01 เมษายน 2556

ที่นั่งตรงกลาง: ผู้นำองค์กรที่ถูกมองข้าม


การนำจากตรงกลางขององค์กร

ชีวิตในด้านต่างๆ ของเรา  ตรงส่วนกลางของชีวิตด้านนั้นๆ มักเป็นพื้นที่ที่มีความยุ่งยาก ลำบาก และซับซ้อน

ที่นั่งตำแหน่งไหนในเครื่องบินเป็นที่นั่งที่แย่ที่สุด? สำหรับผมแล้ว คำตอบคือ ที่นั่งตรงกลาง   เพราะที่นั่งข้างทางเดินมีพื้นที่ยืดแข้งยืดขาได้สะดวกกว่า และจะลุกเหินเดินยืนได้สบาย  จะเข้าจะออกจากที่นั่งก็ง่าย ส่วนที่นั่งข้างหน้าต่าง  เราสามารถมองออกนอกหน้าต่างเห็นสิ่งต่างๆ น่าสนใจ  และยังมีด้านข้างที่เราจะเอาศีรษะไปแนบอิงได้  สบายดี   แต่ที่นั่งตรงกลางกลับเป็นที่นั่งที่สร้างความรู้สึกอึดอัดแก่ผู้นั่ง เหมือนถูกบีบหนีบจากทั้งทางด้านซ้ายและขวา  แล้วยังมีเก้าอี้ตัวหน้าขวางอยู่   จะยืดแข้งยืดขาที่ต้องระมัดระวังและจำกัด  จะลุกออกจากที่นั่งก็ช่างลำบาก   ต้องรบกวนคนอื่น!

การเกิดมาเป็นลูกคนกลางก็สร้างความรู้สึกว่าเป็นเหมือนไม่เป็นที่ปรารถนาของคนในครอบครัว!   ลูกคนโตมีความสุขกับช่วงแรกเกิดของชีวิตเพราะได้รับการเอาใจใส่จากพ่อแม่เต็มๆ   พ่อแม่หลงใหล  ให้ความรักเกินพอดี และ ถูกเอาใจจนเสียคน  ลูกคนโตสุดได้รับการยกย่อง   ส่วนที่ลูกคนเล็กสุดได้รับการเอ็นดูเอาใจไปเสียทุกเรื่อง   ส่วนลูกคนกลางกลายเป็นคนที่รู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้ง?

ผู้นำตรงส่วนกลางขององค์กร

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเป็นผู้นำในส่วนกลางหรือตรงส่วนกลางขององค์กร?

อย่างที่เราท่านทราบอยู่กับอกรู้อยู่กับใจแล้วว่า   ภาวะผู้นำเป็นเรื่องการที่คนเราเลือกที่จะทำ  ไม่ใช่อยู่กับเก้าอี้ตัวไหนที่จะนั่ง!   ภาวะผู้นำไม่ได้มาจากอำนาจ อิทธิพล บารมี หรือจากตำแหน่งที่เราได้รับ   ด้วยเหตุผลและหลักการนี้   แม้ว่าท่านมิได้ยืนอยู่ในแถวหน้าขององค์กร   ท่านก็ยังสามารถที่จะนำคนรอบข้างที่ท่านอยู่ด้วยได้   ความจริงแล้ว ท่านสามารถมีอิทธิพลและบารมีต่อผู้ที่อยู่เหนือท่านได้อีกด้วย

ผมมีโอกาสทำงานในหลายองค์กร   มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบรรดาผู้นำองค์กรทั้งหลาย   พบความคิดความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการหนึ่งเกี่ยวกับการเป็นผู้นำองค์กรคือ  ถ้าใครจะทำการพัฒนาเปลี่ยนแปลงและสร้างความเจริญแก่องค์กร   ผู้นั้นต้องมีตำแหน่งระดับสูงขององค์กรนั้นๆ ก่อน?

เขาเข้าใจว่าตำแหน่งสูงจึงมีอำนาจ สามารถสร้างอิทธิพล เพียบพร้อมด้วยบารมี ที่จะนำการเปลี่ยนแปลง

แต่ผมได้พบความจริงครั้งแล้วครั้งเล่าว่า  ผู้นำที่คิดเช่นนี้ที่ถูก “แช่แข็ง” อยู่บนหอคอยสุสานองค์กร  ไม่สามารถที่จะนำการสร้างสรรค์หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้เกิดแก่องค์กรเลย   ที่ถูก “แช่แข็ง” มิใช่เพราะตำแหน่งหมดความศักดิ์สิทธิ์   แต่เพราะคนที่นั่งบนตำแหน่งเหล่านั้นขาดภาวะผู้นำ หรือ ภาวะผู้นำ “มันกลวง”

ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในองค์กรเหล่านั้น!

วันนี้   เราคงต้องมาคิดใหม่ว่า   แม้เราไม่สามารถไต่เต้าป่ายปีนขึ้นไปอยู่ในฐานะตำแหน่งผู้นำข้างบน   แม้เราเป็นผู้นำในตรงส่วนกลางขององค์กรเราก็สามารถนำการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กรของเราได้   และเป็นผู้นำที่สามารถเริ่มต้นนำการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กรที่เราทำงานอยู่ “ในวันนี้  และ เดี๋ยวนี้”  ไม่ต้องรอเลือกตั้งอีกสองปีข้างหน้า หรือ สี่ปีข้างหน้า   หรือต้องหาโอกาสไปแก้ไขระเบียบธรรมนูญขององค์กรให้ยุ่งยากซับซ้อน   หรือต้องมีกระเป๋าตุงถึงจะไปชิงตำแหน่งกับเขาได้?

ใช้โอกาสและประโยชน์จากตรงส่วนกลางขององค์กรให้ได้มากที่สุด

สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ   การนำจากตรงกลางขององค์กรเป็นการนำที่ถูกท้าทาย   ซึ่งในบทความนี้ขอนำเสนอประเด็นที่ยากลำบากที่สุด 3 ประการที่ผู้นำจากตรงกลางขององค์กรจะต้องพบเจอและเผชิญหน้า   และจะร่วมกันมองว่า  แล้วในฐานะผู้นำจากตรงกลางขององค์กรจะรับมือจัดการกับประเด็นเหล่านั้นอย่างไร   จะใช้โอกาสที่ยืนอยู่ในจุดนั้นหาทางกระตุ้นอย่างหนุนเสริมคนที่นำเราอย่างไร   และในเวลาเดียวกันจะจูงใจโน้มน้าวชักชวนผู้คนที่อยู่ภายใต้การนำของเราให้ร่วมดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดอย่างไร

1.   เปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กร

ไม่มีอะไรที่จะช่วยให้เราในฐานะผู้นำตรงกลางขององค์กรมีเสรีท่ามกลางแรงตึงเครียดไปมากกว่านี้ การที่มีความชัดเจนในสายงานที่เรารับผิดชอบ   ในฐานะผู้นำตรงกลางขององค์กรเราต้องรุกคืบในการแสวงหาความเข้าใจที่ถูกต้อง แม่นยำว่า “หัวหน้า” คาดหวังอะไรจากเรา   จากนั้น เราจะต้องเข้าหาและปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหัวหน้างานของเราเกี่ยวกับความคาดหวังเหล่านั้น   เมื่อเรามีความชัดเจนถึงขอบข่ายพื้นที่งานที่เป็นความรับผิดชอบของเรา   เราต้องระมัดระวังที่จะไม่ใช้อำนาจที่เราได้รับไปในทางที่ผิด  แล้วก็ไม่บ่อนทำลายอำนาจของเจ้านาย   หรือไปทำลายความไว้วางใจของเจ้านายที่มีต่อเราด้วยการหลบเลี่ยงความรับผิดชอบของเรา

2.   ความท้าทายจากแรงตึงเครียดแห่งอำนาจ

การตกอยู่ในฐานะคนทำงานตรงส่วนกลางขององค์กรนั้นเพิ่มแรงกดดันจากรอบด้าน   ในฐานะผู้นำหรือผู้จัดการในส่วนกลางขององค์กรนั้นเราสามารถใช้อำนาจทางอ้อมเท่านั้น   เพราะการใช้อำนาจใดๆ ของเรามักถูกผูกติดกับหัวหน้าหรือผู้นำที่อยู่เหนือเราว่า เขาจะเอื้ออำนวยเครื่องมือ อุปกรณ์ และอำนาจให้เราในการทำงานชิ้นนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน   ถึงแม้เราอาจจะต้องการริเริ่มสิ่งใหม่ในงานนั้น   แต่เราก็ต้องระมัดระวังเสมอว่า ไม่พลาดไปเหยียบ “หัวแม่ตีน” ของหัวหน้าเราเข้าโดยไม่ตั้งใจ   ประการสุดท้าย  ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมในองค์กรที่เราทำงานอยู่  บุคลิกภาพของผู้นำ  และสมรรถนะของลูกทีมของท่าน   เราคงมีอิทธิพลหรือบารมีต่อวัฒนธรรมองค์กรได้จำกัดในฐานะที่เป็นผู้นำตรงกลางขององค์กร  และมีอิทธิพลต่อผู้อื่นที่ไม่มากนัก

3.   ความท้าทายท่ามกลางความสับสน

การที่ต้องอยู่ภายใต้การนำของผู้นำที่เฉื่อยชาหรือไม่ตัดสินใจ (หรือบางครั้งก็ตัดสินใจผิดๆ)  ทำให้เกิดความสับสนอย่างยิ่งแก่เราในฐานะลูกน้อง   ผู้นำบางคนไม่ยอมที่จะกระจายมอบหมายความรับผิดชอบแก่ลูกน้อง     เมื่อทำงานเขาจะลงมายุ่งซุ่นในทุกรายละเอียด   หรือผู้นำอีกพวกหนึ่งก็เป็นผู้นำที่ไม่มีความรู้ที่ถูกต้องและประสบการณ์ในงานที่ตนนำ  หรือไร้ซึ่งทักษะที่จำเป็นในฐานะผู้นำที่จะนำงานนั้นให้ประสบความสำเร็จ  อีกทั้งทีมงานก็มีสมรรถนะในการทำงานนั้นอย่างจำกัด   หรือไม่ผู้นำบางคนก็แสวงหาชื่อเสียงความก้าวหน้าด้วยการเอารัดเอาเปรียบ หรือ ด้วยผลงานของลูกน้อง  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานกับหัวหน้าต้องพังย่อยยับ   อีกทั้งอับปางในด้านจริยธรรม

ในการทำงานกับผู้นำที่ยุ่งซุ่นควบคุมในทุกรายละเอียดงาน  ผู้นำที่ขาดความสามารถ  หรือผู้นำที่เอาตัวกูเป็นศูนย์กลาง หรือ ตัวกูเป็นสำคัญ  ผู้นำจำพวกนี้มักก่อเกิดความเดือดดาล หรือ บันดาลโทสะ   เราต้องตระหนักรู้ตัวว่า   งานของเรามิใช่ไปปรับเปลี่ยนบุคลิก นิสัย หรือความสามารถของเจ้านาย   แต่เราในฐานะผู้นำตรงกลางขององค์กร  ภารกิจหลักของเราคือการค้นหาให้พบแนวทางที่จะเพิ่มคุณค่าแก่ผู้นำ   ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนในความนึกคิดของเรา   ให้เราเลิกมุ่งมองที่ความเป็นผู้นำที่ไม่เหมาะสม หรือ ไร้ความสามารถ   แต่ให้เรามุ่งหาไปที่จุดแข็งของผู้นำที่เขามีอยู่แล้วขยายให้เด่นชัดขึ้น   เมื่อประจวบเหมาะกับโอกาส   ค่อยแสวงหาการยินยอมในการพัฒนาหนุนเสริมในส่วนที่เป็นจุดอ่อนของผู้นำ   เราจะต้องดำเนินการนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง   อย่าไปเผลอหรือสะเออะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดอ่อน ปมด้อย หรือข้อบกพร่องของผู้นำ   ยกเว้นว่าผู้นำคนนั้นถามเราเอง    อย่างไรก็ตาม   ถ้าท่านได้รับโอกาสให้อภิปรายถึงจุดอ่อนด้อยของผู้นำ  ให้เราแสวงหาและนำเสนอแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนภาระงานและความรับผิดชอบที่ผู้นำไม่ถนัดไปยังคนอื่นที่เหมาะสม   ด้วยเหตุผลเพื่อผู้นำจะมีเวลามากเพียงพอที่จะจัดการกับงานส่วนที่สอดคล้องกับจุดแข็งของเขา   ประการสุดท้าย  เอื้ออำนวยให้ผู้นำองค์กรของเราได้เรียนรู้การเป็นผู้นำที่ดีมีประสิทธิภาพ   จากแหล่งความรู้ในรูปแบบต่างๆ   ด้วยความสุภาพ อดทน และจริงใจ

4.   ความท้าทายที่สวมหมวกหลายใบ

ผู้นำตรงกลางขององค์กรต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถรอบตัว หรือ เป็น “ผู้นำอเนกประสงค์” เพื่อที่จะรับมือกับการเรียกร้องต้องการของทั้งผู้ที่อยู่เหนือเขา  ผู้ที่ทำงานร่วมกันในระดับเดียวกับเขาหรือเคียงข้างเขา   และการให้แนวทาง ชี้นำ ผู้ร่วมงานภายใต้เขา   ผู้นำตรงกลางขององค์กรมิได้เป็นผู้ตั้งหรือกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร   แต่เขาต้องเป็นผู้ที่ผลักดันขับเคลื่อนทีมงานของเขาให้ประสบความสำเร็จ   นอกจากนั้นเขาต้องพบกับความสับสนที่ซับซ้อนกว่าที่กล่าวมานี้คือ   เขาเป็นผู้นำที่ต้องรับหน้าทำแทนคนอื่น(ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของเขา) ผู้นำตรงกลางขององค์กรบ่อยครั้งต้องรับผิดชอบทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา ทั้งๆ ที่มิใช่ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้   ยิ่งกว่านั้น  ผู้นำตรงกลางองค์กรมักแยกแยะออกได้ไม่ชัดว่า บทบาทไหนเป็นบทบาทในการเป็นผู้นำของเขา  และบทบาทไหนที่เขาจะต้องนำแบบ “ปิดทองหลังพระ”  

ความท้าทายของการที่ต้องสวมหมวกหลายใบที่ต้องระมัดระวังคือ ความรู้เท่าทันต่อบริบทที่เปลี่ยนไปในองค์กร  และ  การปรับตัวอย่างยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น   สำหรับผู้นำตรงส่วนกลางขององค์กร   สิ่งแรกที่ควรกระทำคือ  สังเกตให้เห็นถึงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลง   และต้องมั่นใจว่า เมื่อปรับตัวตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนหรือละเลยต่อหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของตน   ผู้นำตรงส่วนกลางขององค์กรต้องถามตนเองว่า  “หมวกใบไหน” ที่ฉันสมควรทุ่มเทเวลาและพลังส่วนใหญ่ของฉัน?   บ่อยครั้งที่ทีมงานจะช่วยผู้นำตรงกลางองค์กรในการพิจารณาว่าจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

เหนือสิ่งอื่นใด  การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นกระบวนการ และ การสร้างแรงกระทบ   ดังนั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในองค์กรเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของการทำงานที่ทรงพลังและเกิดประสิทธิภาพ  

การเป็นผู้นำตรงส่วนกลางที่นำมาซึ่งการพัฒนาเปลี่ยนแปลงนี้   ต้องเป็นผู้นำที่พร้อมจะให้  มิใช่ผู้นำที่อยากจะได้ครับ!

นี่คือมุมมองใหม่ถึงภาวะผู้นำที่มีจำนวนมากในองค์กรแต่ถูกมองข้าม  ขาดการสร้างโอกาส และ พัฒนาเสริมสร้างให้องค์กรขับเคลื่อนอย่างทรงพลังด้วย “ผู้นำจากส่วนกลางขององค์กร”

ให้เรามาช่วยกันเสริมสร้าง “ผู้นำแถวกลาง” ที่มีประสิทธิภาพในการหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คนทำงานที่ทำงานกับเขา   ภายใต้การนำของเขา   และ มีประสิทธิภาพในการสนับสนุน “หัวหน้า” หรือ “เจ้านาย” ของตนให้เป็นผู้นำที่สามารถนำองค์กรบรรลุตามนิมิตหรือวิสัยทัศน์ขององค์กรร่วมกับทีมงานทั้งองค์กรอย่างมีความสุขถ้วนหน้าในองค์กร

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น