01 สิงหาคม 2555

บ่อ + น้ำ = บ่อน้ำ


เราต้องการน้ำใสสะอาดมากกว่ากำแพงขอบบ่อที่สวยงาม


ในอดีต  ก่อนหน้านี้ 40-50 ปี  ครั้งเมื่อผมเป็นเด็กและครอบครัวอพยพขึ้นมาอยู่ที่เชียงใหม่   สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าแทบทุกบ้านจะต้องมีคือ บ่อน้ำ   ชาวเชียงใหม่จะขุดบ่อน้ำในบริเวณบ้านของตนเอง   เพื่อที่จะใช้น้ำในบ่อนั้นสำหรับทั้งอุปโภคและบริโภค   เป็นน้ำดื่มทั้งสำหรับคนและสัตว์  ตลอดจนใช้ในการรดน้ำพืชผักที่ปลูกอีกด้วย   ชาวนาบางคนก็ขุดบ่อที่บ้านไร่ปลายนาเพื่อใช้เช่นกัน

บ่อน้ำของชาวเชียงใหม่  ในสมัยนั้นใช้แรงคนช่วยกันขุด   ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นจะเป็นวงกลม   ขนาดประมาณความกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 เมตร   ขุดลึกตื้นแค่ไหนแล้วแต่ระดับน้ำใต้ดินในบริเวณนั้น    จากนั้นก็จะก่ออิฐที่คนเชียงใหม่เรียกว่า “ดินกี่”  รอบขอบสระที่ขุดลงไป ซึ่งเป็นอิฐที่มีเป็นก้อนเหมือนอิฐทั่วไปมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า    แต่อิฐที่ใช้ก่อรอบขอบบ่อน้ำนั้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่โค้ง   เพื่อเมื่อก่อขึ้นจะเป็นกำแพงรอบขอบบ่อเป็นวงกลม   สำหรับการก่อนอิฐรอบขอบบ่อในระดับล่างจะไม่ก่อและฉาบด้วยปูนซีเมนต์   แต่จะวางเรียงให้อิฐเกาะยึดตัวกัน   ทั้งนี้เพื่อน้ำจากตาน้ำ  หรือ ธารน้ำ  หรือน้ำซึมจากใต้ดินจะไหลซึมออกมารวมกันอยู่ในพื้นที่บ่อที่ขุด  ในช่วงเริ่มแรกน้ำนั้นจะขุ่นโคลนผสมอยู่   ผู้ขุดบ่อจะตักน้ำขึ้นมาทิ้ง   จนสักพักหนึ่งน้ำก็จะใสสะอาด

เมื่อคนขุดบ่อน้ำก่ออิฐจนถึงระดับขอบพื้นดินแล้วก็จะก่ออิฐเป็นกำแพงขอบบ่อสูงเหนือขึ้นจากพื้นดินอีกประมาณหนึ่งเมตร   แต่กำแพงขอบบ่อน้ำจะใช้ปูนซีเมนต์เพื่อเกาะเกี่ยวยึดให้อิฐติดกัน ส่วนใหญ่ก็จะฉาบด้วยปูนซีเมนต์เพื่อให้ดูสวยงาม  และทำให้กำแพงขอบบ่อมีความแข็งแรงป้องกันคนพลัดตกลงในบ่อได้

ในยุคต่อมา บางบ่อได้มีการพัฒนา  เหนือบ่อน้ำจะมีเครื่องชักรอกที่ทุ่นแรงในการตักน้ำจากบ่อ   บางแห่งได้สร้างซุ้มหลังคามุงเหนือบ่อ   ตามวัฒนธรรมของเชียงใหม่ในสมัยนั้น   น้ำจากบ่อเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตทั้งคน สัตว์ และพืช   แต่กลับพบว่าน้ำเป็นสิ่งที่แบ่งปันกัน   ถ้าบ้านไหนมีน้ำบ่อที่ใสสะอาด และชาวบ้านบอกว่าบ่อน้ำนี้ “หวาน” แล้วละก็  “คนบ้านเหนือบ้านใต้” จะมาขอตักน้ำจากบ่อนี้ไปสำหรับดื่มกินที่บ้าน   น้ำจึงกลายเป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการจำเป็นต่อชีวิตที่สามารถแบ่งปันกันกินดื่มดำรงชีวิตได้

ครั้งหนึ่งผมและเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันยืนดูบ่อน้ำในบริเวณบ้านพักอาจารย์ของวิทยาลัยพระคริสต์ธรรม-แมคกิลวารี (แต่ไม่ทราบว่าขุดในสมัยไหน และ โดยใคร)   แต่ดูขอบรอบบ่อน้ำดูหนาบึกบึนแข็งแรง  และกำแพงขอบบ่อน้ำดูหนาและใหญ่   มีผู้ทำฝาไม้ปิดไว้ที่ปากบ่อ   พอเปิดดู น้ำข้างในเน่าครับ  ใช้ประโยชน์ไม่ได้   ปิดทิ้งไว้   เพราะตามความเชื่อของคนเชียงใหม่จะไม่ถมบ่อน้ำที่คนเขาขุดมาก่อนครับ   ผมไปถามผู้เฒ่าผู้แก่ว่าทำอย่างไรถ้าจะทำให้บ่อน้ำเก่าที่พระคริสต์ธรรมแมคกิลวารีให้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอีก   ท่านแนะนำว่า ต้องตักน้ำเน่าในบ่อพร้อมกับขยะที่เน่าเหม็นในบ่อออกให้หมดเสียก่อน   จากนั้นให้น้ำจากธารน้ำ หรือ ตาน้ำใต้ดินจะไหลออกมา   แล้วเราต้องตักน้ำใหม่ที่ออกมาไล่น้ำเก่าและขยะออกจากบ่อ   ให้น้ำใหม่ไล่น้ำเสียจนหมด   เมื่อน้ำใสขึ้น  กลิ่นเหม็นหายไป   น้ำก็จะกลับมาใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง   ท่านยังแนะนำต่อไปอีกว่า  สมัยนี้สบาย  เขาเอา “ไดโว้” มาดูดเอาน้ำในบ่อออก  เพื่อให้น้ำใหม่ไหลออกมา  “ไดโว้” ช่วยทุ่นแรงครับในสมัยนี้   ท่านผู้เฒ่าพูดหยอดท้ายว่า “ปะเดี่ยวเปิ้นบ่อกินน้ำบ่อแล้ว  เปิ้นไปกินน้ำประปากั๋น   เปิ้นว่ามันสะอาด  ใส่คอลินแล้ว   แต่อุ้ยว่า มันเหม็น กิ๋นบ่อลำ...” 

เมื่อไปดูบ่อน้ำสมัยพ่อครู   ทำให้กลับมานั่งคิดนอนคิดถึงสิ่งดีๆ ในอดีตกลับกำลังไร้ค่าไม่เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน   สมัยหนึ่งเคยให้ชีวิตแต่สมัยนี้อาจจะคร่าชีวิตก็ได้   เพราะสิ่งดีๆ เหล่านั้นได้เปลี่ยนสภาพไปแล้ว  (จากที่มีน้ำดีกลายเป็นน้ำเน่า)

อดไม่ได้ที่ต้องคิดถึงสถาบันโรงพยาบาล   โรงเรียน  หน่วยงานต่างๆ   รวมไปถึงคริสตจักรท้องถิ่น ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อของบรรพบุรุษของเรา   เป็นเหมือนบ่อน้ำที่ในอดีตเป็นแหล่งน้ำใสสะอาดเพื่อชีวิตของคน สัตว์ และพืช  ทำให้คิดถึงคำตรัสของพระเยซูคริสต์ที่ตรัสกับหญิงสะมาเรียข้างบ่อน้ำในเที่ยงวันหนึ่งว่า 
“ทุกคนที่ดื่มน้ำ(จากบ่อ)นี้จะกระหายอีก  
แต่คนที่ดื่มน้ำที่เราจะให้กับเขานั้นจะไม่มีวันกระหายอีกเลย  
น้ำที่เราจะให้เขานั้นจะกลายเป็นบ่อน้ำพุในตัวเขาพลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 4:13-14 ฉบับมาตรฐาน) 
เรามิได้เป็นเพียงบ่อน้ำธรรมดาที่เพื่อชีวิตเท่านั้น   แต่เป็นบ่อน้ำที่เอื้อให้ผู้คนในสังคมได้รับน้ำที่พระคริสต์ทรงนำมา   เป็นน้ำที่ทำให้เกิดเป็นบ่อน้ำพุพุ่งขึ้นภายในชีวิตของผู้คน ที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์

สิ่งที่น่าพิจารณาตรวจสอบตนเองว่า โรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย  หน่วยงานคริสเตียน  และคริสตจักรท้องถิ่นในปัจจุบันมุ่งเน้นที่จะสานต่อพระราชกิจที่พระคริสต์ทรงเริ่มต้นไว้  ที่เป็น “บ่อน้ำเพื่อชีวิต”   ยิ่งกว่านั้น  น้ำที่ผู้คนดื่มเข้าไปแล้วกลายเป็นบ่อน้ำพุในตัวคนนั้น  และพุ่งขึ้นนำถึงชีวิตนิรันดร์   หรือ เป็นเพียงบ่อน้ำที่มุ่งเน้นการสร้างกำแพงขอบบ่อที่แข็งแรงและงดงาม   มุ่งเน้นพัฒนาเสริมสร้างเครื่องมือ นวัตกรรมที่ทันสมัยในการตักน้ำอย่างสะดวกสบายขึ้นจากในบ่อ   แต่หลงลืม หรือ ละเลยว่า น้ำในบ่อนั้นใสสะอาดเหมาะสำหรับการกินดื่มของผู้คนหรือไม่  หรือเป็นน้ำที่เน่าเสีย  น้ำที่มีกลิ่นเหม็นและเป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ดื่มเสียอีก

แน่นอนครับ  เราต้องพิจารณาว่า   เมื่อผู้คนในสังคมได้รับน้ำจาก “บ่อน้ำ” สถาบัน หน่วยงานคริสเตียน และ คริสตจักรที่มีอยู่ในประเทศไทย   น้ำนั้นได้ให้ชีวิตหรือไม่?   น้ำนั้นได้กลายเป็นบ่อน้ำพุที่พุ่งขึ้นในชีวิตของคนนั้นหรือไม่?   และน้ำที่พุ่งขึ้นนำสู่ชีวิตนิรันดร์หรือไม่?

ปัจจุบันหลายหน่วยงานและสถาบันคริสเตียนที่สนใจแต่การเสริมสร้างสิ่งที่มองเห็นภายนอกให้เข้มแข็ง มั่นคง ใหญ่โต   เราสนใจวิธีการ เครื่องมือในการทำงานที่ทันสมัย   เพื่อดึงดูดให้ผู้คนมาใช้บริการ (หรือดื่มน้ำจากบ่อของตน) มากๆ   แต่กลับตั้งใจละเลย หรือ หลงลืมเอาใจใส่ “คุณภาพของน้ำ” ในบ่อน้ำของตน   ยิ่งกว่านั้น หลงผิดวิ่งตามกระแสอิทธิพลของทุนนิยม และ บริโภคนิยม ที่เน้นการให้บริการเพื่อ “ขายน้ำ” จากบ่อของตน   โดยใช้หลักการว่า  ถ้าต้องการน้ำคุณภาพดีมากก็ต้อง “จ่าย” มาก

มิได้สนใจว่า บ่อน้ำที่ตนเป็นอยู่ในวันนี้มีน้ำของพระคริสต์หรือไม่  เป็นสถาบันหน่วยงานที่ให้น้ำที่ผู้คนดื่มแล้วทำให้เกิดเป็นน้ำพุพุ่งขึ้นในชีวิตของเขาหรือไม่  และที่ต้องตรวจสอบคือ  เป็นบ่อน้ำพุที่พุ่งสู่ชีวิตนิรันดร์หรือไม่?

หรือว่าเราสนใจแต่ว่า   มีคน “ซื้อ” น้ำจากบ่อของเรากี่คน?   ปีนี้ทำรายได้เท่าใด?  ปีนี้เราสร้างความแข็งแรงตึกรามอาคารหรือเปล่า?  ปีนี้เราซื้อเครื่องมือที่ทันสมัยกว่าคู่แข่งหรือไม่?  ปีนี้เราทวงเงินติดตามหนี้ได้เท่าไหร่แค่ไหน?  

ปีนี้เราไม่ได้สนใจว่า “น้ำจากบ่อสถาบันหน่วยงานของเรา” เป็นน้ำใสสะอาด หรือ น้ำเน่า   เป็นน้ำเพื่อให้ชีวิตหรือน้ำพิษที่คร่าชีวิตของผู้คน

เราต้องไม่ลืมว่า   พันธกิจที่โรงเรียน  มหาวิทยาลัย  โรงพยาบาล  และหน่วยงานคริสเตียนทำนั้น   เป็นงานที่ทำเพื่อสานต่อจากพระราชกิจของพระคริสต์ที่ทรงกระทำบนโลกนี้   และเป็นงานที่เราต้องสานต่อตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วย   เมื่อสาวกนำอาหารที่ซื้อจากตลาดมาให้พระเยซูรับประทาน   พระเยซูบอกสาวกว่าพระองค์มีอาหารสำหรับรับประทานแล้ว   สาวกพากันงงไปตามๆ กันว่า มีใครนำอาหารมาให้พระเยซูคริสต์แล้วหรือ   พระเยซูคริสต์ตรัสกับสาวกว่า 
“อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของผู้ที่ทรงใช้เรามา
 และทำให้งานของพระองค์สำเร็จ...” (ยอห์น 4:34)
อาหารที่ทำให้พระเยซูคริสต์มีชีวิต และ เป็นชีวิตที่แข็งแรงคือ  การทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า   และทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ดังกล่าว

วันนี้  เราคงต้องกลับมาถามตนเองว่า   งานที่เรากำลังทำอยู่ใน โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล  และหน่วยงานคริสเตียน  ได้ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า   หรือทำตามจุดประสงค์ตามกระแสสังคม   ทุกวันนี้เราสานต่องานตามพระประสงค์ของพระเจ้าให้สำเร็จ   หรือเรามุ่งสำเร็จตามเป้าหมายของสังคมปัจจุบัน?  หรือมุ่งหากำไรจนลืมอย่างอื่น?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น