19 เมษายน 2556

การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิต

เราเทศนาไปทำไม?

เมื่อเป้าหมายปลายทางของการเทศนาคือ การนำให้ชีวิตของผู้ฟังเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลง   และการเทศนาเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งที่ทำให้ชีวิตคริสตจักรเกิดการเติบโตและแข็งแรง   แต่ศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล หรือผู้ปกครองคริสตจักรต่างมีคำถามในใจว่า   แล้วเราจะสื่อสารผ่านการเทศนาอย่างทรงประสิทธิภาพได้อย่างไร?   เอกสารนี้มี 9 ประเด็นคำถามที่ผู้เทศน์ใช้ในการตรวจสอบและถามเกี่ยวกับการเทศนาของตน

1.  ใครคือผู้ฟังเทศนา?

ที่เราถามคำถามนี้เพื่อที่จะต้องการทราบว่า   “ผู้ฟังต้องการอะไรในชีวิต?”   “อะไรคือบาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิตของผู้ฟัง?”   “ผู้ฟังสนใจในเรื่องอะไร?”   คำถามลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้เทศน์สามารถมุ่งมองเจาะจงลงไปในชีวิตของผู้ฟัง   บางท่านอาจจะถามในใจว่า   แล้วเราจะถามไปทำไม?   ที่เราถามเช่นนี้เพราะว่ามี 3 สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังเสมอ คือ...
  • สิ่งที่เขาหวาดกลัว
  • สิ่งที่ไม่ปกติธรรมดา
  • สิ่งที่มีคุณค่า
นักเทศน์สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟังอย่างเหนียวแน่นก็โดยการมุ่งเจาะจงลงสู่สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้ฟัง

2.  พระคัมภีร์ว่าอย่างไรกับความต้องการที่จำเป็นในชีวิตของผู้ฟัง?

ในเมื่อพระคัมภีร์เป็นหนังสือที่ว่าด้วยชีวิต   และมีคำตอบต่อความจำเป็นต้องการในชีวิตของผู้คน  ภาระหลักของนักเทศน์คือเปิดเผยและสำแดงให้ผู้ฟังได้พบกับสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาและความจำเป็นต้องการของผู้ฟังในปัจจุบัน

3.  อะไรในคำเทศนาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ดี/ปฏิบัติได้มากที่สุด?

การประยุกต์คำสอนให้เป็นแนวทางและวิธีการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันของผู้ฟังเป็นภาระประการต่อมาของนักเทศน์   ดังนั้นคำเทศน์ต้องเป็นสิ่งที่นำไปปฏิบัติได้   ที่ผู้ฟังฟังแล้วรู้ว่าจะนำไปทำตามได้อย่างไร   คำถามคือแล้วจะทำอย่างไรให้คำเทศน์เป็นคำเทศน์เพื่อการปฏิบัติ  มิใช่เพื่อจรรโลงปัญญาเท่านั้น?
  • นักเทศน์ต้องมุ่งเป้าหมายเจาะจงให้คำเทศน์ไปสู่การปฏิบัติ
  • บอกกับผู้ฟังว่า ทำไมจะต้องปฏิบัติในเรื่องนี้
  • แล้วแสดงให้เขาเห็นชัดเจนว่าจะปฏิบัติได้อย่างไร
ระวังนะครับ  คำแนะนำชักชวน หรือ แม้แต่การขู่เข็ญบังคับให้ทำ  โดยปราศจากคำอธิบายที่ชัดเจน  นำไปสู่ความสับสน และเป็นการทำลายความสำคัญของคำเทศน์ในความรู้สึกของผู้ฟัง   เราส่วนมากคงเคยได้ยินได้ฟังที่ผู้คนพูดถึงคำเทศนาในวันนั้นๆ ว่า  “สิ่งที่เทศน์ใช่เลย... แต่จะทำได้อย่างไร?”   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า   “เห็นด้วยกับสิ่งที่เทศน์   แต่เราจะทำได้จริงอย่างไรในชีวิตของเรา?” (ที่นักเทศน์มักไม่ได้กล่าวถึง)

4.  จะเทศน์อย่างไรที่เป็นการเทศน์ที่สร้างสรรค์ที่สุด?

พระเยซูคริสต์มิได้พยายามทำให้ผู้คนกลับใจ หรือ เปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยอารมณ์โกรธ(อารมณ์รุนแรง)   ถึงแม้พระคัมภีร์มีการเตือนถึงเรื่องการพิพากษาอย่างชัดเจน   แต่การเทศนาในเชิงลบย่อมเสริมสร้างสมาชิกผู้ฟังเทศน์ให้เป็นคนแบบลบๆ ไปด้วย   ดังนั้น  ระมัดระวังไม่เทศนาด้วยมุมมอง ทัศนะ แบบลบ   แต่มุ่งเน้นให้การเทศนาเป็นการนำเสนอ “ข่าวดีของพระคริสต์”  เป็นการเสนอทางออกจากการครอบงำของอำนาจบาป  และเป็นการเทศนาด้วยความถ่อมสุภาพมากกว่าการเทศนาด้วยความดุดัน

5.  จะเทศน์อย่างไรที่เป็นการหนุนเสริมเพิ่มกำลังใจมากที่สุด?

คนเราต่างมีรากฐานความจำเป็นต้องการ 3 ประการในชีวิต
  • ต้องการได้รับการหนุนเสริมเพิ่มพลังใจในความเชื่อศรัทธา
  • ต้องการได้รับการยืนยัน หรือ เกิดความหวังใหม่อีกครั้งหนึ่งในชีวิต
  • ต้องการได้รับการรื้อฟื้น ซ่อมแซม  ปะชุน ความรักขึ้นใหม่ในชีวิตใหม่
หัวใจของการหนุนเสริมเพิ่มพลังใจและชีวิตมิใช่เพียงบอกผู้ฟังว่ามันเป็นเรื่องอะไร  มันคืออะไร   แต่จะต้องบอกว่าเรื่องนี้จะเป็นจริงในชีวิตได้อย่างไร   ยิ่งกว่านั้น  ทั้งนักเทศน์ประจำและนักเทศน์จรต้องตระหนักชัดและสำนึกเสมอคือ   คำเทศนาของเรามิได้จบลงบนธรรมมาสน์  แต่การเทศนาที่แท้จริงเริ่มเมื่อผู้ฟังและนักเทศน์มีโอกาสสนทนาวิสาสะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันหลังนักเทศน์ลงจากธรรมมาสน์แล้ว   และนี่คือจุดบอด จุดอับ และจุดดับของบรรดานักเทศน์ทั้งหลายในปัจจุบัน

6.  แล้วจะเทศน์ด้วยภาษา และ ท่าทีที่เรียบง่ายได้อย่างไร?

แท้จริงแล้วเมื่อพระเยซูเทศน์และสอน   พระองค์สื่อสารกับประชาชนและสาวกด้วยวิธีการที่เรียบง่ายในวัฒนธรรมและบริบทในเวลานั้นของพระองค์   ในเมื่อผู้ฟังส่วนใหญ่ประมาณ 90-95% จะลืมสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังไปแล้วหลัง 72 ชั่วโมง   ดังนั้น คำเทศนาจำเป็นจะต้องมุ่งเน้นเจาะจงชัดเจนเพียงความคิดประเด็นเดียว   แล้วเราจะทำให้คำเทศน์ของเราเรียบง่ายได้อย่างไร?
  • ตกผลึกสาระที่เราเทศน์ในวันนั้นให้เป็นเพียงประโยคเดียว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์ ใช้คำเฉพาะในคริสต์ศาสนา คริสต์ศาสนศาสตร์ ที่คนฟังแล้วเข้าใจยาก
  • จัดลำดับประเด็นโครงร่างคำเทศนาให้เรียบง่าย (ไม่ซับซ้อนถี่ย่อยเกิน)
  • ทำให้ส่วนประยุกต์สอดคล้องกับสาระคำเทศน์
  • ทำทุกประเด็นที่นำเสนอในคำเทศน์ให้ผู้ฟังสามารถเห็นภาพในประเด็นนั้นๆ ได้
  • การนำเสนอแนวทางหรือวิธีการนำไปใช้มาจากประสบการณ์ตรงของผู้คนต่างๆ จากชีวิตจริง

7.  ทำให้การเทศนาเป็นกันเองกับผู้ฟังมากที่สุดได้อย่างไร?

ผู้คนในปัจจุบันตกอยู่ในท่ามกลางวัฒนธรรม “ช่างสงสัย”  และ “แรงต้าน” ต่อสิ่งที่นำเสนอหรือการเสนอขาย   ในที่นี้รวมถึงการนำเสนอขายความคิดผ่านการเทศนาด้วย   ทำอย่างไรที่จะทำให้สาระและการเทศนาของเราเป็นไปอย่าง “กันเอง” กับผู้ฟัง   เป็นไปด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้สนทนาสื่อสารด้วยกัน   และการเทศนานั้นจะเกิดผลกระทบในชีวิตของผู้ฟังได้อย่างไร?
  • แบ่งปันสิ่งที่ท่านพบเห็นหรือเผชิญหน้า  แก่ผู้ฟังด้วยความจริงใจ
  • แบ่งปันสิ่งที่ท่านประสบพบเห็นในความก้าวหน้าของท่านด้วยท่าทีที่ถ่อมสุภาพ
  • แบ่งปันสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงครั้งต่างๆ ของท่าน

8.  เราจะนำเสนอสาระคำเทศนาอย่างน่าสนใจได้อย่างไร?

นักเทศน์ที่เทศนาอย่างน่าเบื่อหน่ายแก่ผู้ฟังที่ยังไม่เชื่อ เป็นการเทศน์ที่สร้างความเสียหายที่ยากจะทำใจยอมรับได้   ขอเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอสาระคำเทศน์เสียใหม่!   พระเยซูคริสต์สื่อสารสาระพระกิตติคุณของพระองค์ด้วยการเล่าถึงเรื่องราวชีวิตจริงของผู้คนในวัฒนธรรมนั้น ในบริบทของสมัยนั้น   แล้วพระองค์ก็ใช้เรื่องที่น่าสนใจ ที่ทำให้คนฟังต้องคิดและทำให้ประชาชนได้คิดด้วย   พระองค์ไม่ได้นำเสนอสัจจะความจริงด้วยวิธีการและท่าทีที่เคร่งขรึม  มาดอาจารย์  ท่านักวิชาการ  วางตัวเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่น่าเกรงขาม   แต่พระองค์ช่วยให้ผู้ฟังของพระองค์ผ่อนคลาย  เปิดใจ  รับฟัง    พระองค์ทำให้ยาที่ประชาชนกินยากกินลำบากให้กินได้ง่าย  จึงยอมกิน  และพระองค์ทำให้ประชาชนกินยานั้นอย่างมีความสุข

9.   พลังการเปลี่ยนแปลงชีวิตมาจากไหน?

ผู้เทศน์เป็นกระบอกเสียงของพระเจ้า  เป็นผู้เผยพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระองค์แก่ผู้ฟัง  แต่พลังที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ฟังมิได้มาจากวิธีการเสนอคำเทศนา หรือ เนื้อหาสาระในคำเทศน์เป็นหลัก   แต่การเทศนาเป็นพระราชกิจของพระเจ้า ที่นักเทศน์ร่วมรับใช้ในพระราชกิจครั้งนั้นๆ   ดังนั้น นักเทศน์คือคนใช้ของพระเจ้าสำหรับการเทศน์ในครั้งนั้น   และ คำเทศน์เป็นสะพานที่ทอดลงเพื่อให้ผู้ฟังสามารถเดินเข้าถึงการสัมผัสกับพระวจนะ พระประสงค์ และน้ำพระทัยของพระองค์ในชีวิตของผู้ฟังแต่ละคน

ดังนั้น  การเตรียมคำเทศน์ และ การเทศนาของนักเทศน์จึงเป็นบทบาทและการร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าในการรับใช้พระองค์ในครั้งนั้นๆ   และนักเทศน์มั่นใจได้ว่า  เรามิได้เตรียมเทศน์ด้วยตัวเราคนเดียว   เราไม่ได้เทศน์ด้วยความโดดเดี่ยวตัวคนเดียว   พระเจ้าทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำงานในการเตรียมเทศน์  ในการดำเนินชีวิตของเรา   และพระองค์ทรงเป็นความคิด  พระปัญญา  และการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ฟังผ่านการเทศนาของเรา   การเทศนาจึงเป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่ผู้เทศน์ยอมตนรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ประการสำคัญที่เป็นรูปธรรมคือ   พลังการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ฟังเทศน์คือ   การที่ผู้เทศน์มีชีวิตอย่างสิ่งที่ตนเทศน์   ที่ผู้เทศน์ได้เคยสัมผัสกับสัจจะความจริงในพระวจนะนั้นแล้ว และการที่เราจะสามารถดำเนินชีวิตอย่างที่เทศน์ได้นั้น   เพราะพระวิญญาณทรงทำงานเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตของผู้เทศน์ให้เป็นแบบอย่างก่อน   เพื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะใช้แบบอย่างชีวิตของผู้เทศน์เป็นส่วนหนึ่งในคำเทศน์เพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ฟัง

ดังนั้น  พลังของคำเทศนาที่มีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ฟัง  ก็คือพลังจากแหล่งเดียวกันที่ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้เทศน์เองมาก่อนหน้านี้แล้วครับ!

ถ้าเช่นนั้น  นักเทศน์ที่ยังไม่เคยรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากพระเจ้า   จะเทศนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ฟังได้อย่างไร?

ขมวด

การเทศนาที่ดีมีประสิทธิภาพ มีพลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตมิใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ   แต่ผ่านกระบวนการพินิจพิจารณา คิด ใคร่ครวญให้ทะลุตลอดรอดฝั่ง  และตระหนักชัดว่า การเทศนาเป็นพระราชกิจของพระเจ้า  และผู้เทศน์เป็นเพียงผู้รับใช้ของพระเจ้าที่จะมีชีวิตทำตามที่พระเจ้าประสงค์ในการเทศน์ครั้งนั้นๆ  และประการสุดท้ายที่เป็นหัวใจสำคัญคือ  นักเทศน์ต้องรักคนฟังของท่านครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น