ่มงานศิษยาภิบาลในคริสตจักรแห่งนี้ด้วยการแสวงหาโอกาสที่เหมาะสมที่จะขอพบและปรึกษากับ “เจ้าพ่อ” หรือศิษยาภิบาลตัวจริงดั้งเดิมของคริสตจักร   ท่านเข้าพบปรึกษา “เจ้าพ่อ” ด้วยท่าทีจริงใจ  สัตย์ซื่อ  ให้เกียรติ  ถ่อมสุภาพ  เปิดเผย  และเปิดใจที่จะเรียนรู้   แน่นอนครับพร้อมด้วยความกล้าหาญ   ท่านเรียน “เจ้าพ่อ” อย่างเปิดเผยและให้เกียรติ   และเรียนปรึกษากับท่านถึงภาพลักษณ์ของ “เจ้าพ่อ” ในสายตาของคนอื่นที่มองท่านเป็นลบ  ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น   แล้ว แมกซ์แวลล์  ได้แสดงความจริงใจและเต็มใจที่จะร่วมทำงานพันธกิจกับ “เจ้าพ่อ”  จากการกระทำเช่นนี้ปรากฏว่าศิษยาภิบาลคนใหม่คนนี้ได้ใจของ “เจ้าพ่อ”   แล้วทั้งสองทำงานร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างสนิทสนม 

John ชี้ว่า   การสนทนาครั้งนั้นคือช่วงเวลาที่บ่งชี้ถึงความเป็นผู้นำของศิษยาภิบาล จอห์น แมกซ์ แวลล์  ท่านประเมินว่าเวลานั้นท่านได้มีความกล้าหาญแบบมีในภาวะผู้นำ   ในเวลานั้นท่านเรียนรู้ว่า ในฐานะผู้นำ  คือการทำให้ผู้คนที่ท่านนำมีความสุขมิใช่เพียงแต่จะนำผู้คนเท่านั้น   ความกล้าหาญของท่านมิใช่ลุกขึ้นคัดค้านต่อต้านใครหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง   ท่านเกิดความรู้สึกสุขใจภายหลังที่ได้พบกับ “เจ้าพ่อ” ของคริสตจักร   มิใช่การพบปะสนทนาเป็นไปด้วยดีเท่านั้น   แต่เพราะท่านได้แสดงภาวะผู้นำที่แท้จริง   จอห์น แมกซ์แวลล์  บอกว่าตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำ  คือการที่ท่านเต็มใจที่จะยอมทำในสิ่งที่ลำบากใจ และ สร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้งานเกิดความสำเร็จ  

จากประสบการณ์ครั้งนั้นท่านยอมรับว่า มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่าน   ทำให้ท่านเกิดความมั่นอกมั่นใจอย่างมากต่อการกล้าตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยากลำบากครั้งต่อๆ มาบนเส้นทางชีวิตการเป็นผู้นำของท่าน

2.   เมื่อศักยภาพที่ซ่อนเร้นในตัวปรากฏชัดเป็นความสามารถ  บ่งชี้ถึงความเป็นผู้นำ

การมีศักยภาพภาวะผู้นำภายในตัวของคนๆ นั้นเท่านั้นมิใช่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเขาเป็นผู้นำ   แต่ศักยภาพความเป็นผู้นำจะต้องแสดงออกชัดว่าคนๆ นั้นมีสมรรถนะ ความสามารถในการนำจริงๆ ด้วย   เพราะความสามารถในการนำดังกล่าวสร้างความมั่นใจแก่ตัวผู้นำเอง   ในขณะที่ทำให้ผู้ตามได้เห็นภาวะผู้นำตัวจริงของผู้นำคนนั้น  และจะเป็นจุดเริ่มต้นของความไว้วางใจของผู้คนรอบข้างและทีมงาน

3.   แรงจูงใจที่บริสุทธิ์จริงใจบ่งชี้ถึงความเป็นผู้นำ

J. R. Morgan กล่าวว่า “มนุษย์เรามักมีเหตุผลใหญ่ๆ สองประการในการที่กระทำในบางสิ่งบางอย่างอยู่เสมอ  กล่าวคือเหตุผลที่ดูดี และ เหตุผลที่แท้จริง”   ตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำคือการผ่านข้ามเหตุผลที่ผิวเผินดูดี  แต่มุ่งไปสู่เหตุผลที่แท้จริงในการนำนั้น   สิ่งนี้เป็นพลังขับเคลื่อนภายในชีวิตของผู้นำ   เพื่อช่วยผู้นำคนนั้นแสดงออกชัดเจนว่าพลังที่กระตุ้นขับเคลื่อนเบื้องหลังการนำหรือการใช้อิทธิพลของเขาคืออะไรกันแน่

จอห์น แมกซ์แวลล์ เล่าว่า   ในช่วงปีแรกๆ ของการเป็นผู้นำของท่าน   ท่านมองไปยังคนที่ท่านนำ  และถามตนเองว่า  “พวกเขาจะช่วยฉันอย่างไรได้บ้าง?”   ท่านมองว่า ท่านจะใช้ประโยชน์จากความสามารถและทักษะของผู้คนที่ท่านนำทำให้วิสัยทัศน์ของท่านก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร?   ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ท่านใช้ภาวการณ์เป็นผู้นำที่เอา “ตัวข้าฯ เป็นศูนย์กลาง” ในการนำผู้คน   และนั่นแสดงออกชัดเจนว่าอะไรคือแรงกระตุ้นขับเคลื่อนในการเป็นผู้นำของท่านเอง  

ต่อมาท่านได้เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ใหม่ในความเป็นผู้นำของท่าน   และท่านจะถามตนเองว่า  “ผมจะช่วยคนเหล่านี้(คนที่ท่านนำ)ได้อย่างไร?”  

4.   ท่ามกลางแรงกดดันและความตึงเครียดได้พัฒนาให้ผู้นำเติบโตและมีวุฒิภาวะในการนำ

ภาวะความกดดันและความตึงเครียดในการเป็นผู้นำเอื้ออำนวยให้เกิดการเติบโตที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยในสถานการณ์ปกติ   จอห์น แมกซ์แวลล์  เล่าถึง Dr. John Brid ว่าครั้งหนึ่งท่านได้เตือน แมกซ์แวลล์ ว่า ให้ระมัดระวังอย่ารับประทานอาหารกลางวันมากเกินไปเพราะจะทำให้ตัวของแมกซ์แวลล์เกิดปัญหาน้ำหนักมากเกินไป   แทนที่ จอห์น แมกซ์แวลล์ จะฟังคำเตือนของ Dr. Brid  แต่ท่านกลับโต้เถียง Dr. Brid  ในเรื่องดังกล่าว และยืนยันว่า ตนเองมีสุขภาพที่แข็งแรง   ภายหลัง  จอห์น แมกซ์แวลล์ ต้องทนทุกข์กับโรคหัวใจวาย   แผนกผู้ป่วยฉุกเฉินทำให้ท่านต้องยอมรับว่า  สุขภาพของท่านเข้าขั้นวิกฤติและกำลังสร้างปัญหาแก่ท่าน

ภาวะวิกฤติ กดดัน และตึงเครียดในชีวิตทำให้ จอห์น แมกซ์แวลล์ ต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตของตนทันทีฉับพลัน   ซึ่งถ้าไม่เกิดภาวะดังกล่าวในชีวิตตัวท่านเองก็จะไม่สนใจที่จะดูแลสุขภาพของตนเอง  

เช่นกัน ภาวะตึงเครียด กดดันเพิ่มความเร่งด่วนต่อการเติบโตและมีวุฒิภาวะมากขึ้นในความเป็นผู้นำด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น